ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พันธสัญญา
(Testament)

พันธสัญญาเดิม
(Old Testament)

หนังสือห้าเล่มแรก

 (Pentateuch)

         หนังสือห้าเล่มแรกของพระคัมภีร์ไบเบิลถือว่าเป็น “ชุดหนึ่ง” ในตัวเอง เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกันในเนื้อหาและวิธีการตลอดจนการยอมรับเป็นประเพณีทั้งของชาวยิวและชาวคริสต์ว่า เป็นหนังสือที่ว่าด้วยกฎหมายซึ่งชาวยิวเรียกว่า “โตรา” (Torah) บางครั้งก็เรียกว่า “หนังสือของโมเสส” หรือ “หนังสือกฎหมายโมเสส” ส่วนการตั้งชื่อว่า “Pentateuch” ซึ่งแปลว่า “หนังสือห้าเล่ม” นั้นชาวคริสต์เป็นคนตั้งในศตวรรษที่สอง ส่วนชื่อหนังสือทั้งห้าเล่มนั้นก็ตั้งกันแตกต่างกันไป ชาวคริสต์เรียกตามลำดับว่า 1) ปฐมกาล (Genesis) เพราะเล่าเรื่องการสร้างโลกและจุดเริ่มต้นของมนุษชาติ 2) อพยพ (Exodus) เพราะเกี่ยวกับการออกจากประเทศอียิปต์ของชาวอิสราเอล 3) เลวีนิติ (Leviticus) เพราะเกี่ยวกับกฎหมายตระกูลเลวี ซึ่งเป็นตระกูลสงฆ์ 4) กันดารวิถี (Numbers) เกี่ยวกับจำนวนประชากรอิสราเอล ซึ่งเร่ร่อนอยู่ในที่เปลี่ยวนับตามตระกูลต่าง ๆ 5) เฉลยธรรมบัญญัติ (Deuteronomy) เป็นกฎหมาย “ที่สอง” ซึ่งโมเสสได้ให้ไว้ก่อนถึงแก่มรณกรรม ซึ่งก็คือกฎหมายเดิมแต่ได้รับการอธิบายเพิ่มเติมในรายละเอียด

1. หนังสือปฐมกาล

 แบ่งได้เป็นสองภาค บทที่ 1-11 เกี่ยวกับเรื่องยุคแรกของประวัติศาสตร์มนุษยชาติและประวัติศาสตร์ความรอด เริ่มต้นด้วยการสร้างโลกและมนุษย์ มนุษย์ได้ทำบาป ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบากแต่พระเจ้าทรงสัญญาจะไม่ทอดทิ้ง ต่อมามนุษยชาติทำบาปมากยิ่งขึ้น พระเจ้าทรงลงอาญา เกิดน้ำท่วมใหญ่ผู้คนตายหมดสิ้นเหลือแต่เพียงโนอาห์และครอบครัวกับสัตว์ต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงเรื่องของอาบราฮัม บิดาของประชาชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรร ส่วนที่สองของหนังสือปฐมกาลเริ่มจากบทที่ 12 ถึงบทที่ 50 เป็นเรื่องเกี่ยวกับบรรพบุรุษของอิสราเอล พระเจ้าประทานแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ให้แก่อาบราฮัมและลูกหลาน ไอแซค ยากอบและบุตรหลานอื่น ๆ ยึดมั่นในศรัทธาต่อพระเจ้า บุตรทั้ง 12 ของยากอบจึงเป็นต้นตระกูลของอิสราเอล โยเซฟบุตรคนหนึ่งถูกพี่น้องขายให้พ่อค้าอียิปต์ แต่พี่น้องทั้งหมดก็พบกันอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศอียิปต์นั่นเอง และนี่คือที่มาก่อนจะมาถึงเรื่องของโมเสสและการออกจากประเทศอียิปต์

2. อพยพ

กล่าวถึงสองเรื่องสำคัญ คือ การออกจากประเทศอียิปต์และพันธสัญญาซีนาย (Sinai Convenant) ส่วนการเร่ร่อนในที่เปลี่ยวนั้นก็เป็นส่วนประกอบของทั้งสองเรื่องดังกล่าว เริ่มเรื่องด้วยการย้อนกล่าวถึงบรรพบุรุษของอิสราเอลซึ่งอยู่ในอียิปต์และได้รับความยากลำบาก และกำเนิดของโมเสสซึ่งเป็นผู้นำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์โดยบัญชาของพระเจ้า หลังจากที่พระเจ้าได้ลงอาญาฟาโรห์และชาวอียิปต์หลายต่อหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย พระเจ้าบัญชาให้โมเสสบอกชาวอิสราเอลเตรียมตัวออกเดินทาง ฆ่าแกะเตรียมอาหารรับประทานกับขนมปังไม่มีเชื้อ เอาเลือดแกะทาที่ประตู เทวดาของพระเจ้าจะ “ผ่าน” บ้านที่มีเลือดแกะส่วนบ้านของชาวอียิปต์นั้นบุตรชายหัวปีจะถูกประหาร โมเสสนำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์และข้ามทะเลแดงโดยอำนาจของพระเจ้า การ “ผ่าน” ที่เปลี่ยวกลับไปปิตุภูมิของตนนั้น เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่ชาวอิสราเอลรำลึกถึงเป็นทาสสู่ความเป็นไท จากความตายสู่ชีวิต การฉลองที่ทำกันทุกปีนี้เรียกว่า “ปาสกา” ซึ่งแปลว่า “การผ่าน” ในส่วนที่สองนั้นคือการสถาปนาพันธสัญญากับชาวอิสราเอล พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระองค์คือพระยาห์เวห์ (Yahweh) พระเจ้าของพวกเขาทรงประทานบัญญัติ 10 ประการให้ปฏิบัติ เพื่อแสดงออกถึงควมเชื่อศรัทธาและซื่อสัตย์ต่อพระองค์

3. เลวีนิติ

เป็นหนังสือที่แตกต่างไปจากเล่มอื่น ๆ เพราะไม่เล่าเหตุการณ์ใด ๆ นอกจากแจกแจงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และประเพณีสงฆ์ของตระกูลเลวี เช่น พิธีกรรมการถวายบูชา การพิจารณาเรื่องบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ การแสดงออกถึงความทุกข์เสียใจเมื่อกระทำผิดและการใช้โทษบาป รวมทั้งคำอวยพรและคำสาปแช่งต่าง ๆ สำหรับคนดีและคนชั่ว

4. กันดารวิถี

ชื่อภาษาไทยเน้นเรื่องราวในที่เปลี่ยว ซึ่งก็เป็นเนื้อหาหนึ่ง แม้ว่าในตอนต้นจะเป็นเรื่องประชากร (บทที่ 1-4) และการถวายบูชาก่อนที่ชาวอิสราเอลจะออกเดินทางจากซีนาย การต่อสู้กับชนเผ่าต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่คานาอัน และเริ่มตั้งรกรากอยู่ในบริเวณต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปยึดครองได้ทั้งหมด ตอนท้ายของหนังสือยังนำเอาเรื่องบทบัญญัติและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ให้เนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตและความยากลำบากของชาวอิสราเอลในที่เปลี่ยว แต่พระเจ้าก็ไม่ทรงละทิ้งพวกเขา ประทานทั้งอาหารและน้ำดื่ม เมื่อเกิดอันตรายภัยธรรมชาติก็ทรงช่วยเหลือแต่พระองค์ก็ทรงลงอาญาเมื่อชาวอิสราเอลไม่ซื่อสัตย์ไม่ปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์ บางครั้งจึงต้องประสบภัยพิบัติต่าง ๆ เหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นเหตุการร์ตามธรรมชาติ แต่ชาวอิสราเอลก็มองทุกอย่างในความสัมพันธ์กับพระเจ้าเท่านั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ที่ลึกซึ้งที่สุดช่วงหนึ่ง

5. เฉลยธรรมบัญญัติ

เป็นหนังสือที่ดูไม่ต่อเนื่องกับเล่มอื่น ๆ หากพิจารณากันในด้านเหตุการณ์ กฎเกณฑ์ทางสังคมและทางศาสนาได้รับการแจกแจงออกมา นอกนั้นมี “ปาฐกถา” ที่มีเนื้อหายาวมากของโมเสส จนกระทั่งกล่าวถึงวันสุดท้ายของโมเสส การมอบอำนาจให้โยชูอาเป็นผู้นำชาวอิสราเอลต่อไป เนื้อหาของเล่มนี้ทำให้กฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้นับแต่ซีนายและในทีเปลี่ยวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีการอธิบายความหมายของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวอิสราเอลก่อนหน้าที่พวกเขาจะมาถึงจุดนั้น ซึ่งก็เกือบจะพิชิตคานาอันได้ทั้งหมดแล้ว

ไม่มีปรากฎชื่อผู้ประพันธ์หนังสือทั้งห้าเล่มนี้ ชาวยิวและชาวคริสต์ในยุคแรก เชื่อว่าโมเสสเป็นผู้ประพันธ์ แม้ว่าชื่อโมเสสในหนังสือเล่านี้จะเป็นบุรุษที่สามก็ตาม อย่างไรก็ดี การศึกษาวิเคราะห์หนังสือห้าเล่มนี้ในยุคใหม่ได้แสดงให้เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ประพันธ์คนเดียว เพราะเนื้อหาตัวบทต่าง ๆ ขาดความเป็นเอกภาพ วิธีการเชียนแตกต่างกันและมีการเล่าเรื่องเดียวซ้ำกัน ในปลายศตวรรษที่ 18 ได้เป็นที่ยอมรับกันว่า หนังสือห้าเล่มแรกนี้เกิดจากการนำเอาข้อเขียนสี่ชิ้นมารวมกัน ข้อเขียนเหล่านี้เขียนขึ้นต่างเวลาและต่างสถานที่ โดยเขียนขึ้นมาประมาณศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งนับเป็นเวลาหลายร้อยปีหลังโมเสส อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเนื้อหาต่าง ๆ ได้รับการถ่ายทอดมาจากยุคของโมเสส ซึ่งคงเพิ่มรายละเอียดต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น การถ่ายทอดอาจเป็นทั้งโดยข้อเขียนซึ่งก็ไม่ได้มีการค้นพบ แต่คงถ่ายทอดเป็นมุขปาฐะ (Oral Tradition) มากกว่าอย่างอื่น และที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประเพณีที่อ้างอำนาจของโมเสสเป็นผู้กำหนด ข้อเขียนหรือเอกสารสี่ชิ้นนั้นเป็นรูปแบบสุดท้ายซึ่งรวมเอาประเพณีและการถ่ายทอดในรูปแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกันเท่านั้น

จะสังเกตได้ว่าในหนังสือปฐมกาลมีการเล่าเรื่องซ้ำกันอยู่หลายแห่ง เช่นมีเรื่องการสร้างโลก คือ 1-2/4 A และ 2/4 B-3/24 ลำดับลูกหลานของกาอินมีสองครั้ง คือ 4/17- และ 5/12-17 เรื่องน้ำท่วมโลกบทที่ 6 และบทที่ 8 ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน จึงถูกรวมกันเข้าเมื่ออิสราเอลพัฒนาขึ้นมาเป็นประชาชาติที่สมบูรณ์แบบ มีการปกครองโดยกษัตริย์โดยเชื่อมโยงกับอดีตของตนทางคัมภีร์ดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาที่โมเสสได้ประกาศ กฎบัญญัติซึ่งถูกตราขึ้นมาในยุคนั้นแม้ว่าจะได้รับการปรับปรุงเรื่อยมา ฉะนั้น ประเด็นเกี่ยวกับผู้ประพันธ์หนังสือห้าเล่มแรกนี้จึงอาจสรุปได้ว่า แม้จะไม่มีหลักฐานว่าโมเสสคือผู้ประพันธ์ แต่ก็ถือว่า ต้นกำเนิดของประเพณีทั้งหมดคือโมเสสและผู้คนในยุคร่วมสมัยของท่าน



ในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ว่า ข้อเขียนของหนังสือห้าเล่มแรกนี้พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่อย่างไรนั้น คงต้องทำความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งว่า หนังสือพระคัมภีร์ไบเบิลไม่ว่าจะเป็นส่วนใดหรือเล่มใดไม่ใช่ข้อเขียนที่ปราศจากชีวิต แต่เป็นมรดกที่ถูกถ่ายทอดมาด้วยชีวิต ความเชื่อศรัทธาและการปฏิบัติ จึงอาจหาความแม่นยำทางประวัติศาสตร์ เหมือนที่เป็นวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่นี้ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเป็นประวัติศาสตร์ และก็ไม่ได้ถือว่าจะต้องมองข้ามประเด็นนี้ จำเป็นต้องมีการตีความดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

สิบเอ็ดบทแรกของหนังสือปฐมกาลจะต้องพิจารณากันต่างหาก เป็นการเล่าเรื่องการสร้างโลกและกำเนิดมนุษยชาติตามแบบของคนท้องถิ่นในยุคสามพันปีที่แล้ว มีลักษณะเรียบง่ายไม่ซับซ้อนเหมือนลักษณะการเขียนทั่วไปในยุคนั้น ความจริงที่เป็น “สาสน์” (Message) คือ เรื่องพระเจ้าทรงให้กำเนิดโลกและมนุษย์ซึ่งยังมีเอกภาพ บาปของมนุษย์ซึ่งตกทอดมาถึงลูกหลานและอาญาของพระเจ้าทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มี “ข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์ เพราะการเริ่มต้นของโลกและมนุษย์จะต้องมี แต่จะมีในลักษณะใดนั้นย่อมแสดงออกมาด้วยภาษาหรือความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตของคนแต่ละยุคสมัย

สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับบรรพบุรุษของมนุษยชาตินั้น เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “ครอบครัว” ต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา เรื่องเหล่านี้เล่าและบันทึกไว้ด้วยความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกเหตุการณ์ทั้งส่วนรวมและส่วนตัว จุดมุ่งหมายของการบันทึกก็เพื่อจะบอกว่า มีพระเจ้าองค์เดียวผู้ทรงให้กำเนิดแก่มนุษยชาติเดียว ทรงเลือกสรรประชาชาติหนึ่งคือิสราเอลให้อยู่ในแผ่นดินหนึ่งที่พระองค์ทรงสัญญา พระเจ้าองค์นี้คือพระยาห์เวห์ เหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลอื่น ๆ ที่สามารถเทียบให้ปรากฏว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่การบรรยายแตกต่างกันไปเพราะได้รับการเขียนขึ้นมาจากจุดยืนที่แตกต่างกัน อาบราฮัมเข้าไปอยู่ในคานาอันประมาณปี 1850 ก่อน ค.ศ.ลูกหลานของอาบราฮัมอยู่ในอียิปต์นับแต่ปี 1700 ส่วนการออกจากอียิปต์กลับปิตุภูมิประมาณศตวรรษที่ 15 ในยุคราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์หรือไม่ ก็ศตวรรษที่ 13 ในยุคราชวงศ์ที่ 19 หรือรามเสสที่ 2 ระยะเวลาเร่ร่อนอยู่ในที่เปลี่ยวและต่อสู้กับชนเผ่าต่าง ๆ ก่อนเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในคานาอันก็คงประมาณหนึ่งชั่วอายุคน เพราะโมเสสเองได้ถึงแก่มรณกรรมไปก่อนที่ชาวอิสราเอลโดยการนำของโยชูอา จะสามารถข้ามแม่น้ำจอร์แดนเข้าไปครอบครองคานาอันได้

หนังสือห้าเล่มแรกนี้มีเนื้อหาหลายส่วนคล้ายคลึงกับเนื้อหาหนังสือคัมภีร์และกฎหมายของชนชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะชาวเมโสโปเตเมีย ข้อแตกต่างคือลักษณะที่เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีความต่อเนื่อง หนังสือห้าเล่มแรกถือได้ว่าเป็นหนังสือแห่งคำสัญญา พระเจ้าทรงสัญญากับอาดัมและอีฟ โนอาห์ อาบราฮัมและบุตรหลาน โมเสสและชาวอิสราเอล พระเจ้าทรงเลือกสรรบุคคลและประชากรของพระองค์ ฉะนั้น หนังสือห้าเล่มแรกจึงเป็นหนังสือแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำกับมนุษย์ แม้ว่าในพันธสัญญาใหม่จะมี “กฏใหม่” แต่ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งและไม่มีใครสอนว่าจะต้องละทิ้งกฎเก่า บอกเพียงแต่ว่า กฎที่เป็นตัวหนังสือนั้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หากแต่เจตนารมณ์ที่แท้จริงซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญนั้นต้องถือเป็นแนวปฏิบัติ และต้องยอมรับว่าเป็นพื้นฐานอันนำมาสู่พันธสัญญาใหม่ซึ่งจะขาดเสียมิได้ นอกนั้นก็เป็นภาคแรกของประวัติศาสตร์แห่งความรอด ซึ่งได้ถ่ายทอดสัจธรรมของพระเจ้าให้มนุษย์และจะพัฒนาต่อไปจากจุดนี้

หนังสือประวัติศาสตร์ (Historical Books)
หนังสือปรีชาญาณ (Wisdom Books)
หนังสือประกาศก

พันธสัญญาใหม่
(NEW Testament)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย