สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

เศรษฐศาสตร์การเมืองและระบบโลก

ปัญหาของอำนาจและความรู้ ณ จุดเปลี่ยนแห่งสหัสวรรษ

ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ดับเบิลยู ค๊อกซ์ เขียน
ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร แปลและเรียบเรียง

» ต้นตอของขบวนการโลกาภิวัตน์

» โครงสร้างอำนาจของทุน

» การปรับโครงสร้างการผลิต

» บทบาทของหนี้

» โครงสร้างของโลกาภิวัตน์

» การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองของโลก

» ความเปราะบางของระเบียบโลกใหม่

» อัตลักษณ์และความรู้ : การเผชิญหน้ากับอนาคต

» ความล้าสมัยของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ

» กระบวนการทางการเมืองและระเบียบโลก

» พลังท้าทายของสรรพสิ่งมีชีวิต

» ทางออกสู่รูปแบบใหม่ของสังคมเศรษฐกิจ (social democracy)

อัตลักษณ์และความรู้ : การเผชิญหน้ากับอนาคต

อัตลักษณ์มีความสำคัญทางการเมืองเพราะเป็นศูนย์รวมที่ผู้คนจะใช้เพื่อเคลื่อนไหวคนจำนวนมากในการกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ และเพื่อสู่จุดมุ่งหมายทางสังคมที่ต้องการ รูปแบบเด่นของอัตลักษณ์ 2 รูปแบบสำหรับศตวรรษที่ 19 และ 20 ซึ่งก็คือความเป็นเชื้อชาติและชนชั้น (nationality and class) นั้นจะยังมีความสำคัญต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่ แต่ได้ถูกจัดรวมเข้าไปอยู่กับโครงสร้างที่ซับซ้อนของอัตลักษณ์อื่น ๆ แล้ว รัฐชาติสำหรับประชาชนในประเทศร่ำรวยมิได้เป็นศูนย์กลางของอัตลักษณ์ของพวกเขาอีกต่อไป (อาจมีข้อยกเว้นกรณีสหรัฐฯ) ขณะที่กรณีประเทศยากจนกว่านั้น ชาตินิยมผงาดขึ้น และมีความอหังกามากขึ้น

ความแตกต่างด้านเศรษฐกิจและสังคมยังคงเป็นประเด็นความขัดแย้งพื้นฐาน ขณะที่กระบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจยิ่งทำให้ช่องว่างคนรวยและคนจนถ่างจากกันอย่างสุดขั้วทุกหนแห่งในโลก แต่การสำแดงความแตกต่างดังกล่าว มักจะออกมาในรูปของความแตกต่างทางเพศ ชนชาติ หรือชนเผ่า ศาสนา องค์กรที่สังกัด หรือการมีความทรงจำถึงเหตุการณ์ในอดีตที่สร้างความวิปโยค และความอับอายขายหน้าเอาไว้

การศึกษาด้านอารยธรรมวิเคราะห์ประเด็นเรื่องอัตลักษณ์เป็นภาพรวม มีการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับอารยธรรมช่วงครึ่งแรกของคริสศตวรรษที่ 20 แนวคิดเรื่องอารยธรรมมีความหลากหลายถูกละเลยไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการมองกันว่าเป็นสงครามที่ปกป้องอารยธรรมของมวลมนุษย์เป็นวัฒนธรรมหนึ่งเดียว แนวคิดเรื่องว่าอารยธรรมมีความหลากหลายถูกกีดกันออกไปช่วงสงครามเย็น ขณะนี้หวนกลับมาอีก แต่อยู่ในสภาวะสับสนตามสมควร

อารยธรรมคืออะไร? นักโบราณคดีซึ่งศึกษาอารยธรรมสมัยต้น ๆ ตีความว่าเกิดจากสภาวะทางเศรษฐกิจ เช่น อารยธรรมเทคโนโลยีสมัยทองแดง (Bronze Age) เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความเป็นเมืองขนาดใหญ่ การแบ่งงานกันทำของแรงงาน มีโครงสร้างชนชั้น และโครงสร้างด้านอำนาจการควบคุมหรือรัฐ

มนุษย์กลุ่มต่าง ๆ ถูกร้อยรัดเข้าด้วยกันด้วยสัญญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งทำให้มวลสมาชิกสามารถสื่อสารเข้าใจซึ่งกันและแสวงหาความหมายแก่ชีวิต อาณาบริเวณของความรู้ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของบุคคลและปฏิสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน แสดงออกผ่านสื่อหลายรูปแบบ ได้แก่ นิยายปรัมปรา ภาษา และศาสนา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งเดียวกัน และเป็นเช่นนั้นมาตราบจนสมัยต่อมาเมื่อสปิริตการวิเคราะห์และให้เหตุผลมีความสำคัญขึ้น จึงมีการแยกรูปแบบสื่อต่าง ๆ ที่กล่าวมาออกเป็นส่วน ๆ ออกจากกัน

คำจำกัดความคำว่าอารยธรรม ในทางปฏิบัติน่าจะเป็นความคล้องจองกันระหว่างชุดของ สภาวะวัตถุวิสัย (สภาวะเศรษฐกิจ หรือ material condition) ที่กำหนดความเป็นอยู่กับชุดของการให้ความหมายที่เป็นผลจากประสบการณ์และปฎิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มิติด้านวัตถุและมิติด้านจิตใจของอารยธรรมเมื่อประกอบเข้าด้วยกัน อาจให้ผลเป็นอารยธรรมแบบต่าง ๆ ทั้งนี้เนื่องจากมิใช่เป็นเพียงกรณีของสภาวะวัตถุวิสัย ส่งผลให้เกิดรูปแบบจิตสำนึกได้รูปแบบเดียว ขณะที่รูปแบบอื่น ๆ เป็นความจอมปลอม รูปแบบของการหาความหมายจะต้องเหมาะเจาะกับสภาวะวัตถุวิสัย และมนุษย์อาจสู่จุดนั้นได้ด้วยหลายแนวทาง ดังนั้นอารยธรรมที่แตกต่างกัน แม้จะมีสภาวะวัตถุวิสัย อันเดียวกัน อาจมีการให้คุณค่า และเส้นทางโคจรที่ต่างกัน

เราไม่ควรมีภาพของอารยธรรมเสมือนเป็นตัวตนที่คงที่ และซึ่งประจัญหน้าซึ่งกันและกันอย่างไม่เป็นมิตร แต่พิจารณาว่าอารยธรรมทุกประเภทเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งจากสภาวะความขัดแย้งภายในและการที่ต้องเผชิญกับปัจจัยจากภายนอก กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เมื่อประกอบเข้ากับการคงอยู่ของอารยธรรมต่าง ๆ ที่ยังเป็นปริศนา อาจจะเป็นพื้นฐานของความรู้ในอนาคตเกี่ยวกับระเบียบโลก การเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมในมิติต่าง ๆ น่าจะเป็นองค์ประกอบของความรู้ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและการสื่อสารกัน ความสัมพันธ์ทางสังคมของขบวนการผลิตและคุณค่าที่ฝังอยู่กับสังคม แนวคิดเรื่องเวลา และพื้นที่ (time and space) ซึ่งเป็นกรอบแสดงว่ามนุษย์คิดอย่างไรกับโลกของเขา ความหมายแห่งจิตวิญญาณที่หลากหลายและผลที่มีต่อพฤติกรรมของมนุษย์

ความสำคัญของการศึกษาอารยธรรมในแนวนี้ อยู่ตรงที่สมมติฐานพื้นฐานเกี่ยวกับระบบโลก ได้แก่ (1) มีทางเลือกต่าง ๆ สำหรับอนาคตของมนุษย์ เราไม่ต้องถูกผูกมัดอยู่กับการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของขบวนการโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ที่กำหนดโดยการแข่งขันกันในตลาดโลก และซึ่งจะนำไปสู่สังคมมนุษย์โลกที่ขาดความหลากหลายตามแบบอย่างสังคมอเมริกันร่วมสมัย อารยธรรมที่มีองค์ประกอบของคุณค่าต่าง ๆ และการจัดองค์กรสังคมรูปแบบต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งเรายังเลือกสังคมที่เราต้องการได้ (2) ถ้าอารยธรรมต่าง ๆ คงอยู่ร่วมกัน การมีความเข้าใจซึ่งกันและกันจะกลายเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของการมีระเบียบโลก นี่คือสภาพที่ต่างจากสมัยสงครามเย็นที่มีสมมติฐานแนวคิดเชิงเดี่ยวเหมือนๆ กัน

กุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจโลกพหุนิยม [โลกที่มีความหลากหลายด้านอารยธรรม - ผู้แปล] คือความสามารถเข้าใจกรอบวิธีคิดของผู้คนที่มองโลกแตกต่างไปจากวิธีการที่ “เรา” คุ้นเคย (ไม่ว่า “เรา” จะเป็นใคร) คือเข้าใจผู้คนที่มีทัศนคติต่อความเป็นจริงแตกต่างจากเรา

‘ความเป็นจริง’ ถูกสร้างขึ้นโดยประวัติศาสตร์และสังคม ดังนั้นความเป็นจริง จึงต่างกันสำหรับแต่ละอารยธรรม มิใช่เป็นสากลทั่วโลก (นี่มิใช่หมายความว่าต้องปรับเอามิติวิธีคิดของอารยธรรมอื่น ๆ มาใช้เพียงทำความเข้าใจเท่านั้น) เมื่อสามารถเข้าใจผู้อื่น (สังคมอื่นหรือ อารยธรรมอื่น)แล้ว สิ่งที่จำเป็นลำดับต่อมาคือแสวงหาส่วนร่วมหรือแนวร่วมของ ‘ความเป็นจริง’ ที่หลากหลายนี้เพื่อเป็นพื้นฐานของความเป็นสากล ภายในโลกที่มีความแตกต่างหลากหลาย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย