สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

เครื่องเทศ

กระวาน

ชื่อท้องถิ่น : กระวานดำ กระวานแดง กระวานขาว (ภาคกลาง ภาคตะวันออก) กระวานโพธิสัตว์ กระวานจันทน์
ชื่อสามัญ : Camphor Seeds, Round Siam Cardamon, Best Cardamon, Clustered Cardamon
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum Krervanh Pierre, Amomum cardamomum L.
ชื่อวงศ์ : ZINGIBERACEAE

กระวานมี 2 พวกใหญ่ๆ คือ กระวานแท้ หรือ กระวานเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ส่วนอีกพวกคือ กระวานไทยพบในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถใช้แทนกระวานเทศได้ดีกระวานมีลำต้นเป็นเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน มีข้อประมาณ 8 - 20 ข้อ กระวานเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ก้านใบโค้งมีกาบใบติดกัน ใบออกสลับกันที่โค้นต้น ใบสีเขียวเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลมโคนใบมน ผิวใบเรียบ ใบสูงจากพื้นดินประมาณ 2 - 12 ฟุต ดอกออกเป็นช่ออยู่ใกล้โคนต้นบริเวณดิน กลีบดอกสีเหลือง ออกผลเป็นช่อ ผลกลม ช่อหนึ่งๆ มีผลประมาณ 10 - 20 ผล รูปกลมภายในผลมีเมล็ดประมาณ 9 - 18 เมล็ด เมล็ดมีกลิ่นหอมฉุนคล้ายการบูร มีรสเผ็ด

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

กระวานเป็นพืชเมืองร้อนประเภทไม้ล้มลึก มีอายุยืนเป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งร่วนปนทราย มีอินทรีย์วัตถุสูง มีการระบายน้ำดี กระวานต้องการความชื้นสูง ที่ร่มรำไร หรือต้นไม้ยืนต้นอื่นให้ร่มเงา กระวานจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 - 800 ฟุต ขึ้นไป ปริมาณน้ำฝนประมาณ 3,000 - 3,500 มิลลิลิตรต่อปี และฝนตกกระจายตลอดปี


การปลูก

การปลูกกระวานควรปลูกเป็นพืชแซมไม้ผล ไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา การขยายพันธุ์ควรใช้เหง้าซึ่งเป็นวิธีขยายพันธุ์ที่นิยมเพราะ กระวานจะให้ดอกผลเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดปลูกเหง้าที่ใช้เพาะปลูก ควรแยกออกจากกอแม่ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 18 เดือน ถึง 2 ปี และเหง้าที่แยกออกมาควรมีหน่อติดมาด้วยประมาณ 2 - 3 หน่อ และหน่อที่ใช้ควรมีความสูงประมาณ 1 - 2.5 ผุต หลุมปลูกกระวานควรมีขนาดกว้าง x ยาว x ลึก ประมาณ 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นและแถว 2 x 2 เมตร ไม่นิยมปลูกชิดมากต้องเว้นพื้นที่ว่างไว้ให้หน่อได้ขยายเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ฝังหน่อลึกประมาณ 3 - 4 นิ้ว รดน้ำให้ความชุ่มชื้น

การดูแลรักษา

กระวานเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลรักษามาก ควรกำจัดวัชพืชบ้าง ที่สำคัญควรทำการริดใบ โดยตัดใบและลำต้นที่แห้ง แก่ตายหรือมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์ออกให้หมด เพื่อให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ปกติกระวานไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนมากนัก นอกจากโรคใบไหม้ซึ่งอาจจะเกิดจากการได้รับแสงแดดมากเกินไป ส่วนศัตรูอื่นได้แก่ หนู กระรอก และกระแต ซึ่งจะกัดทำลายเม็ดในระยะรอเก็บเกี่ยว การตัดหน่อกระวานออกจากต้นแม่เพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นนั้น จะมีผลกระทบกระเทือนต่อการติดผลของกระวาน

การเก็บเกี่ยวและผลผลิต

กระวานจะให้ผลผลิตหลังปลูก 2 - 3 ปี ตามปกติกระวานจะออกดอกตลอดปี แต่ผลผลิตจะมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนสิงหาคม โดยช่วงเวลาตั้งแต่ออกดอกจนผลแก่ประมาณ ค เดือน การเก็บเกี่ยวควรเก็บเมื่อผลแก่ซึ่งจะสุกจากโคนไปหาปลายช่อ หากไม่สามารถเลือกเก็บได้ การเก็บทั้งช่อดอกควรเก็บเมื่อมีผลแก่ 3 ใน 4 ของช่อผลกระวานทำให้แห้งโดยการตากแดดในภาชนะที่สะอาดและมีการรองรับ 5 - 7 แดด กระวาน 1 ไร่ ให้ผลผลิตแห้ง 30 - 50 กิโลกรัม โดยมีอัตราแห้งคือผลกระวานสด 3 กิโลกรัม จะได้ผลกระวานแห้ง 1 กิโลกรัม

กระวาน
กานพลู
ขมิ้นชัน
จันทน์เทศ
ดีปลี
พริกไทย
มะแข่น
เร่ว
วานิลา
อบเชย
ไทม์
ออริกาโน
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย