ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

มหาสงครามโลกครั้งที่ 2

สาเหตุของสงคราม
ชนวนระเบิดของสงครามโลกครั้งที่ 2
เหตุการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2
ผลของสงครามโลกครั้งที่สอง
สมรภูมิทางตะวันตก
สมรภูมิในทวีปยุโรปตะวันออก
สมรภูมิทางตะวันออก(เอเชีย)
รายละเอียดการรบครั้งสำคัญ ๆ ในเอเชียแปซิฟิก
สรุปภาพ สถานการณ์การรบในยุโรป
ไทย กับสงครามโลกครั้งที่ 2

สาเหตุของสงคราม

ความไม่ยุติธรรมของสนธิสัญญา
ข้อบกพร่องของสนธิสัญญาสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีสาเหตุมาจากประเทศชนะสงคราม และประเทศที่แพ้สงครามต่างก็ไม่พอใจในข้อตกลง เพราะสูญเสียผลประโยชน์ ไม่พอใจในผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยเฉพาะสนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่เยอรมันไม่พอใจในสภาพที่ตนต้องถูกผูกมัดด้วยสัญญาและต้องการได้ดินแดน ผลประโยชน์และเกียรติภูมิที่สูญเสียไปกลับคืนมา (ความไม่พอใจของฝ่ายผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อข้อตกลงสันติภาพ โดยเฉพาะสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์)

สนธิสัญญาสันติภาพที่ไม่เป็นธรรม ระบุให้ประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย ค่าปฏิกรรมสงครามและเสียดินแดน เช่นสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เยอรมนี ต้องเสียอาณานิคม ต้องคืนแคว้นอัลซาล – ลอเรนแก่ฝรั่งเศส โปเซนและปรัสเซียตะวันตกให้โปแลนด์ มอรสเนท ยูเพนและมัลเมดีให้เบลเยี่ยม ชเลสวิคและโฮลสไตน์ให้เดนมาร์ก แคว้นซูเดเตนให้เชคโกสโลวาเกีย และ เมเมลให้ลิทัวเนีย จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ปีละ 5 พันล้านดอลลาร์ ถูกจำกัดกำลังทหารมีทหารได้ไม่เกิน 100,000 คน ห้ามเกณฑ์ทหารเป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขี้น ฮิตเลอร์และพรรคนาซีได้ปลุกระดมต่อต้านการเสียค่าปฏิกรรมสงคราม และนำความอดยาก ยากจนมาให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง สนธิสัญญาแวร์ซายส์ (Versailles Treaty) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1919 ซึ่งนับเป็นวันยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ระบุให้เยอรมนีต้องรับผิดชอบจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก ถูกลดกำลังทหารและอาวุธ ถูกยึดดินแดนอาณานิคม ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันตกต่ำ ประชาชนตกงาน เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงทั่วประเทศ ชาวเยอรมันโกรธแค้นมาก ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจในช่วงนี้ สร้างกระแสชาตินิยม ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และพัฒนาอุตสาหกรรมและการทหาร จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II)
เงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายส์
เยอรมนีต้องรับผลจากการสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างรุนแรง ดังต่อไปนี้

  1. เยอรมนีต้องสูญเสียดินแดนของตนคือ อัลซาสลอเรนให้แก่ฝรั่งเศส ต้องยอมยกดินแดนภาคตะวันออกให้โปแลนด์ไปหลายแห่ง
  2. ต้องยอมให้สันนิบาตชาติเข้าดูแลแคว้นซาร์เป็นเวลา 10 ปี
  3. เกิดฉนวนโปแลนด์ POLISH CORRIDOR ผ่านดินแดนภาคตะวันออกของเยอรมนีเพื่อให้โปแลนด์มีทางออกไปสู่ทะเลบอลติกที่เมืองดานซิก ซึ่งเยอรมนีถูกบังคับให้ยกดินแดนดังกล่าวให้โปแลนด์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ยังผลให้ปรัสเซียตะวันออกถูกแยกออกจากส่วนอื่นของเยอรมนี ซึ่งฮิตเล่อร์ถือว่าเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจยอมรับได้ต่อไป
  4. ต้องสูญเสียอาณานิคมทั้งหมดของตนให้แก่องค์การสันนิบาตชาติดูแลฐานะดินแดนในอาณัติ จนกว่าจะเป็นเอกราช
  5. ต้องยอมจํากัดอาวุธ และทหารประจําการลงอย่างมาก
  6. ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจํานวนมหาศาลให้แก่ประเทศที่ชนะสงคราม

ความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ
ปัญหาทางการเมือง และเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้หลายประเทศหันไปใช้ระบอบเผด็จการเพื่อแก้ปัญหาภายใน เช่น เยอรมนีและอิตาลี นำไปสู่การแบ่งกลุ่มประเทศ เพราะประเทศที่มีระบอบการปกครองเหมือนกันจะรวมกลุ่มกัน

ความแตกต่างทางด้านการปกครอง กลุ่มประเทศฟาสซิสต์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ได้รวมกันเป็น มหาอำนาจอักษะ (Berlin-Rome-Tokyo Axis ) จุดประสงค์แรก คือเพื่อต่อต้านรัสเซีย ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมาได้ขยายไปสู่การต่อต้านชนชาติยิวและนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร

ลัทธิชาตินิยมในประเทศเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น
ลัทธิชาตินิยมในช่วงคริสตศตวรรษที่20 ซึ่งได้เกิดขึ้นในหลายๆประเทศรวมทั้งเยอรมนีด้วยเป็น ลักษณะของลัทธิชาตินิยมมีลักษณะย้ำการดําเนินนโยบายของชาติของตน การดำรงไว้ซึ่งบูรณภาพของชาติ การเพิ่มอํานาจของชาติ ขณะเดียวกันเน้นความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมของตน มีความพยายามที่จะรักษาและเพิ่มพูนความไพศาล ศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของชาติตนไว้ มีการเน้นความสําคัญของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ของตน ว่าเหนือเชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์อื่น

ลัทธิฟาสซิสม์ เป็นคำที่มาจากภาษาละติน "fasces" มีความหมายกว้างๆ ว่าเป็นลัทธิชาตินิยมขวาจัดกับการใช้อำนาจสูงสูด ของผู้นำที่รับผิดชอบแต่ผู้เดียว พรรคฟาสซิสม์ที่รู้จักกันมาก คือ พรรคของมุสโสลินีที่เริ่มต้นการปกครองแบบสาธารณรัฐ ต่อต้านนายทุน เคลื่อนไหวทางศาสนาอย่างแข็งขันมากแล้วเปลี่ยนไป สู่การสนับสนุนระบบตลาดเสรี ระบอบกษัตริย์ และยังรวมถึงศาสนาด้วย อย่างไรก็ตาม ขบวนการณ์ฟาสซิสม์ทั้งหลาย (Oswald Mosley's Black-shirts ในบริเทน Iron Guard ในโรมาเนีย Croix de Feu ในฝรั่งเศส และที่มีแนวทางคล้ายกันในยุโรป) จะมีนโยบายที่ไม่ต่างกัน คือ การคุกคามกับการสร้างลัทธิชาตินิยมอย่างไม่จำกัดขอบเขต ไม่ยอมรับสถาบันประชาธิปไตย และเสรีใดๆ ที่ไม่ยินยอมให้พวกตนใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ถ้าเป็นหนทางที่จะได้มาซึ่งอำนาจ แล้วผู้ปกครองฟาสซิสม์จะไม่สนใจเรื่องการปกครองระบอบใดมากนัก ลัทธิฟาสซิสม์ เป็นศัตรูสำคัญของลัทธิสังคมนิยม มีลักษณะการเน้นที่บทบาทของผู้นำคนเดียว และมีความสัมพันธ์กับกองทัพอย่างลึกซึ้ง พรรคฟาสซิสม์กับนาซีจะมีแนวนโยบายเหมือนกันมาก และพรรคนาซีนั้นได้ใช้รูปแบบของพรรคฟาสซิสม์ มาพัฒนาให้ผู้นำมีอำนาจสูงสุด อย่างไรก็ตามแม้พรรคฟาสซิสม์จะมีนโนบายต่อต้านต่างชาติ แต่ฟาสซิสม์อิตาลีไม่ได้ต่อต้านพวกเซมิติคอย่างจริงจังเหมือนนาซี พรรคฟาสซิสม์อ่อนแอลงมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ยังมีพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายคล้ายคลึง คือพรรคสังคมอิตาเลียน (Italian Social Movement) กับพรรคแนวหน้ารักชาติในอังกฤษกับฝรั่งเศส (National Front in Britain and France)



เนื่องจากความไม่เป็นธรรมของสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และเยอรมนีพัฒนาตนเองจนแข็งแกร่งเป็นอาณาจักรเยอรมนีที่ 3 และมีนโยบายบุกรุกดินแดน (นโยบายสร้างชาติภายใต้ระบอบเผด็จการ ฟาสซิสต์ในอิตาลี นาซีในเยอรมันและเผด็จการทหารในญี่ปุ่น)

ลัทธินิยมทางทหาร
ได้แก่ การสะสมอาวุธเพื่อประสิทธิภาพของกองทัพ ทำให้เกิดความเครียดระหว่างประเทศมากขึ้น และเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

นโยบายต่างประเทศที่ไม่แน่นอนของอังกฤษ
การใช้นโยบายออมชอมของอังกฤษเมื่อเยอรมนีละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เช่น การเพิ่มกำลังทหารและการรุกรานดินแดนต่างๆ ทำให้เยอรมนีและพันธมิตรได้ใจและรุกรานมากขึ้น

ความอ่อนแอขององค์การสันนิบาตชาติ
เนื่องจากไม่มีกองทัพขององค์การ ทำให้ขาดอำนาจในการปฏิบัติการและอเมริกาไม่ได้เป็นสมาชิกจึงทำให้องค์การสันนิบาต เป็นเครื่องมือของประเทศที่ชนะใช้ลงโทษประเทศที่แพ้สงคราม (ความล้มเหลวขององค์การสันนิบาตชาติในการเป็นองค์กรกลางเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ) และความอ่อนแอของ องค์การสันนิบาตชาติ ที่ไม่สามารถบังคับประเทศที่เป็นสมาชิกและไม่ปฏิบัติตามสัตยาบันได้

บทบาทของสหรัฐอเมริกา
สหรัฐปิดประเทศโดดเดี่ยว สมัยประธานาธิบดีมอนโร ตามแนวคิดในวาทะมอนโร สหรัฐจะไม่แทรกแซงกิจการประเทศอื่นและไม่ยอมให้ประเทศอื่นมาแทรกแซงกิจการของตนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ประชาชนจึงเลือกพรรคเดโมแครต(Democratic Party)เข้ามาเป็นรัฐบาลปกครองประเทศโดยประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ ได้รับเลือกต่อกันถึงสี่สมัย ( ค.ศ.1933 – 1945 )

สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
ในช่วงทศวรรษ 1920 – 1930 โดยเฉพาะช่วง ในปี ค.ศ.1929-1931 ( ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 )

วิกฤตการณ์สำคัญก่อนสงคราม

  1. เยอรมนียกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ค.ศ. 1936 และสนธิสัญญาโลคาร์โดยการเข้าครอบครองแคว้นไรน์ และ การเพิ่มกำลังอาวุธของเยอรมัน
  2. สงครามอิตาลีรุกรานเอธิโอเปีย ค.ศ. 1936 (พิพาทระหว่างอิตาลีกับอังกฤษ ในกรณีที่อิตาลีบุกเอธิโอเปีย)
  3. สงครามกลางเมืองสเปน ค.ศ. 1936 – 1939
  4. เยอรมนีรวมออสเตรีย ค.ศ. 1938
  5. เยอรมนีรวมเชคโกสโลวาเกีย ค.ศ. 1938
  6. อิตาลียึดครองแอลเบเนีย ค.ศ. 1939
  7. ปัญหาฉนวนโปแลนด์ ค.ศ. 1939
  8. การขยายอำนาจของญี่ปุ่นในเอเชีย ค.ศ. 1931 – 1939 (ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย แล้วตั้งเป็นรัฐแมนจูกัว เพื่อเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งทำทุนใหม่สำหรับตลาดการค้าของญี่ปุ่น)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย