สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย

ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของประเทศไทย
ความเหลื่อมล้ำ
การบริหารจัดการทรัพยากร

การบริหารจัดการทรัพยากร

ทรัพยากรการเมือง

การเมืองคือ การจัดสรรอำนาจเพื่อแบ่งปันทรัพยากรว่าจะให้ใครใช้อะไร, ใช้อย่างไร และใช้ในคราวใดหรือในเงื่อนไขอะไร ฉะนั้นทุกฝ่ายในสังคมจึงควรมีโอกาสในการต่อรองกับฝ่ายอื่น เพื่อเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่สังคมมีอยู่ แต่โอกาสของการต่อรองไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะในความเป็นจริงการต่อรองไม่ได้เกิดขึ้นบนโต๊ะเจรจา หากเกิดขึ้นบน "เวทีสาธารณะ" ที่เป็นนามธรรม เช่น การที่คนชั้นกลางมีสื่อในมือจำนวนมาก ก็สามารถส่งเสียงแสดงความสนับสนุนหรือคัดค้านนโยบายสาธารณะได้ ซึ่งจำเป็นต้องรับฟัง การต่อรองของคนชั้นกลางในการใช้ทรัพยากรสาธารณะจึงบังเกิดผลเปรียบเทียบกับคนจนในชนบท ซึ่งเข้าไม่ถึงสื่อ ย่อมไม่สามารถมีอำนาจต่อรองได้เท่ากับคนชั้นกลางในเมือง การตัดสินใจใช้ทรัพยากรจึงไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของพวกเขา

อำนาจการต่อรองจึงเกิดขึ้นจากเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น สื่อหรือระบบการบริหาร และทั้งที่เป็นนามธรรม เช่น วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับอำนาจ เช่น ความเชื่อที่ว่าการขัดขืนอำนาจของรัฐ แม้โดยสงบก็ทำให้เกิดความวุ่นวาย และปริ่มๆ กับการก่อกบฏ ย่อมรอนอำนาจการต่อรองของผู้คนไปโดยปริยาย เพราะการขัดขืนอำนาจรัฐนั้นเป็นปรกติธรรมดา แต่ต้องทำโดยวิธีใต้โต๊ะหรือในรูปแบบที่รัฐยอมรับเท่านั้น อันเป็นวิธีที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง จึงเท่ากับอำนาจต่อรองให้เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น เห็นได้ชัดว่าสังคมไทยกระจายอำนาจต่อรองเช่นนี้ไว้อย่างไม่เท่าเทียมกัน ปิดโอกาสการต่อรองของคนส่วนใหญ่ในประเทศ โดยทำให้โครงสร้างอำนาจในการบริหารกระจุกตัวอยู่เฉพาะที่ส่วนกลาง ทำให้กระบวนการยุติธรรมเข้าถึงได้ยากแก่คนบางพวก ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งในแนวตั้งและแนวนอนไม่เปิดกว้างอย่างเท่าเทียมกันแก่คนทุกฝ่าย ฯลฯ ดังนั้นการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม จึงต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่ในที่นี้เรียกว่า "ทรัพยากรการเมือง" เหล่านี้ มากบ้างน้อยบ้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อทำให้ทุกฝ่ายมีอำนาจต่อรองใกล้เคียงกัน เพื่อทรัพยากรทุกอย่างของประเทศจะถูกใช้ร่วมกันอย่างเป็นธรรม

ทรัพยากรการเมืองที่สำคัญซึ่งต้องเร่งปฏิรูปคือ โครงสร้างอำนาจรัฐ, กองทัพ, กระบวนการยุติธรรมและระบบข่าวสารข้อมูล

ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ

การปฏิรูปด้านนี้มีหลักการพื้นฐานว่า ระเบียบอำนาจรัฐไทยถูกจัดโครงสร้างไว้ในลักษณะรวมศูนย์อย่างยิ่ง รัฐบาลมีอำนาจบริหารจัดการสังคมในทุกขอบเขตและทุกปริมณฑล อำนาจสั่งการจากเบื้องบนเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สลับซับซ้อนขึ้น จนในหลายกรณีกลายเป็นเหตุแห่งปัญหาเสียเอง เช่น ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองแก่คนส่วนใหญ่ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายผลประโยชน์, วัฒนธรรมและโลกทรรศน์ ความอ่อนแอในภาคสังคมซึ่งเกิดจากการรวมศูนย์ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นมีปริมาณมากเกินกว่าที่รัฐบาลใดจะสามารถแก้ปัญหาได้ เกิดความตึงเครียดทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา

การบริหารแบบรวมศูนย์ซึ่งมีความจำเป็นในยุคสมัยที่มีการล่าอาณานิคมเชิงดินแดน บัดนี้หมดความจำเป็นแล้ว สถานการณ์ในโลกปัจจุบันกลับเกิดความจำเป็นที่จะต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการปกครองตนเองมากขึ้น เพื่อกำหนดและกำกับให้การพัฒนาสอดคล้องกับศักยภาพของคนในท้องถิ่น ในขณะเดียวกันอำนาจของรัฐที่จะเป็นผู้กรองอำนาจจากภายนอกซึ่งหลั่งไหลเข้ามาตามกระแสโลกาภิวัตน์ก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ท้องถิ่นควรมีอำนาจในการเป็นผู้กรองอำนาจจากภายนอกเองมากขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองจากผลกระทบภายนอก มีโอกาสและเวลาที่จะปรับตัวเองไปตามจังหวะของแต่ละท้องถิ่นซึ่งไม่เหมือนกัน อันนับเป็นแนวโน้มการบริหารรัฐกิจของรัฐหลายแห่งในโลกปัจจุบัน

ดังนั้นในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจึงต้องยึดหลักการพื้นฐาน 2 ข้อคือ

  1.  กระจายอำนาจบริหารจัดการจากรัฐบาลไปสู่ท้องถิ่น
  2. กระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่ประชาชน, ชุมชน และภาคประชาสังคม อันจะเป็นหลักประกันว่าอำนาจจะกระจายไปถึงประชาชนจริงๆ ไม่กระจุกอยู่แต่กับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ดังจะขยายความในด้านปฏิบัติดังนี้

อำนาจหน้าที่ของรัฐบาล

รัฐบาลยังคงมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบต่อกิจการต่างประเทศ, การป้องกันประเทศ, การดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม, การบริหารเศรษฐกิจมหภาค, การดำเนินการโดยส่วนใหญ่ในกระบวนการยุติธรรม และการจัดให้มีระบบสวัสดิการพื้นฐานสำหรับประชาชนทั้งประเทศ, จัดเก็บภาษี, ป้องกัน บรรเทา และวางแผนเผชิญภัยพิบัติขนาดใหญ่, วางและกำกับควบคุมมาตรฐานกลางที่จำเป็นในด้านต่างๆ เป็นต้น

ในการกำกับดูแลการบริหารจัดการท้องถิ่น ควรมีอำนาจเท่าที่จำเป็น เพื่อปฏิบัติภารกิจของรัฐบาลตามที่กล่าวข้างต้น รัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงหรือยับยั้งการบริหารจัดการท้องถิ่น หรือถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น

ด้วยเหตุดังนั้นจึงควรยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค เพราะหมดความจำเป็นแล้ว

อำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น

ท้องถิ่นประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและองค์กรประชาสังคม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสองระดับ คือ ระดับจังหวัด ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด และระดับต่ำกว่าจังหวัด ได้แก่ เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

อำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นประกอบด้วยสี่มิติคือ

  1. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท้องถิ่นต้องมีอำนาจและสมรรถนะบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของคนในท้องถิ่น เช่น จัดสรรที่ดินเพื่อการทำกินหรือที่อยู่อาศัย กำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะของท้องถิ่น เป็นต้น
  2. การจัดการเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมและพัฒนาการประกอบการทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น สนับสนุนตลาดและการแลกเปลี่ยนในท้องถิ่น ป้องกันการผูกขาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น
  3. การจัดการสังคม ท้องถิ่นต้องมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาหลายรูปแบบ สร้างเสริมสุขภาพ คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยสิทธิและโอกาส
  4. การจัดการทางการเมือง ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจและวางแผนพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งมีอำนาจตำรวจ (policing power) ระดับหนึ่งในการดูแลรักษาความสงบพื้นฐานในพื้นที่ ตลอดจนถึงมีกลไกที่จะระงับหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

เนื่องจากภาระหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเพิ่มขึ้นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องเสริมสมรรถนะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสองด้านคือ ด้านการคลังและการบริหารจัดการบุคลากร

ในด้านการคลัง รัฐบาลควรถ่ายโอนอำนาจการจัดเก็บภาษีให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คิดจากมูลค่าทรัพย์สิน ภาษีสิ่งแวดล้อม, ภาษีสรรพสามิตบางประเภท ในขณะเดียวกันก็ควรแบ่งสรรสัดส่วนภาษีที่ส่วนกลางจัดเก็บให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น เพิ่มส่วนแบ่งของภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ท้องถิ่นให้ถึงร้อยละ 30 นอกจากท้องถิ่นจะมีสมรรถนะด้านการคลังมากขึ้นเพื่อรับภาระของตนแล้ว ท้องถิ่นยังสามารถใช้อัตราภาษีที่ตั้งขึ้นเองเพื่อเสริมนโยบายของท้องถิ่นให้เกิดผล หรือถ่วงดุลอำนาจทุนซึ่งประกอบการที่ขัดต่อสาธารณประโยชน์ของท้องถิ่นด้วย

รัฐบาลยังควรใช้งบประมาณของตนเองมาจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่ท้องถิ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ (ดังที่ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) มีข้อเสนอดังกล่าว รวมทั้งได้ศึกษาร่วมกับประชาชนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่ เพื่อทำโครงการนำร่องในบางจังหวัด ดูเอกสารภาคผนวกเลขที่ 5 คณะกรรมการปฏิรูป เรื่อง "ข้อเสนอการสร้างความเป็นธรรมในระบบงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม")

นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถกระจายงบประมาณของตนเอง ไปยังท้องถิ่นได้อีกในหลายรูปแบบ เช่นสนับสนุนกิจการใดของท้องถิ่นด้วยงบพิเศษจ้างหรือส่งเสริมให้ท้องถิ่นทำโครงการที่รัฐบาลส่งเสริมและท้องถิ่นเห็นชอบ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการจัดการระบบการคลังของตนเอง เช่นการลงทุน การกู้ยืม การร่วมทุนและการจัดตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของท้องถิ่น

ในแง่บุคลากรจะต้องไม่มีระบบบริหารงานบุคคลกลาง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งสามารถสร้างระบบและรูปแบบการบริหารบุคลากรที่เหมาะสมสำหรับท้องถิ่นของตน โดยประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานของบุคลากรในท้องถิ่นด้วย

รูปแบบการบริหารจัดการและการปกครองส่วนท้องถิ่น

เนื่องจาก คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) มีความเห็นว่า การกระจายอำนาจปกครองไม่ควรหมายถึง การกระจุกอำนาจที่ได้รับโอนจากส่วนกลางมาไว้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงจุดเดียว แทนที่จะเป็นการกระจายอำนาจนั้นให้ถึงมือประชาชนในท้องถิ่น ดังนั้นจึงใคร่เสนอว่า กลไกการบริหารท้องถิ่นควรประกอบด้วย 2 กลไก หนึ่งคือ กลไกการปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสองคือ อำนาจการจัดการบริหารจัดการตนเองของประชาชนในท้องถิ่นด้วยรูปแบบและกลไกของกลุ่มประชาสังคม อันเป็นรูปแบบการบริหารซึ่งมีอยู่แต่ดั้งเดิมและหลากหลายในพื้นที่

ปัญหาก็คือ จะทำให้กลไกที่สอง เข้าไปมีส่วนกำกับถ่วงดุลหรือชี้นำ การบริหารจัดการของกลไกแรกอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) จึงเสนอรูปแบบการบริหารท้องถิ่นดังนี้
ในแต่ละท้องถิ่นจะมีคณะกรรมการประชาสังคม อันประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรชุมชน, องค์กรอาชีพ, องค์กรศาสนา และองค์กรประชาสังคมอื่นๆ เช่น ผู้ใช้น้ำในเหมืองฝายลูกเดียวกัน, คณะกรรมการป่าชุมชน, กลุ่มส่งเสริมเพลงพื้นบ้าน ฯลฯ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเปิดเวทีเพื่อการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการประชาสังคมในการตัดสินใจที่มีผลสำคัญต่อการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น และ/หรือต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเมื่อคณะกรรมการประชาสังคมร้องขอ

คณะกรรมการประชาสังคมประกอบด้วย คณะกรรมการประจำ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะเลือกสรรหมุนเวียนตามวาระ มีจำนวนไม่เกินหนึ่งในสาม ส่วนที่เหลือเป็นกรรมการเฉพาะกิจที่หมุนเวียนเข้ามาทำหน้าที่ตามประเด็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องการปรึกษาหารือ โดยผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงได้มีส่วนร่วม ทั้งในฐานะบุคคลและในฐานะองค์กรประชาสังคม ทั้งนี้รูปแบบการจัดตั้งและดำเนินงานของคณะกรรมการประชาสังคม อาจปรับให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมอันหลากหลายของแต่ละชุมชนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ในท้องถิ่นของชาวมลายูมุสลิม อาจเลือกเป็นสภาซูรอห์ เป็นต้น

คณะกรรมการประชาสังคมจะทำหน้าที่ถ่วงดุลการตัดสินใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีอำนาจในการแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเห็นและแนวทางเลือกต่างๆ ในการตัดสินใจจากประชาชน, ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประชาสังคมไม่มีอำนาจยับยั้งการตัดสินใจของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่คณะกรรมการประชาสังคมอาจมีมติบังคับ ให้นำความขัดแย้งนั้นไปสู่การลงประชามติของประชาชนในท้องถิ่นได้

องค์กรประชาสังคมอาจจดแจ้งความมีอยู่ของตนเองกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถมีฐานะเป็นนิติบุคคล และรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลหรือท้องถิ่นได้

องค์กรประชาสังคมเหล่านี้ย่อมมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น ป่าชุมชน หรือการจัดการน้ำ) การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม (เช่น การฟื้นฟูและปรับประยุกต์ประเพณีท้องถิ่น) การให้บริการสาธารณะ (เช่น การดูแลฟื้นฟูผู้พิการหรือผู้สูงอายุ) การวางแผนการพัฒนาท้องถิ่น (เช่น การกำหนดแผนการใช้ที่ดิน, การตรวจสอบและเสนอแนะโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม)

ในส่วนองค์กรที่ให้บริการสาธารณะ เช่นโรงเรียน, โรงพยาบาล, วิทยาลัยชุมชน, ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ อันเป็นหน่วยงานที่ไม่จำเป็นต้องสั่งการหน่วยอื่น อีกทั้งสามารถจัดระบบการเงินการคลังในการให้บริการของตนเองได้ ควรสามารถแปลงสภาพตนเองเป็นนิติบุคคลที่ไม่มุ่งกำไรในรูปแบบอื่นๆ ได้ จึงไม่จำเป็นต้องรับการสั่งการโดยตรงจากรัฐบาลหรือท้องถิ่น แต่รัฐบาลและท้องถิ่นก็ยังสามารถ "ซื้อ"บริการพิเศษเหนือบริการพื้นฐานจากหน่วยงานอิสระเหล่านี้ โดยผ่านงบประมาณอุดหนุนพิเศษ

นอกจากนี้ ประชาชนในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งตามที่จะกำหนดขึ้น อาจลงชื่อเรียกร้องให้ถอดถอนผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ซึ่งจะมีผลให้ต้องจัดการเลือกตั้งตำแหน่งนั้นใหม่
เพื่อให้องค์กรภาคประชาสังคมสามารถทำหน้าที่ถ่วงดุลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างอิสระ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนในระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคม โดยใช้กลไกเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเป็นผู้บริหารจัดการ

การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจด้วยวิธีที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่การรื้อถอนอำนาจรัฐ ไม่มีผลต่อฐานะความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย กลับจะเสริมความเข้มแข็งให้รัฐไทยและช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อรัฐไปพร้อมกัน นอกจากนี้หากทำได้สำเร็จ ก็จะมีผลอย่างสูงต่อการเมืองระดับชาติ เนื่องจากอำนาจและผลประโยชน์ของผู้สั่งการในส่วนกลางจะลดลง ทำให้การแข่งขันบนเวทีการเมืองระดับชาติลดความรุนแรงลงไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมืองดังที่กล่าวนี้ คือการปฏิรูปการเมืองอีกวิธีหนึ่ง

ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ย่อมมีนัยว่าสิทธินี้เป็นของมนุษย์ทุกคน ไม่เฉพาะแต่พลเมืองไทยเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติประชาชนในประเทศไทยไม่ได้มี "โอกาส" เท่าเทียมกันในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีความหมายสองประการคือกระบวนการที่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง และความยุติธรรมโดยเนื้อหาอีกอย่างหนึ่ง โอกาสที่ไม่เท่าเทียมนี้ทำให้เกิดสภาพที่คนทั่วไปเรียกว่า "สองมาตรฐาน" อันเป็นสิ่งที่คนไทยรับได้ยากขึ้นทุกที

ปรากฏการณ์สะท้อนความผิดปรกติของกระบวนการยุติธรรมที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งก็คือ ในปัจจุบันมีผู้ต้องขังอยู่ 2.4 แสนคนทั่วประเทศ เกือบทั้งหมดหรือเกินร้อยละ 90 เป็นคนจน ในจำนวนนี้มีผู้ถูกขังก่อนตัดสินคดี 50,000 คน ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังที่ต้องคำพิพากษาแล้ว แต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับจึงต้องจำขังแทน รองปลัดกระทรวงยุติธรรมผู้ให้ข้อมูลนี้ใช้คำว่า "แต้มต่อสำหรับคนจนมันมีน้อย"

ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ตอกย้ำและขยายความเหลื่อมล้ำจนเป็น "สองมาตรฐาน" นี้ เมื่อวิเคราะห์ถึงที่สุดแล้ว เกิดขึ้นทั้งในกระบวนการที่จะเข้าถึงความยุติธรรม นับตั้งแต่กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย, ระงับข้อพิพาท, ไปจนถึงตัวกฎหมายเอง และเนื้อหาแห่งความยุติธรรมที่เป็นผลบั้นปลาย หากไม่ปฏิรูป ความยุติธรรมในประเทศไทยจะเป็นความยุติธรรมแบบที่เรียกกันในภาษาสันสกฤตว่า “ความยุติธรรมของฝูงปลา”

ปฏิรูปการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

แม้ว่าประเทศไทยมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ค่อยบังเกิดผลมากนัก เพราะความล่าช้าในการวินิจฉัยว่า สมควรเปิดเผยหรือไม่ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง และราชการหลบเลี่ยงไม่เปิดเผยได้หลายวิธี แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ

  1. ข้อมูลซึ่งควรเปิดเผยให้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณชน หรือแก่ผู้ที่ต้องการรู้ มีกว้างกว่าข้อมูลข่าวสารของราชการ แต่อาจกล่าวได้ว่า ข้อมูลใดๆ ที่สาธารณชนมีส่วนได้เสียย่อมต้องถือว่าเป็นข้อมูลสาธารณะทั้งสิ้น เช่น ข้อมูลการถือครองที่ดิน หรือการที่หน่วยราชการที่กำกับดูแลการทำโครงการขนาดใหญ่ ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ้างว่าเป็นสัญญาระหว่างบริษัทเอกชนกับผู้วิจัย หรือเงื่อนไขการสัมปทานในบางกรณีก็ถูกปิดบัง ด้วยเหตุผลว่าเป็นความลับทางการค้าของบริษัท แท้ที่จริงแล้วข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ หากธุรกิจผู้รับทำโครงการไม่สามารถเปิดเผยได้ ก็แสดงว่าธุรกิจนั้นไม่มีคุณสมบัติพอจะประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ อันเป็นโครงการสาธารณะ หรือไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้รับสัมปทานสิ่งที่เป็นสมบัติสาธารณะได้
  2. การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะต้องทำในลักษณะที่สะดวกและง่ายแก่การเข้าถึงของทุกคน แม้แต่ในบางกรณีอาจต้องเผยแพร่เป็นพิเศษเพื่อให้มั่นใจว่าทั่วถึงจริง เช่นการประกาศใช้ผังเมืองที่เปิดให้ประชาชนคัดค้านได้ใน 90 วัน เป็นต้น

หากไม่ทำสองข้อนี้ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ก็ไม่ได้ให้กำลังแก่สาธารณชนในการตรวจสอบ, เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ, และแก้ไขปรับปรุง ได้จริง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองในกิจการซึ่งเป็นสาธารณะ และอาจส่งผลกระทบต่อตนหรือท้องถิ่นของตนได้

ในเมืองไทยทุกวันนี้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นสาธารณะยังขาดซึ่งคุณสมบัติสำคัญสองประการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง ลิดรอนอำนาจของคนส่วนใหญ่ของประเทศในการกำกับควบคุมกิจการสาธารณะ และลิดรอนอำนาจต่อรองของประชาชนไปอย่างมาก

ปฏิรูปกองทัพ

ทุกคนในประเทศต้องการและสนับสนุนให้กองทัพมีสมรรถนะสูงสุดในการป้องกันประเทศ ในการนี้ต้องยึดหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ

  1. ทหารจะต้องยอมรับอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายแห่งชาติและในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
  2. ทหารควรมุ่งเน้นปฏิบัติภารกิจหลัก โดยลดภารกิจที่ไม่ใช่กิจการโดยตรงของกองทัพลง โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาททางการเมือง
  3. ควรปรับขนาดของกองทัพให้เล็กลง กะทัดรัด และสอดคล้องกับภารกิจหลัก โดยเฉพาะการลดกำลังคน ตำแหน่ง และยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็นลง เพื่อนำทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดไปใช้ในการสร้างเสริมสมรรถนะในการปฏิบัติภารกิจหลักของกองทัพ

ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรเศรษฐกิจ
ทรัพยากรสังคม
ทรัพยากรการเมือง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย