สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

 

ความหมายการเมืองการปกครอง

ความหมายและความสำคัญของการเมือง

ในข้อความที่กล่าวถึงคำจำกัดความ และความหมายของรัฐศาสตร์นั้น มีคำอีกคำหนึ่งที่ในรัฐศาสตร์กล่าวถึงคือ คำว่า การเมือง ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Politics สำหรับความหมายของคำว่า การเมือง นั้น ได้มีนักปราชญ์และนักรัฐศาสตร์หลายท่าน ให้คำนิยาม ไว้แตกต่างกันออกไป ตามทัศนของแต่ละท่าน ซึ่งในที่นี้จะขอรวบรวมไว้พอเป็นแนวทางในการศึกษา ดังนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.2525 อธิบายว่า “ การเมือง คืองานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน เช่น วิชาการเมืองได้แก่วิชาที่ว่าด้วยรัฐการจัดส่วนแห่งรัฐ และการดำเนินการแห่งรัฐ “

สังข์ พัธโนทัย อธิบายว่า การเมือง คือศิลปศาสตร์การปกครอง ซึ่งมุ่งให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐกับบุคคลในรัฐ ระหว่างรัฐกับหัวเมืองต่างๆ และระหว่างรัฐกับรัฐ การเมืองจึงเป็นทั้งกิจการภายในประเทศและการต่างประเทศ การเมืองเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายและการปกครองเป็นฝ่ายดำเนินการตามนโยบายนั้น

อริสโตเติล ได้อธิบายว่า การเมืองย่อมเกี่ยวพันกับอำนาจ และอำนาจทางการเมืองจะต้องแตกต่างจากอำนาจอื่น องค์กรทางการเมือง จะต้องมีอำนาจปกครองเป็นอธิปัตย์คุณลักษณะทางการเมืองประกอบด้วยปัจจัยที่เด่นชัด 2 ประการ คือ อำนาจ (Authority) และการปกครอง (Ruling) (จรูญ สุภาพ 2514:2)

ในทัศนะของนักรัฐศาสตร์ฝ่ายพฤติกรรมการเมือง (Political Behaviorist) มีความเห็นว่า การเมือง คือการต่อสู้เพื่อแสวงหาอำนาจ (Struggle for Power) หรือเพื่อที่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่น การเมืองโดยนัยนี้มีความหมายสองประการคือ

1. การเมืองเป็นการต่อสู้เพื่อแสวงหาอำนาจ อำนาจในที่นี้หมายถึงการที่บุคคลหนึ่งหรือหลายคนมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของบุคคลอื่น

2. การเมืองเป็นการต่อสู้ในอันที่จะปกครองซึ่งกันและกัน และการต่อสู้นั้นจะมีกฎเกณฑ์หรือไม่มีก็ได้ แต่ก็มีเป้าหมายที่จะดูแลจัดการให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

ฮาโรลด์ ดี ลาสเวลล์ (Harold D Lasswell) มองการเมืองว่าเป็นเรื่องของอิทธิพลและผู้ทรงอิทธิพล โดยเน้นในเรื่องของใคร ได้อะไร ได้เมื่อไร และอย่างไร และผู้ทรงอิทธิพลตามความเห็นของลาสเวลล์ คือผู้ที่สามารถได้รับหรือกอบโกยสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ ในสังคมอันได้แก่ อำนาจ ความเคารพนับถือ ความนิยมชมชอบ ความยุติธรรม ความอยู่ดีกินดี ความมั่นคง ชำนาญ และความรอบรู้ได้มากที่สุด

“ การเมือง เป็นศาสตร์และศิลป์ของการปกครอง และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการงานสาธารณะ “

ฮันส์ เจ มอร์เกนเธา (Morgenthau) กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อการมีอำนาจ

เชลดอน เอส โวลิน(Wolin ) ให้คำจำกัดความของศัพท์ การเมืองว่า “ การเมืองเป็นกิจกรรมที่มีจุดสนใจอยู่ที่การแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการแข่งขันกันในระดับบุคคล, กลุ่มคนต่อกลุ่มคน และสังคมต่อสังคม “

เดวิด อีสตัน (Easton )ได้ให้คำจำกัดความศัพท์การเมืองว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ(Power) อำนาจหน้าที่ (Authority) หรือความขัดแย้ง (Conflict)
วิลเลี่ยม บลุมห์ (Bluhm )อธิบายว่า การเมืองเป็นกระบวนการทางสังคม ในรูปของกิจกรรมที่มีทั้งการแข่งขันและการร่วมมือ ในการใช้อำนาจ

สรุปแล้ว การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพันกับอำนาจและการปกครอง ไม่ว่าสภาวการณ์ใดหรือสถาบันใด หากมีการต่อสู้แข่งขันกัน เพื่อแสวงหาอำนาจที่เหนือกว่ากันแล้ว ก็เป็นการเมืองทั้งสิ้น นอกจากนี้ การเมืองยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครอง การดูแล จัดการให้มนุษย์อยู่กันอย่างเป็นธรรมและเป็นระเบียบ การเมืองจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ดี งาม เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการปกครอง ซึ่งสามารถศึกษาและเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับศิลปะและศาสตร์สาขาอื่นที่มีอยู่ในโลก

เรื่องของการเมืองเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทั้งต่อบุคคล ต่อเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ทั้งนี้เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน ดังที่อริสโตเติล กล่าวว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง อีกทั้งการเมืองยังเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับอำนาจและการแบ่งปันผลประโยชน์ต่างๆในสังคม ถ้ารัฐใด ประเทศใดมีระบบการเมืองที่ดี มีสถาบันทางการเมืองที่มั่นคง มีนักการเมืองที่มีคุณภาพ รัฐนั้น ประเทศนั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง และพัฒนาก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ความหมายและความสำคัญของการเมือง
ประวัติความเป็นมาของวิชารัฐศาสตร์
สาระสำคัญของวิชารัฐศาสตร์
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐศาสตร์กับสาขาวิชาอื่น
จริยธรรมทางการเมือง (Political Ethics)
วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture)
อุดมการณ์ทางการเมือง (Political Ideology)
ความหมายของอุดมการณ์ทางการเมือง
ประเด็นสำคัญของอุดมการณ์ทางการเมือง
วิธีการศึกษาทางรัฐศาสตร์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย