ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม อารยธรรม >>

แบบธรรมเนียม ประเพณีไทย

ข้อปฏิบัติในการจัดพิธี

งานพิธีต่าง ๆ ตามประเพณีไทย จะมีพิธีสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ และจะมีพิธีอื่นเช่นพิธีโหร พิธีพราหมณ์ หรือพิธีที่ประชาชนในท้องถิ่นยึดถือ เป็นส่วนประกอบตามความประสงค์ของผู้จัดพิธีนั้น

ถ้าเป็นงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นประธานแห่งพิธีนั้นบางครั้งบางงานก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรีหรือข้าราชบริพารผู้ใหญ่ทรงเป็นประธาน หรือเป็นประธานของพิธีนั้นแทนพระองค์

ถ้าเป็นพิธีของราชการ หัวหน้าส่วนราชการนั้นก็จะเป็นประธานของพิธี ถ้าเป็นคณะบุคคลประธาน หัวหน้า ผู้นำ หรือนายกของคณะบุคคลนั้น ก็จะเป็นประธานในพิธี

ถ้าเป็นพิธีของครอบครัว หัวหน้าครอบครัวก็จะเป็นประธานของพิธี หรืออาจเรียกว่าเจ้าภาพและถ้าเป็นพิธีส่วนบุคคลเจ้าของผู้จัดให้มีพิธีนั้นก็เป็นเจ้าภาพ

การจัดตั้งที่บูชาในพิธี

ถ้าเป็นงานพิธีของส่วนรวม พระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีของส่วนราชการต่าง ๆจะมีการจัดตั้ง ธงชาติไทย โต๊ะหมู่บูชา และพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย เนื่องจากประชาชนชาวไทยมีสถาบันหลักทั้งสามคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่เคารพเทอดทูน เวลามีงานพิธีจึงเชิญสัญญลักษณ์ทั้งสามมาประดิษฐานในที่บูชาด้วย

การจัดตั้งธงชาติ โต๊หมู่บูชา พระพุทธรูป และพระบรมฉายาลักษณ์ ควรตั้งบนยกพื้นเบื้องหน้าและอยู่ตรงกลางของที่ประชุม ถ้างานนั้นมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ด้วยก็ควรตั้งทางขวาสุดของแถวอาสนสงฆ์ที่นิมนต์มาเจริญพระพุทธมนต์ และตั้งเป็นลำดับเดียวกันคือ ธงชาติอยู่ทางขวาสุด ถัดมาเป็นโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปอยู่กลาง และพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ทางซ้ายถัดจากโต๊ะหมู่บูชา

ในเวลาเริ่มพิธี ประธานในพิธีต้องแสดงความเคารพสิ่งทั้งสามนั้นด้วย คือ กราบพระพุทธรูปที่โต๊ะบูชาคำนับธงชาติ และถวายคำนับพระบรมฉายาลักษณ์ ตามลำดับ

ในงานพิธีต่าง ๆ มักจะตั้งที่ทรงกราบด้วย ที่ทรงกราบนี้ใช้เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระราชโอรส นอกนั้นไม่ควรใช้ ควรปูพรมหรือผ้าขาวสำหรับให้ประธานในพิธีนั่งกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ จะเหมาะสมที่สุด

ถ้าเป็นงานรัฐพิธีและมีการตั้งเก้าอี้รับแขก ก็อนุโลมให้ใช้ที่กราบหรือหมอนกราบก็ได้การกราบบนที่กราบ หรือหมอนกราบนี้ ถือว่าเป็นการกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ด้วย

ข้อปฏิบัติในพิธีต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามประเพณีบางประการ มีดังนี้

  1. เมื่อประธานในพิธีเริ่มจุดธูปเทียน ผู้ร่วมในพิธีถ้านั่งเก้าอี้ให้ทุกคนยืนขึ้นประณมมือถ้านั่งกับพื้น สถานที่ไม่สะดวกในการยืนก็ไม่ต้องยืน พึงนั่งประณมมือโดยพร้อมเพรียงกัน
  2. ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนข้าราชบริพารในพิธีมงคล พึงยืนอย่างเดียว ไม่ต้องประณมมือ เพราะเป็นผู้เข้าเฝ้าโดยถือว่าเป็นพระราชกุศลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะ ผู้อื่นเพียงแต่ทำความเคารพพระองค์เท่านั้น ส่วนชาวบ้านทั่ว ๆ ไปในการเช่นนี้ ควรประณมมือโดยตลอด
  3. การจุดเทียนน้ำมนต์ในขณะพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เจ้าภาพควรจุดตอนพระสงฆ์เริ่มสวดมงคลสูตร(อเสวนา จ พา ลานํ ฯลฯ ) พิธีกรต้องเตรียมจุดเทียนชะนวนไว้ตอนพระสวด นโมแปดบทการดับเทียนชะนวนไม่ควรใช้การเป่าดับ ควรใช้วิธีอื่นเช่นมือ กระดาษ หรือใช้วิธีเอาปลายเทียนคว่ำลงแล้วใช้มือดับ

    ธูปเทียนที่โต๊ะบูชานั้น ใช้เทียนสองเล่ม ธูปสามดอก และต้องจุดเทียนเล่มทางขวาของพระพุทธรูปแล้วจึงจุดเล่มซ้าย จากนั้นจึงจุดธูปสามดอก ปักไว้ในกระถางธูปตามลำดับ
  4. ในพิธีมงคลสมรส มีพิธีหลั่งน้ำ ประธานในพิธีนำคู่บ่าวสาวไปกราบพระพุทธรูปที่โต๊ะบูชาแล้วจึงนำคู่บ่าวสาวมายังที่หลั่งหรือรดน้ำ พิธีกรรมที่ประธานในพิธีต้องปฏิบัติตอนนี้คือสวมพวงมาลัย สวมมงคลคู่ หลั่งน้ำสังข์ และเจิมหน้าคู่บ่าวสาวตามลำดับ การเจิมหน้าควรเจิมด้วยนิ้วชี้ตามแบบของสำนักพระราชวัง
  5. ในงานอวมงคลทำบุญหน้าศพ ถ้ามีเครื่องทองน้อย (ประกอบด้วยกรวยดอกไม้สามที่ธูปหนึ่งเทียนหนึ่ง)ถ้าเจ้าภาพจะบูชาศพให้หันดอกไม้เข้าหาศพ ถ้าจะให้ศพบูชาพระให้หันดอกไม้ออกไปทางพระเวลาจุด จุดพร้อมกัน โดยจุดบูชาพระรัตนตรัยก่อน แล้วจึงจุดบูชาศพทีหลัง จุดธูปเทียนบูชาศพใช้ธูปเทียนอย่างละหนึ่งเท่านั้น
  6. พระสงฆ์ที่ถวายศีลเทศน์บนธรรมมาสน์ในพระราชพิธี รัฐพิธีและพิธีต่าง ๆ ที่มีเทศน์ ให้ใช้พัดรอง ไม่ต้องใช้พัดยศ แต่ถ้าถวายศีลนอกธรรมมาสน์ต้องใช้พัดยศ
  7. การกรวดน้ำ เพื่ออุทิศส่วนกุศลในพิธีต่าง ๆ ด้วย ต้องคำนึงถึงประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลด้วยวิธีที่นิยมคือ เริ่มต้นเตรียมน้ำสะอาด ใส่ภาชนะไว้พอสมควร จะเป็นคณฑีขวดเล็กแก้วน้ำ หรือขัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ พอพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาด้วยบท ยถาฯลฯ ก็เริ่มกรวดน้ำโดยตั้งใจนึกอุทิศส่วนบุญ มือขวาจับภาชนะน้ำรินใช้มือซ้ายประคองแล้วว่าบทกรวดน้ำในใจจนจบพร้อมกับพระว่า ยถา ฯลฯ จบ พอพระสงฆ์รับ สพฺพี ฯลฯก็วางแก้วน้ำ ประณมมือรับพรด้วยความเคารพ การหลั่งน้ำกรวด ถ้าเป็นพื้นดินควรหลั่งลงบนพื้นที่สะอาดหมดจด ถ้าอยู่บนเรือหรือสถานที่ไม่ใช่พื้นดิน ต้องหาภาชนะอื่นที่สมควรเช่นถาดหรือขัน รองรับน้ำที่กรวดเสร็จแล้วจึงนำไปเทลงบนดินที่สะอาด อย่าใช้กระโถนหรือภาชนะสกปรกรองเป็นอันขาดเพราะน้ำที่กรวดเป็นสักขีพยานในการทำบุญของตนว่า ทำด้วยใจใสสะอาด

มารยาทไทย
ข้อปฏิบัติในการจัดพิธี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย