สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม

ศาสตราจารย์ ดร. ซามูเอ็ล พี. ฮันทิงตัน

หน้า 1 | 2 | 3 | 4

3

ส่วนศาสตราจารย์ฮันทิงตันมีความเห็นว่า ทุกความพยายามที่จะสร้างแบบ หรือ model เพื่ออธิบายการเมืองโลกในช่วงเวลาต่อไปนี้ต่างได้ละเลยที่จะพิจารณาประเด็นเรื่องที่ว่า น้ำหนักของการเมืองโลกได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยได้ย้ายจาก "โลกตะวันตก" ไปสู่ดินแดนของอารยธรรมอย่างอื่น ซึ่งเขาหมายถึงดินแดนในเอเซียตะวันออกไกล และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อมีการพูดถึงคำว่า "อารยธรรม" นั้น ศาสตราจารย์ฮันทิงตันให้ความหมายว่า เป็นหน่วยทางวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุด ที่มนุษย์แต่ละคนในวัฒนธรรมเดียวกันจะกำหนดเอกลักษณ์ของตนเองได้ เช่น การพูดภาษาเดียวกัน มีประวัติศาสตร์เดียวกัน หรือมีประเพณีความประพฤติปฏิบัติที่ร่วมกัน ศาสตราจารย์ฮันทิงตันยังมีความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ในศตวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทางเศรษฐกิจและสังคม ได้ทำให้มนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคมต้องกลับมาแสวงหา"ความรู้สึกร่วม"อีกครั้งหนึ่ง และในกรณีเช่นว่านี้ ความรู้สึกต่อรัฐชาติก็ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการมีเอกลักษณ์ร่วมกันได้ เพราะมนุษย์เรานั้น อาจจะเป็นฝรั่งเศสครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งอาจจะเป็นอาหรับด้วยก็ได้ แต่ไม่มีทางที่จะรู้สึกเป็นคาโธลิคครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งหนึ่งเป็นอิสลามด้วย

ศาสตราจารย์ฮันทิงตันมีความเห็นว่า ในอนาคตการเมืองโลกจะเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมใหญ่เพียง 7 ถึง 8 วัฒนธรรม กล่าวคือ อารยธรรมตะวันตก อิสลาม จีน ญี่ปุ่น ฮินดู สลาฟ ลาตินอเมริกา(การแบ่งตรงนี้ ศาสตราจารย์ฮันทิงตันก็ไม่มีความแน่ใจนัก เพราะในประเด็นหนึ่งอาจนับเนื่องได้ว่า ลาตินอเมริกามีอารยธรรมแบบตะวันตก แต่ในอีกแง่หนึ่ง อารยธรรมของลาตินอเมริกาก็มีการพัฒนาจนมีรูปแบบเฉพาะของตนแล้ว) และบางทีอาจจะต้องนับอารยธรรมอาฟริกันด้วย

ในสถานการณ์ของโลกในปัจจุบัน แนวคิดเชิงทฤษฎีของศาสตราจารย์ฮันทิงตันก็ปรากฏให้เห็นเป็นจริงอยู่บ้างแล้ว หากเราจะลองพิจารณาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกเวลานี้ เช่นที่ในคาบสมุทรบอลข่าน (เซอร์เบียนซึ่งเป็นคริสต์กับบอสเนียนที่เป็นอิสลาม) การสงครามในเชสเนียน (ชาวคริสตรัสเซียกับมูจาฮิดินที่เป็นอิสลาม) ความพยายามของกลุ่มประเทศอิสลามและจีนที่จะ ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ความขัดแย้งในเรื่องการค้าระหว่างอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม

 

ตามความเห็นศาสตราจารย์ฮันทิงตัน เส้นแบ่งทางอารยธรรมธรรมที่เป็นอันตรายที่สุด และมีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะเกิดสงครามใหญ่ได้คือ เส้นที่ลากผ่านคาบสมุทรบอลข่าน ในเทือกเขาคอเคซัส ในเอเซียกลาง ในดินแดนตะวันออกใกล้ และในทวีปอาฟริกาตอนเหนือ แม้ในทวีปยุโรปเองก็ไม่ปลอดภัยนัก หากจะนึกถึงการสู้รบในยูโกสลาเวีย การสู้รบระหว่างชาวเซอร์เบียนกับชาวอัลบาเบียน ความขัดแย้งระหว่างชาวกรีกและชาวตุรกีในไซปรัส

แต่เมื่อมีการนำข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มาร่วมพิจารณาด้วยว่า ความเลวร้ายสุดขีดในมนุษยชาตินั้นมักเกิดขึ้นภายในวัฒนธรรมเดียวกัน โดยพวกของตนเองเท่านั้น เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลายครั้งหรือการกวาดล้างทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาในอดีต ล้วนเกิดขึ้นภายในวัฒนธรรมเดียวกันทั้งสิ้น เช่นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีต่อชาวยิว การกวาดล้างทางการเมืองของสตาลิน หรือแม้แต่ในกรณีของเขมรแดง เป็นต้น หรือการที่สงครามหลายต่อหลายครั้งไม่จำเป็นต้องมีรากฐานมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมเสมอไป หากแต่มาจากความขัดแย้งภายในวัฒนธรรมเดียวกัน เช่นกรณีของชาวโปรแตสตันและชาวคาโธลิคในไอร์แลนด์เหนือ ชาวฮูตูและชาวตูตซีในราวันดา หรือกลุ่มทาลิบันและกลุ่มอุเบสเค็นในอาฟกานิสถาน ซึ่งต่างก็เป็นมุสลิมเหมือนกัน ศาสตราจารย์ฮันทิงตันได้ยอมรับว่า การมองเช่นนั้นอาจมีส่วนถูกเหมือนกัน แต่ในปัจจุบัน เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่มีวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด และศาสตราจารย์ฮันทิงตันก็ได้แย้งด้วยว่า เขาไม่ได้สรุปว่า ข้อขัดแย้งทั้งหมดจะต้องเกิดขึ้นระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีข้อขัดแย้งจำนวนมากมายที่เกิดขึ้นภายในวัฒนธรรมเดียวกัน และก็จะไม่เป็นการแปลกเลยว่า ความร่วมมือระหว่างชาติอิสลาม(คูเวต และซาอุดีอาราเบีย) และชาติตะวันตก ในความขัดแย้งกับชาติอิสลามอีกชาติหนึ่ง(อิรัค)ก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ บางครั้งความขัดแย้งหลายๆครั้งก็น่าจะได้รับการพิจารณาว่า เป็นความขัดแย้งอันเนื่องจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์

อ่านต่อ หน้าถัดไป >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย