สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การเมืองการปกครอง

ความหมายการเมืองการปกครอง
รัฐ (State)
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
กฎหมาย (Law)
อำนาจอธิปไตย
รัฐสภา พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง
ประชาชนกับบทบาททางการเมือง
ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การเมืองการปกครองไทย
ระบบเศรษฐกิจและระบบการปกครอง
ธรรมาภิบาล
บรรณานุกรม

รัฐธรรมนูญ (Constitution)

ลักษณะของรัฐธรรมนูญที่ดี

ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักและเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ฉะนั้นผู้มีอำนาจในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงพยายามที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด กล่าวคือ พยายามที่จะให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต และสถานการณ์ของบ้านเมืองของประเทศของตนเสมอ ดังนั้นในทฤษฎีทางรัฐศาสตร์จึงได้กำหนดลักษณะที่ดีของรัฐธรรมนูญไว้ ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญที่ดีควรจะต้องมีข้อความที่ชัดเจนแน่นอน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทั้งหลาย ฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อความขัดเจนแน่นอน กล่าวคือ เมื่อทุกคนที่มีสามัญสำนึกซึ่งอ่านแล้วสามารถเข้าใจข้อความเหล่านั้นได้อย่างชัดแจ้ง ไม่ต้องนำมาตีความกันอีกว่า ข้อความนั้นอาจจะมีความหมายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ฉะนั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงถึงอย่างยิ่งในการเลือกใช้ถ้อยคำสำนวนที่มีความชัดแจ้งและมีความแน่นอนให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความกำกวมในการทำความเข้าใจข้อความในรัฐธรรมนูญ

2. รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีบทบัญญัติครบถ้วน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองของรัฐไว้โดยครบถ้วน ซึ่งตามหลักทั่วไปแล้วจะต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการใช้อำนาจอธิปไตย การแบ่งวิธีการใช้อำนาจอธิปไตย ความสัมพันธ์ขององค์การที่ใช้อำนาจอธิปไตย และสถาบันการเมืองของรัฐ อันได้แก่ สถาบันของอำนาจบริหาร สถาบันของอำนาจนิติบัญญัติและสถาบันอำนาจตุลาการ

3. รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในปัจจุบันนี้ได้มีการยอมรับในเรื่องสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีบัญญัติในการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานแก่ประชาชน เช่น ในเรื่องการพูด การเขียน การประกอบอาชีพ การเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย และการเลือกนับถือศาสนา เป็นต้น รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

4. รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีบทบัญญัติที่กะทัดรัด หมายความว่า รัฐธรรมนูญที่ดีนั้นจะต้องไม่มีบทบัญญัติที่ยาวจนเกินไป กล่าวคือ ควรจะมีบทบัญญัติเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการวางหลักการที่สำคัญและมีความจำเป็นเท่านั้น เพื่อความแน่นอนและความมั่นคงในการปกครอง ทั้งนี้ถ้าหากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญยาวเกินไปจะทำให้ผู้คนขาดความสนใจที่จะศึกษาทำความเข้าใจและทำให้เกิดความขัดแย้งในการตีความขึ้นได้

5.รัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีบทบัญญัติว่าด้วยวิธีการแก้ไขไว้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งเหตุการณ์ในประเทศและนอกประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความไม่ทันสมัยของรัฐธรรมนูญย่อมที่จะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นเพื่อให้รัฐธรรมนูญนั้นมีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์แวดล้อมและสนองความต้องการหรือเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ จะต้องมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมและตัดทอนได้ ตามความเหมาะสมและเจตนารมณ์ของปวงชน

จากลักษณะที่ดีของรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ประการที่กล่าวมานั้น จะเห็นว่าเป็นการพูดถึงวิธีบัญญัติรัฐธรรมนูญว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำให้รัฐธรรมนูญที่ดีได้ แต่ว่าเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ดีเท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะถ้าหากมีเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ดีแต่มิได้นำไปปฏิบัติก็มิได้เกิดประโยชน์อะไร เหมือนกับคนมีความรู้ดี แต่มิได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ความรู้ที่ดีนั้นก็มิได้มีความหมายแต่ประการใด หรือประเทศมีทรัพยากรที่มีค่ามากมาย แต่มิได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทรัพยากรก็มิได้มีคุณค่าแต่ประการใด ฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่ดีนั้นผู้มีอำนาจในการใช้จะต้องนำมาใช้นำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติให้จงได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนและเพื่อความมั่นคงปลอดภัยแก่ประเทศชาติ และท้ายที่สุดเพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง

ความหมายของรัฐธรรมนูญ
กฎหมายรัฐธรรมนูญ
ประเภทของรัฐธรรมนูญ (Classification of Constitution)
วิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ
ความสำคัญของรัฐธรรมนูญ
ที่มาของรัฐธรรมนูญ
ประโยชน์และความจำเป็นของการมีรัฐธรรมนูญ
ลักษณะของรัฐธรรมนูญที่ดี
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญไทย
รัฐธรรมนูญไทย(ฉบับแรก-ฉบับปัจจุบัน)
ประวัติรัฐธรรมนูญไทย
ฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ฉบับที่ 3 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
ฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
ฉบับที่ 5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
ฉบับที่ 6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495
ฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
ฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
ฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
ฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
ฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
ฉบับที่ 12 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
ฉบับที่ 13 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
ฉบับที่ 14 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 15 รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ฉบับที่ 16 รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
สรุปและวิเคราะห์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย