ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ตำนานอุรังคธาตุ

ชุมชนโบราณที่แสดงถึงการมีอยู่ของแคว้นศรีโคตรบูร

หลักฐานประเภทโบราณวัตถุสถานสำคัญที่แสดงถึงความเชื่อของผู้คนในอาณาบริเวณ พระธาตุพนม ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง คือ วัฒนธรรมการสร้างเสมาหรือหินตั้ง ซึ่งเดิมน่าจะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในลัทธิการบูชาผีบรรพบุรุษ แต่เมื่อวัฒนธรรมอินเดียแพร่เข้ามา จึงได้ปรับมาใช้เป็นเสมาตามคติในพุทธศาสนา (ศรีศักร วัลลิโภดม. 2533 : 18)

ดินแดนที่มีความสัมพันธ์กับพระธาตุพนม โดยพิจารณาจากหลักฐานจากตำนานอุรังคธาตุแล้ว ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มแม่น้ำชี ซึ่งเป็นบริเวณที่แคว้นสำคัญ ได้แก่ ศรีโคตรบูร หนองหานหลวง หนองหานน้อย และสาเกตหรือร้อยเอ็ด ส่วนที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำมูลนั้น คงเป็นเขตแคว้นของเจนละหรืออินทปัฐ ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไป

จากข้อมูลในตำนานอุรังคธาตุ ได้แสดงให้เห็นว่า เขตแดนของแคว้นศรีโคตรบูรครอบคลุมบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย เวียงจันทน์ นครพนม ลงไปจนจดเขตจังหวัดอุบลราชธานี โบราณวัตถุสถานสำคัญที่ยืนยันให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมของดินแดนแห่งแคว้นศรีโคตรบูร แยกกล่าวได้ดังนี้

บ้านเชียง

แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดอุดรธานี ในสมัยโบราณตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำโขงมากกว่าปัจจุบัน มีร่องรอยที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นว่า แม่น้ำโขงเปลี่ยนทางเดินห่างจากบ้านเชียงไปราว 20 กิโลเมตร

โบราณวัตถุที่ค้นพบเป็นของที่มีมาแต่ยุคโลหะในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีและลพบุรี ในชั้นดินที่ต่ำที่สุดอยู่ลึกประมาณ 3 เมตร พบโครงกระดูกมนุษย์ ปนอยู่กับโลหะสำริด คาดว่าทำขึ้นราว 6,000 กว่าปีมาแล้ว พบภาชนะดินเผาแบบลายเชือกทาบ ซึ่งเป็นแบบที่มีอยู่แทบทุกยุคสมัยในดินแดนประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง และภาชนะดินเผาสีดำ ภาชนะแบบนี้พบในแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ ที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรีเหมือนกัน นักโบราณคดีบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นวัฒนธรรมลุงชาน ที่พบในกลุ่มชนที่เคยอยู่ในดินแดนจีน

บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีการสืบเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ เพราะถัดจากชั้นดินที่พบภาชนะเขียนสีขึ้นมานั้น พบโบราณวัตถุที่เป็นของสมัยทวารวดีและลพบุรี ได้แก่ ลูกปัดหินและที่ทำด้วยแก้วสี โบราณวัตถุที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นสมัยทวารวดี คือ เสมาหิน ซึ่งมีรูปสลักกลีบบัวอยู่ที่ฐาน ซึ่งทำขึ้นเนื่องในพระพุทธศาสนา ส่วนโบราณ วัตถุสมัยลพบุรีนั้นมีพบอยู่ตามผิวดินเป็นเศษเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีเขียวอ่อนและสีน้ำตาล บางชิ้นเป็นภาชนะที่เผาจากเตาบ้านกรวดในเขตจังหวัดบุรีรัมย์

ศรีศักร วัลลิโภดม (2533 : 22-23) ได้อธิบายว่า จากข้อมูลทางโบราณคดีที่พบที่บ้านเชียง เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุ ทำให้สมมติฐานได้ว่า กลุ่มชนที่เป็นเจ้าของภาชนะดินเผามีลายเขียนสีนั้นเป็นเชื้อสายของผู้ที่อพยพจากบริเวณหนองแส ในเขตยูนนานมาตามลำแม่น้ำโขง แล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณที่ต่อมา คือ แคว้นศรีโคตรบูร แคว้นหนองหานหลวง และหนองหานน้อย ในราว 2,000 กว่าปีมาแล้ว

ผู้คนในเขตนี้มีการติดต่อกับกลุ่มชนแถวปากแม่น้ำโขง รับวัฒนธรรมบางอย่างจากต่างประเทศขึ้นมา เช่น การหลอมแก้ว ทำเครื่องประดับด้วยลูกปัดแก้ว และโลหะสัมฤทธิ์และเหล็ก ส่วนกลุ่มชนที่อยู่ใกล้ทะเลแถวปากแม่น้ำโขงในตอนนั้น คงได้แก่ แคว้นอินทปัฐ นอกจากนั้นยังมีอีกแคว้นหนึ่งที่อยู่ใกล้ทะเลอาจติดต่อถึงกันได้ คือ แคว้นจุลณี ซึ่งอาจหมายถึงพวกที่มีรกรากอยู่แถบตังเกี๋ยของเวียดนาม

ภูกูเวียน หรือภูพาน และเมืองพาน

แหล่งชุมชนโบราณภูกูเวียนหรือภูพาน และเมืองพานอยู่ในเขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ในบริเวณนี้ได้พบโบราณวัตถุสถานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวารวดีและลพบุรี โบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ภาพเขียนสีบนผนังเพิงหิน เป็นรูปเรขาคณิต รูปสัตว์ และสัญลักษณ์บางอย่าง นอกนั้นมีหินตั้งและขวานหินขัด โบราณวัตถุสมัยทวารวดี ได้แก่ เพิงหินบางแห่งที่มีการตกแต่งให้เป็นศาสนสถาน มีเสมาหินปักล้อม โขดหินบางแห่งมีการสลักเป็นรูปพระพุทธรูปยืน นั่ง อยู่ซุ้มและรูปเทวรูป โขดหิน เพิงหินเหล่านี้ได้ใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่อมาจนถึงสมัยลพบุรี เพราะมีการนำพระพุทธรูปหินทรายที่เป็นศิลปะในสมัยลพบุรีมาประดิษฐานไว้ตามเพิงหิน นอกจากนั้นยังพบใบเสมาหินสลักเป็นภาพนูนต่ำของพระโพธิสัตว์อีกด้วย

แหล่งโบราณวัตถุสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่พบในบริเวณนี้ คือ รอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำขึ้นในสมัยทวารวดี เป็นรอยเท้าคนขนาดใหญ่สกัดบนพื้นหินอย่างหยาบ ๆ ไม่มีลวดลายแต่อย่างใด มีพบหลายแห่ง เช่น พระบาทบัวบก พระบาทบัวบาน และพระบาทหลังเต่า เป็นต้น

จากเนื้อหาในตำนานอุรังคธาตุมีกล่าวถึงแหล่งโบราณคดีบนเทือกเขาภูพานนี้ว่า เป็นที่อยู่ของพญานาค ชื่อ สุวรรณนาคและสุทโธปาปนาค ซึ่งแต่เดิมหนีจากหนองแสมาตามแม่น้ำโขง แล้วมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้มาโปรดสัตว์ที่แคว้นศรีโคตรบูรได้แวะมาที่นี่ และทรงทรมานจนพญานาคยอมแพ้ แล้วทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ให้นาคได้สักการะบูชา

เวียงจันทน์และศรีเชียงใหม่

ร่องรอยชุมชนโบราณในบริเวณนี้เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่อยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง ลักษณะเป็นเมืองอกแตก และมีรูปร่างไม่สม่ำเสมอเป็นแบบเมืองทวารวดีทั่วไป ทางฝ่ายเวียงจันทน์ มีร่องรอยของกำแพงดินและคูน้ำยังอยู่ในสภาพที่เห็นได้ชัดเจน แสดงถึงการขุดลอกและบูรณะในระยะหลังลงมา นอกจากนั้นยังมีการขยายคันดิน ซึ่งอาจจะเป็นถนนหรือดินกั้นน้ำเป็นรูปสี่เหลี่ยมไปทางด้านเหนืออีกด้วย ส่วนทางศรีเชียงใหม่ อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง คูเมืองและคันดินอยู่ในลักษณะที่ลบเลือน แสดงให้เห็นถึงการถูกทิ้งให้ร้างมานาน

โบราณวัตถุสถานที่พบในเขตเมืองโบราณทั้งสองฟากนี้ มีตั้งแต่สมัยทวารวดีลงมาจนถึงล้านช้างและอยุธยา ที่สำคัญได้แก่ ดอนชิงชู้ ที่เป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำโขงระหว่างเมืองทั้งสองฝั่งนี้ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศลาว มานิต วัลลิโภดม เคยสำรวจพบโคกเนินที่เป็นซากวัด มีพระพุทธรูป หินทราย ปัจจุบันโคกเนินได้ถูกทำลายเพื่อก่อสร้างสิ่งใหม่ และพระพุทธรูปเหล่านั้นกระจัดกระจาย ถูกขนย้ายไปเกือบหมดสิ้น

บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในเขตศรีเชียงใหม่เรื่อยลงมาตามชายฝั่งน้ำจนถึงอำเภอท่าบ่อ มีซากพระอารามหรือวัดเรียงรายอยู่มากมาย โดยเฉพาะที่เวียงคุกมีมากกว่าที่อื่น ส่วนมากเป็นศิลปะแบบล้านช้าง แต่บางแห่งคงสร้างทับรากฐานเดิมที่มีมาแต่สมัยทวารวดี ที่วัดยอดแก้วที่เวียงคุก เคยพบชิ้นส่วนของเทวรูปศิลาทรายแบบก่อนขอม ซึ่งได้รับการดัดแปลงตกแต่งให้เป็นพระพุทธรูป เทวรูปองค์นี้คงเป็นของคนในแถบนี้สร้างขึ้นเลียนแบบศิลปะแบบก่อนเมืองพระนครในศิลปะแบบพนมดา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้คงอยู่ในสมัยทวารวดี

เวียงจันทน์และศรีเชียงใหม่ เดิมเป็นเมืองเดียวกัน เป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดีตอนปลาย ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ในตำนานอุรังคธาตุ เป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อจากเมืองมรุกขนครของแคว้นศรีโคตรบูร ส่วนเมืองเวียงคุกนั้น ในตำนานได้ระบุว่าเป็นเมืองของท้าวบารถ ซึ่งไปมีความสัมพันธ์กับนางอุษา เจ้าเมืองพานบนเทือกเขาภูพาน ในเขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

พระพุทธบาทเวินปลา

การสร้างรอยพระพุทธบาทขึ้นเคารพบูชา เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายของกลุ่มชนที่นับถือพระพุทธศาสนาในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่เขตจังหวัดอุดรธานี จนถึงนครพนม

ตำนานอุรังคธาตุระบุถึงการประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในที่ต่าง ๆ คือ บริเวณภูกูเวียน บนเทือกเขาภูพาน ในเขตอำเภอบ้านผือ บริเวณอำเภอโพนพิสัย คือ พระพุทธบาทโพนฉันโพนแพง บริเวณหนองหานหลวง บริเวณดอยนันทกังฮี และบริเวณอำเภอเมืองนครพนม ที่เรียกว่าพระพุทธบาทเวินปลา โดยเฉพาะพระพุทธบาทเวินปลานั้น อยู่บนโขดหินบนเกาะกลางแม่น้ำโขง มีผู้คนไปสักการะเป็นประจำ รอยพระพุทธบาทนี้มีลักษณะเป็นรอยเท้าคนขนาดใหญ่ สกัดลงบนแผ่นหินเช่นเดียวกันกับที่พบที่เทือกเขาภูพาน จัดเป็นรอยพระพุทธบาทในสมัยทวารวดี

บ้านหลักศิลา

ชุมชนโบราณบ้านหลักศิลาอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตอำเภอธาตุพนม อยู่ห่างจากพระธาตุพนมขึ้นไปทางเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นแหล่งโบราณคดีที่อยู่ใกล้เคียงพระธาตุพนมมากกว่าแหล่งอื่น ๆ หลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าที่สุดมีอยู่สิ่งเดียว คือ เสมาหินทราย ตรงกลางสลักเป็นรูปสถูปแบบหม้อน้ำในสมัยทวารวดี และมีจารึกสมัยหลังปัลวะที่ลบเลือนกำกับอยู่ข้างบน เสมาหินนี้ปักอยู่กลางลานวัดหลักศิลา หลักฐานอื่นรองลงมาเป็นซากพระเจดีย์และซากโบสถ์วิหาร ซึ่งเหลือเพียงกองอิฐ คงเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนในสมัยล้านช้างลงมา

การพบหลักเสมาหิน ซึ่งเป็นโบราณวัตถุเก่าแก่ในสมัยทวารวดี และเป็นวัตถุที่เนื่องในพระพุทธศาสนานี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าในท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับพระธาตุพนมนั้น เป็นย่านของกลุ่มชนที่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีมาแต่สมัยทวารวดีแล้ว และคงเป็นกลุ่มชนที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุพนมด้วย บริเวณบ้านหลักศิลานั้น เชื่อว่า คือเมืองมรุกขนคร ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นหนองเป็นบึงไปแล้ว

พระธาตุพนม

แหล่งโบราณสถานสำคัญในบริเวณนี้ คือพระธาตุพนม ซึ่งในตำนานอุรังคธาตุอธิบายว่า ตั้งอยู่บนดอยภูกำพร้า เป็นที่สูงอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งเมื่อก่อนแม่น้ำโขงอยู่ใกล้กับองค์พระธาตุพนมมากกว่าบริเวณนี้ ร่องรอยของทางเดินแม่น้ำเก่ายังเห็นอยู่ ที่เรียกว่าบึงธาตุในปัจจุบัน

โบราณวัตถุสถานในเขตวัดรอบพระธาตุพนม เป็นสิ่งที่มีมาแต่สมัยทวารวดีจนถึงสมัยล้านช้างและอยุธยา โดยเฉพาะที่เป็นสมัยทวารวดี ได้แก่ หลักหินและเสมาหิน ที่ปักอยู่ตามทิศต่าง ๆ รอบพระธาตุพนม บางหลักเป็นแท่นหินทรายขนาดใหญ่ไม่มีลายจำหลัก บางหลักมีรอยรูปสถูปและกลีบบัวที่ฐาน เสมาหินเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในพุทธศาสนา เพื่อปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุพนมมาตั้งแต่สมัยทวารวดี

การปักเสมาหินรอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นคติโบราณของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะ นอกจากเสมาหินแล้ว ยังมีผู้นำรูปสลักหินทราย เป็นรูปสิงห์มาตั้งรวมไว้กับเสมาเหล่านี้เป็นของโบราณเช่นเดียวกัน ไม่ทราบยุคสมัย แต่ในตำนานอุรังคธาตุ เรียกว่า อัจมูขี ที่มีลักษณะเป็นสิงห์ทวารบาล



บริเวณรอบ ๆ วัดพระธาตุพนมมีชิ้นส่วนศิลาแลงเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าในสมัยหนึ่งก่อนสมัยล้านช้าง คงมีการก่อสร้างอาคารทางศาสนาในบริเวณใกล้ ๆ กับพระธาตุพนม ซึ่งอาจจัดอยู่ในสมัยลพบุรี หรือสร้างขึ้นในสายวัฒนธรรมแบบเขมร เพราะเคยมีผู้พบไหเคลือบสีน้ำตาลแบบลพบุรี บรรจุกระดูกคนตายที่เผาแล้วฝังไว้ตามเนินดินต่าง ๆ ในย่านใกล้เคียงกับวัด ลักษณะของไหเคลือบนี้ แม้ว่าจะจัดอยู่ในแบบลพบุรีก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะไหขอมแบบที่ทำจากเตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ อาจเป็นของที่ผู้คนในย่านนี้ทำขึ้นโดยเฉพาะ

โบราณสถานที่สำคัญที่สุดของวัดพระธาตุพนม คือ เจดีย์พระธาตุพนม จากการศึกษาประวัติพระธาตุพนมจากตำนานอุรังคธาตุที่ผ่านมา ประกอบกับลักษณะรูปแบบทางศิลปกรรม ตลอดจนหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้เข้าใจได้ว่า พระธาตุพนมคือสถาปัตยกรรมในทางศาสนาที่มีอายุเก่าที่สุดในอาณาบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

การมองพื้นที่บริเวณพระธาตุพนมสมัยโบราณผ่านตำนานอุรังคธาตุ ทำให้เห็นความสำคัญของพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่เชื่อมโยงชุมชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง เนื่องจากพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของผู้คนมาตั้งแต่ในอดีตอันยาวนาน ตำนานอุรังคธาตุจึงเป็น ตัวบทสำคัญ ทำให้เห็นบริบทของเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ตำนานได้สร้างขึ้น นำไปสู่การเชื่อมโยงทำความเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ตำนานอุรังคธาตุเป็นทั้งนิทานปรัมปราที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่สำคัญทางศาสนา โดยเฉพาะรอยพระพุทธบาทกับตำนานการกำเนิดเมืองต่าง ๆ ในแถบนี้ โดยมีเมืองศรีโคตรบูรเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายเมืองต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงเข้าด้วยกัน ผ่านการเดินทางประทับรอยพระพุทธบาทของพระพุทธองค์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของรัฐโบราณในบิเวณลุ่มแม่น้ำโขง ตำนานอุรังคธาตุจึงดำรงอยู่ในสถานะตำนานทางภูมิศาสตร์ หรือ ตำนานในเชิงพื้นที่ของลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ด้วยการนำเสนอตำแหน่งและทำเลที่ตั้งของอาณาบริเวณของรัฐโบราณ รวมทั้งภูมิสัณฐานของพื้นที่ทางกายภาพในลุ่มแม่น้ำโขง คือ เมืองศรีโคตรบูร เมืองหนองหานหลวง เมืองหนองหานน้อย เมืองอินทปัฐ เมืองสาเกตหรือร้อยเอ็ด เมืองกุรุนทนครหรืออโยธยา เมืองจุลณี และตำนานการเกิดแม่น้ำสายสำคัญผ่านการกระทำของนาค เช่น แม่น้ำอู แม่น้ำพิง แม่น้ำงึม แม่น้ำโขง แม่น้ำมูลนที และแม่น้ำชีวายนที เป็นต้น

ตำนานในความหมายของการเป็นรากฐานอารยธรรม
ความสำคัญตำนานอุรังคธาตุ
สาระสำคัญจากตำนานอุรังคธาตุ
การลำดับเรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุ
ช่วงระยะเวลาก่อนพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน
ช่วงระยะเวลาหลังจากพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพาน 8 ปี
ช่วงร่วมระยะเวลาเดียวกันกับพระเจ้าอโศก
ช่วงระยะเวลาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง
ระยะเวลาในการเรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุ
พระธาตุพนมในมิติของการเป็นศูนย์กลางของรัฐโบราณ : แคว้นศรีโคตรบูร
ตำนานอุรังคธาตุคือตำนานของการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
ชุมชนโบราณที่แสดงถึงการมีอยู่ของแคว้นศรีโคตรบูร
บทส่งท้าย

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย