สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สงครามระหว่างอวิชชา

หน้า 2

ฮันติงตันเขียนไว้ว่า สิ่งที่ท้าทายนักวางนโยบายของตะวันตกก็คือ ทำอย่างไรตะวันตกจะเข้มแข็งกว่าและปกป้องตัวเองจากอารยธรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะอารยธรรมอิสลาม สิ่งที่น่ารำคาญยิ่งกว่าก็คือ การที่ฮันติงตันทึกทักเอาเองว่า ทัศนะของเขาซึ่งเป็นการสำรวจโลกทั้งใบจากคอนเกาะที่อยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่นและฝักใฝ่ฝ่ายใดที่ซ่อนเร้นอยู่ เป็นทัศนะที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว ราวกับคนอื่น ๆ กำลังวิ่งวุ่นหาคำตอบที่เขาค้นพบแล้ว

แท้ที่จริง ฮันติงตันเป็นนักอุดมการณ์ เขาคือคนที่ต้องการปั้นแต่งให้ "อารยธรรม" และ "อัตลักษณ์" กลายเป็นอะไรบางอย่างที่มันไม่ได้เป็นจริง ๆ นั่นคือกลายเป็นสิ่งที่ปิดตาย ผนึกตรา ตัดขาดจากกระแสหลัก กระแสทวนหลากหลายมิติที่ให้ชีวิตแก่ประวัติศาสตร์มนุษย์

ตลอดเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์มิได้มีเพียงสงครามศาสนาและการรุกรานของจักรวรรดินิยม แต่ยังมีการแลกเปลี่ยน การผสมผสานข้ามวัฒนธรรมและการแบ่งปันซึ่งกันและกัน ประวัติศาสตร์ด้านที่ไม่ค่อยมีใครมองเห็นนี้ถูกละเลยไปด้วยความมักง่าย บีบคั้นย่อส่วนทุกสิ่งทุกอย่างจนเลอะเทอะ เพียงเพื่อชูสงครามขึ้นมาเป็นจุดเด่น แล้วอ้างว่า "สงครามระหว่างอารยธรรม" คือความเป็นจริง

เมื่อฮันติงตันตีพิมพ์หนังสือภายใต้ชื่อเดียวกันออกมาในปี 1996 ฮันติงตันพยายามปั้นให้ข้ออ้างเหตุผลของตนละเอียดซับซ้อนกว่าเดิมเล็กน้อยและใส่เชิงอรรถเข้าไปเยอะแยะมากมาย แต่เขาทำได้อย่างเดียวคือ ทำให้ตัวเองสับสนและประจานให้เห็นว่า เขาเป็นนักเขียนที่งุ่มง่ามและเป็นนักคิดที่ตื้นเขินขนาดไหน



กระบวนทัศน์พื้นฐานที่เชื่อว่า ตะวันตกกำลังเผชิญหน้ากับส่วนที่เหลือของโลก (ซึ่งก็คือการเอาคู่ปรปักษ์ในยุคสงครามเย็นมาปรับแต่งเสียใหม่) กระบวนทัศน์นี้ยังอยู่และยังฝังแน่นอย่างร้ายกาจแยบยลในการวิวาทะนับตั้งแต่เหตุสยองเมื่อวันที่ 11 กันยายน การฆ่าตัวตายพร้อมกับสังหารหมู่อย่างเลือดเย็น ซึ่งวางแผนมาอย่างดีและน่าจะเกิดจากแรงผลักดันทางจิตเภทของกลุ่มผู้ก่อการร้ายบ้าคลั่งกลุ่มเล็ก ๆ กลายเป็นข้อพิสูจน์ยืนยันทฤษฎีของฮันติงตันไป แทนที่จะมองเหตุการณ์นี้อย่างที่มันเป็น -คือพวกหัวรุนแรงกลุ่มเล็ก ๆ จับเอาอุดมการณ์ใหญ่โต (ผมใช้คำนี้อย่างหลวม ๆ ) มาใช้เพื่อเป้าหมายของการก่อการร้าย- แต่บรรดาคนใหญ่คนโตระดับนานาชาติ ตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานเบนาซีร์ ภุตโต ไปจนถึงซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ดันออกมาพูดเองเออเองเกี่ยวกับปัญหาของอิสลาม

มิหนำซ้ำในรายของนายกฯอิตาลี ยังไปคว้าเอาแนวความคิดของฮันติงตันขึ้นมาเพื่อพล่ามถึงความเหนือกว่าของตะวันตก โดยเขากล่าวว่า "เรา" มีโมสาร์ทกับไมเคิลแองเจโล ส่วนพวกนั้นสิไม่มี (ในภายหลัง แบร์ลุสโกนีต้องจำใจออกมาขอโทษที่พูดจาดูถูก "อิสลาม")

แต่ทำไมไม่มองมันเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กันบ้าง? จริงอยู่ เหตุการณ์อื่นอาจไม่ได้สร้างความพินาศที่ตื่นตะลึงขนาดนี้ แต่ลองเปรียบ โอซามา บิน ลาเดน และสาวกกับลัทธิอย่างนิกายดาวิเดียน หรือสาวกของสาธุคุณจิมโจนส์แห่งกายยานา หรือลัทธิโอม ชินริเกียวของญี่ปุ่นบ้างสิ?

แม้แต่ The Economist วารสารรายสัปดาห์ของอังกฤษ ซึ่งปรกติก็สุขุมรอบคอบดี แต่ในฉบับ 22-28 กันยายน ก็ยังไม่วายคว้าเอาแนวความคิดตีขลุมนี้มาใช้ โดยยกย่องฮันติงตันเสียเลิศลอยสำหรับการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอิสลามที่แม้ว่า "หยาบและเหมารวม แต่ก็นับว่าเฉียบแหลม" "วันนี้" วารสารฉบับนั้นกล่าวด้วยน้ำเสียงเอาจริงเอาจังไม่เข้าเรื่อง

หน้า 3 >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย