สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ภาวะผู้นำปริวรรต

จารุนันท์ เอียด :  โรงเรียนบ้านทุ่งใหญ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3

เป้าหมายของภาวะ ผู้นำปริวรรต
ยุทธวิธีที่ผู้นำปริวรรตควรใช้ในการพัฒนาโรงเรียน
รูปแบบการปฏิบัติงานของภาวะผู้นำปริวรรต
ความพร้อมของผู้บริหาร
วัฒนธรรมในการทำงานของครู อาจารย์ ในองค์การ
ความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการกลุ่ม
ลักษณะผู้นำปริวรรต
บรรณานุกรม

      ผู้บริหารจะทำหน้าที่บริหารงานต่างๆ ให้ดำเนินไปด้วยความพร้อมเพรียงมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เรียบร้อย ประหยัดกำลังคน กำลังทรัพย์ และบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ การบริหารองค์กรให้เจริญก้าวหน้าย่อมขึ้นอยู่กับการแสดงพฤติกรรมของผู้บริหาร เพราะผู้บริหารเป็นผู้แสดงพฤติกรรม ที่จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนปฏิบัติงานเต็มความสามารถด้วยความพึงพอใจ มีความสุขกับหมู่คณะและอาชีพของตน ผู้บริหารจึงเป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กรและผู้ใต้บังคับบัญชา ( เบญจพร แก้วมีศรี, 2545 : 1) การที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะปฏิบัติอย่างเต็มความสามารถได้นั้นขึ้นอยู่กับสมรรถภาพในการทำงานของผู้บริหารและการแสดงพฤติกรรมผู้นำของผู้บริหาร ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นองค์ประกอบสำคัญขององค์การที่มีประสิทธิภาพ (Reddim , 1970:66)

รัตติภรณ์ จงวิศาล ( 2543:5-6) ให้ความหมายผู้นำปริวรรตว่า หมายถึง กระบวนการที่ผู้นำมีอิทธิพลต่อผู้ร่วมงาน โดยการเปลี่ยนแปลงความพยายามของผู้ร่วมงาน ให้สูงขึ้นกว่าความพยายามที่คาดหวังพัฒนา ความสามารถของผู้ร่วมงานไปสู่ระดับที่สูงขึ้นและมีศักยภาพมากขึ้น ทำให้ตระหนักรู้ในภารกิจ จูงใจให้ผู้ร่วมงานมองไกลจากความสนใจของตน ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์ของกลุ่มหรือสังคม

เบส และอโวลิโอ (Bess & Avolio , 1994 : 2) ให้ความหมายผู้นำปริวรรตว่า สามารถเห็นได้จากผู้นำที่มีลักษณะ ดังนี้ คือ มีการกระตุ้นให้เกิดความสนใจในระหว่างผู้ร่วมงานและผู้ตามให้มองงานของเขาในแง่มุมใหม่ ๆ ทำให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องภารกิจ และวิสัยทัศน์ของทีมและขององค์การ มีการพัฒนาความสามารถของผู้ร่วมงาน และผู้ตามไปสู่ระดับความสามารถที่สูงขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น ชักนำให้ผู้ร่วมงานและผู้ตามมองไกลเกินกว่าความสนใจของพวกเขาเองไปสู่ที่จะทำให้กลุ่มได้ประโยชน์ ผู้นำปริวรรตจะชักนำผู้อื่นให้ทำมากกว่าที่เขาตั้งใจตั้งแต่ต้น และบ่อยครั้งมากที่พวกเขาคิดว่ามันจะเป็นไปได้ ผู้นำจะมีการท้าทายความคาดหวัง และมักนำไปสู่การบรรลุถึงผลงานซึ่งสูงขึ้น และสอดคล้องกับลิทวูด และคนอื่น ๆ ( Leithwood and others , 1999: 9) ให้ความหมายผู้นำปริวรรตไว้ว่า หมายถึง รูปแบบผู้นำที่ตัวผู้นำมีความสามารถพิเศษ มีวิสัยทัศน์ คำนึงถึงวัฒนธรรมขององค์การปรับเปลี่ยนองค์การและมอบอำนาจในการทำงานต่าง ๆให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาโดยมุ่งเน้นให้ ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความมุ่งมั่นผูกพันต่อองค์การและความมีสมรรถภาพของสมาชิกในองค์การ

จากความหมายที่กล่าวมาทั้งหมดที่กล่าวมา ผู้เขียนสรุปได้ว่า ภาวะผู้นำปริวรรต (Transformational leadership) หมายถึง ภาวะผู้นำที่สามารถทำให้องค์การเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลโดยเกิดจากการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน และใช้สมรรถภาพของสมาชิกในองค์การอย่างเต็มที่ในการพัฒนางาน โดยที่สมาชิกทุกคนมีความตั้งใจและเต็มใจที่จะอุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าของตนเองและงานในองค์การ

ในองค์การทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาของสถานศึกษานั้นๆ ผู้บริหารจะต้องดำเนินการและจัดการศึกษาของสถานศึกษานั้นๆ ผู้บริหารจะต้องดำเนินการและจัดการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายทำให้สถานศึกษาดำรงอยู่และก้าวหน้า

สถานศึกษาเป็นองค์การที่ต้องการผู้บริหารที่เข้มแข็ง ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนเรียนการสอน ความต้องการภาวะผู้นำของผู้บริหารขึ้นกับคุณภาพ ในการเป็นผู้นำของผู้บริหาร ในการทำให้สถานศึกษามีความก้าวหน้าภาวะนำที่มีคุณภาพของผู้บริหารจะมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาภาวะนำถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารเป็นการนำหรือเป็นการทำให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติตามที่ประสงค์ ตามเป้าหมายขององค์การ ภาวะผู้นำเป็นเรื่องสำคัญมากในการบริหาร ซึ่งมีทฤษฏีเกี่ยวกับภาวะผู้นำที่นักวิชาการศึกษาไว้หลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีคุณลักษณะ ทฤษฎีทางด้านพฤติกรรม ทฤษฎีทางด้านสถานการณ์ ซึ่งภาวะผู้นำมีความสำคัญต่อความสำเร็จแห่งเป้าหมายขององค์การ อย่างเห็นได้ชัดเพราะมี คำกล่าวว่า ถ้าองค์การที่มีแต่จะเลวร้ายลงทุกๆวันนั้นเป็นเพราะผู้บริหารไม่มีภาวะผู้นำที่ดี หรือขาดภาวะผู้นำ

ในปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ภาวะผู้นำปริวรรตเป็นผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่และทำให้เกิดการจูงใจอย่างมากต่อตัวผู้ตาม เป็นความสามารถของผู้บริหารที่สามารถทำให้สมาชิกในองค์การเพิ่มภาวะผู้นำเพื่อพัฒนางานในขอบเขตของแต่ละคนให้บรรลุเป้าหมายขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำปริวรรต จะมีบทบาทเป็นผู้ริเริ่ม ผู้ตัดสินใจ ผู้สั่งการน้อยที่สุด แต่จะมีบทบาทค่อนข้างมาก ในการเป็นผู้รับรู้ ผู้ประสานงาน ผู้สนับสนุน และผู้อำนวยความสะดวก ( รัชนี วิเศษสังข์ , 2537 : 15 ) เพื่อให้สมาชิกในหน่วยงานมีโอกาสใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ ในการริเริ่มงาน ตัดสินใจ แก้ปัญหาต่าง ๆ และพัฒนางานในหน้าที่ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อาจกล่าวได้ว่าภาวะผู้นำปริวรรต เป็นผู้นำที่ดีและเหมาะกับสภาวการณ์ปฏิรูปการศึกษา จากผลการวิจัยและการพัฒนาภาวะผู้นำปริวรรตในทุกระดับองค์การของประเทศต่าง ๆ จำนวนมากพบว่า ผู้บริหารหรือผู้นำที่มีภาวะผู้นำปริวรรต สามารถทำให้ประสิทธิผลของงาน และองค์การสูงขึ้น แม้ว่าสภาพขององค์การจะมีข้อจำกัด ผู้บริหารที่มีที่มีลักษณะเป็นผู้นำของผู้นำ เป็นการให้อำนาจแก่สมาชิกเพื่อพัฒนางาน ในหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมายขององค์การ ให้อำนาจการตัดสินใจแก่สมาชิก ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงภาวะผู้นำปริวรรต ดังรายละเอียดต่อไปนี้

ความสำคัญของภาวะผู้นำ ความหมายของภาวะผู้นำปริวรรต ผู้นำปริวรรตแตกต่างจากผู้นำอื่น ๆ อย่างไร อะไรคือเป้าหมายของผู้นำปริวรรต ยุทธวิธีของภาวะผู้นำปริวรรต คุณลักษณะของผู้นำปริวรรต ภาวะผู้นำปริวรรตกับการปฏิบัติ ปัจจัยสำคัญในการใช้ภาวะผู้นำปริวรรตอย่างมีประสิทธิภาพความสำคัญของภาวะผู้นำ


กล่าวได้ว่าประสิทธิผลของโรงเรียนขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้บริหาร ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวมประสิทธิผลของการบริหารการศึกษาจะวัดได้ดีที่สุดที่โรงเรียน เพราะเป็นที่ให้บริการการศึกษา ซึ่งทรัพยากรถูกใช้โดยครูและบุคลากรอื่น ๆ สู่การเรียนรู้ของนักเรียน ผู้บริหารเป็นผู้นำทางการศึกษาและผู้บริหาร ทีมบริหารจะนำโดยผู้บริหารที่จะทำให้ครูสอนดี นักเรียนเรียนดี มีการนำนวัตกรรมมาใช้ในโรงเรียน ซึ่งต้องใช้ภาวะผู้นำและความสามารถในจัดการเป็นพิเศษของผู้บริหาร แม้ว่า ทุกคนจะเห็นด้วยว่าผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้นำด้วยแต่ที่ยังเห็นแตกต่างกันคือผู้บริหารสถานศึกษา ควรเป็นผู้นำแบบใด ทฤษฎีภาวะผู้นำก็มุ่งแสวงหาภาวะผู้นำหรือแบบผู้นำที่ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าผู้นำแบบใดดีที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีภาวะผู้นำก็มุ่งแสวงหาผู้นำหรือผู้นำแบบปัจจุบันมีการศึกษาแนวคิดทฤษฎีภาวะผู้นำปริวรรต (Transformational leadership) ซึ่งนักวิชาการหลายท่านเห็นว่าผู้นำที่เหมาสมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาและจะเป็นหัวใจในปัจจุบัน และจะเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารการศึกษา คือ ภาวะผู้นำปริวรรต (Transformational leadership) แต่มีการเรียกชื่อเป็นภาษาไทยที่แตกต่างกันมากมาย เช่น ภาวะผู้นำการเปลี่ยนสภาพ ( เสริมศักดิ์ วิสาลาภรณ์) ภาวะผู้นำปฏิรูป ( รังสรรค์ ประเสริฐศรี) ภาวะผู้นำปริวรรต ( รัชนี วิเศษสังข์ ) และภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (ประเสริฐ สมพงษ์ธรรม , รัตติภรณ์ จงวิศาล) แต่สำหรับบทความนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่า “ภาวะผู้นำปริวรรต” ซึ่ง หมายถึง ภาวะผู้นำที่สามารถทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลโดยเกิดจากวิสัยทัศน์รวมกันและใช้สมรรถภาพของสมาชิกองค์การ อย่างเต็มที่ในการพัฒนางานโดยที่สมาชิกทุกคนมีความตั้งใจและเต็มใจที่จะอุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าของตนเองและงานในองค์การ

เมื่อศึกษาเกี่ยวกับภาวะผู้นำปริวรรต จะเห็นได้ว่าเป็นภาวะผู้นำที่สามารถทำให้องค์การเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นยุคปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องค่าง ๆ มากมาย ผู้บริหารโรงเรียน จึงควรศึกษาภาวะผู้นำปริวรรตให้มากยิ่งขึ้น และนำรูปแบบภาวะผู้นำนี้ไปใช้ในการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลต่อไป ผู้เขียนได้รวบรวมรายละเอียดที่สำคัญ ๆ และนำเสนอแนวคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะผู้นำปริวรรต จาการศึกษาเอกสาร สอบถาม สัมภาษณ์ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานและประสบผลสำเร็จมาแล้วในการบริหารสถานศึกษา เพื่อให้ผู้บริหารและผู้สนใจได้นำภาวะผู้นำปริวรรต ไปใช้ประกอบการทำงาน ดังนี้

สิ่งที่ทำให้ภาวะผู้นำปริวรรต แตกต่างจากรูปแบบผู้นำแบบอื่น ๆ จากการสัมภาษณ์ นายบุญธรรม เอียดแก้ว ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดเขาลำปะ ( 10 เมษายน 2553 ) กล่าวว่า

  1. ไม่มีการบริหารแบบ up down ซึ่งผู้บริหารสั่งงานจากเบื้องบนแต่เพียงผู้เดียว
  2. ผู้นำปริวรรตเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิดของครูและนักเรียน เพื่อให้ครูได้ทำงานอย่างมั่นใจ และมี กำลังใจในการทำงาน นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองมากยิ่งขึ้น
  3. คำนึงถึงความก้าวหน้าของครูไปพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าของนักเรียน ส่วนใหญ่โรงเรียนและผู้บริหารจะมุ่งไปที่ผลงานของโรงเรียนและเน้นไปที่ตัวเด็ก แต่ไม่ได้สนใจที่จะพัฒนาครูให้มีความก้าวหน้าหรือได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำให้ส่งผลกระทำต่อการทำงานของครูและการพัฒนาคุณภาพนักเรียน
  4. ผู้นำปริวรรตจะดูแลให้วิสัยทัศน์ของโรงเรียนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง การนำวิสัยทัศน์ที่กำหนดร่วมกันมาทำให้เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้งานของโรงเรียนเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและตรงกับความต้องการของทุกคน
  5. ผู้นำปริวรรตมีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงงานต่าง ๆ ไประยะหนึ่งก็จะเกิดภาวะชะงักงันของงาน ดังนั้นผู้บริหารต้องมีแนวคิดใหม่ที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สมาชิกขององค์การเกิดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน
  6. ผู้นำปริวรรต เหมาะที่จะใช้กับการดำเนินงานในขั้นตอนแรกของงานทุกงานของทุก ๆ วันให้ลุล่วง ไปด้วยดี เพราะการที่ผู้บริหารมีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลง การมอบอาจในการตัดสินใจ การให้ทุกคนได้ร่วมกันแก้ปัญหา ทำให้สมาชิกมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าขององค์การนั้นๆ จะทำงานด้วยความมุ่งมั่นและ พยายามมากยิ่งขึ้น จากการสัมภาษณ์ นายอาคม จันทร์นวล ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งใหญ่ ( 31 มีนาคม 2553 )

กล่าวได้ว่า ลักษณะผู้นำปริวรรตคำนึงถึงความก้าวหน้าของครู เป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิดของครูและนักเรียน มีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การนำวิสัยทัศน์ที่กำหนดร่วมกันมาทำให้เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช้การบริหารแบบ up down มีการมอบอาจในการตัดสินใจ การให้ทุกคนได้ร่วมกันแก้ปัญหา

ทักษะการเป็นผู้นำ
บันไดสู่ความเป็นผู้นำ
ภาวะผู้นำปริวรรต
ภาวะผู้นำแบบสร้างสรรค์
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย