ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

สารัตถธรรมจากคัมภีร์ปัถเวทน์

สารัตถธรรมในคัมภีร์ปัถเวทน์กับการนำมาใช้ได้จริง

และเมื่อท่านทั้งหลายอ่านคัมภีร์ปัถเวทน์นี้จบลงอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า มีคำสอนที่แฝงอยู่อย่างมากทั้งในแง่ของบุคลาธิษฐานคือการยกตัวบุคคลเป็นองค์ประกอบ หรือธรรมาธิษฐาน การยกหลักธรรมเป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการปกครองของท่านผู้ปกครอง อาทิเช่น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการปกครองโดยหลักทศพิธราชธรรม การมีสติความไม่ประมาทคือการเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติมีความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุมเป็นคุณเครื่องกำกับความประพฤติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัวไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม

ขณะเดียวกันก็ไม่พลาดโอกาสสำหรับความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า ตระหนักในสิ่งที่พึงทำและพึงละเว้น ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ กระทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบ และต้องก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ การเป็นคนมีความกตัญญูกตเวที สิ่งเหล่านี้ คนไทยเชื่อว่าเป็นบุญทั้งสิ้น เป็นบุญที่อยู่ในระนาบที่จะทำให้ได้มาซึ่งลูกหลานที่เป็นคนดีมีความกตัญญูกตเวที ว่านอนสอนง่าย รักพ่อ รักแม่ คนไทยจึงมีกุศลเจตนาน้อมไปในการทำบุญและสร้างกุศลอย่างเป็นด้านหลัก ซึ่งเมื่อกล่าวเฉพาะเรื่องบุญในพระพุทธศาสนามีความหมายเป็น 3 ประการคือ 1. หมายถึงความสะอาด ความบริสุทธิ์ และความดี อันหมายถึงสภาพจิตใจที่ผ่องใส บุญจะทำหน้าที่ชำระล้างความชั่วหรือมลทินในจิตใจให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาเบาบางลงได้ 2. หมายถึงการกระทำความดีต่างๆ มีสภาพเป็นเหตุแล้วส่งผลเป็นความสุข และ 3.หมายถึงความสุขมีสภาพที่เป็นผลเพราะความสุขเป็นผลของการทำความดี สิ่งใดที่ทำไปแล้วไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน สิ่งนั้นจัดเป็นบุญ เป็นบุญและความดีที่อยู่ในระนาบที่พุทธศาสนาเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอ่านเรื่องนี้ด้วยการพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะพบเจตนาเดิมของท่านว่าเป็นไปในทางให้คนเรารู้ตัวล่วงหน้าถึงความเป็นอนิจจังของโลก มากกว่าที่จะให้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นไปทุกตัวอักษร แม้ว่าเรื่องที่กล่าวนั้นในบัดนี้รับรองกันเป็นเรื่องจริงอยู่มากก็ตาม โลกเรานี้ไม่มีอะไรแน่นอน เป็นไปตามโลกธรรมทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี มีทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา และก็ในเมื่อมันอาจเปลี่ยนกลับไปกลับมา หน้ามือเป็นหลังมืออยู่เช่นนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะฝันจริงหรือไม่จริงนั้น เราไม่คิดก็ได้ไม่เป็นปัญหาสำคัญ แต่ปัญหาสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าเราจะทำตัวเราเองให้เหมาะสมกับที่จะอยู่ในโลกอันไม่แน่นอนนี้อย่างไรเท่านั้น

หากใครจะเชื่อถือเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องทำนายฝันที่แน่นอนอย่างยิ่งก็คงจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรมากไปกว่าอ่านหนังสือทำนายฝันธรรมดาเล่มหนึ่งเท่านั้นแต่ถ้าอ่านในฐานะเป็นเรื่องหลักธรรมที่แสดงความไม่เที่ยงที่สั่งสอนตัวเองไม่ให้ทำบาป แต่ให้เป็นคนกตัญญู รักสงบ คิดช่วยตัวเอง รักษาเกียรติยศของตัวเอง ต้องไม่ทำร้ายตัวเองประดุจว่าใครๆ ก็ไม่รัก ซึ่งการกระทำลักษณะนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยต้องประคองสติแล้วนำกลับมาสู่การกระทำที่เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์จะดีกว่าซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องกรรมดี กรรมชั่ว ไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องชะตาลิขิตแต่ถือกฎแห่งกรรมเป็นด้านหลัก ถ้าทำอยู่เช่นนี้ผลจะไปเกิดเป็นอย่างอื่นตามตำราโชคชะตาหาได้ไม่ ต้องเป็นไปตามเหตุผลของมันเอง ทางดีที่สุดก็คือการคิดหาคำตอบของปัญหาที่ว่าเราจะครองชีพอยู่อย่างไรจึงจะพบความสุขโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอนด้วยการใช้ปัญญาความรอบรู้ ที่อยู่ในระนาบของความเฉลียวฉลาด ความเชี่ยวชาญ ความเบิกบาน และคุณธรรม กล่าวคือการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความความบริสุทธิ์ใจ ยึดหลักปัญญา เมตตา และขันติ สามารถเป็นตัวอย่างให้ลูกหลานของเราได้ถือเป็นตัวอย่างในการที่จะครองชีวิตได้อย่างมีความสุข.

ประวัติพระเจ้าปเสนทิโกศล และความเป็นมาของคำทำนายปัถเวทน์
อ่านคำทำนาย “ปัถเวทน์” แล้วศึกษาหลักธรรม กรณีธรรมะจากไตรลักษณ์
สารัตถธรรมในคัมภีร์ปัถเวทน์กับการนำมาใช้ได้จริง

เอกสารอ้างอิง

  • กรมการศาสนา. (2525) พระไตรปิฏกบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ 45 เล่ม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ การศาสนา.
  • เกิด ธนชาต,นายแพทย์. (2545) คู่มือคลังปริยัติธรรม เล่ม 1 . กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ วิทยาลัย.
  • คณะกรรมการการศึกษา, สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย.(2521)ธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 3. และ ภาค 6. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  • ดนัย ไชยโยธา. (2543) พจนานุกรมพุทธศาสน์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
  • ทองย้อย แสงสินชัย,นาวาโท.(2540)พุทธทำนายโลก(พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ดวงแก้ว.
  • บรรจบ บรรณรุจิ. (2538) เล่มนี้มีปัญหา เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร : พรบุญการพิมพ์.
  • พุทธทาสภิกขุ. (2545) ชุมนุมข้อคิดอิสระ (อนุรักษาต้นฉบับของธรรมทานมูลนิธิ). กรุงเทพมหานคร : สำนัก พิมพ์ธรรมสภา.
  • พระธรรมปิฏก(ป.อ.ปยุตฺโต). (2537) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • โพธิ์ทอง(นามแฝง). (2538) พุทธทำนาย 16 ข้อ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อำนวยสาส์น.
  • สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสภมหาเถร) และคณะ. (2533)วิสุทธิมรรค เล่ม 1-3 . (แปลและเรียบเรียง) กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด.
  • สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2499) ปัญญาสชาดก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ภาค 1-2. สำนักพิมพ์อักษร บริการ.
  • มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,มหาวิทยาลัย. (2540) พระไตรปิฏก ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ. กรุงเทมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย