ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย

พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยลเดช(รัชกาลที่ 9)(พ.ศ. 2489 สืบมาจนถึงปัจจุบัน)

เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 9 สืบต่อมา

เกี่ยวกับการคณะสงฆ์ ได้ดำเนินไปตามรูปแบบแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เช่นตอนปลายรัชกาลที่ 8 ในสมัยสังฆนายกรูปที่ 5 นี้ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช(ปลด) วัดเบญจมบพิตร ต่อมาเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง(วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2505)สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(จวน) สังฆนายก ได้รักษาการอยู่ชั่วคราว และในระยะนี้เอง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้เสนอรัฐบาล(สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี)ให้มีการเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เสียใหม่ โดยเสนอให้ใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ขึ้นแทน ซึ่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 นี้ ข้อใหญ่ใจความเป็นการเปลี่ยนจากระบบสังฆมนตรี สังฆสภา แล้วหันกลับไปใช้ระบบมหาเถรสมาคมตามเดิมเช่นในครั้งรัชกาลที่ 5 คือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 แทน รัฐบาลเห็นชอบด้วย และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับ พ.ศ. 2505 แล้ว พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(อยู่) วัดสระเกศ เป็นประธาน เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และองค์ประธานคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการมหาเถรสมาคมชุดแรกขึ้น มี 7 รูป ต่อมาปี พ.ศ. 2506 ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(อยู่) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก การปกครองคณะสงฆ์ระบบ “มหาเถรสมาคม” จึงสืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบันนี้

เกี่ยวกับการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าในรัชกาลนี้ พุทธบริษัทได้สนใจศึกษาทางพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ฝ่ายคฤหัสถ์ได้ตั้งสมาคมทางพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้มูลนิธิทางพระพุทธศาสนาก็ได้มีการก่อตั้งขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาทางพระพุทธศาสนา แม้ในสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆก็ได้มีนิสิตนักศึกษาจัดตั้งกลุ่มหรือชุมนุม(ชมรม)ทางพระพุทธศาสนาในชื่อต่างๆเกิดขึ้นหลายสถาบัน

เกี่ยวกับการศึกษาทางคณะสงฆ์ ก็ได้มีการยกระดับขึ้น เช่น มีสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เปิดการศึกษาระดับปริญญาตรีที่เรียกว่า ”ศาสนศาสตร์บัณฑิต” ที่วัดบวรนิเวศ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2489 และประกาศยกระดับการศึกษามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ เปิดการศึกษาระดับปริญญาที่เรียกว่า “พุทธศาสตร์บัณฑิต” ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา พระสงฆ์ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปศึกษาต่อปริญญาโทและปริญญาเอกในต่างประเทศจบมามากแล้ว พระสงฆ์ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยได้ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกประเทศ มีการส่งพระไทยไปประจำอยู่ที่วัดไทยในสหรัฐอเมริกาและยุโรป นับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าของคณะสงฆ์อย่างหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ได้ทรงออกผนวช เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามโบราณราชประเพณี และประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร เป็นเวลา 15 วัน

เกี่ยวกับ 25 พุทธศตวรรษ การสร้าง พุทธศาสนสถาน ในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลไทยได้จัดให้มีงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการจัดงานครั้งสำคัญทางพระพุทธศาสนาครั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการก่อสร้างพุทธมณฑลขึ้น ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ในเนื้อที่ 2,500 ไร่ และยังได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยจำนวน 2,500 จบแจกจ่ายไปตามพระอารามหลวง ห้องสมุดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทั่วราชอาณาจักร และนานาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ตลอดจนมอบแก่ประชาชนที่มีศรัทธาบริจาคทรัพย์อุปถัมภ์การจัดพิมพ์เพื่อสร้างมอบไว้ตามพระอารามต่างๆ

เกี่ยวกับการศึกษาพิเศษของเยาวชน เนื่องจากสถานศึกษาของเด็กขยายออกจากวัดมากขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2501 ได้มีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรก ณ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสางเสริมความรู้ทางพระพุทธศาสนาตามสมควรแก่วัยของเด็ก เพื่อปลูกฝังศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดี ให้รู้จักการบำเพ็ญประโยชน์และเผยแผ่พระพุทธศาสนา จากนั้นมาเป็นเวลา 30 ปี ถึงบัดนี้ได้มีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เกิดขึ้นตามวัดวาอารามต่างๆกว่า 250 แห่งแล้ว ซึ่งทางกรมศาสนาก็ได้ให้ความอุปถัมภ์ด้วยตามสมควร

ในอดีตดังได้กล่าวมาว่า การเรียนการศึกษาเริ่มต้นจากวัด แม้การหยุดงานประจำสัปดาห์ก็หยุดในวันพระ แต่เมื่อได้เปลี่ยนแปลงไปดังที่ปรากฏแม้ในปัจจุบัน การคำนึงถึงคุณธรรมและวัฒนธรรมประจำชาติจึงนับว่าเป็นการดี ท่านนักปราชญ์ “พุทธทาส ภิกขุ” กล่าวย้ำจนจำกันได้ว่า “ศีลธรรมกลับมา โลกาอยู่ได้” จึงเป็นเรื่องที่ควรกระทำ ควรส่งเสริม และที่พอจะทำได้เลยคือ การเรียนการสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ คำที่ว่า ”ศีลธรรมกลับมา โลกาอยู่ได้” จะแจ่มใสขึ้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 เกี่ยวกับการศึกษาฝ่ายสงฆ์ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศใช้หลักสูตรบาลีแผนใหม่ขึ้น เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ในปี พ.ศ. 2514 กระทรวงศึกษาธิการโดยความเห็นชอบและความร่วมมือของคณะสงฆ์ได้มีการจัดทำหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นใช้ และออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. 2514 เพื่อปฏิบัติต่อไป

เกี่ยวกับองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก องค์การนี้ใช้คำย่อว่า “พ.ส.ล.” องค์การนี้ ที่ประชุมลงมติให้มาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย มีกำหนดเวลา 4 ปี ต่อมาที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2512 ลงมติให้ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวรสืบไป

เกี่ยวกับการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง การอุปสมบทในพระพุทธศาสนา เพื่อรับการบ่มนิสัย ศึกษา และปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธศาสนายิ่งเป็นปึกแผ่นเจริญขึ้น การอุปสมบทยิ่งถือเป็นประเพณีนิยมเพิ่มขึ้น พระมหากษัตริย์ทรงผนวชบ้าง พระบรมวงศานุวงศ์ทรงผนวชบ้าง ประชาชนก็นิยมตามมากยิ่งขึ้น มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อภาวะบ้านเมืองสงบเรียบร้อยขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร(รัชกาลที่ 2)ทรงผนวช ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ. 2331 นับว่าเป็น “นาคหลวงองค์แรก” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ตั้งแต่นั้นมา จึงเป็นราชประเพณีที่พระบรมราชวงศ์หากจะทรงผนวชจะต้องทรงผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยโปรดเกล้าฯ ให้เป็น “นาคหลวง” โดยมีหลักฐาน คือ พระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชพิธี 12 เดือน ว่า ”การทรงผนวชเจ้านายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกทีเดียวนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะฉะนั้น บรรดาเจ้านายภายหลังที่เป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งในวังหลวงวังหน้า ไม่มีพระองค์ใดที่ได้ทรงผนวชอื่นนอกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามเลย เว้นแต่พิการเป็นที่รังเกียจอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้น จึงได้ถือกันว่า ถ้าเจ้านายองค์ใดไม่ได้ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ย่อมเป็นคนที่เสียแล้ว หรือจะเสียคนต่อไปเป็นแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือจนชั้นบวชเณร…”

ยุคฟูนัน (พนม) (ศตวรรษที่ 6–7)
ยุคทวาราวดี (ศตวรรษที่ 11–16)
กษัตริย์เทียบเท่าพระโพธิสัตว์
ยุคศรีวิชัย (ศตวรรษที่ 12–18)
ยุคลพบุรี (ศตวรรษที่ 15–18)
พระพุทธศาสนายุคสุโขทัย(ศตวรรษที่ 18)
พระพุทธศาสนาสมัยพ่อขุนรามคำแหง
การปกครองคณะสงฆ์สมัยสุโขทัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท
พระพุทธศาสนาในสมัยล้านนา(ลานนา)
พระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าเม็งราย(ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา)
พระเจ้ากือนาธรรมิกราช (ตื้อนา)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
พระพุทธศาสนาสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163 เป็นต้นมา)
พระพุทธศาสนาสมัยพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ.2199เป็นต้นมา)
แผนการยึดเมืองไทยของฝรั่งเศส
พระพุทธศาสนาสมัยสมเด็จพระบรมโกษฐ์(พ.ศ. 2275เป็นต้นมา
สรุปพระพุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระพุทธศาสนาในสมัยกรุงธนบุรี(พ.ศ.2310–2325)
พระพุทธศาสนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.2325 ถึงปัจจุบัน)
พระพุทธศาสนาสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล
พระพุทธศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยลเดช
นาคหลวง
ภาวะแห่งความแย้งขัดระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น
เกี่ยวกับนิกายแห่งศาสนาและลัทธิอื่น
นิกายหรือลัทธิใหม่ที่เกิดมีขึ้นในประเทศไทย
การเข้ามาสู่ประเทศไทยของพระพุทธศาสนา
ยุคที่ 1 ลัทธิหินยานอย่างเถรวาท
ยุคที่ 2 ลัทธิมหายาน
ยุคที่ 3 ลัทธิหินยานอย่างพุกาม
ยุคที่ 4 ลัทธิลังกาวงศ์
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย