สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประวัติการเมืองการปกครองไทย

ยุคที่หนึ่ง ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475 – พ.ศ.2490)
ยุคที่สอง ยุคเผด็จการอำนาจนิยม (พ.ศ.2490 – พ.ศ.2516)
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 3
สภาพ 14 ตุลาคม 2516
ผลการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516
สภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2517
การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517
สภาพการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519
สภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
การเมืองไทยยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 4
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 5
ข้อเสนอของแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมกับการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย
ลักษณะของการปฏิรูปการเมืองในทัศนะของ คพป.
การจัดทำแผนพัฒนาการเมืองแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม
สภาร่างรัฐธรรมนูญกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ลักษณะของการปฏิรูปการเมืองในทัศนะของ คพป.

โดยสรุปมีสาระสำคัญรวม 4 ประการคือ

1. การปฏิรูปทางการเมืองต้องแก้ไขปัญหาของระบบการเมืองทั้งระบบ ไม่ใช่จุดใดจุดหนึ่งโดยหยิบยกปัญหาทุกปัญหาที่ระบบการเมืองนั้น ๆ ประสบอยู่มาพิจารณาและหามาตรการแก้ไขทั้งระบบให้สอดคล้องกัน ไม่ใช่แก้ไขที่จุดใดจุดหนึ่งแล้วไปสร้างปัญหาให้จุดอื่น

2. การปฏิรูปการเมืองมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสุจริตและประสิทธิภาพทางการเมือง ดังนั้นจึงต้องปฏิรูประบบการเมืองโดยขจัดการทุจริตทุกรูปแบบ สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและส่งเสริมประสิทธิภาพขององค์กรทางการเมือง

3. ยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (organic law) ให้เป็นการปฏิรูปการเมือง โดยทำให้แล้วเสร็จในคราวเดียวกัน (package) เพื่อสร้างความสุจริตและประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นแก่ระบบการเมือง หรือแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม

4. การปฏิรูปการเมืองดังกล่าวยึดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นกรอบหลัก ทั้งนี้โดยมุ่งปรับปรุงระบบรัฐสภาแบบล้าสมัยให้เป็นระบบรัฐสภาแบบทันสมัยและมีเหตุผล (rationalized parliamentary system)

จากจุดอ่อนหรือปัญหาของระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทย ประกอบกับเป้าหมายและลักษณะของการปฏิรูปการเมืองแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมในทัศนะของ คพป. ดังกล่าวข้างต้นแล้ว คพป. ได้นำเสนอกรอบความคิดในการปฏิรูปการเมืองไทย โดยการเสนอรูปแบบและเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่ควรจะยกร่างขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ

1. รัฐธรรมนูญส่วนที่ 1 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ การแยกรัฐธรรมนูญส่วนนี้ออกมาให้เด่นชัด ด้วยเหตุผลที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของบ้านเมือง เป็นศูนย์รวมของคนไทยทั้งชาติที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับอย่างสูงยิ่ง การแยกรัฐธรรมนูญส่วนนี้เพื่อเสริมจุดเด่นของระบบการเมืองการปกครองให้เด่นยิ่งขึ้น แสดงความต่อเนื่องของระบบการเมืองต่อคนในสังคมไทยและสังคมนานาชาติ ตลอดจนสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับสถาบันนี้ตลอดไป และสุดท้ายเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทางการเมืองทุกรูปแบบ รัฐธรรมนูญส่วนนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากที่สุด

2. รัฐธรรมนูญส่วนที่ 2 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ตลอดจนองค์กรตรวจสอบควบคุมที่เป็นอิสระ

รัฐธรรมนูญส่วนนี้จะมีเนื้อหาบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยการรับรองสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับอื่น ๆ (พ.ศ.2489, 2492, 2517 และ 2534) ได้บัญญัติไว้และเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาทิ จะต้องมีการบัญญัติหลักการเรื่องเสรีภาพ ตลอดจนการจำกัดเสรีภาพไว้ การเพิ่มเติมหลักการที่เกี่ยวกับสิทธิใหม่ ๆ เช่น สิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ สิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร สิทธิในการดำเนินการตามประเพณีและวัฒนธรรม สิทธิที่จะรับทราบเหตุผลในการทำนิติกรรมทางปกครอง รวมทั้งในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนรับรองความเสมอภาคของสิทธิสตรีและให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก เป็นต้น

สำหรับองค์กรตรวจสอบควบคุมที่เป็นอิสระที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นนั้น จะต้องเป็นองค์กรที่สามารถใช้อำนาจตรวจสอบองค์กรทางการเมืองและระบบราชการประจำได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาพของเรื่อง เพื่อให้เกิดความชอบด้านกฎหมาย ความเป็นธรรม และสนองตอบความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

คพป. เสนอว่าควรมีองค์กรตรวจสอบที่รัฐธรรมนูญจะต้องตั้งขึ้นอย่างน้อย 6 องค์กร ดังนี้

  • ศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภาในการตรากฎหมายและการดำเนินการต่าง ๆ ที่สำคัญว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
  • ระบบอิมพีชเมนต์ (impeachment) หรือระบบการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
  • ศาลยุติธรรม ซึ่งจะต้องมีบทบัญญัติรับรองความเป็นอิสระในการพิพากษาอรรถคดีของศาลยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ
  • ศาลปกครองเพื่อพิจารณาคดีและพิพากษาว่าการใช้อำนาจของข้าราชการประจำหรือรัฐมนตรีได้กระทำโดยชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย และหากมิชอบให้เพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้นเสีย ศาลปกครองจึงทำหน้าที่ควบคุมฝ่ายปกครองและพิจารณาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน
  • ระบบการตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน
  • ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นสถาบันที่เชื่อมโยงกับรัฐสภา ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐมาดำเนินการสอบสวนว่าการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้น ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือชอบด้วยหน้าที่หรือไม่ และการนั้นหากยังคงความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่ราษฎร ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็จะทำหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขต่อไป และหากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาก็มีอำนาจทำรายงานเสนอรัฐสภาและพิมพ์เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบได้

คพป.เห็นว่าหากได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ตลอดจนองค์กรตรวจสอบควบคุมไว้อย่างครบถ้วนแล้ว ประชาชนพลเมืองก็จะสามารถใช้องค์กรตรวจสอบควบคุมนี้เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของตน และใช้องค์กรตรวจสอบควบคุมเช่นว่านี้เป็นผู้ตรวจสอบควบคุมองค์กรทางการเมืองให้ชอบด้วยกฎหมาย มีความเป็นธรรม และตอบสนองความต้องการของพลเมืองได้อย่างแท้จริง อนึ่งรัฐธรรมนูญส่วนนี้จะต้องบัญญัติให้แก้ไขได้ยากปานกลาง

 

3. รัฐธรรมนูญส่วนที่ 3 ว่าด้วยรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและความสัมพันธ์ของสององค์กรนี้ต่อกัน

ข้อเสนอของ คพป.ในส่วนนี้มีอยู่หลายประการ ได้แก่

  1. ข้อเสนอการปฏิรูประบบรัฐสภาแบบดั้งเดิมให้เป็นระบบรัฐสภาแบบมีเหตุผลโดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมตามบทบาทที่เหมาะสม โดยนำเสนอรัฐสภาแบบไตรภาค (3 สภา) กล่าวคือ สภาแรก คือ สภาผู้แทนราษฎร มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวเสียงข้างมากสูงสุดรวบเดียว (The first past the post) มีบทบาทเป็นผู้แทนของราษฎรทั้งเขตเมืองและชนบท

    สภาที่สอง คือ พฤฒสภา มีบทบาทเป็นผู้แทนของประเทศที่มีวุฒิภาวะสูง เพื่อทำหน้าที่เสนอและกลั่นกรองกฎหมายและให้ความเห็นชอบในกิจการสำคัญของบ้านเมือง สมาชิกสภานี้มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมือง (แต่ต้องไม่สังกัดพรรคนั้น) ผู้ลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งได้เพียงบัญชีเดียว และใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง

    สภาที่สาม คือ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลและสภาทั้งสอง ให้ความเห็นชอบในกิจการสำคัญของบ้านเมือง อาทิ การสืบราชสมบัติ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การประกาศสงคราม ฯลฯ และที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นสภาที่สามารถลงมติด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ยับยั้งการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลและสภาทั้งสอง (สภาผู้แทนราษฎรและพฤฒสภา) ที่กระทบต่อสถาบันชาติ ศาสนา หรือพระมหากษัตริย์ได้

    สำหรับที่มาของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ โดยตำแหน่งประกอบด้วยอดีตนายกรัฐมนตรีทุกคน อดีตประธานรัฐสภาทุกคน อดีตประธานศาลฎีกาทุกคน ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงและทบวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ แม่ทัพภาคและผู้บัญชาการกองพล ประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าไทย

    ส่วนที่สองสมาชิกโดยการแต่งตั้ง ประกอบด้วยสมาชิก 70 คน มาจากการคัดเลือกโดยคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎร จากบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญจากตัวแทนองค์กรวิชาชีพและอาชีพทั้งหลาย (อาทิ วิชาชีพแพทย์ พยาบาล นักบัญชี นักกฎหมาย แรงงาน นายจ้าง เกษตรกร ฯลฯ) เมื่อคัดเลือกแล้วกราบบังคมทูลฯ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

    คพป. ให้เหตุผลในการเสนอให้มีระบบสามสภาว่า เพื่อประนีประนอมและปรองดองกันในชาติให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางสังคม และระดมสรรพกำลังบุคลากรทุกส่วนให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจระดับสูงของชาติตามความเหมาะสมของแต่ละส่วน
  2. ข้อเสนอให้ระบบพรรคการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยในการบริหาร อาทิ การกำหนด โครงสร้างพรรคระดับภาคและสาขาพรรคประจำจังหวัด ที่ประชุมใหญ่สมาชิกทั้งประเทศเป็นองค์กรสูงสุดในพรรคมีอำนาจเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และดำเนินการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญ การให้อำนาจคณะกรรมการบริหารพรรคระดับชาติเป็นผู้คัดเลือกคนลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ คณะกรรมการบริหารระดับภาคและจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครเป็น ส.ส. แบบเลือกตั้งเขตละคน นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้รัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้พรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่ได้รับคะแนนจากทั่วประเทศ เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นอิสระจากผู้ให้เงินอุดหนุน และพรรคต้องแสดงที่มาของเงินอุดหนุนประเภทมีผู้บริจาค การใช้เงินทุกประเภทของพรรคและการทำบัญชีสินทรัพย์ทั้งหมดให้มีการตรวจสอบโดยระบบตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งการบังคับให้เฉพาะ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค และไม่บังคับให้พรรคต้องส่งผู้เลือกตั้งตามจำนวนที่กำหนด
  3. การจัดระบบเลือกตั้งแบบ 2 ระบบผสมกัน คือ ใช้ระบบสัดส่วนตามบัญชีรายชื่อพรรค 100 คน และระบบเสียงข้างมากเขตละคนตามจำนวน ส.ส. 1 คนต่อประชากร 200,000 คน เพื่อให้การใช้เงิน “เจือจาง” ลง และขยายฐานผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้มีจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้การใช้เงินต้องใช้มากจนไม่น่าใช้ ประการที่สำคัญจะต้องมีองค์กรกลางที่เป็นอิสระในการควบคุมดำเนินการให้การเลือกตั้งเป็นอิสระและเป็นธรรม
  4. การปรับระบบการดำเนินงานของรัฐสภาให้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลและระบบราชการมากขึ้น มาตรการสำคัญได้แก่ การให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถใช้วิจารณญาณของตนในเรื่องบางเรื่อง เช่น การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์กรที่ทำหน้าที่ ควบคุมตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญห้ามพรรคมีมติให้สมาชิกปฏิบัติในเรื่องนี้โดยเด็ดขาด การให้คงอยู่ของผู้นำฝ่ายค้านควบคู่กับรัฐบาลตลอด โดยให้หัวหน้าพรรคการเมืองมี ส.ส. ที่มิได้เป็นรัฐมนตรีมากที่สุดเป็นผู้นำฝ่ายค้าน และให้ประธานสภาทุกสภา (3 สภา) ต้องเป็นสถาบันที่เป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง โดยให้มีคณะกรรมการรัฐสภาขึ้นทำหน้าที่กลั่นกรองงานและให้ข้อเสนอแก่ประธานสภาในหน้าที่สองประการคือ กรณีการบังคับบัญชาสำนักงานเลขาธิการสภาและกรณีการวินิจฉัยเรื่องในงานนิติบัญญัติ ฯลฯ
  5. การปรับระบบรัฐบาลให้มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพภายใต้การตรวจสอบเพื่อให้มีความโปร่งใส อาทิ มาตรการเพิ่มภาวะผู้นำที่แท้จริงให้นายกรัฐมนตรีให้เป็นอิสระจากพรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎรที่จะตัดสินใจปฏิรูปเรื่องสำคัญของบ้านเมืองได้ และเพื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำที่แท้จริงและมีอิสระจากพรรคและสภาผู้แทนราษฎรตามสมควร และเพื่อให้นายกรัฐมนตรีเสียงข้างน้อย สามารถบริหารงานได้ ร่างกฎหมายใดที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติสำคัญ นายกรัฐมนตรีก็อาจประกาศภาวะจำเป็นทางนิติบัญญัติ (legislative emergency) ต่อรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีอาจเสนอร่างกฎหมายนั้นให้พฤฒสภาพิจารณาเพียงสภาเดียวแล้วประกาศใช้ การประกาศภาวะจำเป็นทางนิติบัญญัตินี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจเสนอกฎหมายต่าง ๆ ได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน ในระหว่างนั้นจะยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ และใช้อำนาจตราพระราชกำหนดไม่ได้ นอกจากนั้นควรปรับปรุงระบบการตรวจสอบฝ่ายบริหาร อาทิ ระบบตอบกระทู้สด การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงสังกัดของกรม กอง ฝ่ายได้ตามความเหมาะสมแก่การปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ๆ โดยไม่กระทบความมั่นคงของข้าราชการ และไม่ต้องตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานขึ้นใหม่ ดังที่ปฏิบัติในนานาประเทศ อาทิในฝรั่งเศส อังกฤษและ ออสเตรเลีย

อาจกล่าวได้ว่า ข้อเสนอของ คพป. ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ในหนังสือเรื่อง “คอนสติติวชั่นแนลลิสม์ (Constitutionalism) : ทางออกของประเทศไทย” ที่ได้ให้ความหมายของรัฐธรรมนูญในแนวทางของ Constitutionalism ว่าหมายถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวบทรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (organic law) โดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนตรงไปสู่สาเหตุของข้อบกพร่องของ “องค์กรการเมือง” ในระบบสู่สภาและมาตรการทุกมาตรการที่เกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะต้องพอเพียง (package) ที่จะก่อให้เกิดผลตามความมุ่งหมายนั้น

สำหรับจุดมุ่งหมายสำคัญในการปฏิรูปการเมืองแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมในทัศนะของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ มีทั้งหมด 3 ประการคือ (1) การทำให้ “นักการเมือง” สะอาด (2) การทำให้ “องค์กรการเมือง” สะอาดและ (3) การทำให้ “องค์กรการเมือง” มีประสิทธิภาพ

มาตรการที่มีความมุ่งหมายทำให้ “นักการเมือง” สะอาด ได้แก่ การกำหนดเขตเลือกตั้งเพื่อให้มีโอกาสซื้อขายเสียงได้น้อยที่สุด การกำหนดขอบเขตวิธีการหาเสียง และวิธีการที่รัฐจะช่วยเหลือในการหาเสียงให้เสมอภาค การควบคุมและตรวจสอบการบริจาคและการใช้เงินของพรรคการเมืองและระบบการบังคับตามกฎหมาย (law enforcement) ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งองค์กรกลางในการเลือกตั้ง ฯลฯ มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ทำให้เกิดความโปร่งใสในชีวิตทางการเมือง (transparency of political life)

มาตรการที่มีความมุ่งหมายทำให้องค์กรการเมืองมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การทำให้ “องค์กรการเมืองฝ่ายบริหาร” สามารถมีแนวนโยบายและสามารถบริหารนโยบายได้โดยมี “ความเป็นผู้นำ” เพราะตามความเป็นจริง สภาพสังคมของแต่ละประเทศ ย่อมประกอบด้วยกลุ่มผลประโยชน์หลากหลาย ดังนั้น องค์กรการเมืองฝ่ายบริหารจึงต้องอยู่ใน “ฐานะ” ที่ตัดสินใจกระทำการด้วยเหตุด้วยผลและจำต้องมีฐานะมั่นคงในช่วงเวลาหนึ่งที่จำเป็นเพื่อบริหารนโยบายนั้นให้บรรลุผลเพราะ “ความสะอาด” ของนักการเมืองหรือองค์กรการเมืองอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอแก่การบริหารประเทศให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การบริหารประเทศจำเป็นต้องอาศัย “ความเป็นผู้นำในทางนโยบาย” ของผู้บริหารประเทศด้วย

แนวคิดของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรการและกลไกต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ ได้รับการพัฒนาและขยายความโดย คพป. ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สำหรับวิธีการที่จะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ คพป. เสนอมานั้นเกิดขึ้นได้จริง คพป. ได้นำข้อเสนอของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ คือตัวอย่างของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พุทธศักราช.... เพื่อตั้งคณะกรรมการพิเศษยกร่างรัฐธรรมนูญให้มีการปฏิรูปการเมือง ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ (1) ผู้นำทางการเมืองระดับชาติ (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ) ได้แก่ ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 คน (2) กรรมการผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญที่ผู้นำทางการเมืองตาม (1) คัดเลือกแต่งตั้งจาก “บัญชีรายชื่อ” ที่คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐจัดทำขึ้น โดยมีจำนวน 10-15 คน และ (3) “ที่ปรึกษา” ของผู้นำทางการเมืองฯ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและผู้นำฝ่ายค้าน ฯลฯ

สำหรับบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีหน้าที่ให้คำวิจารณ์และเสนอข้อคิดเห็นใน “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (และสาระสำคัญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ)” ที่คณะกรรมการพิเศษยกร่างขึ้น ทั้งนี้เนื่องจาก ส.ส. มีส่วนได้ส่วนเสียในผลประโยชน์ของการแก้ไขหรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในระบบเดิม จึงไม่ควรมีอำนาจชี้ขาดเรื่องนี้ด้วยตนเอง

ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวต้องโปร่งใสโดยกำหนดให้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พร้อมบันทึกชี้แจงเหตุผลในสาระสำคัญของร่างฯ พร้อมทั้งคำวิจารณ์และข้อคิดเห็นของ ส.ส. และเผยแพร่แก่ประชาชนให้ได้รับทราบและมีโอกาสพิจารณาได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนั้นอำนาจของประชาชน (เจ้าของประเทศ) เป็น “องค์กรตัดสิน” ประชาชนมีสิทธิและอำนาจในการออกเสียงเลือกว่าจะใช้บังคับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ต่อไปหรือจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ

ร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการปฏิรูปการเมืองว่าจะต้องเสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ปี 4 เดือน นับแต่วันเลือกตั้ง “คณะกรรมการพิเศษยกร่างรัฐธรรมนูญ” ให้มีการปฏิรูปการเมือง

ถ้าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “คณะกรรมการพิเศษ” จะยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ขึ้น และจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป และจะดำเนินการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 90 วัน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย