สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ตา หู คอ จมูก

อ. พัทรีญา แก้วแพง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตา
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหู
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของจมูก
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของช่องปากและช่องคอ

การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตา

กายวิภาคศาสตร์ของตา ในการศึกษาเกี่ยวกับการให้การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตานั้น ควรจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับส่วนต่างๆที่ประกอบขึ้นเป็นตา ซึ่งสามารถแบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ ได้ 3 ส่วนดังนี้

1. อวัยวะภายนอกลูกตา (external eye segment) ประกอบด้วย

  1. คิ้ว (eyebrows) มีหน้าที่ป้องกันเหงื่อหรือสิ่งสกปรกเข้าตา

  2. ขนตา (eyelashes or cilia) มีหน้าที่คอยกั้นไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าตา ที่บริเวณโคนตาจะมีเส้นประสาทรับความรู้สึกและมีต่อมขับสารช่วยหล่อลื่นตา ถ้าต่อมนี้อุดตันอาจเกิดตากุ้งยิงได้

  3. เปลือกตาหรือหนังตา (eyelid) ประกอบด้วยด้านบนและด้านล่าง เป็นผิวหนังที่ละเอียดอ่อนและบางที่สุดในร่างกาย ไม่มีไขมัน

  4. เบ้าตา (orbit) ประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้น เป็นเกราะกำบังที่แข็งแรงที่สุดของลูกตาเป็นช่องติดต่อกับอวัยวะภายในสมองและเป็นทางเดินของเส้นประสาทจากตาไปสมอง

  5. เยื่อบุตา (conjunctiva) มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆมีเส้นเลือดเลี้ยงไปทั่ว ทำหน้าที่คล้ายผนังภายในอาคารบุเปลือกตาด้านในและส่วนนอกของตาขาว และยังมีต่อมขับเมือกและน้ำตาทำหน้าที่--- หล่อลื่น และทำให้กระจกตามีผิวเรียบช่วยในการมองเห็นและนำอาหารมาสู่กระจกตาด้วย นอกจากนี้มีหน้าที่ในการจับกินของแปลกปลอม หรือเชื้อโรคต่างๆได้ แบ่งได้ 3 ส่วนคือ
    - เยื่อบุหลังเปลือกตา (tarsal or palpebral conjunctiva) คลุมด้านในของเปลือกตาทั้งบนและล่าง
    - เยื่อบุตาส่วนหน้า (ocular or bulbar conjunctiva) คลุมด้านหน้าของตาขาวทั้งหมด
    - เยื่อบุตาส่วนฟีนิกซ์ (conjunctiva of fornix) เป็นส่วนตาระหว่างเยื่อบุตาหลังกับเยื่อบุตาหน้า มีเส้นเลือดอยู่เป็นจำนวนมาก

  6. ระบบท่อระบายน้ำตา (lacrimal systems) น้ำตาขับออกมาจากต่อมน้ำตาที่อยู่บริเวณเยื่อบุตา และใต้เปลือกตา แต่ในเวลาที่น้ำตาออกมากกว่าปกติ เช่น เวลาเศร้า น้ำตาจะถูกขับออกจากต่อมน้ำตาอันใหญ่ที่ขับออกมาจากใต้เปลือกตา และชิดกับเบ้าตาด้านนอก โดยปกติแล้วน้ำตาจะออกมาแล้วเคลื่อนไปทางหัวตาและไหลลงรูน้ำตาออกมาทางท่อน้ำตา เข้าถุงน้ำตาและไปยังท่อในจมูก แต่ถ้าในขณะที่ร้องไห้น้ำตาออกมามากจะทำให้ระบบระบายไม่ทันและหยดออกมาภายนอก

2. อวัยวะภายในลูกตา (anterior eye segment) ประกอบด้วย

  1. กระจกตา (cornea) หรือที่เรียกว่าตาดำ มีลักษณะใส โค้งสม่ำเสมอมีการเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบจากด้านหน้าไปหลัง กระจกตาได้รับสารอาหารจาก aqueous และน้ำตา ผิวของกระจกตาได้รับออกซิเจนจากบรรยากาศ หน้าที่ของกระจกตาเป็นตัวหักเหของแสงคล้ายเลนส์นูนรวมกับแก้วตาให้แสงตกลงบนจอประสาทตา ทำให้เรามองเห็นประกอบด้วย 5 ชั้นคือ
    - epithelium นอกสุด เซลล์เรียงตัวกัน 5-6 ชั้น ปกติจะมีการสร้างทดแทนใน 7 วัน
    - Bowman’ s layer ติดกับชั้น stroma และชั้น epithelium ชั้นนี้เมื่อมีการทำลายจะไม่มีการสร้างใหม่ เกิดเป็นแผลขึ้นมา
    - stroma เป็นชั้นที่มีความหนา 90% ของความหนากระจกตา เซลล์หลักของชั้นนี้คือ keratocyte
    - Descemet’ s membrane ชั้นนี้สามารถซ่อมแซมใหม่ได้หลังเกิดอุบัติเหตุ
    - endothelium อยู่ติดกับ aqueous ได้รับออกซิเจนและกลูโคสจาก aqueous

  2. ตาขาว (sclera) เป็นส่วนที่เป็นผนังหุ้มลูกตาไว้ทั้งหมด ยกเว้นกระจกตา คล้ายกระจกตาแต่การเรียงตัวของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ไม่เป็นระเบียบ ชั้นนอกของตาขาวจะเป็นเนื้อเยื่อที่มีความยืดหยุ่น เรียกว่า “episclera” ประกอบด้วยเส้นเลือดจำนวนมาก ด้านหลังตาขาวจะติดกับส่วนที่หุ้มเส้นประสาทตาซึ่งเชื่อมกับเยื่อหุ้มสมอง

  3. น้ำเอเควียส (aqueous humor) เป็นน้ำใสๆ สร้างมาจากเส้นเลือดฝอยบริเวณ ciliary body น้ำที่สร้างขึ้นจะเข้าสู่ช่องหลังม่านตาก่อน แล้วจึงเข้าสู่ช่องหน้าม่านตาทางรูม่านตา บางส่วนซึมผ่าน trabecular meshwork เข้าสู่ Schlemm’ s canal เข้าสู่ระบบหมุนเวียนของหลอดเลือดดำ น้ำมีหน้าที่ช่วยให้ความดันลูกตาคงที่

  4. ช่องหน้าม่านตา (anterior chamber) และมุมของหน้าม่านตา (anterior chamber angle) เป็นช่องระหว่างกระจกตาและแก้วตา มีความลึกประมาณ 2-4.5 มม. ลักษณะใสอยู่ภายในมุมของช่องหน้าม่านตา ประกอบด้วย trabecular meshwork และ Schlemm’ s canal

  5. ช่องหลังม่านตา (posterier chamber) เป็นช่องแคบๆอยู่ระหว่างด้านหน้าของแก้วตากับด้านหลังของม่านตา

  6. ส่วนของยูเวีย (uveal tract) แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
    - ม่านตา (iris) ประกอบด้วยเส้นสี และ pigment จึงทำให้มีสีคล้ำเป็นสีตาดำ น้ำตาลด้านหน้าของม่านตาจะมีรูม่านตาให้แสงลอดผ่าน รูม่านตานี้จะมีขนาดเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาถ้ามีแสงมากขนาดจะหดเล็กลงตามการควบคุมของประสาท parasympathetic ถ้ามืดจะขยายออกกว้าง
     ซีเลียรี บอดี้ (ciliary body) เป็นส่วนต่อระหว่างฐานของม่านตากับส่วนหน้าของ choroids ประกอบด้วย ciliary epithelium ผลิตน้ำภายในลูกตา ciliary process และ ciliary muscle ทำหน้าที่ช่วยให้เอ็นยึดแก้วตายืดและหดเพื่อช่วยปรับภาพใกล้และไกลของแก้วตา
     คอรอยด์ (choroid) อยู่ด้านหลังของม่านตา ชิดกับจอประสาทตาเป็นส่วนประกอบที่มีเส้นเลือดอยู่มาก ทำหน้าที่นำอาหารและนำของเสียออกจากจอประสาทตา

  7. แก้วตา (lens) ลักษณะเป็นเลนส์นูนมีความโค้งด้านหน้าและด้านหลังไม่เท่ากัน ตรงขอบจะมีเส้นเอ็น ยืดไปยึดติดกับ ciliary body เรียกว่า เอ็นยึดแก้วตา (suspensory ligament) แก้วตาจะมีการเกิดขึ้นใหม่ผลัดของเก่าไปเรื่อยๆโดยผลักของเก่าแน่นเข้าไปตรงกลาง ทำให้เมื่อมีอายุมากแก้วตาจะถูกอัดแน่นให้แข็งตัวขึ้นเรื่อยๆ ความยืดหยุ่นลดลงเกิดเป็น สายตาคนที่มีอายุ (presbyopia)

3. อวัยวะภายในลูกตาส่วนหลัง (posterior eye segment) ประกอบด้วย

  1. น้ำวุ้นลูกตา (vitreous) เป็นน้ำทำหน้าที่คล้ายฟูกนุ่มๆ ช่วยให้ตามีรูปร่างทรงตัวอยู่ได้ ด้านหน้าชิดกับแก้วตา ที่เหลือชิดกับจอประสาทตาและเส้นประสาทตา ถ้าน้ำวุ้นตาเสื่อมจะจับตัวเป็นก้อน จะมองเห็นเป็นจุดดำ (floater) ต่อมาน้ำวุ้นตาเปลี่ยนเป็นสายใยคล้ายพังผืดหดตัวทำให้จอประสาทตาฉีกขาดได้

  2. จอประสาทตา (retina) จะอยู่ภายในลูกตาเกือบทั้งหมด ประกอบด้วยเยื่อบางมีลักษณะใส มีการรับสัญญาณต่อกันไปและไปรวมกันที่เส้นประสาทตา แล้วส่งสัญญาณเข้าสู่สมอง ทำให้เกิดการมองเห็น ส่วนตรงกลางของจอประสาทตา บริเวณตรงกลางคือส่วนที่อยู่ลึกที่สุด มีจุดรับภาพ (macula) เป็นบริเวณที่มีเซลล์รับภาพหนาแน่นที่สุด

  3. เส้นประสาทตา (optic nerve)
    กล้ามเนื้อลูกตา (extraocular muscles) มีทั้งหมด 6 มัด ควบคุมโดยเส้นประสาทที่มาจากสมอง สามารถทำให้ตาเคลื่อนไหวได้เกือบทุกทิศทาง กล้ามเนื้อตาทั้ง 6 มัด คือ
    - Rectus muscle 4 มัด ได้แก่ medial rectus, lateral rectus, inferior ructus และ superior rectus
    - Oblique muscle 2 มัด ได้แก่ superior oblique และ inferior oblique

การซักประวัติและการตรวจความผิดปกติของตา

ในการประเมินสภาพของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตานั้น ต้องประกอบด้วยการซักประวัติการเจ็บป่วยร่วมกับการตรวจความผิดปกติต่างๆของตา ได้แก่ การวัดความสามารถในการมองเห็น (VA: visual acuity) การวัดความดันลูกตา (intraocular pressure) ดังต่อไปนี้

การซักประวัติ ต้องครอบคลุมเกี่ยวกับอาการสำคัญ ประวัติอดีตและปัจจุบัน ประวัติครอบครัวซึ่งจะสื่อถึงโรคอื่นๆที่ส่งผลกระทบให้เกิดความผิดปกติของตา ดังนี้

  1. อาการสำคัญ ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับตา มักมีอาการสำคัญได้แก่ ตามัว (blurred vision) ตาแดง (red eye) และปวดตา (ocular ache) และต้องประกอบด้วยผู้ป่วยมีอาการอย่างไร ตาข้างใด ข้างใดผิดปกติมากกว่ากัน และอาการนั้นเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาเท่าไร

  2. ประวัติปัจจุบัน เป็นประวัติที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องกับอาการสำคัญ และการดำเนินของโรค

  3. ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต เกี่ยวโรคที่ผู้ป่วยเจ็บป่วยที่อาจส่งผลต่ออาการผิดปกติของตา ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาการตาโปน (exophthalmos) จากโรคไทรอยด์หรือมีเนื้องอกเบ้าตา หรือต่อมน้ำตา ประวัติการใช้ยาต่างๆ ได้แก่ คลอโควิน (chloroquin) ในผู้ป่วยโรค SLE อาจส่งผลให้กระจกตาเสื่อม หรือยา etambutal ในผู้ป่วยวัณโรคอาจส่งผลให้เส้นประสาทตาอักเสบ (papillitis) และการมองเห็นสีต่างๆผิดปกติ หรือยากล่อมประสาททำให้การผลิตน้ำตาลดลง เกิดการระคายเคืองจากตาแห้ง หรือการติดเชื้อที่ตาง่ายจากผู้ป่วยที่รับยา corticosteroids

  4. ประวัติครอบครัว โดยเฉพาะในโรคที่สืบต่อทางพันธุกรรม ได้แก่ ต้อหินชนิดมุมเปิด (open angle glucoma) มะเร็งจอประสาทตา จอประสาทตาเสื่อม (renititis pigmentosa) ตาบอดสีโดยกำเนิด และตาเข หรือโรคอื่นๆที่มีผลต่อความผิดปกติของสายตาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

การตรวจตาเบื้องต้น

  1. การตรวจดูโครงสร้างของตา

    1.1 การตรวจลูกตาภายนอก

    1.1.1 เปลือกตา (eye lid) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ปกป้องตา ช่วยให้น้ำตากระจายบนผิวของกระจกตา ซึ่งอาจตรวจพบความผิดปกติได้แก่หนังตาเขียวช้ำ (ecchymosis) ตาโปน (exophthalmos) เปลือกตาปิดไม่สนิท หนังตาตก (ptosis)กุ้งยิง (Hordeolum) การอักเสบเรื้อรังของ meibomian gland (Chalazion) หนังตาม้วนเข้า (Entropion) หนังตาม้วนออก ( Ectropion)

    1.1.2 ระบบท่อน้ำตา (lacrimal system) ตรวจดูต่อมน้ำตา ท่อน้ำตาว่าเปิดหรือไม่ มีหนองหรือไม่ ความผิดปกติที่พบได้แก่ ถุงน้ำตาอักเสบ (dacryocystitis) น้ำตาไหล (lacrimation)

    1.1.3 ขนตา (eye lash) อาจตรวจพบความผิดปกติได้แก่ ขนตาเก หรือขนตางอกคุด (trichiasis)

    1.1.4 เยื่อบุตา (conjunctiva) ตรวจโดยการส่องไฟฉายดู อาจตรวจพบความผิดปกติได้แก่ เยื่อบุตาแดง ตาแดงในเยื่อบุตาชั้นผิว (conjunctival injection) ตาแดงในส่วนลึกรอบตาดำ (ciliary injection) เลือดออกใต้เยื่อบุตา (subconjuntival hemorrhage) ต้อลม (pinguecula) ต้อเนื้อ (pterygium) เยื่อบุตาบวม (chemosis) ตุ่มเล็กๆที่เยื่อบุหลังเปลือกตา (follicle) สิ่งแปลกปลอม (foreign body)

    1.2 การตรวจอวัยวะภายในลูกตาส่วนหน้า

    1.2.1 กระจกตา กระจกตาขุ่น (hazy) ใช้ไฟฉายส่องดูอาจพบ สารไขมันเกาะติดภายในชั้นกระจกตาส่วนริม (arcus senilis) แผลที่กระจกตา (corneal ulcer) สิ่งแปลกปลอมที่กระจกตา (corneal foreign body)

    1.2.2 ช่องหน้าม่านตา(anterior chamber / AC) ใช้ไฟฉายส่องทะแยงเข้าไปจะเห็นความใสและความลึกได้ อาจพบช่องหน้าม่านตาตื้น (shallow) ปกติ 2 –4.5 ม.ม. มีเลือดในช่องหน้าม่านตา (hyphema) มีหนองในช่องหน้าม่านตา (hypopyon)

    1.2.3 ม่านตา (iris) ใช้ไฟฉายส่องซึ่งควรเห็นลักษณะของม่านตาได้ชัดเจน แต่อาจพบม่านตาแหว่ง (coloboma)ม่านตาฝ่อ (iris atrophy) ม่านตาติดกับอวัยวะข้างเคียง (synechiae) ม่านตาสั่นพลิ้ว (iridodonesis) ม่านตาหลุดลอก (iridodialysis) ม่านตาแหว่ง (coloboma)

    1.2.4 รูม่านตา (pupil) ควรให้ผู้ป่วยสองไกลๆ แล้วส่องไฟฉายดู อาจตรวจพบความผิดปกติได้แก่ รูม่านตาไม่กลม (irregular pupil)รูม่านตาขนาดไม่เท่ากัน (anisocoria) รูม่านตาหลายรู (polycoria)

    1.2.5 แก้วตา (lens) ปกติจะใสและโปร่งถ้าขุ่นเล็กน้อยจะมองไม่เห็นด้วยไฟฉายอาจตรวจพบความผิดปกติไม่มีแก้วตา (aphakia) ต้อกระจก (cataract) เลนส์แก้วตาเทียม (intraocular lens)

    1.3 การตรวจภายในลูกตาส่วนหลัง ไม่สามารถตรวจได้ด้วยไฟฉาย ต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Ophthalmoscope

  2. การวัดสายตา (visual acuity) ความสามารถในการมองเห็น เป็นการตรวจการทำงานของตา โดยตรวจวัดการทำงานของ cones และ rods หลักการวัดสายตา คือ ขนาดของภาพที่ปรากฏที่จอตา ขึ้นอยู่กับขนาดของวัตถุและระยะห่างจากลูกตา โดยใช้แผ่นป้ายสเนลเลน (Snellen chart) และ E- chart
    วิธีการวัด
    - วัดด้วยตาเปล่า เริ่มจากตาข้างขวาเสมอ นั่งห่างจากแผ่นป้าย 20 ฟุตหรือ 6 เมตร
    - วัดขณะมองผ่าน pinhole
    - วัดขณะสวมแว่นตา
    - การเลื่อนระยะทาง
    - การใช้นิ้วและมือ
    - การใช้ไฟฉาย

  3. การวัดความดันลูกตา (tonometry) การตรวจโดยใช้มือกดTactile tension หรือ digital palpation โดยใช้นิ้วกลางและนิ้วนางวางบนคิ้วของผู้ป่วย ใช้ปลายนิ้วชี้กดสลับกันสองข้างโดยข้างหนึ่งกดอีกข้างรับความรู้สึกถ้าปกติเวลากดจะมีความยืดหยุ่น(sponginess) ถ้าความดันลูกตาสูงจะกดไม่ลง ถ้าความดันลูกตาต่ำตาจะนิ่ม

    การตรวจโดยใช้ Schiotz tonometer ให้ผู้ป่วยนอนราบไม่หนุนหมอน หยอดยาชาในตาผู้ป่วย แล้วใช้ Schiotz tonometerวางลงบนกระจกตา (cornea) อ่านผลที่ปลายเข็มอ่านจากค่าเศษ ส่วนมักนิยมใช้น้ำหนัก 5.5 และ 10 กรัมแล้วจึงนำค่าที่ได้เปิดตาราง differential tonometry

    ข้อห้ามในการใช้ Schiotz tonometer มีการติดเชื้อที่ตา กระจกตาเป็นแผล อุบัติเหตุทางตา กระจกตาบวมไอรุนแรง ตาสั่น ผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการวัด

  4. การส่องตรวจภายในลูกตาด้วย ophthalmoscope

  5. การตรวจตาด้วย (slit lamp)

  6. การตรวจลานสายตา (visual field examination) โดยการให้ผู้ป่วยตรวจตาทีละข้างผู้ตรวจใช้มือเคลื่อนเข้ามาจากด้านข้างทุกๆ 30 องศาโดยรอบ 360 องศา

  7. การตรวจกล้ามเนื้อตา (ocular muscles examination) โดยให้ผู้ป่วยมองตามปลายปากกาตามทิศทางทั้ง 6 ทิศทาง

  8. การตรวจตาบอดสี (color blindness examination)

  9. การวินิจฉัยโรคด้วย DNA

โรคของตาที่พบบ่อย

การติดเชื้อของเยื่อบุตา และกระจกตา
การติดเชื้อและการอักเสบ (infection and inflammation) อาจเกิดขึ้นที่ส่วนใดของตาก็ได้ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการได้รับเชื้อ การแพ้สารต่างๆ หรือจากจุลินทรีย์ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการติดเชื้อที่พบได้บ่อย ได้แก่ กระจกตาอักเสบ (keratitis) เยื่อบุตาอักเสบ(conjunctivitis) ตากุ้งยิง (hordeolum) และแผลที่กระจกตา (corneal ulcer)

กระจกตาอักเสบ (keratitis) และแผลที่กระจกตา (corneal ulcer)

ความหมาย กระจกตาอักเสบ (keratitis) หมายถึง การอักเสบของกระจกตา โดยที่ เยื่อบุชั้นนอกสุดของกระจกตา (corneal epithelium) ยังคงอยู่ในสภาพปกติ แต่ถ้ามีการฉีกขาดหรือหลุดลอกของเยื่อบุตาชั้นนอก เรียกว่า “แผลของกระจกตา (corneal ulcer)”

สาเหตุ การติดเชื้อหรืออักเสบของกระจกตา เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรืออาจเกิดจาก การไวต่อสารต่างๆ (hypersensitivity) โรคของหลอดเลือดบางชนิด จากการขาดอาหาร เช่น การขาดวิตามินเอทำให้ตาแห้ง โรคของประสาทคู่ที่ 5 (trigeminal nerve) เช่นโรคกระจกตาอักเสบจาก กระจกตาไม่มีความรู้สึก (neurotrophic keratitis) การเปิดเผยของตาดำขณะนอนหลับจากตาปิดไม่สนิทเวลาหลับตา (exposure keratitis)

พยาธิสรีรภาพ เมื่อเกิดการอักเสบของกระจกตา โดยทั่วไปจะมีการเปลี่ยนแปลง คือ เกิดจากอักเสบ แทรกซึม (infiltration) การเกิดแผล (ulceration) การเกิดหลอดเลือดฝอยใหม่ (neovascularization) และการซ่อมแซม (repairation) โดยเมื่อมีการอักเสบหรือการติดเชื้อทำให้เกิดการแทรกซึมของเม็ดเลือดขาว (polymorphonuclear, PMN) ในชั้นใต้เยื่อบุชั้นนอกสุด (supepithelium) ซึ่งในบางรายอาจถึงชั้นสโทรมา (stroma) บริเวณใดๆที่มีการอักเสบจะมีการขุ่น ถ้าเกิดการแทรกซึมในชั้นตื้นๆ เมื่อถึงระยะหายจะมีการดูดซึมโดยสมบูรณ์ กระจกตาจะกลับมาใสเหมือนเดิม

การเกิดแผลของกระจกตา อาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือการที่เยื่อบุขั้นนอกสุดของกระจกตามีความต้านทานต่ำทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อกระจกตา และถ้ามีการติดเชื้อร่วมด้วยก็จะเกิดหนองและเนื้อเยื่อกระจกตาหลุดลอกจนเกิดแผลของกระจกตาเกิดขึ้น

การเกิดเส้นเลือดฝอยใหม่ เกิดขึ้นเมื่อเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง จะมีการแพร่กระจายของหลอดเลือดจากเนื้อเยื่อใกล้เคียง คือ เยื่อบุตา หรือตาขาว เข้าสูตาดำ เรียกว่า แพนนัส ฟอเมชั้น (pannus formation) เพื่อนำอาหารมาสู่บริเวณที่อักเสบเพื่อซ่อมแซมบริเวณที่มีการตายของเนื้อเยื่อ (necrosis) และมีการงอกใหม่ของเซลล์ที่กลายเป็นเนื้อเส้นใย (fibrobrastic proliferation) ทำให้มีเนื้อเยื่อเส้นใยขึ้นมาแทนที่เนื้อเยื่อกระจกตา ส่วนในเรื่องของการซ่อมแซมนั้นถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ epithelium endothelium และ เซลล์ชั้น descemet’s membrane เท่านั้นที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่ถ้าความผิดปกติเกิดลุกลามที่ชั้นบาวแมน หรือ สโตรมา เมื่อถึงระยะแผลหายจะมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมาแทนที่เกิดแผลขึ้น

อาการและอาการแสดง เมื่อมีการติดเชื้อที่กระจกตาผู้ป่วยจะมีอาการในระยะติดเชื้อใหม่ๆ จะมีอาการปวดตา เคืองตา กลัวแสง น้ำตาไหล ตาแดง ตาพร่ามัว อาจมีขี้ตา สีเหลืองเขียว ในระยะที่การอักเสบทุเลาลงแล้ว และเหลือแต่แผลเป็นที่กระจกตาดำ ทำให้มีอาการตามัว จะตรวจพบแผลเป็นขุ่นขาวที่กระจกตาดำ เรียกว่า ต้อลำไย อาการแทรกซ้อน ม่านตาอักเสบ (uveitis) หนองขังอยู่ในช่องหน้าม่านตา(hypopyon) ลูกตาอักเสบทั่วไป (pan-ophthalmitis) ตาบอด

การรักษา ใช้ยาหยอดตาหรือยาป้ายตาที่เข้าปฏิชีวนะ อาจให้ยาทางปากหรือฉีดร่วมด้วย กำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดแผล เช่น ตาปิดไม่สนิท เยื่อบุตาอักเสบ เป็นต้น

ในรายที่เกิดจากการขาดวิตามินให้ได้รับสารที่มีวิตามินเอสูง ให้ Atropine eye drop ชนิด 1% เพื่อทำให้รูม่านตาขยาย เพื่อลดการเกร็งตัวของ cilliary body ทำให้ลดอาการปวดตาได้ นอกจากนี้ลดอาการติดของม่านตาและอวัยวะข้างเคียงด้วย ให้ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อมีอาการ ลดการใช้สายตา พักตา อาจต้องทำการผ่าตัดเย็บเปลือกตา (tarsorrhaphy) หรือ กรณีที่กระจกตาทะลุและมีม่านตามาอุดตันจะผ่าตัดนำม่านตาออก (iridectomy) หากเป็นแผลของกระจกตาทึบมากจนมองไม่เห็น อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา (keratoplasty )ถ้ารุนแรงมากไปจนทั่วตาอาจต้องทำการควักลูกตาออก(enucleation) และใส่ลูกตาปลอม

เยื่อบุตาขาวอักเสบ (Conjunctivitis))

ความหมาย เยื่อบุตาขาวอักเสบ (Conjunctivitis) หมายถึง การอักเสบติดเชื้อของเยื่อบุตา ซึ่งสามารถแบ่งตามสาเหตุการเกิดได้ดังนี้

  1. เยื่อบุตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Conjunctivitis) มักมีสาเหตุมาจากเชื้อ Strep.epidermidis, Staph.aureus ติดต่อโดยการสัมผัส
    อาการ ตาแดง หนังตาบวม มีขี้ตามากเป็นสีเหลืองหรือเขียว ไม่ปวดหรือเคืองตา
    การรักษา ใช้ยาป้ายตาหรือหยอดตา ยาปฏิชีวนะ เช่น Terramycin eo., Poly-oph ed.
    ถ้าหนังตาบวมมากให้กินยา Cloxacillin หรือ Erythromycin

  2. เยื่อบุตาขาวอักเสบจากไวรัส (Viral Conjunctivitis) สาเหตุ ติดเชื้อไวรัส เช่น adenovirus ติดต่อโดยการสัมผัส เล่นน้ำในสระว่ายน้ำ
    อาการ ตาแดง เคืองตา หนังตาบวมเล็กน้อย มีขี้ตาเล็กน้อย ต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตอาจมีไข้ร่วมด้วย
    การรักษา ใช้ยาป้ายตาหรือหยอดตา ยาปฏิชีวนะ

  3. เยื่อบุตาขาวอักเสบจากการแพ้ (Allergic Conjunctivitis) สาเหตุ จากการแพ้ เช่น ฝุ่น ควัน เกสรดอกไม้ อากาศ เครื่องสำอาง โรคภูมิแพ้
    อาการ คันตามาก ตาบวม น้ำตาไหล มักไม่มีขี้ตา ตาแดงเล็กน้อย
    การรักษา ให้ antihistamine เช่น Hista-oph ed. , Alomide ed. ถ้าเป็นมากให้ยาแก้แพ้ เช่น CPMหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ถ้าคันตามากให้ประคบด้วยน้ำแข็ง

ริดสีดวงตา (Trachoma)

ความหมาย ริดสีดวงตา (Trachoma) หมายถึง การอักเสบและเป็นแผลที่เยื่อบุตาทำให้เกิดหนังตาม้วนเข้า และอาจเกิดแผลที่เยื่อบุตาได้ภายหลัง สาเหตุ เชื้อ Chlamydia trachomatis ซึ่งเป็นเชื้อก้ำกึ่งระหว่างไวรัสกับแบคทีเรีย

พยาธิสภาพ การติดต่อการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงใช้ของใช้ร่วมกัน แมลงหวี่ แมลงวันตอมตาทำให้เกิดการติดเชื้อที่เยื่อบุตาเกิดการอักเสบและเป็นแผล ซึ่งถ้าเป็นอยู่นานทำให้เกิดแผลเป็นที่เยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบอาจส่งผลให้เกิดหลอดเลือดเข้ากระจกตา(pannus) เปลือกตาผิดรูปเป็นสาเหตุที่ทำให้คนตาบอด

อาการ แบ่งเป็น 4 ระยะ

  1. ระยะแรกเริ่ม เคืองตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย คล้ายเยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้ออื่น

  2. ระยะริดสีดวงแน่นอน มีตุ่มเล็กๆที่เยื่อบุตาบน และพบ pannus

  3. ระยะเริ่มเป็นแผลเป็น

  4. ระยะการหายของแผลและเป็นแผลเป็น

การรักษา กินยา Tetracycline หรือ Erythromycin และใช้ยาป้าย Tetracycline วันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน หรือใช้ยาหยอดพวก sulfanaminde, tetracycline, erythromycin และ rifampin วันละ 4 ครั้งนาน 3-4 สัปดาห์ถ้าไม่ดีขึ้นพิจารณาผ่าตัด

กุ้งยิง (Hordeolum)

ความหมาย กุ้งยิง (Hordeolum) หมายถึง ตุ่มฝีเล็กๆที่เกิดที่ขอบเปลือกตา แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ

  1. External hordeolum / sty เป็นการอักเสบของต่อมเหงื่อบริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา

  2. Internal hordeolum เป็นการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตา

สาเหตุ เกิดจากต่อมไขมันที่โคนตามีการอุดตันและเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย
อาการ ปวดที่เปลือกตา ปวดตุบๆบริเวณที่เป็น เป็นตุ่มแข็งแตะถูกเจ็บ บางครั้งมีหนองนูนเป่งหัวขาวๆ เหลืองๆ รอบๆนูนแดงและกดเจ็บ

การรักษา เมื่อเริ่มขึ้นใหม่ๆ ประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ ให้ใช้ยาหยอดตาหรือป้ายตาที่เข้า ยาปฏิชีวนะถ้าหนังตาบวมแดงหรือมีต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตร่วมด้วย ให้กินยาปฏิชีวนะ ถ้าเป็นหัวหนอง ควรสะกิดหรือผ่าเอาหนองออก แล้วให้กินยาปฏิชีวนะ

การพยาบาล
การวินิจฉัยการพยาบาล

  1. ไม่สุขสบายเนื่องจากปวดและเคืองตา

  2. เสี่ยงต่อการติดเชื้อตาข้างที่ดี/แพร่กระจายเชื้อ เนื่องจากการปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง

  3. ความสามารถในการปฏิบัติกิจกรรมลดลงเนื่องจากตามัวและปวดตา

  4. ขาดความรู้ในการปฏิบัติตนก่อนผ่าตัด

  5. เสี่ยงต่อการเกิดความดันลูกตาสูงภายหลังการผ่าตัดเนื่องจากการขาดความรู้ในการปฏิบัติตน/ปฏิบัติไม่ถูกต้อง

  6. การดูแลเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านไม่ถูกต้องเมื่อขาดความรู้

กิจกรรมการพยาบาล

  1. เพื่อลดอาการปวด เคืองตา โดยการประเมินอาการปวดของผู้ป่วย จัดให้พักผ่อนในบริเวณที่มีแสงพอประมาณเพื่อลดอาการระคายเคืองตาจากบริเวณที่มีแสงจ้าจนเกินไป แนะนำไม่ให้หระพริบตาบ่อยๆ ดูแลให้รับยาแก้ปวดและประเมินผลภายหลังให้ยาตามแผนการรักษา

  2. เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยการให้การพยาบาลโดยยึดหลักปราศจากเชื้อ แยกของเครื่องใช้ของผู้ป่วย ล้างมือทุกครั้งที่ให้การพยาบาลผู้ป่วย อธิบายเหตุผลให้ผู้ป่วยและญาติทราบ แนะนำให้ผู้ป่วยนอนหงายหรือตะแคงไปด้านที่อักเสบ ป้องกันการไหลของสิ่งคัดหลั่งจากด้านที่เป็นไปสู่ด้านที่ดี หลีกเลี่ยงการนำมือ ผ้าเช็ดหน้าที่เช็ดตาข้างที่เป็นมาใช้กับด้านที่ดี และไม่ควรปิดตาข้างที่อักเสบด้วยผ้าปิดตา (eye pad) เพราะทำให้มีการขังของหนองแทนที่จะไหลออก ควรสวมแว่นดำเวลากลางวัน เวลานอนให้ครอบตา (eye shield) ไว้ป้องกันการขยี้ตา

  3. เพื่อให้ผู้ป่วยได้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันครบถ้วน โดยประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน และให้การช่วยเหลือในสิ่งที่ตนเองทำได้ไม่สะดวก ตลอดจนจัดสิ่งแวดล้อมให้สะดวกปลอดภัย

  4. เพื่อให้มีความรู้ในการปฏิบัติตนก่อนผ่าตัด ประเมินความรู้ของผู้ป่วย อธิบายการผ่าตัดพอสังเขป แนะนำการเตรียมตัวได้แก่ การงดน้ำอาหาร การทำความสะอาดร่างกาย การตัดขนตาและหยอดตาด้วยยาฆ่าเชื้อก่อนการผ่าตัด รวมถึงแนะนำการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด เช่น deep breathing งดการไอจามแรงๆ เพราะจะกระทบกระเทือนแผล ทำให้ไหมที่เย็บ

  5. เพื่อให้ผู้ป่วยปฏิบัติตนหลังผ่าตัดได้ถูกต้อง เมื่อกลับมาจากห้องผ่าตัดให้ผู้ป่วยยกศีรษะขณะเคลื่อนย้าย ไม่ควรเกร็งศีรษะ และป้องกันการกระทบกระเทือนศีรษะ งดการสะบัดหน้าแรงๆ ใน 24 ชม. แรกควรพักบนเตียงวันรุ่งขึ้นปฏิบัติตนตามปกติ งดการไอจามแรงๆให้ไออ้าปากกว้างๆ แนะนำไม่ให้บีบตา ขยี้ตาเอามือกดบนตา แนะนำไม่ให้เบ่งถ่ายรับประทานอาหารที่ทำให้ไม่เกิดอาการท้องผูก แนะนำให้ครอบ eye shield ไว้ตลอดป้องกันการกระแทก ขยี้ตา เริ่มหยอดยาในวันรุ่งขึ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากมียาหลายชนิดหยอดห่างกันอย่างน้อย 5 นาที

  6. เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้ในการดูแลตนเอง โดยแนะนำเรื่องต่อไปนี้
    - แนะนำเรื่องการเช็ดตาอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หยอดยา ป้ายตาตามแผนการรักษา การทำความสะอาดมือก่อนหลังการหยอดยา และไม่ควรใช้สิ่งของปะปนกับผู้อื่น
    - แนะนำให้ดูแลความสะอาดร่างกายปกติ ควรงดการล้างใบหน้า ระวังไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตา
    - ควรมาตรวจตามนัดทุกครั้ง ถ้ามีอาการผิดปกติ ได้แก่ ตาแดง มาก ปวดตา มีขี้ตามาก ให้มาพบแพทย์

ต้อกระจก (Cataract)

ความหมาย ต้อกระจก (Cataract) หมายถึง การขุ่นของแก้วตา (lens opacity) ซึ่งส่งผลให้แสงทะลุผ่านไปได้ ทำให้ตามัวหรืออาจมองไม่เห็น
สาเหตุ

  1. ปัจจัยทั่วไป อายุ ร้อยละ 80 เป็นต้อกระจกชนิดในผู้สูงอายุ ภูมิประเทศ พบในประเทศเขตร้อนและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง

  2. ปัจจัยทางด้านสุขภาพ ได้แก่พันธุกรรม ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ยาหรือสารพิษ เช่น ยาสเตอรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาฆ่าเซลล์มะเร็ง ยาฆ่าแมลง

  3. ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ได้แก่ การขาดสารอาหารโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ทำให้ทารกเป็นต้อกระจกแต่กำเนิด รังสีหรือไฟฟ้าแรงสูง การกระทบกระเทือนหรือบาดเจ็บบริเวณลูกตาโดยตรง

ชนิด

  1. ต้อกระจกในวัยสูงอายุ (senile cataract) พบมากที่สุด มักเป็นทั้งสองตาแต่ความขุ่นของแก้วตาอาจไม่เท่ากัน ที่พบทั่วไปมี 3ประเภท คือ ขุ่นบริเวณนิวเคลียส (nuclear sclerosis) หรือแก้วตาขุ่นจากบริเวณรอบนอก (cortical cataract) และแคปซูลส่วนหลังของแก้วตาขุ่น

  2. ต้อกระจกโดยกำเนิด (congenital cataract) มักเกิดเนื่องจากพันธุกรรมหรือเกิดจากการพัฒนาที่ผิดปกติเนื่องจากมารดาติดเชื้อไวรัสพวกหัดเยอรมัน (Rubella) ขณะตั้งครรภ์ 3 เชื้อไวรัส พวกหัดเยอรมัน (Rubella) ขณะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก

  3. ต้อกระจกทุติยภูมิ (secondary cataract) สาเหตุจากภยันตราย จากโรคเบาหวานจากการได้รับยาเสตียรอยด์และได้รับแสงอุลตราไวโอเล็ตเป็นเวลานานๆ

พยาธิสภาพ ภาวะปกติแก้วตาประกอบด้วยโปรตีนที่ใสในปริมาณที่สมดุลและมีโพแทสเซียมกับ ascorbic acid จำนวนมาก การขุ่นของแก้วตาเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี ภายในแก้วตา โดยในระยะแรกจะมีการซึมผ่านของน้ำมากกว่าปกติ ทำให้เนื้อเยื่อของแก้วตาบวม เมื่อระยะต้อสุกจำนวนน้ำที่เพิ่มขึ้นจะลดลง ความหนาแน่นของแก้วตาจะค่อยๆลดลงเกิดการสูญเสียแร่ธาตุโพแทสเซียม โดยโซเดียมเข้ามาแทนที่เพื่อรักษาสมดุล และมีแคลเซียมมาเกาะมากขึ้น การใช้ออกซิเจนลดลงมีผลให้เกิดความไม่สมดุลของโปรตีน

ระยะของต้อกระจกในผู้สูงอายุ

  1. ต้อกระจกเริ่มเป็น (immature cataract) อาจมีการขุ่นขาวบริเวณเนื้อส่วนรอบนอกของแก้วตาหรือคอร์แทกซ์ แต่เนื้อตรงกลางหรือนิวเคลียสยังใส

  2. ต้อกระจกสุก (mature cataract) แรงดันออสโมติกในตาสูงขึ้นทำให้มีการดึงน้ำผ่านเข้าเซลล์ ทำให้แก้วตาบวมน้ำ ส่งผลให้แก้วตาสูญเสียความใส เกิดการขุ่นขาวขึ้น

  3. ต้อกระจกสุกงอม (hypermature cataract) น้ำในตาถูกขับออกนอกตา ทำให้แก้วตาขุ่นขาวทั่วไปหมด เป็นระยะที่เหมาะแก่การผ่าตัดแก้วตาออก

อาการและอาการแสดง

  1. ตามัวลงช้าๆ โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดผู้ที่เป็นต้อกระจกจะให้ประวัติว่าตาจะมัวมากขึ้นในที่สว่างที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจาก ขณะอยู่ที่สว่างรูม่านตาเล็กลงส่วนอยู่ในที่มืดจะเห็นชัดขึ้น เพราะรูม่านตาขยาย

  2. มองเห็นภาพซ้อน เนื่องจากการหักเหของแสงในแต่ ละส่วนของแก้วตาเปลี่ยนไป

  3. สายตาสั้นลงเพราะแก้วตาเริ่มขุ่นทำให้กำลังหักเหของแสงเปลี่ยนไปจึงมองในระยะใกล้ได้ชัด ขณะเดียวกันมองไกลจะไม่ชัดเมื่อใช้ไฟฉายส่องผ่านรูม่านตา จะเห็นแสงสะท้อนสีขาว

  4. รูม่านตาจะเห็นขุ่นขาวเมื่อส่องดูด้วยไฟฉาย

  5. ถ้าส่องตาผู้ป่วยด้วยเครื่องมือที่เรียก direct opthalmoscope บริเวณรูม่านตาจะเห็นเป็นเงาดำตามขนาดและรูปร่างของแก้วตาที่ขุ่น

การรักษา ต้อกระจกไม่มีการรักษาด้วยยา มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ การผ่าตัดเอาแก้วตา ที่ขุ่นออก ซึ่งเรียกว่า ลอกต้อกระจก (lens extraction)

ชนิดของการผ่าตัด

  1. Intracapsular cataract extraction (ICCE) คือ การผ่าตัดนำแก้วตาที่ขุ่นพร้อมทั้งเปลือกหุ้มเข้าตาทั้งหมดในเวลาเดียวกันการผ่าตัดชนิดนี้มีผลไม่แน่นอน มีผลต่อสายตาการมองถ้าไม่ใส่เลนส์เข้าไปแทนที่ผู้ป่วยจะต้องใส่แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ หรือถ้าใส่แล้วแพทย์วางตำแหน่งไม่ตรงทำให้เกิดสายตาเอียงได้

  2. Extracapsular cataract extraction (ECCE)คือ การผ่าตัดนำแก้วตาที่ขุ่นพร้อมทั้งเปลือกหุ้มเข้าตาด้านหน้า โดยเหลือเปลือกหุ้มแก้วตาด้านหลัง

  3. Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens (ECCE c IOL) เป็นการผ่าตัดเอาแก้วตาออกเหลือแต่เปลือกหุ้มแก้วตาด้านหลังร่วมกับใส่แก้วตาเทียมหลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถมองเห็นชัดทันทีการมองเห็นภาพจะขนาดใกล้เคียงกับตาคนปกติมากที่สุดไม่ต้องสวมแว่นตา สามารถขจัดปัญหาการสูญหายของแว่นตาลงได้

  4. Phacoemulsification with Intraocular Lens ( PE c IOL) เป็นการผ่าตัดต้อกระจกโดยการใช้คลื่นเสียงหรืออัลตราซาวด์ที่มีความถี่สูงเข้าไปสลายเนื้อ แก้วตาแล้วดูดออกมาทิ้ง และจึงนำแก้วตาเทียมใส่เข้าไปแทนข้อดีของวิธีนี้ต่างกับวิธีปกติตรงที่แผลผ่าตัดเล็กกว่าการเกิดสายตาเอียงหลังการผ่าตัดน้อยลงระยะพักฟื้นหลังการผ่าตัดสั้นกว่าข้อเสียเนื่องจากเป็นวิธีใหม่ ดังนั้นต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง และต้องใช้สารหล่อลื่น (viscoelastic) ช่วยในระหว่างผ่าตัด มิฉะนั้นเครื่องอัลตราซาวด์อาจไปสั่น ทำลายกระจกตาได้

แก้วตาเทียม (Intraocular Lens)
เป็นสิ่งประดิษฐ์ใช้แทนเลนส์ธรรมชาติมักทำจากสาร Polymethyl methaacrylate (PMMA) ซึ่งไม่มีปฏิกิริยากับเนื้อตาลักษณะแก้วตาเทียมประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

  1. ส่วนที่เป็นแก้วตาเทียม (optical portion) ส่วนนี้ทำหน้าที่หักเหแสงให้ตกบนจอประสาทตา เพื่อให้เห็นภาพชัดส่วน

  2. ขาแก้วตาเทียม ( haptic portion) ทำหน้าที่ยึดหรือพยุงให้แก้วตาเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ ไม่ให้เคลื่อนที่หรือเลื่อนหลุดไป มีทั้งที่เป็นขาแข็งและที่ยืดหยุ่นได้ แบบสปริง

อาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัดต้อกระจก

  1. ความดันลูกตาสูง (Increase intraocular pressure) IOP เกิดจากผลของกิจกรรมบางอย่างทำให้ความดันลูกตาสูงทันทีทันใดเช่น การไอ การจาม การอาเจียน การก้มหน้าต่ำกว่าระดับเอวการยกของหนัก การบีบตา การเบ่งถ่ายอุจจาระ และการนอนตะแคงข้างที่ผ่าคัด ความดันจะสูงกว่า 20 มม.ปรอท

  2. การดึงรั้งของแผลเย็บ ( Stress on the suture Line) เมื่อความดันลูกตาสูงทำให้แผลเย็บถูกดึงรั้งเกิดเลือดออกในช่องหน้าม่านตาได้ผู้ป่วยปวดตาหรือไม่ปวดก็ได้ขึ้นกับจำนวนเลือดในช่องหน้าม่านตา

  3. เลือดออกในช่องหน้าม่านตา (Hyphema) เกิดจากการฉีกขาดฉีกขาดของเส้นเลือดม่านตา และ ซีเลียรีบอดี สาเหตุจากภยันตรายชนิดไม่มีคม ( blunt trauma) เกิดขึ้นเอง และจากผู้ป่วยปฏิบัติตนหลังผ่าตัดไม่ถูกต้อง

  4. การติดเชื้อ ( Infection) เกิดได้จากหลายสาเหตุตาถูกน้ำ ผู้ป่วยขยี้ตา

  5. vetreous prolapse เกิดจากการแตกของ posterior capsule มีvetreous ในแผลทำให้การหายของแผลช้าและอาจมีรูที่ retina ทำให้กระจกตาลอกหลุดได้

  6. ท่อทางเดินน้ำตาเกิดการติดเชื้อ เกิดจากการบาดเจ็บขณะผ่าตัด ในการใส่เลนส์

การพยาบาล การพยาบาลผู้ป่วยก่อนผ่าตัดต้อกระจก
การพยาบาลเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยให้ผู้ป่วยนอนเตียงเตี้ย และล้อเตียงสามารถล็อคได้ อธิบายสิ่งแวดล้อมภายในห้อง หรือตึกผู้ป่วย รวมทั้งการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม การใช้กริ่งเพื่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ไม่เร่งรีบผู้ป่วยในขณะทำกิจวัตรประจำวัน

การพยาบาลเพื่อลดความวิตกกังวลก่อนผ่าตัด สร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยและญาติ โดยเข้าไปพูดคุย ให้เวลาและความเป็นกันเองกับผู้ป่วย ตรวจเยี่ยมผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกไว้วางใจ ประเมินระดับความวิตกกังวล และความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วย เพื่อนำมาวางแผนการพยาบาล โดยการพูดคุย ซักถาม และสังเกตพฤติกรรม การแสดงออกของผู้ป่วย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและญาติซักถามข้อข้องใจ แนะนำสภาพแวดล้อมที่เตียง และเครื่องใช้ต่างๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ตามองไม่เห็น หรือมองเห็นไม่ชัดทั้งสองข้าง ให้ผู้ป่วยได้สัมผัสสิ่งต่างๆ พร้อมทั้งแนะนำการใช้กริ่ง อธิบายเกี่ยวกับโรคของผู้ป่วยพอสังเขป ขั้นตอนการผ่าตัดอย่างง่ายๆ และชัดเจน ให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วย รวมทั้งการปฏิบัติตัวก่อนและขณะรับการผ่าตัดบอกเวลาเยี่ยมและระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาล แก่ผู้ป่วยและญาติ แนะนำให้รู้จักกับผู้ป่วยข้างเตียง และให้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ป่วยโรคเดียวกัน ที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วได้ผลดี ให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยและญาติว่าจะมีเจ้าหน้าที่พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม.

การพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยมีความพร้อมทางด้านร่างกายก่อนผ่าตัด ประเมินความพร้อมโดยดูจากผลการตรวจต่างๆ ของผู้ป่วยดังนี้ ตรวจจำนวนเม็ดเลือด ( complete blood count ) ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด ตรวจเอดส์ ( anti - HIV ) ตรวจน้ำตาลในเลือดในกรณีผู้ป่วยมีประวัติโรคเบาหวาน วัดความดันโลหิต และล้างถุงน้ำตา ( irrigate sac ) ทุกราย ในรายที่ทำผ่าตัดต้อกระจกชนิดใส่เลนส์เทียมจะต้องมีผลการตรวจกำลังแก้วตาเทียม ( power IOL ) จัดเตรียมยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้พร้อม ซักประวัติความเจ็บป่วยอื่นๆ และการแพ้ยาของผู้ป่วย พร้อมทั้งผลการตรวจและรักษาจากบันทึกในเวชระเบียน

เตรียมร่างกายผู้ป่วยโดยทำความสะอาดผิวหนังเฉพาะที่ตามแผนการรักษา เช่น ตัดขนตาล้างตา ฟอกหน้าก่อนนอนและเช้าวันผ่าตัด ดูแลความสะอาดทั่วไป เช่น สระผม โกนหนวด ตัดเล็บ และเช็ดล้างสีเล็บ อาบน้ำหรือเช็ดตัวเช้าวันผ่าตัด ทำความสะอาดปากและฟัน เป็นต้น ให้ยาหยอดตาขยายรูม่านตาตามแผนการรักษา

การพยาบาลผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้อกระจก

การพยาบาลเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนตา ในขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงของห้องผ่าตัดมายังเตียงในหอผู้ป่วย พยาบาลต้องช่วยประคองศีรษะผู้ป่วย พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยค่อยๆ เลื่อนตัวมาที่เตียงนอน

การพยาบาลเพื่อช่วยลดอาการปวดตาและให้พักหลับได้ ให้ยาแก้ปวดตามแผนการรักษา พร้อมทั้งประเมินหลังให้ยา ถ้าอาการปวดไม่ทุเลาต้องรายงานแพทย์ จัดท่านอนให้ผู้ป่วย ไม่นอนทับบริเวณตาที่ได้รับการผ่าตัด จัดสภาพแวดล้อมไม่ให้มีสิ่งรบกวนผู้ป่วยมากเกินไป เช่น แสง เสียง อุณหภูมิ ยุง เป็นต้น

การพยาบาลเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ตาภายหลังผ่าตัด แนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับวิธีทำความสะอาดใบหน้าโดยไม่ให้น้ำเข้าตาข้างที่ทำผ่าตัด เน้นไม่ให้ผู้ป่วยเปิดตา ใช้นิ้วมือแยงตาหรือขยี้ตา ปิดผ้าปิดตา และครอบที่ครอบตาตามแผนการรักษาและตรวจสอบให้ปิดแน่นไม่เคลื่อนหลุด เพื่อป้องกันผู้ป่วยเอานิ้วมือเข้าไปสัมผัสหรือขยี้ตา ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังให้การพยาบาล และปฏิบัติการพยาบาลอย่างถูกต้องด้วยวิธีปลอดเชื้อทุกขั้นตอน

การพยาบาลเพื่อลดความพร่องในการดูแลตนเองเมื่อถูกปิดตาข้างที่ผ่าตัด เมื่อพยาบาลไม่ได้อยู่ที่เตียงผู้ป่วยให้ว่างกริ่งไว้ใกล้มือผู้ป่วยตลอดเวลาและตอบรับการร้องขออย่างรวดเร็ว ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยตามความเหมาะสม บอกแผนการพยาบาลทุกครั้งขณะให้การพยาบาลผู้ป่วย บอกชนิดอาหารและเครื่องดื่ม ให้ผู้ป่วยทราบทุกครั้ง

การพยาบาลเพื่อป้องกันการเกิดความดันลูกตาสูง แผลเย็บฉีกขาด เลือดออกในช่องหน้าม่านตา จัดท่านอนให้ผู้ป่วยไม่นอนทับบริเวณตาที่ได้รับการผ่าตัด แนะนำผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงการไอจามแรงๆ การก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอว การตำหมาก แนะนำผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงการออกแรงมากๆ ในการเบ่งถ่ายอุจจาระ การสั่นหน้ามากๆ ขณะแปรงฟัน

การพยาบาลเพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองเมื่อกลับบ้าน ขณะอาบน้ำให้ใช้ขันตักราดจากไหล่ลงมา ระวังอย่าให้น้ำกระเด็นเข้าตา แนะนำเวลาแปรงฟัน ค่อยๆแปรง ไม่สั่นศีรษะไปมา สามารถรับประทานอาหารได้ทุกอย่าง หลีกเลี่ยงอาหารแข็ง เหนียว ที่ต้องออกแรงเคี้ยวมากๆ ไม่ควรให้ท้องผูก ดังนั้นพยายามรับประทานผัก ผลไม้ เป็นประจำ แนะนำผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การออกกำลังกายประเภทกระโดด เล่นโยคะ สระผมได้ถ้าคันศีรษะ โดยให้ผู้อื่นสระให้ ไม่ให้เกาแรงและระมัดระวังไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตาข้าง ใช้สายตาได้ตามปกติ เช่น ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือ แต่ถ้าเมื่อยตาก็ให้หยุดพัก เน้นให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญของการใช้ผ้าปิดตา และที่ครอบตา สอนผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับการเช็ดตา หยอดตา ป้ายตา ให้ถูกต้องตามเทคนิคปลอดเชื้อ แนะนำเรื่องการรับประทานยา และใช้ยาหยอดตา ยาป้ายตา ตามแผนการรักษา แนะนำให้ผู้ป่วยทราบเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ทันทีได้แก่ปวดตามากผิดปกติ ถึงแม้รับประทานยาแก้ปวดที่ได้รับจากโรงพยาบาลแล้วก็ไม่ทุเลา มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง

 

ต้อหิน (glaucoma)

ความหมาย ต้อหิน (Glaucoma) เป็นความผิดปกติของลูกตามีผลดังนี้

  1. ความดันภายในลูกตาสูง(ปกติ 10-20 ม.ม.ปรอท)ความดันลูกตาสูงเกิดจาก ความผิดปกติของระบบการ ไหลเวียนของ น้ำเอเควียส (aqueous humor)

  2. ขั้วประสาทตาถูกกดให้บุ๋ม (cupping of the disc)

  3. มีลานสายตา (visual field ) แคบกว่าปกติ

ชนิดของต้อหิน

1. ต้อหินชนิดปฐมภูมิ (primary glaucoma) เกิดจากความผิดปกติของทางเดินน้ำเลี้ยงลูกตา

  • ต้อหินปฐมภูมิชนิดมุมเปิด POAG (primary open angle glaucoma) เกิดจากความผิดปกติของทางเดินน้ำเลี้ยงภายในลูกตา เช่น การตีบแคบของท่อตระแกรงที่เป็นทางระบายน้ำเลี้ยงภายในลูกตา (trabecular network) ทำให้การระบายน้ำเลี้ยงในลูกตาลดลง ในขณะที่การสร้างน้ำเลี้ยงภายในลูกตามีปริมาณเท่าเดิม ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นทีละน้อย ประมาณ 24 mmHg หรือสูงกว่า การทำลายประสาทตาเกิดขึ้นช้าๆ โดยแทบไม่มีอาการปวดตา จึงสูญเสียลานสายตาทีละน้อย จนกระทั่งเสียความสามารถในการมองเห็น (absolute glaucoma)

  • ต้อหินปฐมภูมิชนิดมุมปิด PACG (primary angle closure glaucoma) เกิดจากการมีการปิดกั้นทางไหลออกของน้ำเลี้ยงลูกตาจากเหตุส่งเสริมที่ทำให้ม่านตาถูกดันมาปิด trabecular networkทำให้การระบายน้ำเลี้ยงในลูกตาลดลงและน้ำเลี้ยงลูกตาจะพยายามดันออกมาด้านหน้า ทำให้ม่านตาโป่งออกมา ส่งผลให้ช่องด้านหน้าลูกตาและมุมของม่านตาแคบลงไปอีก จึงปิดกั้นทางระบายมากขึ้นทำให้มีแรงกดภายในลูกตา โดยเฉพาะบริเวณขั้วประสาทตา (optic disc) ทำให้มีการทำลายประสาทตาอย่างรวดเร็ว เกิดภาวะจอประสาทตาขาดเลือด ขั้วประสาทตาฝ่อ สูญเสียการมองเห็นทางด้านข้างก่อน ลานสายตาแคบร่วมกับอาการปวดตามาก ความดันลูกตาสูงประมาณ 50-60 mmHg

2.ต้อหินชนิดทุติยภูมิ (secondary glaucoma) เกิดตามหลังโรคตาบางโรคหรือโรคภายนอกลูกตาก็ได้เป็นได้ทั้งมุมเปิดและมุมปิด

3.ต้อหินโดยกำเนิด (congenital glaucoma) พบได้ตั้งแต่แรกเกิดเชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรมทำให้มีความผิดปกติของการโตของมุมม่านตา คือ การสร้างเนื้อเยื่อที่หนาตัวผิดปกติทำให้ไม่สามารถระบายน้ำเลี้ยงลูกตาได้

สาเหตุ

  1. POAG พันธุกรรมและพบว่าคน อายุ 40 ปีขึ้นไป จะมีการตีบแคบของท่อตะแกรงที่เป็นทางระบายของน้ำเลี้ยงภายในลูกตา (trabecular meshwork)

  2. PACG มักพบในคนที่มีช่องหน้าม่านตาตื้นกว่าปกติ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย วัยกลางคน โดยเฉพาะคนที่มีสายตายาวต้อกระจกในระยะแก้วตาบวมน้ำ การดื่มแอลกอฮอล์หรือกาแฟปริมาณมากเป็นประจำส่งผลให้มีการปิดกั้นทางระบายของน้ำเลี้ยงภายในลูกตา

  3. ต้อหินชนิดทุติยภูมิชนิดมุมเปิด พบในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง หรือสายตาสั้น

  4. ต้อหินชนิดทุติยภูมิชนิดมุมปิด มักเกิดตามหลังการมีความผิดปกติภายในลูกตามาก่อน เช่น การอักเสบภายในลูกตา อุบัติเหตุของลูกตา

ปัจจัยเสี่ยง อายุ พบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เชื้อชาติ พบในคนผิวดำมากกว่าผิวขาว พันธุกรรม ร้อยละ 20 – 25สายตาสั้น โรคเบาหวาน หรือ โรคความดันโลหิตสูง

พยาธิสรีรภาพ ต้อหินชนิดมุมเปิด เมื่อมีการตีบแคบของ trabecular network ที่เป็นทางระบายของน้ำเลี้ยงลูกตา ทำให้การระบายลดลง ทำให้มีความดันลูกตาสูงขึ้น (increase intraocular pressure, IIOP) ทีละน้อย

ต้อหินชนิดปิด เมื่อมีการปิดกั้นทางออกของน้ำเลี้ยงภายในลูกตาจากการที่ฐานม่านตามาปิดด้านหน้าให้น้ำเลี้ยงภายในลูกตาจากช่องหลังของลูกตาไม่สามารถผ่านรูม่านตาที่ช่องหน้าของลูกตาได้ตามปกติ น้ำเลี้ยงลูกตาจะพยายามดันออกมาทางด้านหน้า ทำให้ม่านตาโป่งออกมาทางด้านหน้ามากขึ้น ส่งผลให้ช่องหน้าของลูกตา และมุมม่านตาแคบลงอีก และมีการปิดกั้นมากขึ้นจึงเกิดความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความดันลูกตาสูงขึ้น (increase intraocular pressure, IIOP) ทำให้มีแรงกดภายในลูกตาทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณขั้วประสาทตาส่งผลให้ทำลายประสาทตา เกิดจอประสาทตาขาดเลือดและขั้วประสาทตาฝ่อไป ทำให้เกิด ลานสานตาแคบลง

อาการ ปวดตา ตามัว เห็นเป็นสีรุ้งรอบดวงไฟ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ความดันลูกตาสูง ลานสายตาแคบลงอาจเดินชนของ กระจกตาบวม

การรักษา

  • การใช้ยาหดรูม่านตา( miotic) ออกฤทธิ์ parasympathetic จะส่งผลต่อกล้ามเนื้อหูรูดม่านตาทำให้รูม่านตาหดเล็กลง ทำให้มุมม่านตาเปิดกว้าง กล้ามเนื้อ ciliary หดตัวทำให้น้ำเลี้ยงลูกตาไหลเวียนสะดวกเช่น 2-4% pilocarpine

  • β-adrengic blocking agent ลดการสร้างน้ำเลี้ยงลูกตา เช่น 0.25 และ0.5% timolol

  • Sympathomimetic drugs ลดการสร้างน้ำเลี้ยงลูกตา เพิ่มการไหลเวียนโลหิต เช่นepinephrine

  • Carbonic anhydrase-inhibitors ลดการสร้างน้ำเลี้ยงลูกตาเช่น acetazalamide (diamox)

  • Hyperosmotic agents ทำให้ osmotic pressure ในเลือดสูงขึ้นทำให้ดึงน้ำออกจากเซลล์มานอกเซลล์และขับน้ำออกทางไต ชนิดรับประทาน Glycerol ให้ทางหลอดเลือดดำ Manitol 20% ใช้ในกรณีต้องการให้น้ำเลี้ยงภายในลูกตาลดลงอย่างรวดเร็ว

การทำผ่าตัด

  1. การตัดTrabecular meshwork ร่วมกับตาขาวครึ่งหนึ่งเหมาะสำหรับต้อหินชนิดมุมเปิด

  2. Peripheral iridectomy ( PI ) การตัดม่านตาบริเวณฐานให้เป็นรู เพื่อเปิดทางให้น้ำเลี้ยงภายในลูกตาจากช่องหลังลูกตาเข้าสู่ช่องหน้าลูกตาแล้วไหลเวียนตามปกตินิยมใช้ในต้อหินชนิดมุมปิด

  3. Cyclotherapy การผ่าตัดทำลาย ciliary body ใช้ในผู้ที่มีต้อหินและรักษาโดยทางยาหรือผ่าตัดข้างต้นไม่ได้ผลหรือในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินระยะสุดท้าย

  4. Goniotomy การใช้เครื่องมือกรีดที่มุมของช่องหน้าม่านตาเพื่อให้เนื้อเยื่อที่หนาตัวผิดปกติที่มุมม่านตาขาดออกมักทำในผู้ป่วยต้อหินแต่กำเนิด

  5. การใช้แสงเลเซอร์ ที่นิยมใช้คือ Argon lazer trabeculoplasty (ALT) และ Lazer peripheral iridotomy (LPI)

การพยาบาล เพื่อเตรียมผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัด เช่นเดียวกับการพยาบาลผู้ป่วยก่อนผ่าตัดทั่วไปและการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ตา แตกต่างที่ ในผู้ป่วยต้อหินจะให้ยาขยายม่านตา และสังเกตการขยายตัวของรูม่านตาถ้าไม่ขยายหรือขยายตัวน้อยให้แจ้งแพทย์ก่อนส่งเข้ารับการผ่าตัด และดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาลดความดันลูกตาเพื่อป้องกันการเลื่อนไหลของวุ้นตาออกมาซึ่งทำให้เกิดการลอกหลุดของจอประสาทตาได้โดยการหยอดยาโดยถ้าผู้ป่วยต้องหยอดยาด้วยตนเองแนะนำวิธีการหยอดยาที่ถูกต้อง รวมถึงเน้นย้ำในการรับประทานยาและการสังเกตอาการผิดปกติของตาได้แก่ ตาแดง ปวดตา น้ำตาไหล ตามัว เป็นต้น

ถ้าผู้ป่วยได้รับยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย มักได้รับการ retained foley’ s cath เพื่อลดจำนวนปัสสาวะจากการที่ยาส่งผลให้สร้างปัสสาวะจำนวนมาก หลังผ่าตัดแนะนำผู้ป่วยไม่ควรตะแตงข้างที่ผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันลูกตาข้างนั้นสูงขึ้น ให้ผู้ป่วยนอนบนเตียง 6-24 ชม. แล้วแต่นโยบายโรงพยาบาล เลี่ยงการเงยหน้าก้มหน้า

จอประสาทตาลอก (Retinal detachment)

ความหมาย จอประสาทตาลอก (Retinal detachment) คือภาวะตามัวที่เกิดจากการหลุดลอกระหว่างชั้นเส้นใยประสาท (sensory layer of retina) กับชั้นเม็ดสี (retinal pigment epithelium) ของจอประสาทตา

ชนิด

  1. ชนิดปฐมภูมิ หรือชนิดไม่ทราบสาเหตุ (primary or rhematogenous retinal detachment) เชื่อว่าเกิดจากการเสื่อมของประสาทตาและวุ้นตา (vitreous) ทำให้มีการฉีกขาดเป็นรู และน้ำจากวุ้นตาที่เสื่อมสภาพเข้าไปในช่องว่างระหว่าชั้นเส้นใยประสาทกับชั้นเม็ดสีและจะเซาะให้จอประสาทตาทั้ง 2 ชั้นลอกหลุดออกจากกัน

  2. ชนิดทุติยภูมิ (secondary retinal detachment) อาจเกิดจากการอักเสบภายในลูกตา เช่น uvetitis ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้อีก 2 ชนิด คือ

การลอกหลุดของจอประสาทตาเนื่องจากมีของเหลวคั่ง (exudative retinal detachment) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของหลอดเลือดภายในลูกตาทำให้มีของเหลงเข้าไปอยู่ใน sub retinal space โดยที่ไม่มีรอยฉีกขาด มักเกิดจากการอักเสบ ติดเชื้อหรือมีก้อนเนื้องอกภายในลูกตา เป็นต้น

การหลุดลอกของประสาทตาเนื่องจากการดึงรั้ง (tractional retinal detachment) เป็นการหลุดของจอประสาทตาที่มีการดึงรั้งจากวุ้นตาให้จอประสาทตาถูกยกขึ้น ถ้าแรงนั้นมีมากอาจทำให้จอประสาทตารับภาพฉีกขาดได้ มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง

สาเหตุ

  1. การเสื่อมของจอประสาทตาหรือน้ำวุ้นตา มักพบในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ

  2. หลังผ่าตัดต้อกระจก

  3. อุบัติเหตุถึงชั้นของจอประสาทตา

  4. โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงทำให้เส้นเลือดเปราะฉีกขาดง่าย เกิดเป็นผังพืดดึงรั้งให้จอประสาทตาหลุดลอกได้

  5. การอักเสบของคอรอยด์ (choroids) และจอประสาทตา (retina)

พยาธิสภาพ จอประสาทตาเป็นพื้นผิวเรียบ ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้นคือชั้นเม็ดสีติดกับคอรอยด์และชั้นเส้นใยประสาทติดกับวุ้นตา ทั้ง 2 ชั้นนี้ติดกันแบบหลวมๆ เมื่อจอประสาทตาเสื่อมจะเกิดรูเล็กๆ หรือมีการฉีกขาด และจากความหนาจองจอประสาทลดลง รวมทั้งการเสื่อมสภาพของวุ้นตาซึ่งจะกลายเป็นน้ำและซึมผ่านไปในช่องว่างระหว่างชั้น (subretinal space) และไหลเซาะแยกชั้นเม็ดสีและชั้นใยประสาทตาออกจากกัน

ในผู้ที่มีการหลุดของจอประสาทตาจากการดึงรั้ง เนื่องจากการเสื่อมสภาพของวุ้นตา ทำให้มีการเล็กลงของวุ้นตาและมีน้ำไปแทนที่ พร้อมทั้งมีการสร้างเนื้อเยื่อไฟบรัสมาแทนที่ และมีการดึงรั้งขึ้น สำหรับผู้ที่สายตาสั้นมากๆ หรือไม่มีแก้วตานั้น ช่องหลังลูกตาจะกว้างขึ้น ทำให้วุ้นตาเคลื่อนตัวมาแทนที่และมีการดึงรั้งมาก

ในผู้ป่วยเบาหวาน หรือ ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทำให้จอประสาทได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะมีการสร้างเส้นเลือดฝอยใหม่ขึ้นเพื่อนำเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงให้เพียงพอ แต่หลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีความเปราะและแตกง่าย ทำให้มีเลือดออกในวุ้นตาและมีการซ่อมแซมโดยเนื้อเยื่อไฟบรัสแทนที่ ทำให้เกิดการดึงรั้ง เกิดการลอกของกระจกตา

อาการและอาการแสดง มองเห็นจุดดำๆหรือหยากไย่ลอยไปมา (floater) ร่วมกับเลือดออกที่วุ้นตา ถ้ามีการดึงรั้งหรือ ลอกหลุดของเรตินาทำให้มองเห็นแสงวูบวาบในตาคล้ายฟ้าแลบ (flashing) ซึ่งทำให้เสียการมองเห็นหรือมองเห็นภาพภาพบิดเบี้ยวหรือเป็นม่านดำมาบังสายตา(scotoma)

การรักษา ในภาวะฉุกเฉิน ควรให้ผู้ป่วยนอนนิ่งๆ ปิดตาทั้งสองข้าง ในรายที่มีการฉีกขาดหรือลอกหลุดของจอประสาทตามากๆ จะรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อให้จอประสาทตาเข้าที่ เกิดการยึดติดกับชั้นคอร์ลอยด์ และปิดรูที่ฉีกขาด

  1. photocoagulation เป็นการใช้แสงเลเซอร์ผ่านรูม่านตาที่ขยาย ไปยังจอประสาท ทำให้เกิดรอยไหม้รอบๆบริเวณที่หลุดลอกและเกิดกระบวนการอักเสบทำให้เกิดการติดแน่นมากกว่าปกติ

  2. cryotherapy or retinal cryopexy เป็นการใช้ความเย็นจี้ด้านนอกผ่านลูกตา เยื่อบุตาและตาขาว บริเวณรอบๆที่มีการหลุดลอก

  3. Pneumatic retinopexy เป็นการทำ cryotherapy โดยการฉีดแก๊สที่ขยายตัวได้เข้าไปในน้ำวุ้นตาใกล้ที่มีพยาธิสภาพ

  4. Buckling operation การดันให้จอประสาทตาที่ลอกหลุดกลับเข้าที่โดยใช้แรงดันจากภายนอกผ่านตาขาว

  5. Vitrectomy วิธีตัดน้ำวุ้นตาใช้ในรายที่มี รอยฉีกขาดของจอประสาทตาร่วมกับวุ้นตาขุ่น

การพยาบาล

  1. เพื่อป้องกันการหลุดลอกหรือมีรูขาดที่จอประสาทมากขึ้น โดย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตน ดูแลให้ absolute bed rest บนเตียงเพื่อให้น้ำวุ้นตาช่วยอุดให้จอประสาทตาไม่ลอกหรือมีรูขาดมากขึ้น แนะนำให้งดปัจจัยที่ทำให้จอประสาทตาลอกหรือมีรูมากขึ้น ได้แก่ การไอจาม หรืออาเจียนแรงๆ การขยี้ตา เป็นต้น ช่วยเหลือในการทำกิจกรรมเนื่องจากผู้ป่วยอาจได้รับการปิดตาทั้งสองข้าง

  2. เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด โดย จัดท่าให้นอนคว่ำหรือศีรษะต่ำๆ เพื่อให้ก๊าซหรือสารที่ใส่ไว้ในลูกตาไปกดบริเวณจอประสาทตาที่ลอกหลุด เพื่อช่วยให้จอประสาทตากลับเข้าที่ หรือเป็นท่านั่งก้มหน้าบนโต๊ะ ประเมินภาวะความดันลูกตาสูงได้แก่ การวัดความดันลูกตา อาการ ความรุนแรงของการปวดตา อธิบายเหตุผลของการถูกปิดตาแน่นในข้างที่ผ่าตัด ส่วนข้างที่ไม่ได้ผ่าตัดจะถูกปิดตาธรรมดา ประมาณ 24-48 ชม. และผู้ป่วยไม่ควรก้มศีรษะต่ำกว่าเอวหลังผ่าตัด แนะนำการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันภาวะท้องผูก ไม่ให้ข้างที่ผ่าตัดถูกน้ำ รวมถึงประเมินการติดเชื้อหลังผ่าตัด ให้ทำกิจกรรมเบาๆ หลังผ่าตัด 3 สัปดาห์ หลังผ่าตัด 6 สัปดาห์จึงทำกิจกรรมได้ตามปกติ

  3. เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองที่บ้าน โดย ประเมินความสามรถในการดูแลตนเอง วางแผนการดูแลตนเองของผู้ป่วยและญาติ โดยการเรียนรู้และฝึกทักษะที่จำเป็น เช่น การเช็ดตา การหยอดยา ป้ายตาแนะนำวิธีการป้องกันการติดเชื้อ ให้สังเกตอาการที่บ่งบอกถึงจอประสาทตาลอก ได้แก่ การมองเห็นจุดลอยไปมา เห็นแสงคล้ายฟ้าแลบในตา ควรมาพบแพทย์ก่อนวันนัด


 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย