ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

จริยธรรม

ความหมายของคุณธรรมจริยธรรม
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม
แนวคิด หลักการ ทฤษฏีทางคุณธรรมจริยธรรม
ธรรมชาติของมนุษย์ทางด้านคุณธรรมจริยธรรม
ทฤษฏีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม
เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม
จริยธรรมของคนไทย
ค่านิยมและจรรยาบรรณ

จริยธรรมของคนไทย

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีประวัติความเป็นมาสืบทอดต่อกันมาเนิ่นนาน มีลักษณะหลายประการที่เป็นของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด เช่นการเคารพผู้มีอาวุโส ความเกรงอกเกรงใจกัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ผู้บริหารควรศึกษาว่าอะไรเป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมนิสัยของคนไทยไห้มีลักษณะดังกล่าว สิ่งที่หล่อหลอมอุปนิสัยของคนไทยในด้านคุณธรรมจริยธรรม อาจพิจารณาในด้านกว้าง ๆ ได้ 3 ประการ ดังนี้

1. จริยธรรมตามหลักคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา
2. สภาพการดำเนินชีวิตของคนไทยในอดีต
3 สภาพการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน

1. จริยธรรมตามหลักคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา

ศาสนาที่สำคัญและศาสนาประจำชาติไทยคือ พุทธศาสนา ซึ่งเป็นศูนย์รวมของจิตใจ เป็นที่รวมของกิจกรรม พิธีการต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต เป็นแหล่งที่สร้างสรรค์และส่งเสริมค่านิยมประเพณีต่าง ๆ ของคนไทย และจากศาสนานี้เองเป็นพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรมละศีลธรรมของคนในด้านต่าง ๆ อันก่อไห้เกิดคุณค่าที่สำคัญ 3 ประการ(เสฐียรโกเศศ, อ้างใน ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2534: 41-42)

การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง คนไทยในอดีตนิยมทางสายกลาง ทำสิ่งใดก็ต้องรู้จักประมาณตน นับแต่การทำงาน การติดต่อสัมพันธ์ในวงงาน ความเป็นเพื่อนแม้จะสนิทสนมชิดเชื้อกันดี แต่ก็ต้องไม่สนิทสนมกันเกินไป ความเป็นอิสระของทุกคนยังมีอยู่

ความซื่อสัตย์จริงใจ เป็นคุณค่าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของคนในอดีต คนซื่อสัตย์จริงใจจะได้รับการนับถืออย่างมาก คนคดโกงจะได้รับการประณาม

ความผสมผสานกลมกลืนระหว่าง คน สัตว์ สิ่งแวดล้อม คนไทยจะเหมือนคนเอเชียโดยทั่วไปที่เล็งเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ทั้งทางชีวภาพและทางกายภาพ ศาสนาเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนคิดแบบนี้ตามความเชื่อของคนตะวันออกแล้วถือว่าคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และคนควรศึกษาธรรมชาติเพื่อความเข้าใจ ซาบซึ้งความสมดุลของธรรมชาติ ไม่ใช่บังคับบัญชาเอาชนะธรรมชาติ

2. สภาพการดำเนินชีวิตของคนไทยในอดีต

(ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2534 , 34 : 48) ได้กล่าวถึงสังคมไทยในอดีต ว่ามีลักษณะเด่นในด้านสังคมเกษตรกรรม สังคมหมู่บ้าน สังคมครอบครัว และสังคมศาสนา

สังคมเกษตรกรรม อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยซึ่งส่วนใหญ่พึ่งธรรมชาติ ไม่มีการแข่งขันกับใคร ช่วยกันบ้างตามสมควรลักษณะเช่นนี้ ทำเกิดค่านิยมหรือลักษณะนิสัยประจำชาติบางประการ คือ

  • การไม่เคร่งครัดเรื่องเวลา
  • ความรู้สึกเพียงพอไม่มักได้ สันโดษ พอใจสิ่งที่ได้และมีอยู่
  • มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ค่อยจำเป็นต้องวางแผนเพื่ออนาคต

สังคมหมู่บ้าน สังคมไทยเป็นสังคมที่รวมกันอยู่เป็นหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านรวมกันเป็นเมือง สังคมหมู่บ้านส่วนใหญ่ จะมีลักษณะสังคมเบ็ดเสร็จ ( Self – Contained unit) ซึ่งมีลักษณะดังนี้

  • มีการร่วมมือกัน เพื่อการพึ่งตนเองและช่วยเหลือกันเอง เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว
  • การประนีประนอม เนื่องจากคนในหมู่บ้านรู้จักกันดี จึงอยู่กันอย่างยอมรับการประนีประนอม ไม่นิยมการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง ถ้ามีปัญหาขัดแย้งก็จะหาหนทางแก้ไขกันเอง หรือมีคนกลางไกล่เกลี่ย ถ้าขัดแย้งกันจริงๆก็จะเฉยเมยไม่ร่วมมือ ตีตนออกห่างจากกัน
  • การรักษานิยมความสงบ ซึ่งควบคู่มากับการประนีประนอม เมื่อมีปัญหาใดเกิดขึ้น จะต้องมีมาตรการกันเองภายใน ทำให้เกิดความสงบขึ้นในหมู่บ้าน
  • คนไทยส่วนใหญ่มักมีความเกรงใจ มีความสุภาพ ไม่ต้องการรบกวนคนอื่น และไม่อยากให้คนอื่นเดือดร้อน

สังคมครอบครัว สังคมไทยมีการผูกพันกันในครอบครัว เป็นครอบครัวใหญ่ สมาชิกนับถือกันตามฐานะของแต่ละบุคคล ลักษณะของระบบครอบครัวนำไปสู่ค่านิยม 3 ประการ คือ

  • เคารพอาวุโส ซึ่งรวมไปถึงการคารวะเชื่อฟังผู้มีอำนาจหน้าที่
  • ยึดความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ทำให้เกิดระบบพรรคพวก
  • ความกตัญญูรู้คุณ ระบบครอบครัวรวมกับระบบศาสนา ทำให้เกิดการกตัญญูรู้คุณผู้ที่ให้อุปการคุณแก่ตน ใครไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ ไม่เคารพครูอาจารย์ ไม่รู้คุณคน จะถูกประณามและดูถูกจากสังคมอย่างมาก

3. สภาพการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน

จากสภาพของสังคมไทยในอดีตมาจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างมาก ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้จากตารางต่อไปนี้ (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2534 : 43)

สภาพของสังคมไทยในอดีต

ก .สังคมเกษตรกรรม
- การไม่เคร่งครัดเวลา
- สันโดษ เพียงพอ
- ไม่วางแผน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ข. สังคมหมู่บ้าน
- รวมมือกัน
- ประนีประนอม
- ความสงบ

ค. สังคมศาสนา
- ทางสายกลาง
- ซื่อสัตย์ จริงใจ
- คน สัตว์ สิ่งแวดล้อม

ง. สังคมครอบครัว
- เคารพอาวุโส ผู้มีอำนาจ
- สมัครพรรคพวก
- กตัญญูรู้คุณ

สภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน

ก. สังคมอุตสาหกรรม
- เคร่งครัดเวลา
- มุ่งปริมาณ กำไรมาก
- วางแผนกำไรระยะยาว

ข. สังคมเมือง
- ตัวใครตัวมัน เห็นแก่ตัว
- แตกหักรุนแรง
- อึกทึกคึกโครม

ค. สังคมหย่อนศาสนา
- รุนแรง
- หลอกลวง เอาเปรียบ
- ทำลายสิ่งแวดล้อม

ง. สังคมครอบครัว
- เคารพอาวุโส ผู้มีอำนาจน้อยลง
- สมัครพรรคพวกเพื่อผลประโยชน์
- กตัญญูรู้คุณคนน้อยลง

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม นับว่าเป็นผลกรรมต่อชีวิตมนุษย์อย่างมากสภาพความเครียดและความเบี่ยงเบนทางสังคมไทยในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นจากพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด โสเภณี ฯลฯ จะมีคำกล่าวอยู่ว่าสังคมยิ่งเจริญทางวัตถุมากขึ้นเท่าใด ความเสื่อมทางจิตใจของคนยิ่งต่ำลงมากเพียงนั้น มีผู้วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทยหลายท่าน ขอยกนำมากล่าวพอเป็นตัวอย่างแต่พอเป็นสังเขป ดังนี้

กรมศาสนา (2539 : 3 – 5 ) กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า

  1. สังคมไทยปัจจุบันหลอกลวงกันมาก คนรู้ไม่เท่าทันสังคมจะเป็นเหยื่อของคนฉลาด
  2. คนหลายคนทำงานเพื่อประโยชน์ของตนเองทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องศาสนา
  3. สังคมยังเชื่อถือฝากความหวังไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ไม่ฝึกฝนพัฒนาตน
  4. สังคมมีการแข่งขัน ทำให้เห็นแก่ตัว แตกสามัคคี
  5. เมืองไทยเจริญทางเศรษฐกิจเฉพาะกลุ่ม ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยมากขึ้น
  6. คนไทยชอบความสะดวกสบาย เพราะธรรมชาติเคยอุดมสมบูรณ์ จึงขาดการคิดค้น พัฒนาเทคโนโลยีที่จะก่อให้เกิดความเจริญแก่ตนเอง ครอบครัวและสังคมอย่างจริงจังขาดระบบการแก้ปัญหาและช่วยตนเอง ทำให้สังคมอ่อนแอ
  7. คนไทยไม่ชอบคิดค้นเทคโนโลยีที่เหมาะสมขึ้นเอง จึงยอมรับเทคโนโลยีของชาติอื่นมาใช้เพื่อความสะดวกสบายของตนเอง ซึ่งอาจตรงกับความต้องการ แต่ก็ไม่เหมาะสมกับสังคม ดังนั้น คนไทยจึงคอยแต่เฝ้ารอ ไม่รู้จักคิดแก้ปัญหา ไม่ศึกษาไม่ช่วยตัวเอง เป็นผลให้คนไทยมีคุณภาพลดลง อ่อนแอ สังคมอ่อนแอ
  8. คนไทยมีวัฒนธรรมน้ำใจ ซึ่งเป็นเรื่องดี หากใช้ไม่เป็นอาจเสียหายได้ เช่น น้ำใจรักพวกพ้อง ญาติพี่น้อง จึงช่วยเหลือในการคัดเลือกต่างๆ ทำให้เกิดผลเสียต่อหน่วยงาน และคอยช่วยเหลือญาติลูกหลานมากเกินไป คนไทยจึงไม่เข้มแข็ง
  9. ปัจจุบันประชาชนมีจิตใจไม่เข้มแข็งอดทน มีความสุขยาก มีความทุกข์ยาก ทำให้เกิดปัญหาอื่นมาก เพราะต้องหาหนทางสร้างสุข แก้ทุกข์อยู่ตลอดเวลา ไม่มีความพอดีไม่อดทน เกิดการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบแข่งขันเพื่อจะดึงเอาความสะดวกสบายมาเป็นตนและพวกพ้องให้มากที่สุด
  10. ประชากรที่มีปัญหามักมีลักษณะขี้เกียจ สำรวย อ่อนแอ ใจเสาะ เปราะบาง ทำให้ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่พัฒนา ซ้ำยังต้องมุ่งหาทางสร้างความสบายให้ตัวเองโดยอาศัยบุคคลและวัตถุเป็นที่ยึดถือ ทำให้ปัญหาสังคมเพิ่มขึ้น
  11. ประชากรในโลกทั้งประเทศมหาอำนาจ หรือคนที่มีอำนาจในประเทศมุ่งรักษาอำนาจของตน จึงต้องหาผลประโยชน์จากผู้อื่นทางด้านวัตถุทั้งทางตรงและทางอ้อม เอารัดเอาเปรียบขึ้นในสังคม
  12. สังคมเต็มไปด้วยการแข่งขันและการร่วมมือ ทั้งระดับระหว่างประเทศ และในประเทศ ทำให้การดำเนินงานร่วมกันไม่ราบรื่น ขาดความสามัคคี เพราะผู้ร่วมงานจะมองผู้อื่นที่มาร่วมงานด้วยความหวาดระแวง
  13. ปัจจุบันองค์ประกอบของสังคมขาดความสัมพันธ์กันอย่างสมดุล องค์ประกอบเหล่านี้คือ มนุษย์ สังคม และธรรมชาติ องค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน อยู่อย่างไม่เกื้อกูลกัน ไม่ช่วยเหลือกัน แต่กลับทำลายกันและกัน ทำให้สังคมอ่อนแอล่มสลาย

พระธรรมปิฎก (2538 : 10-15) ได้วิเคราะห์ปัญหาของสังคมกล่าวโดยสรุปดังนี้

1. ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมของไทยมีมาก เป็นอันดับสองของโลก ทั้งที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา
2. คนไทยฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มีค่านิยมชอบบริโภค ไม่ชอบผลิต ไม่ชอบทำงาน
3. คนส่วนใหญ่มีหนี้สินทั้งในระดับบุคคล ระดับครอบครัว จนกระทั่งระดับประเทศ
4. คนไม่สนใจประโยชน์สาวนรวม ส่วนใหญ่เห็นแก่ตัว
5. ชอบความโก้เก๋ มีวัตถุไว้โอ้อวดความโก้ อวดมั่งอวดมี
6. มีนิสัยชอบสนุกสนานรื่นเริง ทำอะไรต้องเพื่อความสนุกสนาน
7. ขาดระเบียบ ไม่รักษาความสะอาด
8. ขาดความรับผิดชอบ ทั้งในชีวิต ในการงานและต่อสังคม
9. ปัญหาคอรัปชั่น อันเนื่องมาจากความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ
10. มีอบายมุขมาก มียาเสพติดระบาด
11. มีความยากจน ขาดแคลน ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ
12. ปัญหาการขาดอาชีพ การว่างงาน
13. ทำงานเป็นทีมไม่ได้ งานไม่สำเร็จต้องทำงานเองตัวคนเดียว



ปัญหาเหล่านี้ ล้วนเป็นทั้งตัวปัญหาเอง และเป็นเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆไปในตัว

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ( 2539 : 20-24) กล่าวเป็นปัญหาอันเนื่องมาจากการศึกษา ซึ่งจะขอนำมากล่าวโดยสรุป ดังนี้

1. สังคมไทยไม่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อันเนื่องมาจากระบบการสอนเน้นการท่องจำ และทำให้เกิดลักษณะนิสัย ดังนี้

  • ขาดโอกาสในการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์
  • ไร้ความคิดอ่าน
  • ชอบใช้ชีวิตอย่างสบาย
  • ชอบอะไรที่ได้มาง่ายๆ
  • ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า
  • ไม่เห็นคุณค่าแห่งการเรียนรู้
  • ขาดวินัยในการดำเนินชีวิต
  • ใช้ชีวิตตามอารมณ์ ความรู้สึก
  • ชอบละเมิดกฎระเบียบ
  • ขาดความซื่อสัตย์ในการเรียนและการทำงาน

2. สังคมไทยพลาดจากอุดมคติเพราะขาดศักยภาพทางการศึกษามีผลทำให้คนไทยด้อยทางด้านความเจริญทางเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ

3. สังคมไทยพลาดจากอุดมคติ เพราะความเสื่อมของคุณธรรม อันเนื่องมาจาก

  • การรับอิทธิพลและค่านิยมจากต่างประเทศ โดยผ่านจากสื่อต่างๆอย่างขาดการกลั่นกรองให้รอบคอบ
  • มุ่งอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีมากกว่าการสอนให้รู้จักการประเมินคุณค่า การประยุกต์คุณธรรมและค่านิยมที่รับมา
  • การศึกษาในระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่ปรับตัวแนวกระแสสังคมที่เน้นวัตถุ เปิดสอนสาขาที่จบแล้วที่รายได้ดีมากกว่าเน้นที่ปรัชญาและการสะสมความรู้
  • ระบบการสอบคัดเลือกเน้นการแข่งขัน ทำให้เกิดการแกว่งแย่งกลายเป็นเรียนเพื่อแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง ไม่เน้นคุณธรรมและจริยธรรม
  • ขาดการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสกว่าในสังคม กลายเป็นการศึกษาทำให้คนเห็นแก่ตัว ขาดความเมตตากรุณา ขาดความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น
  • การดำเนินชีวิตตามกระแสสังคมอุตสาหกรรม ทำให้คนอยู่ในลักษณะวัตถุนิยม ประเมินความสุขสบายของชีวิตบนพื้นฐานความมั่งคั่งในทรัพย์สิน
  • สังคมไม่ยกย่องคนดีเท่ากับคนมีชื่อเสียง ทำให้วัดคุณค่ากันและกันบนมาตรฐานที่ผิด แม้ชื่อเสียงทรัพย์สินจะได้มาด้วยความไม่ซื่อสัตย์ก็ตาม
  • สืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่บีบคั้น เกิดภาวะครอบครัวขาดความอบอุ่น มีการหย่าร้าง เด็กถูกทอดทิ้ง

4. สาเหตุแห่งปัญหาสังคมไทย

พระธรรมปิฎก (2535 : 17-27) ได้วิเคราะห์เหตุแห่งสังคมไทย กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

1. เนื่องจากสังคมไทยกำลังพัฒนา เพื่อเจริญตามแบบอย่างประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเพ่งเล็งไปทางพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ทั้งนี้เพราะเรามองเห็นแต่ผลของการพัฒนาของประเทศที่เจริญแล้ว แต่ไมใส่ใจกับกระบวนการพัฒนาของประเทศเหล่านั้น มุ่งแต่จะเสพผลของความเจริญ คือ ความสะดวกสบาย ความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางวัตถุ ทำให้เรากลายเป็นสังคม “ผู้บริโภค”

2. สังคมไทยมีความต้องการ 2 ด้าน พร้อมกัน คือ การพัฒนาเพื่อให้พ้นจากสภาพด้อยพัฒนา และอีกด้านหนึ่ง คือต้องการพัฒนาด้านจิตใจ ให้มีความอบอุ่นเกื้อกูลกัน แต่การทำตามประเทศที่พัฒนาอย่างไม่สมดุล การพัฒนาไม่ถูกต้องปฏิบัติผิดพลาด จนเกิดปัญหานานัปการ ดังกล่าวข้างต้นและแสดงออกมาในอาการรุนแรง คือ การฆ่าตัวตาย ซึ่งปัญหานี้ อเมริกาและญี่ปุ่นก็เคยประสบมาแล้ว

กรมวิชาการ (2538 : 5-22) ได้สังเคราะห์ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ ก่อให้เกิดการก้าวการสื่อสาร ทำให้โลก “ไร้พรมแดน” พลโลกติดต่อสัมพันธ์กันได้รวดเร็ว นำไปสู่การผสมผสานความคิด ค่านิยมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียกว่า “กระแสโลกาภิวัฒน์” ส่งผลต่อธุรกิจ สังคมและวัฒนธรรม คนมีเสรีภาพในการเลือกรับสื่อจากแหล่งต่างๆ หลากหลายรูปแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและรสนิยมของตน การเรียนรู้จะเกิดจากภายนอกโรงเรียนมากยิ่งขึ้น โครงสร้างสังคมแบบกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นมากขึ้น ท้องถิ่นจะพัฒนาเอกลักษณ์โดยเฉพาะทางวัฒนธรรม พลโลกเกิดค่านิยมที่เป็นความตระหนักและสำนึกต่อการแก้ปัญหาหลักบางเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อนานาประเทศในโลก เช่นสภาวะแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยการขัดแย้งกับทางศาสนา ฯลฯ อย่างไรก็ตามกระแสโลกาภิวัฒน์ดังกล่าวมีผลทำให้วัฒนธรรมดังเดิมของประเทศต่างๆ เสื่อมลง กระตุ้นกระแสบริโภคนิยมพร้อมทั้งทำลายสามัญสำนึกและวิจารณญาณของคนเกี่ยวกับแก่นสาระสำคัญของชีวิต

ดังนั้น การพัฒนาประเทศในอนาคตให้เป็นสังคมที่พึงปรารถนาควรมีลักษณะ คือ สังคมที่มีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ ความยุติธรรม ความเมตตากรุณา คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ เศรษฐกิจสมดุล สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประเทศมีความมั่นคง ปรัชญาในการพัฒนาประเทศควรเป็นการพัฒนา “คน” เพื่อให้คนเป็นองค์รวมมีช่วยและมีบทบาทในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

สรุปก็คือ เป้าหมายการศึกษา จะต้องมุ่งสร้างคนที่มีความมั่นใจ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีอิสระ ใฝ่การศึกษาที่สนองปัญหา และพัฒนาความเป็นมนุษย์ เพื่อส่งเสริมอิสรภาพปัจเจกบุคคล ส่งเสริมให้คนมีคุณธรรมต่อกัน มีค่านิยมและจริยธรรมตามศาสนาของตน มีวินัยในตนเอง มีความรับผิดชอบ มีขันติธรรม

ดังพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีแก่พสกนิกรไทยดังนี้

“...ระยะนี้บ้านเมืองของเราพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า สังคมของเราเสื่อมทรามไปในทางความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตกว่า ถ้าหากยังคงเป็นอยู่ต่อไป เราอาจเอาตัวไม่รอด ปัจจุบันนี้ แม้ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางความเจริญรุดหน้าแห่งยุคปัจจุบันอย่างไร เราก็ทอดทิ้งการศึกษาทางด้านจิตใจ และศีลธรรมจรรยาไม่ได้ ตรงข้ามเราควรจะเอาใจใส่สั่งสอนกันให้หนักแน่นทั่วถึงยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความคิดความเข้าใจถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์แวดล้อมที่วิวัฒนาการไปไม่หยุดยั้ง

เราจะต้องสอนทั้งสองอย่าง สอนวิทยาการทำมาหาเลี้ยงชีพ นี้หมายความว่ามีอาชีพ มีความรู้ทางวัตถุ และต้องรู้จักควบคุมจิตใจ ควบคุมสติของตัวให้เราสามารถใช้ความรู้ทางด้านวัตถุเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ถ้าไม่รู้จักควบคุมความรู้ที่มีในวัตถุ ก็อาจเกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ในที่สุดก็เป็นความเดือดร้อนต่อตนเอง”

สภาวการณ์ในยุคนี้ ทุกคนทุกฝ่ายต้องยอมรับกันแล้วว่า ภาวะสังคมไทยกำลังอยู่ในสภาพวิกฤติเกือบทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้แต่การศึกษา ทุกระบบดังกล่าวยังไม่อยู่ในสภาวะที่พึงพอใจ ยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอีกหลายประการ แม้รัฐบาลจะได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวดังเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ( พ.ศ.2540 -2544 ) เป้าหมายสำคัญอยู่ที่มีการสังคมที่พึงปรารถนา ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกรวมว่า เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการยึด “คน” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยเน้นให้คนมีความสุข มีศีลธรรม มีการศึกษา มีจิตสำนึก ต่อความรับผิดชอบ ต่อสังคม มีระเบียบวินัย เห็นคุณค่าของศาสนา ในการพัฒนา “คน” เพื่อให้มีคุณลักษณะทุกฝ่ายตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สื่อมวลชน ตลอดจนผู้บริหารทุกฝ่ายทุกระดับต้องเป็นแกนและตัวจักรสำคัญ โดยเฉพาะผู้บริหารในระดับใดจะต้องเห็นคุณค่าของตน ต้องเสริมสร้างพัฒนาตนเอง และเอื้ออำนวยในการพัฒนาบุคลากรในความรับผิดชอบ รวมทั้งเยาวชนที่ผู้บริหารนั้นๆ มีส่วนเกี่ยวข้องให้บุคคลเหล่านั้นเป็นคนเก่งและคนดี เพื่อจะได้ดำรงชีวิตในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมีความสุข สามารถช่วยสร้างสรรค์สังคมได้ ผู้บริหารต้องตระหนักในบทบาทของตนเองในฐานผู้นำ เป็นแบบอย่าง เป็นแกนสำคัญในการจะเป็นแรงจูงใจ กระตุ้นให้บุคลากรในความดูแลรับผิดชอบเป็นบุคคลที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี เพื่อจะช่วยพยุงจรรโลงสังคมไทยให้พ้นจากสภาวะวิกฤติดังกล่าวข้างต้น.

“เดินตามรอยเท้าพ่อ” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
“.. ฉันเดินตามรอยเท้าอันรวดเร็วของพ่อโดยไม่หยุด
ผ่านเข้าไปในป่าใหญ่ น่ากลัว ทึบ
แผ่ไปโดยไม่สิ้นสุด มืดและกว้าง
มีต้นไม้ใหญ่เหมือนหอคอยที่เข้มแข็ง
พ่อจ๋า....ลูกหิวจะตายอยู่แล้วและเหนื่อยด้วย
ดูซิจ๊ะ....เลือดไหลออกมาจากเท้าทั้งสองที่บาดเจ็บของลูก
ลูกกลัวงู เสือและหมาป่า
พ่อจ๋า...เราจะถึงจุดหมายปลายทางไหม
ลูกเอ๋ย...ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนดอกที่มีความรื่นรมย์
และสบายสำหรับเจ้า
ทางของเรามิได้ปูด้วยดอกไม้สวยสวย
จงไปเถิด...แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่บีบคั้นหัวใจเจ้า
พ่อเห็นว่า หนามตำเนื้ออ่อนอ่อนของเจ้า
เลือดของเจ้าเปรียบดั่งทับทิมบนใบหญ้าใกล้นำ
น้ำตาของเจ้าที่ไหลออกต้องพุ่มไม้สีเขียว
เปรียบดังเพชรบนมรกตที่แสดงความงามเต็มที่
เพื่อมนุษยชาติ จงอย่าละความกล้า
เมื่อเผชิญกับความทุกข์ให้อดทนและสุขุม
และจงมีความสุขที่ได้ยึดอุดมการณ์ที่มีค่า
ไปเถิด...ถ้าเจ้าต้องการเดินตามรอยเท้าพ่อ..”

หน้าที่ของชาวพุทธศาสนิกชน

“ ...ทุกคนที่ถือว่าเป็นพุทธศาสนิกชน
จะต้องศึกษาพุทธศาสนาตามภูมิปัญญา
ความสามารถและโอกาสของตนที่มีอยู่
เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง
กระจ่างขึ้นในหลักธรรม
เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์แล้ว
ก็น้อมนำมาปฏิบัติทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน
และหน้าที่การงานของตน
ถ้าชาวพุทธรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องทั่วถึงกันมาก
ปฏิบัติการบ่อนเบียนพระศาสนาให้เศร้าหมอง
ก็จะลดน้อยลง..”

พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย