สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

กบฎไพร่ สมัยอยุธยา

จาก : ศิลปวัฒนธรรม : ตุลาคม 2526
โดย : สุเนตร ชุตินธรานนท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองสมัยอยุธยาคือ การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันภายในกลุ่มผู้นำอยุธยา อันได้แก่พระญาติพระวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ จุดมุ่งหมายหลักของผู้ประสงค์จะแย่งชิงอำนาจอยู่ที่การเลื่อนฐานะของตนเองขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดเหนือพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางอำนาจทั้งในการเมืองและเศรษฐกิจของเมืองในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งหมด ลักษณะอีกประการหนึ่งที่ปรากฎอยู่สม่ำเสมอคือความพยายามของผู้นำเมืองสำคัญ ๆ ที่มักแข็งข้อต่อส่วนกลาง โดยมีจุดมุ่งหมายหลักที่จะเอาเมืองที่ตนครองอยู่เป็นฐานกำลังในการแย่งชิงอำนาจจากกษัตริย์ที่ส่วนกลางในภายหลัง หรือมิฉะนั้นก็มีความต้องการเพียงจะแข็งข้อเพื่อไม่ให้ส่วนกลางขยายอำนาจเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ที่ตนจะพึงหาได้ ลักษณะเช่นนี้มักปรากฏในกลุ่มเมืองที่เป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ เช่นเมืองนครศรีธรรมราช และตะนาวศรี

กลุ่มผู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองหรือแสดงออกซึ่งการแข็งข้อทางการเมืองจะเป็นพวกพระญาติพระวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ทั้งส่วนกลางและระดับท้องถิ่นเป็นสำคัญ

 

บทบาทของไพร่ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแย่งชิงอำนาจ หรือแข็งข้อต่อกษัตริย์ที่ส่วนกลาง กบฎที่ได้รับความสนใจและถูกขนานนามว่า “กบฎไพร่” บ้างหรือ “กบฎชาวนา” ได้แก่ กบฎญาณพิเชียร (2124) กบฎธรรมเถียร (2237) และ กบฎบุญกว้าง (2241) การนำคติความคิดเรื่องพระศรีอาริย์มาเป็นคำอธิบายหลักของกบฎในสมัยอยุธยา ทั้ง ๆ ที่เอกสารเท่าที่ปรากฎไม่ได้ระบุถึงความผูกพันระหว่างคติพระศรีอาริย์กับกบฎทั้งสามครั้ง อย่างมากที่สุดเอกสารจะกล่าวแต่เพียงว่าผู้นำกบฎบางคนแสดงตนเป็นผู้มีบุญ ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าการอ้างตนเป็นผู้มีบุญจะต้องผูกพันกับคติความเชื่อเรื่องโลกพระศรีอาริย์เสมอไป กบฎทั้งสามครั้งที่เกิดขึ้นเป็นกบฎประเภทเดียวกันทั้งสิ้นคือมีโครงสร้างและความเคลื่อนไหว เช่นเดียวกันหมด กบฎทั้งสามครั้งจึงไม่มีทางเลือกที่จะเป็นอื่น นอกไปจากจะต้องเป็น “กบฎไพร่” ซึ่งเป็นกบฎที่มีปัจจัยมาจากปัญหาความอ่อนแอทางการเมืองที่เป็นส่วนกลางปัญหาเศรษฐกิจสังคมอันเกิดจากภาวะสงคราม ข้าวยากหมากแพง ตลอดไปจนถึงความทุกข์ยากของไพร่ภายใต้ระบบศักดินาเป็นสำคัญ

ข้อยุติใหม่ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการประวัติศาสตร์ปัจจุบันก็คือ ในสมัยอยุธยา ไพร่ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ได้รวมตัวกันขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจของกษัตริย์ที่ส่วนกลางและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ดังจะเห็นได้จากกบฎญาณพิเชียร กบฎธรรมเถียร และกบฎบุญกว้าง

กบฎทั้งสามครั้งที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยานั้น หากพิจารณาโดยผิวเผินแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจว่า เป็นกบฎที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่นมีผู้นำที่เป็นชาวบ้านที่เคยบวชเรียนมาก่อนและได้ใช้ความรู้ในทางพุทธและไสยศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการรวบรวมผู้คนเพื่อก่อการกบฎ แต่เมื่อศึกษาให้ลึกลงไปแล้วจะเห็นว่ากบฏทั้งสามครั้งมีลักษณะเฉพาะของตัวเองที่ไม่ซ้ำซ้อนกันอยู่หลายประการ

กบฎญาณพิเชียร
กบฎธรรมเถียร
กบฏบุญกว้าง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย