สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

วิกฤตศรัทธาผู้นำไทย

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์

ผู้นำทางการเมือง

      ในการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรี คือ ประมุขฝ่ายบริหารเป็นบุคคลที่อยู่ในสายตาของประชาชนอยู่ตลอดเวลา มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้นำของทุกประเทศ ในระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีความสามารถในด้านการชักชวน หรือหว่านล้อมให้ผู้อื่นกระทำการไปในทิศทางที่ตนได้วางเป้าหมายไว้ ผู้อื่นในที่นี้หมายความรวมทั้งสมาชิกสภาฯ คณะรัฐมนตรี และประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรีถือเป็นขุมกำลังสมองของชาติ จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่พบว่า ผู้นำในประเทศประชาธิปไตยบางคน จึงกลายเป็นเผด็จการในภายหลัง และต้องถูกพ้นจากเส้นทางอำนาจไปในที่สุด จะด้วยการถูกบีบจากสภา หรือพลังประชาชนให้ลาออกเอง หรือ โดยการยึดอำนาจทางทหาร ก็สุดแล้วแต่เส้นทางการเมืองของผู้นำแต่ละคน

ผู้นำของประเทศควรจะมีบุคลิกลักษณะอย่างไร? อะไรคือ ลักษณะที่พึงปรารถนาที่เชื่อกันว่าผู้นำจะต้องมี? ถ้าเราหวนย้อนไปดูผลงานทางรัฐศาสตร์ ฉบับคลาสสิคของ Niccolo Machiavelli (มีชีวิตอยู่ในช่วง

ระหว่าง ค.ศ. 1469-1527) ซึ่งเขียนตำราว่าด้วยผู้ปกครองที่ดี “The Prince” เพื่อสอนใจเจ้าชายแห่งนครรัฐต่างๆ ที่จะต้องขึ้นครองเมือง (ไม่ว่าจะได้อำนาจโดยวิถีทางปกติ หรือ โดยเหตุบังเอิญ อันเนื่องมาจากความไม่คาดฝันต่างๆ ก็ตาม) คุณลักษณะของผู้นำทางการเมืองนั้นจะต้องมีให้ครบทั้ง 3 ข้อ 2 คือ ชาญฉลาด คิดอย่างเป็นระบบ (มีการวางแผนการเป็นอย่างดี) และกล้าหาญ

Machiavelli ให้ข้อสังเกตว่าประชาชนมองผู้นำจากพฤติกรรมที่แสดงออกมาภายนอก มิได้มองจากตัวตนที่แท้จริงของผู้นำ มองจากภายนอกและอนุมานว่าตัวตนจริงๆ หรือความคิดจริงๆ น่าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่สามารถไปอยู่ใกล้ชิดได้ Machiavelli กล่าวว่า ผู้นำจะต้องมีคุณสมบัติของสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ก้าวร้าว และห้าวหาญ เหมือนสิงโต แต่ชาญฉลาดและแยบยล เหมือนหมาป่า และต้องทำทุกทางที่จะให้ประชาชนเชื่อในความคิด และการกระทำของผู้นำอย่างสมบูรณ์ในทุกเรื่อง คือ ให้คล้อยตามไปได้ทุกเรื่อง

ผู้เขียนจึงลองพิจารณาผู้นำของไทยโดยใช้หลักการ 3 ข้อเบื้องต้นนั้นบ้าง คือ

1. ชาญฉลาด ผู้นำทางการเมืองของไทยทุกคน ชาญฉลาดในอันที่จะถนอมรักษาสุขภาพไว้ให้แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นอย่างผู้นำญี่ปุ่น ข่าวในลักษณะแบบนี้เรายังไม่เคยพานพบในผู้นำของไทยเลย
นายเคอิโซ โอบูชิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นล้มป่วยอย่างกะทันหันเนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตกเมื่อเดือนมีนาคม 2543 ป่วยอยู่ในห้องฉุกเฉินเป็นเวลา 6 สัปดาห์ เสียชีวิตเดือนพฤษภาคม 2543 ก่อนล้มป่วย 1 วัน ยังคร่ำเคร่งกับงานในภารกิจของนายกรัฐมนตรี

2. คิดอย่างเป็นระบบ (มีการวางแผนการเป็นอย่างดี) ผู้เขียนพยายามคิดย้อนหลังถึงภาพการทำงานอย่างมีระบบของผู้นำการเมืองไทย แต่ภาพของ “ความไม่มีระบบ” ก็ดูมาครอบคลุมจนเกือบหมดสิ้น อาทิเช่น
- กรมอุตุนิยม ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าว่า น้ำเหนือจะไหลบ่าเข้ามาในกรุงเทพอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และจะมีน้ำทะเลหนุนเนื่อง แต่กรุงเทพก็ยังจมน้ำไปอย่างน่าสงสารในปี 2526

- นักเศรษฐศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงหลายคน ได้ไปพูดตามที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมทั้งเขียนบทความ จัดอภิปราย สัมมนา เตือนรัฐบาลถึงเรื่องเศรษฐกิจจะล่ม แต่รัฐบาลก็ยังปล่อยให้ธนาคาร และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งล่มตามไปจริงๆ ในปี 2540 – 2541

- การเลือกตั้งในประเทศไทยโกงมาทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอ รัฐบาลวางแผนรับมือกลโกง อุดช่องว่าง ศึกษาบทเรียนในอดีตอย่างเต็มที่ แต่การโกงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรก็ยังเกิดขึ้นในปี 2550 ทำให้บางจังหวัดต้องมีเลือกตั้งซ้ำๆ ถึง 2-3 รอบ แต่รัฐบาลจะมีการวางแผนการเป็นอย่างดีในบางเรื่อง เช่น ป้องกันไม่ให้มีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนเวลาที่กำหนด หรือแผนสกัดดาวรุ่ง การทำลายบุคคลซึ่งกำลังจะเป็นความหวังใหม่ในทางการเมือง หรือ คิดหา “มีดโกน” ดีๆ ที่จะเชือดเฉือนฝ่ายค้าน ฯลฯ

3. กล้าหาญ จะมีผู้นำคนใดในเมืองไทยบ้างไหมที่กล้ารับผิดในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วทั้งหมด และขอโทษประชาชน หรือ อย่างน้อยพูดในสไตล์บิลล์ คลินตัน ผู้นำสหรัฐฯ “ข้าพเจ้าขอโทษพี่น้องประชาชนทุกคนในสิ่งที่ข้าพเจ้าได้กระทำผิดไป ในการที่ข้าพเจ้าไปมีความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับหญิงอื่นที่มิใช่ภริยาของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าสัญญาว่าจะไม่กระทำเช่นนี้อีก” แต่ในประเทศไทยผู้นำจะถนัดประเภท “รับชอบ” แต่เมื่อมีความผิดเกิดขึ้น คำตอบมักจะเป็นในลักษณะ

- ผมยังไม่ได้รับรายงาน
- งานอันนี้ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวง... ซึ่งผมได้มอบอำนาจไปแล้ว
- ผมต้องเช็คข้อมูลจากแหล่งข่าวก่อน
หรือบางเรื่องเป็นความเป็นความตาย ความเดือนร้อนเร่งด่วนของประชาชน เมื่อสื่อมวลชนถามผู้นำ คำตอบอาจจะเป็นไปในลักษณะ
- ผมก็เพิ่งได้ยินเหมือนกันเนี่ยะ หรือ
- ดึกแล้ว กลับบ้านเถอะลูก
หรือเป็นคำตอบที่มีอารมณ์ เช่น “U.N.* ไม่ใช่พ่อผม” บางทีอาจเป็นการพูดที่ไม่สมควร เช่น “บุคคลผู้ดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญ” หรือเป็นการพูดที่สร้างความแตกร้าวในชาติ เช่น “จังหวัดนครสวรรค์ มอบความไว้วางใจให้รัฐบาล โดยเลือก ส.ส.รัฐบาลทั้งจังหวัด ซึ่งแน่นอนและตรงไปตรงมา ว่าจังหวัดนี้ต้องได้รับสิทธิการดูแลเป็นพิเศษ ผมตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจเรา เราต้องดูแลเป็นพิเศษ”

แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำจะต้องเป็นอย่างผู้ทรงศีล Machiavelli ระบุว่า ในความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นรัฐไว้ ผู้นำอาจจะไม่ต้องรักษาคำพูด หรือสัญญาที่เคยทำไว้ หรืออาจจะกระทำบางอย่างซึ่งดูไร้ซึ่งมนุษยธรรม ภาพของผู้นำนั้น จะเป็นภาพการเชื่อมโยงของเหตุการณ์ในอดีต ผลงานปัจจุบันทำให้ประชาชนพอจะคาดหมายได้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร

การจะเข้าใจผู้นำ และวิถีทางการเมืองของเขาให้ดีขึ้น อาจะพิจารณาจากหลาย ๆ สิ่งประกอบกัน เช่น จากชีวประวัติ จากความคิดเห็นที่แสดงออกมาผ่านสื่อมวลชน จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับประชาชนทั่วไป การทำโพล การไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ หรือจากงานเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร การมองผู้นำจึงต้องมองจากทั้ง 3 ทรรศนะ คือ ทางจิตวิทยา ทางรัฐศาสตร์ และทางประวัติศาสตร์

ผู้นำทางการเมือง
วิเคราะห์ผู้นำทางการเมืองของประเทศไทย
ทฤษฎีและแนวความคิดทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
แนวทางแก้ไข

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย