ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม  >>

ประเพณียี่เป็ง

คำว่า “ยี่เป็ง” เป็นภาษาล้านนาหรือภาษาคำเมือง การนับวันเดือนปีของชาวล้านนาจะมีความคาดเคลื่อนจากชาวภาคกลางประมาณ 2 เดือน ชาวล้านนาจะเริ่มนับวันเดือนปีประมาณเดือนตุลาคมของทุก ๆ ปี โดยเดือนที่หนึ่งเรียกว่า “เดือนเกี๋ยง” เดือนที่สองเรียกว่า “เดือนยี่” และเดือนที่สาม สี่ ห้า……จนถึงเดือนสิบสองจะนับเช่นเดียวกับชาวภาคกลาง

คำว่า “เป็ง” ก็คือพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ พระจันทร์ในคืนนี้จะมีความสว่างสุกใสเป็นพิเศษ ชาวล้านนาออกเสียง พ (พ.พาน) เป็น ป (ป.ปา) ถ้าเป็นภาษาเขียน พ (ตั๋วป๊ะ) = พ) ดังนั้น คำว่า “วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง พวกเราชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง” ก็คือ วันเพ็ญเดือนสิบสองของชาวภาคกลาง และก็มีความหมายเหมือนกับของชาวล้านคือ “วันยี่เป็ง” ซึ่งจะตกราวประมาณของเดือนพฤศจิกายนของทุก ๆ ปี

ประเพณียี่เป็งชาวล้านนาจะถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน กิจกรรมในประเพณีนี้ชาวล้านนาจะมีการตบแต่งสถานที่ “ชุ้มประตูป่า” ประดับด้วยไฟสีต่าง ๆ ตอนเช้าไปทำบุญที่วัดเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาและความเป็นศิริมงคลกับครอบครัวและตนเอง ตอนเย็นหรือหัวค่ำก็จะเดินทางไปบูชาเทียนต่อพระประธานในพระวิหารหรือพระอุโบสถ เทียนนี้จะทำเป็นพิเศษ โดยไส้เทียนจะประกอบด้วยเส้นไส้เทียนเท่าอายุของตนเองหรือเผื่ออีกเล็กน้อย จะมากหรือน้อยนั้นก็สุดแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล กระดาษสาที่เขียนด้วยบทคาถาและวันเดือนปีเกิดของบุคคลนั้น เทียนนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 3 เล่มคือ สืบชะตา รับโชค และสะเดาะเคราะห์ นอกจากการบูชาเทียนนี้แล้ว ก็มีการจุด ประทีบ (ผางปะตีด) บูชาพระพุทธเจ้า และกลับมาที่บ้านก็มาจุดบูชาพระพุทธรูปที่บ้าน ตลอดจนจุดประทีบบริเวณหน้าบ้าน จะมีการจุดดอกไม้ไฟ ปล่อยโคมลอย และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ๆ ต่างก็มีความสนุกสนานกับประเพณีนี้ในปีหนึ่ง ๆ จะมีเพียงครั้งเดียว

 

สิ่งที่เราพบเห็นอีกสิ่งหนึ่งนั้นก็คือ “การลอยกระทง” ในแม่น้ำสายต่าง ๆ ทั่วประเทศ การทำกิจกรรมนี้ในอดีตที่ผ่านมานั้นกระทำเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะบูชา “พระแม่คงคา” กล่าวคือแม่น้ำคงคาในประเทศอินเดียนั้นมีประโยชน์คุณูประการต่อชาวอินเดียตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยรับเอาพระพุทธศาสนามาจากประเทศอินเดีย และขณะเดียวกันก็รับเอาประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้ามาด้วย การลอยกระทงเป็นการบูชา “แม่น้ำ” หรือ “น้ำ” นั้น เป็นการสำนึกในบุญคุณของน้ำที่ช่วยให้ชีวิตทุกชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ได้อาบ ได้ดื่ม ได้กิน ให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข

ประเพณีและวัฒนธรรมเป็นมรดกอันล้ำค่าของประเทศไทยเราที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ให้ลูกหลาน ไม่มีประเทศใดในโลกเสมอเหมือน คณะกรรมการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม คณะเทคนิคการแพทย์ มีความตระหนักและเห็นความสำคัญของประเพณีดังกล่าว จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมนี้ให้มีความมั่นคงถาวรสืบไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย