ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

อาณาจักรล้านนา

ชุมชนลุ่มแม่น้ำสำคัญก่อนอาณาจักรล้านนา
ประวัติศาสตร์ล้านนา
ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนา
สรุปเหตุการณ์ภายหลังอาณาจักรล้านนา
เส้นทางประวัติศาสตร์ : ตามรอยพญามังราย

ประวัติศาสตร์ล้านนา

ภายหลังจากที่ยึดครองหริภุญไชยได้แล้ว พญามังรายได้แต่งตั้งให้อ้ายฟ้าปกครองเมืองหริภุญไชยแทน ส่วนพระองค์กลับไปสร้างเมืองแห่งใหม่ที่เวียงกุมกาม ใน พ.ศ. 1837 สำหรับสาเหตุที่ทำให้พญามังรายไม่ปกครองเมืองหริภุญไชยต่อนั้น อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุที่ว่าเมืองหริภุญไชยนั้นเป็นเมืองพระธาตุ เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา จึงไม่เหมาะที่พญามังรายในฐานะกษัตริย์นักรบจะปกครองได้

ในช่วงที่ปกครองอยู่ที่เวียงกุมกาม พญามังรายได้แผ่อิทธิพลไปจนถึงพุกาม พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนตลอดจนถึงช่างฝีมือต่างๆจากพุกามมาไว้ที่เวียงกุมกามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเวียงกุมกามเป็นที่ลุ่ม มีน้ำขัง จึงทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี พญามังรายจึงแก้ไขปัญหาด้วยการหาสถานที่สร้างเมืองใหม่ ด้วยการเชิญพระสหายร่วมสำนัก คือ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยกับพญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา หาชัยภูมิในการสร้างเมืองใหม่ที่เชิงดอยสุเทพ ให้ชื่อว่า “ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ” โดยสร้างใน พ.ศ. 1839 ให้เป็นศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรล้านนา ภายหลังจากที่พญามังรายสวรรคตใน พ.ศ.1860 มีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกหลายพระองค์ ดังต่อไปนี้

กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย

1. พญามังราย พ.ศ.1839-1860
2. พญาชัยสงคราม พ.ศ.1860-1860
3. พญาแสนพู พ.ศ.1861-1862

พ.ศ.1867-1870

4. พญาคำฟู พ.ศ.1871-1881
5. พญาผายู พ.ศ.1888-1910
6. พญากือนา พ.ศ.1910-1931

ยุคล้านนารุ่งเรือง

7. พญาแสนเมืองมา พ.ศ. 1931-1943
8. พญาสามฝั่งแกน พ.ศ. 1944-1985
9. พญาติโลกราช พ.ศ. 1985-2030
10. พระยอดเชียงราย พ.ศ. 2030-2038
11. พระเมืองแก้ว พ.ศ. 2038-2068

ยุคล้านนาเสื่อม

12. พระเมืองเกษเกล้า พ.ศ. 2068-2081

พ.ศ. 2086-2088

13. พระนางจิรประภา พ.ศ. 2088-2089
14. พระไชยเชษฐาธิราช พ.ศ. 2089-2090
15. พระเจ้าเมกุฎสุทธิวงศ์ พ.ศ. 2094-2107
16. พระนางวิสุทธิเทวี พ.ศ 2107-2121
17. ข้าหลวงพม่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2121

กษัตริย์ที่เป็นองค์อุปถัมภ์ในพระพุทธศาสนา ตลอดจนกษัตริย์ที่มีบทบาทและความสำคัญต่ออาณาจักรล้านนานับแต่เริ่มสถาปนา จนกระทั่งตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่า คือ

พญาแสนพู พญาแสนพูเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 3 ในราชวงศ์มังราย พระองค์โปรดให้ท้าวคำฟูโอรสครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์ประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และในราว พ.ศ. 1870 ทรงโปรดให้สร้างเมืองเชียงแสนในบริเวณเมืองเงินยาง และเสด็จประทับอยู่ที่เชียงแสนตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ การสร้างเมืองเชียงแสนของพญาแสนพูนั้นก็เพื่อป้องกันข้าศึกทางด้านเหนือ และควบคุมหัวเมืองต่างๆที่อยู่รายล้อม คือ เมืองเชียงราย, เมืองฝาง, เมืองสาด, เมืองเชียงตุง, เมืองเชียงรุ่ง, และเมืองเชียงของ

 

พญากือนา ทรงส่งราชฑูตไปอาราธนาพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัยซึ่งเป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญญวาสี ให้มาสืบพระพุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่ ราว พ.ศ.1912 เรียกนิกายรามัญวงศ์ หรือนิกายลังกาวงศ์เก่า(ตรงกับสมัยของพระยาลิไท) ให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระยืน เมืองลำพูน แล้วย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอกใน พ.ศ. 1914 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดสวนดอก ซึ่งเป็นสวนดอกไม้ที่พญากือนาได้ถวายพร้อมกับสร้างวัดให้เป็นที่พำนักของพระมหาสุมนเถระ เรียกวัดนี้ว่า “ วัดสวนดอกหรือวัดบุปผาราม ” พระมหาสุมนเถระนั้นไม่ได้ไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกาโดยตรง แต่ศึกษาด้วยการไปศึกษาที่สำนักของพระอุทุมพรมหาสวามีที่เมืองพัน บริเวณอาวเมาะตะมะซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพม่า แล้วกลับไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเมืองสุโขทัยช่วงรัชสมัยพระยาลิไท(พ.ศ.1890-1911)

พญาติโลกราชหรือพระเจ้าติโลกราช ในสมัยของพระองค์พระพุทธศาสนามีความเจริญอย่างมาก พระองค์ให้การสนับสนุนพุทธศาสนานิกายสีหล ซึ่งภิกษุที่สำคัญในนิกายนี้และอยู่ร่วมสมัยกับพญาสามฝั่งแกนพระราชบิดาของพระเจ้าติโลกราชคือพระญาณคัมภีระ(มหาคัมภีร์) พระญาณคัมภีระและคณะสงฆ์ได้เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกาตั้งแต่สมัยพญาสามฝั่งแกนแล้ว

หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ได้ทรงอาราธนาพระมหาเมธังกร ให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าแดงหลวง และตั้งให้ดำรงตำแหน่งมหาสวามี(สังฆราชา) พร้อมทั้งสนับสนุนให้พระสงฆ์นิกายพื้นเมืองที่มีมาแต่สมัยพระนางจามเทวี และนิกายลังกาวงศ์เก่าหรือรามัญวงศ์ให้บวชใหม่ในนิกายสีหลหรือนิกายลังกาวงศ์ใหม่ให้หมด ต่อมาได้ทรงโปรดให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ 8 ของโลกที่วัดมหาโพธาราม(วัดเจ็ดยอด)ในพ.ศ. 2020 เพื่อให้ลดการขัดแย้งของคณะสงฆ์นิกายรามัญวงศ์กับนิกายสีหล การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งนี้ทำให้เกิดพระสงฆ์ที่ทรงความรู้จำนวนมาก เช่น พระธรรมทิน พระสิริมังคลาจารย์ เป็นต้น นิกายสีหลนี้พระภิกษุในเมืองเชียงใหม่ได้เดินทางไปศึกษาที่ลังกาตั้งแต่สมัยพญาสามฝั่งแกนแล้ว และกลับมาในสมัยดังกล่าว แต่เนื่องจากมีวัตรปฏิบัติที่ต่างกันมากกับนิกายรามัญวงศ์ จึงได้รับการต่อต้านตลอดเวลา พญาสามฝั่งแกนจึงแก้ปัญหาด้วยการขับไล่พระสงฆ์ในนิกายสีหลนี้ให้ออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ซึ่งพระสงฆ์กลุ่มดังกล่าวได้กระจายตัวไปจำพรรษาอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะในหัวเมืองเมืองลำปางและเมืองเชียงราย

พระเมืองแก้ว เป็นยุคที่พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และเกิดวรรณกรรมภาษาบาลีเนื่องในพุทธศาสนาหลายเรื่อง(นิกายสีหล) เช่น

• ชินกาลมาลีปกรณ์ ของพระรัตนปัญญาเถระ
• มังคลัตถทีปนีและเวสสันตรทีปนี ของพระสิริมังคลาจารย์
• จามเทวีวงศ์ ของพระพุทธญาณและพระพุทธพุกาม

ในชินกาลมาลีปกรณ์เรียกพระนามของพระเมืองแก้วว่า “ ติลกปนัดดาธิราช ” ซึ่งเป็นการยกย่องพระเมืองแก้วเช่นเดียวกับพระเจ้าติโลกราชว่า เป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรมและส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง นอกจากนั้นในสมัยของพระองค์ยังทรงขยายอำนาจไปด้านใต้ ทำให้ต้อง

ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยา พระเมืองแก้วได้สร้างความมั่นคงให้กับเมืองเชียงใหม่ด้วยการสร้างกำแพงเมืองป้องกันข้าศึกให้มีความแข็งแรงใน พ.ศ. 2059

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย