สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์

ระบบการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา
การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย

การบ่มเพาะวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย

การศึกษาอบรมทางจริยธรรม

การเมืองไทยมีปัญหาเพราะขาดการสร้างระบบคุณธรรม และจริยธรรมกันอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2548 พลเอกเปรม ตินสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “จริยธรรมของการบริหารภาครัฐ” ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยได้กล่าวเน้นถึงความซื่อสัตย์ การเรียกร้องมาตรฐานทางจริยธรรม คือ ต้องมีความเป็นธรรม ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ใช้อำนาจเบียดเบียนผู้อื่น ซื่อสัตย์ มีความโปร่งใส

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 พลเอกเปรมฯ ได้กล่าวเน้นย้ำเรื่อง จริยธรรม คุณธรรม อีกครั้งในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การบริหารจัดการภาครัฐตามแนวทางพระราชดำริเพื่อประเทศไทยในอนาคต” ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต โดยใช้คำพูดที่ว่า “ความเก่ง ความฉลาด เป็นเรื่องที่ดี แต่ความเก่ง ความฉลาด ที่ไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม ไม่น่าจะดี”

การรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่เรียกว่า “จริยธรรมนำการเมือง” จะเกิดวัฒนธรรมนี้ได้ ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมาธิปไตย”

ธรรมาธิปไตย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้คำจำกัดความของ “ธรรมาธิปไตย” ว่า คือ หลักเกณฑ์ในการตัดสินใจของบุคคลที่อยู่หรือร่วมอยู่ในระบบการปกครองนั้น ท่านได้ยกตัวอย่างว่า เช่น ชาวบ้านที่มาเลือกตั้งนั้น ถ้าคนไหนตัดสินใจโดยเอาตัวเป็นใหญ่เอาผลประโยชน์ของตัวเป็นใหญ่ ตัดสินใจลงคะแนนโดยเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก นี่ถือเป็นอัตตาธิปไตย ถ้าชาวบ้านคนไหนได้แต่คอยฟังเสียงนิยม เรียกว่าไปตามกระแส ไม่มีหลักของตัวเอง ตัดสินใจลงคะแนนแบบเฮไปตามพวก ก็เป็นโลกาธิปไตย แต่ถ้าชาวบ้านแต่ละคนที่จะเลือกตั้งนั้น ตัดสินใจโดยตรวจสอบเรื่องราว สืบค้นความจริง หาข้อมูลให้ชัดเจนถ่องแท้ ใช้ปัญญาพิจารณาว่า ผู้สมัครคนไหนเป็นคนดี ประพฤติถูกต้องสุจริตชอบธรรม มีปัญญา มีความสามารถ มุ่งหน้าทำประโยชน์แก่ส่วนรวม แก่สังคมประเทศชาติ ก็ตัดสินใจลงคะแนนไปตามเกณฑ์ของความดีงามความถูกต้องนั้น นี่ก็ถือเป็น ธรรมาธิปไตย ถ้าแต่ละคนเป็นธรรมาธิปไตย ประชาธิปไตยก็ย่อมต้องดีแน่นอน ธรรมาธิปไตย คือ ต้องมีปัญญารู้ว่าอะไร คือ ความจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม แล้วจึงตัดสินลงคะแนนอย่างจริงใจไปตามมติของปัญญานั้น ทำไมการศึกษาจึงสำคัญนักสำหรับระบอบประชาธิปไตย ก็เพราะว่า คนจะตัดสินใจด้วยธรรมาธิปไตยได้ จะต้องมีการศึกษา ให้เกิดความรู้เข้าใจ ตั้งแต่รู้ข้อมูล รู้ความจริงความถูกต้องในเรื่องนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เริ่มตั้งแต่ต้องศึกษาคนที่มาสมัครรับเลือกตั้ง ว่าบุคคลนี้เป็นอย่างไร มีประวัติอย่างไร เป็นคนดี เป็นคนที่เชื่อถือไว้วางใจได้ไหม เป็นคนมีอุดมคติมีฉันทะที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมจริงหรือเปล่า แล้วก็ดูตัวเองด้วยว่า ที่เรามาเลือกตั้งนี่ ที่เรามาทำกิจกรรมนี้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว การปกครองนี้เพื่อประเทศชาติ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อความถูกต้องดีงาม เพื่อความเป็นธรรมในสังคม เป็นต้น เมื่อพิจารณาธรรมะทั้งหมดแล้วตัดสินใจบนเกณฑ์ของธรรมะนั้น เรียกว่า ธรรมาธิปไตย

ธรรมาธิปไตยจึงไม่ใช่เป็นระบบ แต่เป็นเกณฑ์การตัดสินใจของแต่ละบุคคล มันอยู่กับตัวเลยทีเดียวธรรมจึงเป็นคุณสมบัติและหน้าที่ของคนที่อยู่ในสถานะ และบทบาทต่างๆ เช่น ธรรมของผู้ปกครอง ธรรมของสมณะ ธรรมของแพทย์ เป็นต้น คนปัจจุบันที่อยู่กับแนวคิดตะวันตก โดยเฉพาะพวกฝรั่งเอง ก็พูดถึงคำนึงกันมาก แต่เขามักใช้คำว่า “จริยธรรม” ซึ่งมีความหมายต่างเฉพาะ (ตามแนวคิดที่ฝรั่งเรียกว่า แบบแยกส่วน) ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งมองว่า นักปกครองต้องมีจริยธรรมบางอย่างพิเศษหรือเคร่งครัดเหนือกว่าคนทั่วไป เพราะความคิดวินิจฉัยของนักปกครอง อาจชี้นำ ผันเบนชะตากรรม ตลอดจนตัดสินความเป็นความตายของประเทศชาติ เขาจึงจะต้องงดความประพฤติบางอย่าง และเว้นจากความเกี่ยวข้องกับกิจการบางประเภท ด้วยเหตุที่ว่ามา นักปกครองและนักการเมืองจึงต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมบางอย่างสูงกว่าเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งเขาใช้คำว่า “higher standard” คือใช้มาตรฐานที่สูงกว่า แต่ก็ชอบธรรม ไม่ถือว่าเป็นมาตรฐานสองชั้น (double standard) ธรรมของผู้ปกครองต้องมุ่งเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ของประเทศชาติ และของประชาชน ตัวอย่างที่ดีงามตามครรลองราชประเพณีไทย จะเห็นได้จากเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ได้ทรงประกาศพระราชปณิธานในการเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2325 (พระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดง) ว่า

ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี

หรือสาระที่สรุปอยู่ในพระปฐมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (5 พฤษภาคม 2493) ที่ว่า

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

 

ประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นด้วยการใช้ปัญญา และอยู่บนฐานของธรรม ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน คือ ปัญญานั้นมุ่งไปที่ธรรม มันหาความจริง มันมุ่งให้เข้าถึงความถูกต้องดีงาม และประโยชน์ที่แท้ พอไม่ใช้วิธีการเบียดเบียน ขั้นตอนต่อจากนั้น ก็เดินหน้าเป็นกระบวนการไปเอง เป็นสันติอยู่ในตัว

ถ้านำคำสอนของพระพรหมคุณาภรณ์มาพิจารณากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่กันยายน 2549 มาจนถึงปัจจุบันแล้ว ก็จะเห็นว่า กระบวนการที่จะเป็นประชาธิปไตยมันถูกตัดตอนไปเสียก่อน เมื่อถูกตัดตอนเสียแล้ว มันก็เลยไปไม่ถึงประชาธิปไตย ปัญหาก็เลยเกิดขึ้น ถ้าคนอยู่กับปัญญาที่มุ่งธรรม คือ เป็นธรรมาธิปไตยจริง จะได้ผลมาก คือ ไม่ถือตัว เมื่อเป็นธรรมาธิปไตยก็มุ่งให้ได้ผลที่จะถึงธรรม จุดมุ่งหมายมุ่งที่จะหาความจริง ความถูกต้องดีงาม และประโยชน์ที่แท้ เมื่อหาธรรมก็หาปัญญา เมื่อต้องการธรรม ก็ต้องเสริมสร้างปัญญา ใครมีคำแนะนำอะไรดีๆ จะฟังหมด เมื่อเราเอาระบบประชาธิปไตย ก็ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกครอง และส่วนร่วมที่จริงที่แท้ ก็คือ ส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยมีอำนาจตัดสินใจด้วยเช่นเดียวกับทุกคน (ถ้าบอกว่ามีส่วนร่วม แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจด้วย แล้วส่วนร่วมนั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร) เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เราบอกว่า ทุกคนนั้นต้องเป็นธรรมาธิปไตย ดังนั้น ทุกคนต้องตัดสินใจด้วยธรรมาธิปไตย ทำไมธรรมาธิปไตยจึงมีความสำคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็เพราะว่า เมื่อเป็นประชาธิปไตย อำนาจตัดสินใจก็อยู่ที่ประชาชน เมื่ออำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน ก็ต้องให้ประชาชนตัดสินใจอย่างถูกต้อง คือ ตัดสินใจด้วยธรรมาธิปไตย จึงต้องมีธรรมาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีธรรมาธิปไตยนั้นเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ พระพรหมคุณาภรณ์ ได้กำชับว่า นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ใช้อำนาจตัดสินใจแทนประชาชน ดังนั้นนายกฯ ต้องเป็นธรรมาธิปไตย ไม่เช่นนั้น ประชาธิปไตยไม่มีทางสำเร็จ ประชาธิปไตยจะดีไม่ได้ ถ้าผู้นำ คือ นายกรัฐมนตรีไม่มีธรรมาธิปไตย และประชาธิปไตยนั้นก็จะไม่เป็นธรรม ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่มีธรรมาธิปไตย

ถ้าเราดูกฎระเบียบ เรื่อง จริยธรรม จากประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วจะพบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป รัฐบาลจีนจะใช้กฏระเบียบใหม่ เรื่องคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการ รวมทั้งพรรคอมมิวนิสต์จีนด้วย ข้าราชการใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน การจัดงานเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่น เครื่องรางของขลังมอมเมา ประชาชนให้งมงาย ยาเสพติด การค้าประเวณี จะถูกลดตำแหน่งหรือไล่ออก ถ้าใครใช้อิทธิพลเอื้อประโยชน์ต่อคนรัก หรือหญิงอื่นที่มิใช่ภริยา จะถูกไล่ออกสถานเดียว ในกฎนี้ยังบังคับให้ข้าราชการ ห้ามทอดทิ้งหรือทำร้ายสมาชิกในครอบครัว ต้องดูแลอุปการะญาติผู้สูงอายุ บางมณฑลยังมีกฎระเบียบท้องถิ่นบังคับให้ข้าราชการต้องมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ รับผิดชอบต่อครอบครัว เป็นต้น

ในประเทศไทย ผู้นำมักไม่ปฏิบัติตามแผน และระเบียบที่รัฐบาลตัวเองวางไว้ และกลับทำให้ สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น มีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพจากความอ่อนแอของภาคสังคม และการไม่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย ที่สำคัญที่สุด คือ การไร้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมของผู้นำและนักการเมือง ส่งผลให้ไม่เกิดระบบธรรมาภิบาลทางการเมืองและการบริหาร แต่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ส่งผลให้สังคมขาดความสมานฉันท์ เกิดความขัดแย้งในการกระจายอำนาจโดยไม่มีความเป็นธรรมในการบริหารทรัพยากร และกลายเป็น “การเมืองนำจริยธรรม” ไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย