สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

 

ความหมายการเมืองการปกครอง

       การเมืองการปกครองหรือรัฐศาสตร์หรือศาสตร์แห่งรัฐ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Political Science เป็นคำศัพท์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาการเมืองการปกครองโดยเฉพาะ นักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ทั้งหลายอาจจะแยกวิชาการนี้ออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ ประการหนึ่งมีลักษณะเป็นศาสตร์ (Science) คือเป็นความรู้ทางวิชาการด้านการเมืองการปกครอง ประการที่สองมีลักษณะเป็นศิลป์ (Arts) วิชารัฐศาสตร์จึงกลายเป็นวิชาที่ประยุกต์เอาลักษณะที่เป็นศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกัน แล้วนำเอาวิชาการนี้มาใช้ปกครองประเทศ และในขณะเดียวกันวิชาการเมืองการปกครองนี้อาจจะถูกบุคคลบางกลุ่มมองภาพในทางที่ไม่ดี คือ อาจจะมองไปว่าการเมืองการปกครองเป็นเรื่องสกปรก โหดร้ายทารุณ เข่นฆ่า มุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นเรื่องของคนมีเงิน มีการศึกษาและคนที่ใฝ่หาความเป็นใหญ่ แต่สภาพที่เป็นจริงแล้วการเมืองการปกครองเป็นเรื่องของคนทุกคนในสังคมจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ ไม่เป็นเรื่องที่น่ากลัวหรือเลวร้ายอย่างที่ว่า ถ้ามีความเข้าใจที่ดีและนำมาใช้ให้ถูกต้องตามกระบวนการ เพราะวิชาการเมืองการปกครองนั้น เป็นศาสตร์และเป็นศิลป์ที่ผู้ปกครองประเทศจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนในประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยรวมทั้งความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ดังนั้นเพื่อที่ให้ผู้ศึกษาได้รู้ความหมายอันลึกซึ้งของรัฐศาสตร์ จึงขอนำเอาคำนิยามของนักปราชญ์ทางรัฐศาสตร์ทั้งหลายมากล่าวดังต่อไปนี้

Plato นักปราชญ์ทางการเมืองศิษย์ของท่าน Socrates ท่านได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม แต่เล่มที่สำคัญที่สุดคือ อุดมรัฐ (The Republic) ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ Plato ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการเมืองไว้ว่า “การเมืองคือการอำนวยความยุติธรรมแก่คนทั้งปวง”

Aristotle ได้อธิบายเรื่องการเมือง ในหนังสือ politics ของท่านไว้ว่า การเมืองย่อมเกี่ยวพันกับอำนาจ อำนาจทางการเมืองจะต้องแตกต่างจากอำนาจอื่น องค์การทางการเมืองจะต้องมีอำนาจปกครองเป็นอธิปัตย์ หน่วยการบริหาร (รัฐบาล) แห่งองค์การทางการเมืองจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในกิจกรรมต่างๆ ทุกกรณี ดังนั้นคุณลักษณะของการเมืองจึงกอปรด้วยปัจจัยเด่นชัดอย่างน้อยสองประการคือ อำนาจ (Authority) และการปกครอง

Bernard Crick ให้ความหมายไว้ว่า รัฐศาสตร์เป็นเรื่องของการรวบรวมเอาผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกัน มารวมไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อความผาสุกของคนในทุกกลุ่ม

Harold D. Lasswell and Abraham Kaplan ได้กล่าวว่า การเมืองเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการใช้อิทธิพล และศึกษากลุ่มคนที่มีอิทธิพลในสังคม
David Easton กล่าวว่า รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการเลือกสรรสิ่งที่ดีให้คนในสังคมได้อยู่กิน ใช้อย่างมีคุณภาพ

Max Weber ได้ให้ความหมายไว้ว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มในสังคมเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจวาสนา

Aristotle กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง มนุษย์จะหลีกเลี่ยงการเมืองไม่ได้ จึงจำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนในชุมชน

Jerame Bentham ได้อธิบายไว้ว่า การเมืองเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถที่จะบรรลุผลประโยชน์ส่วนตัวร่วมกับผลประโยชน์ส่วนรวมได้ โดยยึดถือหลักคำนวณความผาสุก

จากความหมายและคำจำกัดความของรัฐศาสตร์หรือการเมืองการปกครองที่นักปราชญ์ทั้งหลายได้ให้ไว้นั้น จะเห็นได้ว่า การเมืองการปกครองมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานในแต่ละสังคม เช่น ประชากร สภาพภูมิศาสตร์ ดินฟ้าอากาศ และทรัพยากร เป็นต้น มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมของตน ถ้ากลุ่มชนใดหรือรัฐใดมีความสามารถนำทฤษฎีการปฏิบัติในรัฐศาสตร์มาทำให้กลุ่มชนในรัฐเกิดความพอใจ มีความสงบสุข ถือว่ารัฐนั้นได้บรรลุเป้าหมาย
ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าจะกล่าวโดยสรุปในเนื้อหาสาระที่สำคัญของความหมายของรัฐศาสตร์หรือการเมืองการปกครองนั้นจะได้ดังนี้

1. การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจการปกครอง
2. การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์
3. การเมืองการปกครองเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับรัฐ
4. การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของการต่อสู้เกี่ยวกับอำนาจ และผลประโยชน์
5. การเมืองการปกครองเป็นเรื่องของผู้ปกครองและผู้ใต้การปกครอง

ความหมายและความสำคัญของการเมือง
ประวัติความเป็นมาของวิชารัฐศาสตร์
สาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์กับสาขาวิชาอื่น
จริยธรรมทางการเมือง (Political Ethics)
วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture)
อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology)
ความหมายของอุดมการณ์ทางการเมือง
ประเด็นสำคัญของอุดมการณ์ทางการเมือง
วิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย