ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

บทวิเคราะห์เรื่องพุทธปรัชญา

ก่อนที่จะยอมรับหลักคิดหรือความรู้ใด ๆ เป็นสรณะ

ก่อนที่จะยอมรับหลักคิดหรือความรู้ใด ๆ เป็นสรณะ เราจึงควรตั้งแง่สงสัยไว้ก่อนคือ

  • ความรู้ตกทอด ความเชื่อถือใด ๆ แต่ครั้งโบราณกาลอันถูกสอนเป็นความรู้ถ่ายทอดกันมานั้น จะต้องถูกสงสัยไว้ก่อน ในอินเดียสมัยนั้นมีตำหรับพระเวทเป็นความเชื่อถือของคนในวรรณะพรามณ์มาแต่ครั้งโบราณ ทั้งปรัชญาฮินดูในสมัยต่อมาคือปรัชญาเวทานตะ ก็มิได้เป็นอะไรมากไปกว่าเป็นการแสดงเหตุผล(ด้วยคารม) พิสูจน์ให้เห็นจริงถึงการมีอยู่ของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่คือพรหม ปรัชญาของยุโรปที่พิสูจน์ถึงการมีของพระผู้เป็นเจ้าที่เรียกกันว่าสิ่งสมบูรณ์ (The Aboslute )สมเด็จพระสมณโคดมทรงเผยแผ่ธรรมะในท่านกลางแห่งคู่แข่งขันอันทรงอำนาจคือพวกพรามณ์ ประชาชนจะรับพุทธปรัชญา อันเป็นวิทยาศาสตร์ไว้อย่างแน่นแฟ้นไม่ได้หากไม่สละละทิ้งศรัทธาในหลักคิดแต่โบราณเสียก่อน เพราะพุทธปรั9ญานั้นส่วนมากมีแนวขัดแย้งกับปรัชญาโบราณของพวกพรามณ์ จากสมัยโบราณถึงสมัยปัจจุบันและคนในปัจจุบันแม้เด็ก ๆ ย่อมมีความรู้กว้างขวางกว่าคนโบราณเป็นอันมาก พวกอนุรักษ์นิยม ( Conservative ) มักชอบเชื่อของเก่าและขนบประเพณีเก่า ๆ และไม่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่นได้เขาจะชิงชังความคิดใหม่ ๆ และวัฒนธรรมใหม่ ๆ เมื่อถูกพวกหัวใหม่โจมตี พวกนี้จะอ้างข้อเปรียบเทียบว่า “ เก่าลายคราม ” ที่แท้แล้วอนุรักษ์นิยมเป็นเพียงการอนุรักษ์ฐานะความเป็นอยู่ของตนหรือพวกของตนเอง หลักวิทยาศาสตร์ที่คนพบเมื่อศตวรรษที่สิบแปด ย่อมใช้ได้ดีอยู่แม้ในศตวรรษที่ 20 ในปัจจุบัน แม้หลักปรัชญาของคนโบราณบางชิ้นอาจเป็นอกาลิโก คือใช้ได้ตลอดกาลสมัย แต่การฝึกนิสสัย “ สงสัยไว้ก่อน ” เท่านั้นจึงจะทำให้เราสามารถเสาะเลือกหลักโลกที่เป็นอกาลิโกได้
  • ความรู้ในปัจจุบัน ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนในความรู้ที่ได้จากผู้อื่นแม้จะเป็นความรู้สมัยใหม่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะความรู้ย่อมระคนกันมาไม่ว่าจะเป็นชนิดเท็จ หรือสัจธรรม ยากที่เราจะทราบแน่ได้ว่าความรู้ใดเป็นเท็จ และอันใดเป็นสัจจธรรม จริงอยู่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์บางชิ้นหรือส่วนมาก อาจเป็นสัจจธรรมได้ แต่ความรู้ของคนเราส่วนมากที่สุดในขณะนี้ และเกือบจะเรียกได้ว่าเกือบทุก ๆ อ้างอิงของคนเราในขณะนี้ มักจะระดมด้วยความเห็นแก่ตัว ความติดข้องในกิเลสตัณหา และความเห็นแก่พวกของตัวมากอยู่ สิ่งนี้ย่อมเป็นความรู้ที่ผ่าน “การหลอกลวงตัวเอง”

    ในสมัยปัจจุบัน การโฆษณาชวนเชื่อมีหนาหูหนาตาขึ้น นี่เป็นเพราะการผลัดดันของประโยชน์ส่วนตัวอีกน่ะแหละ แม้จะได้มีการสอนทางศีลธรรมให้คนเรางดเว้นกล่าวความเท็จก็ตาม แต่เสรีนิยมจากลัทธิทุนนิยมก็บีบบังคับให้คนเราทำการโฆษณาเพื่อขายสินค้ากันจนได้ การโฆษณาชวนเชื่อนี้ได้ระบาดไปถึงวงการเมือง และท้ายที่สุดเทียบไปถึงการเมืองระหว่างประเทศ ปรากฏมีสำนักงานคอยแถลงข่าวที่ปรุงแต่งเป็นอย่างดีแล้ว ในขณะนี้เกือบจะเรียกว่าเรากลืนความเท็จเข้าไปทุกวี่ทุกวัน โดยได้มาจากผู้อื่น ฉะนั้นเราไม่หัดสงสัยความรู้ที่ได้จากผู้อื่นไว้ก่อน เราก็ไม่สามารถเข้าถึงสัจจธรรมได้เลย
  • ข่าวหรือความรู้ที่เล่าลือต่อๆ กันมา ย่อมตกอยู่ในสภาพที่เชื่อไม่ได้เป็นที่สุด ข่าวหรือความรู้ที่ได้จากการเล่าลือจึงมีคุณค่าน้อยมาก แต่ก็ควรรับฟังไว้บ้างในทำนอง “ไม่มีมูลฝอยหมา(ย่อม)ไม่ขี้”
  • แม้ผู้ที่บอกเล่าข่าวหรือความรู้แก่เราจะเป็นคนที่สมควรเชื่อได้ก็ตาม ก็ไม่มีหลักประกันแต่อย่างใด ว่าคนนั้นจะเป็นคนมีศีลสัตย์ในภายหน้า หากคนๆนั้นเป็น “คนซื่อ” แต่เสนอ “ข้อเท็จจริง” อันได้จากการสำคัญผิด เราก็ต้องระวังให้มากยิ่งขึ้นเพราะเราจะตกหลุม “รับเชื่อง่ายๆ” โดยไม่รู้ตัว
  • แม้แต่ครูบาอาจารย์ของเรา เราก็ไม่ควรเชื่อถือโดตลอดทุกกรณีหรือทุกเวลาไป ทั้งนี้เพราะเหตุผล ดังกล่าวไว้ข้างบนแล้ว อีกประการหนึ่ง “ความรู้อาจเรียนทันกันหมด” ฉะนั้นเราก็อาจเรียนรู้เท่าครู การเชื่อท่านตลอดกาลจึงไม่เป็นผลดีอะไรเลย
  • การเชื่อตำราอย่างงมงายก็ไม่ควรทำ เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกับการเชื่อผู้อื่น มติโบราณหรือครูบาอาจารย์ นั่นเอง มีคนโดยมากมักอ้างตำรา ยิ่งเป็นตำราต่างประเทศยิ่งนิยมอ้างกันมาก ทั้งนี้เพราะมีศรัทธาว่าปราชญ์ต่างประเทศมีความรู้สูงกว่าปราชญ์ชาติเดียวกัน

สงสัยในมติหรือความรู้แม้ที่เป็นของตนเองผู้ที่เป็นนักสงสัยเกินขอบเขตต์ จะไม่มีศรัทธาในอะไรเลย เขาจะเป็นนักแย้งหรือนักวิมัตินิยม (Sceptics) อย่างสำคัญ นี่จะทำลายปัญญาที่ควรจะเกิดมีแก่เขา คนเราควรมีศรัทธาในสิ่งที่เป็นสัจจธรรม และไม่ควรเป็นชนิดขาดความเชื่อถือในทุกสิ่งทุกอย่าง คนที่เป็นนักสงสัยตลอกกาลมักเป็นคนที่เข้าใครไม่ติด เป็นอัตตนิยม (Solipsism) อย่างถึงขีดสุดเพราะว่าผู้ที่ สงสัย ในผู้อื่นทุกๆคน คือผู้ที่เชื่อเฉพาะความรู้และมติ ของตนเองเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงสอนในชาวกาลามะรู้จักสงสัย เพื่อทำให้รู้จักไตร่ตรองให้รู้ว่าอะไรเป็นเท็จและสละทิ้งไปเสีย และแสวงหาเฉพาะสัจจธรรมมาเป็นศรัทธาต่อไปเพื่อหลีกให้พ้นจากการนสุดโต่งในการสงสัย เป็นการสอนให้คนรู้จักวิพากย์วิจารณ์ตัวเอง ซึ่งแสดงว่าผู้ที่ทำดังนั้นได้-มีความหลุดพ้นทางจิตต์ใจเป็นอันมากทั้งนี้เพราะว่า

  • ตัวเราเองอาจใช้การเดา สร้างมติหรือวิชาการอะไรขึ้นมาแล้วไม่เคยได้ทดสอบดูแม้แต่ครั้งเดียวว่าเป็นจริงหรือไม่
  • การคาดคะเนหรือการเก็งความจริงก็ไม่ดีไปกว่าการเดามากนักเพราะมันเป็นการเดาที่มีหลักเกณฑ์ดีขึ้นเท่านั้น ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ควรแก่คำว่า “ พิเศษ ” เหตุผลทุกคู่ต้องได้มาจากการสังเกตสิ่งข้างนอก กล่าวคือได้มาจากการสังเกตทั้งเหตุและผล ว่าเกี่ยวข้องกัน ทั้งนี้ยกเว้นเหตุผลอันเกิดจากมนุษย์บัญญัติ เช่น 1 + 1 = 2 , 1 + 1 + 1 = 3 , 1 + 1 + 1+ 1 + 1 = 5 ซึ่งฉะนั้น โดยเหตุผลที่ได้จากการคิดล้วน ๆ 2 + 3 จึงเท่ากับ 5 และยกเว้นสิ่งคู่ที่มนุษย์บัญญัติ ขาว – ดำ หัว – ท้าย เช่นนี้เป็นต้น

    มีนักปรัชญาอยู่จำพวกหนึ่ง เรียกตัวเองว่านักสมบูรณ์นิยม (Absolutists ) พวกนี้หาใช่นักคิดอื่นไกลไม่ หากเป็นนักคิดทำนองเดียวกับพวกพราหมณ์ในอินเดียนั่นเอง และปรัชญาของพวกเขาก็หาผิดกับปรัชญาเวทานตะมากนักไม่ พวกนี้ชอบใช้ “ เหตุผลบริสุทธิ์ ” พิสูจน์การมีของ “ สิ่งสมบูรณ์ ” ( The Absolute ) ซึ่งเป็นความแท้จริง อันติมะ (Ultimate reality ) ของปรัชญา พวกเชื่อว่าสิ่งสมบูรณ์เป็น “ ของสูง ” จึงรู้ว่ามีได้ด้วยเหตุผล แต่รู้ไม่ได้ทางประสาทสัมผัส นี่หาใช่อื่นไกลอะไรไม่หากไม่เป็นการ “ โมเม ” เข้าข้างมติของตน
  • ผลของการคาดคะเนไปจากร่องรอยของสิ่งบางสิ่งบางอย่างก็ไม่ควรเป็นที่เชื่อถือ ทั้งนี้จนกว่าเราจะประจักษ์ผลของการคาดคะเนนั้นแล้ว นักจริยศาสตร์นั้นก่อนอื่นต้องรักษาศีลธรรมเบื้องต้นในข้อไม่กล่าวเท็จเสียก่อน พระพุทธองค์ซึ่งทรงเป็นปฐมาจารย์แห่งพุทธจริยธรรมย่อมกล่าวแต่สิ่งที่รู้แน่เท่านั้น
  • เนื่องจากตัวเราเองและพวกของเราเอง ย่อมมีความติดข้องในศรัทธาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ กล่าวคือคนเรามีทั้งอัตตนิยมและหลักคิดของชนชั้นเป็นรากฐานแห่งความคิดเห็นในตัวอยู่ นี่คือตัวมารที่คอยทำลายสัจจธรรมอย่างฉกรรจ์ที่สุด ฉะนั้นเราควรสงสัยแม้ในความเชื่อมั่นของเราเอง และพยายามรับเชื่อเฉพาะแต่สิ่งที่มหาชนเห็นพ้องกับเราเท่านั้น

พระพุทธองค์ทรงแสดงกาลามสูตรก็ด้วยทรงมีความต้องการจะให้ประชาชนเลิกเชื่อลัทธิโบราณและมติผิด ๆ ของตัวเองเสียก่อน ศิษย์แห่งกาลามสูตรย่อมเป็นผู้ตื่นอยู่โดยแท้และย่อมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ชนชั้นปกครองที่ดี ชนชั้นปกครองที่เชิดชูหลักกาลามสูตรจักย่อมเป็นนักประชาธิปไตยที่ดี เพราะกาลามสูตรสอนให้สงสัย โต้แย้ง ค้าน และถกเถียงเพื่อสัจจธรรม ผู้ใดรังเกียจกาลามสูตร ผู้นั้นจะเป็นนักประชาธิปไตยที่ดีไม่ได้เลย แลัเขาจะไม่มีวันหลุดพ้นจากศรัทธาผิด ๆ แล้วนำพุทธธรรมเข้ามาในตนได้เลยทั้งนี้เพราะว่า กาลามสูตรคือวิธีการแผ้วถางทางในจิตต์ใจของคนเราไปสู่ปรัชญาเถรวาทโดยแท้

» ศาสนวิทยาและจริยสังคมวิทยา

» ประวัติศาสตร์ของศาสนา

» ศาสนาแต่เบื้องบุพกาล

» วิญญาณนิยม และเทวนิยม

» ศาสนาแห่งความกลัว

» ศาสนาแห่งความสำนึกคุณ

» ศาสนาแห่งกลียุค

» แนวทางของจริยสังคมวิทยา

» กำเนิดและการแผ่พุทธศาสนา

» อารยธรรมดึกดำบรรพ์

» การแบ่งชนชั้นวรรณะในอินเดีย

» การค้นพบพุทธปรัชญา

» พระพุทธศาสนาในประเทศไทย

» การเสื่อมของพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย

» ญาณวิทยาของพระพุทธศาสนา

» ปรัชญาเถรวาทให้ข้อแนะนำไว้ในกาลามสูตร

» ก่อนที่จะยอมรับหลักคิดหรือความรู้ใด ๆ เป็นสรณะ

» ต้นกำเนิดความรู้ของมนุษย์

» หลักแห่งการทดสอบข้อเท็จจริง

» พุทธภววิทยา

» วิทยาอักซิโอในพุทธปรัชญาพุทธจริยศาสตร์

» พุทธปรัชญาเป็นลัทธิมัชฌิมาปฏิปทา

» ปรัชญาเถรวาทและสุนทรศาสตร์

» ปรัชญาเถรวาทและปฏิมากรรมวิทยา

» พุทธจริยศาสตร์ (BUDDHIST ETHICS )

» ความจำเป็นของจริยศาสตร์

» พุทธจริยศาสตร์ว่าด้วย “ กรรม ”

» ผลสนองของกรรม

» คำสอนว่าด้วยปรุงจิตต์แต่งกรรม

» ภารกิจของพระพุทธศาสนาต่อประเทศไทยและพุทธศิลปะในประเทศไทย

» ผลทางจิตใจ

» ผลทางวัตถุ

» สิ่งเคารพอันเป็นพระพุทธรูป

» สถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนา

» ภาพศิลปะทางพระพุทธศาสนา

» วรรณคดีทางพระพุทธศาสนา

» ภาระกิจของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย

» พระสงฆ์

» นักศาสนา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย