สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

วิกฤตศรัทธาผู้นำไทย

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรวรรณ ธนสถิตย์

วิเคราะห์ผู้นำทางการเมืองของประเทศไทย

แต่ก่อนประเทศไทยมีระบบการเมืองที่ระบบราชการ ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนเป็นใหญ่ครอบงำระบบการเมือง และที่สำคัญมีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง โดยผู้นำทางการเมืองมาจากระบบราชการเป็นส่วนใหญ่ และมีฐานอำนาจอยู่ที่ข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการทหาร

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2475 – 2489 นับเป็นช่วงของความผันผวน และความรุนแรงทางการเมืองเกือบตลอดระยะเวลา ผลก็คือ ความล้มเหลว และพลาดโอกาสของการสถาปนาเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หากไม่นับรวมรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ในช่วงนี้มีการยกเลิก และประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึง 6 ฉบับ มีรัฐประหาร 12 ครั้ง ความพยายามสร้างสถาบันทางการเมืองให้มั่นคงดูจะไม่เป็นผล สถาบันที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมั่นคงกลับเป็นสถาบันทหาร ซึ่งก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองอยู่หลายศตวรรษจากผลสำเร็จของรัฐประหารเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 ส่งผลให้พันโทหลวงพิบูลสงครามขึ้นมามีอำนาจ และนับแต่ปี พ.ศ. 2481 เป็นต้นมา พัฒนาการเมืองไทยก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจนิยมในระบอบ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย”

หลังชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร และขบวนการกู้ชาติของเสรีไทย ทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม เสื่อมอำนาจลงไป ฝ่ายพลเรือนที่ถูกกันออกไปจากวงการเมืองก็กลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2489 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 นี้ อาจถือเป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาธิปไตย และควรจะมีผลถึงพัฒนาการอันก้าวหน้าทางการเมืองต่อไป แต่ก็มีผลบังคับใช้อยู่เพียงปีครึ่งก็ถูกคณะทหารนำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และถือเป็นโอกาสสุดท้ายของคณะก่อการ 2475 ที่จะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในประเทศไทย

รัฐประหาร 2490 เป็นการเริ่มประเพณีของการเมืองไทย ที่นักวิชาการบางท่านได้ขนานนามว่า “วัฎจักรแห่งความชั่วร้าย” นั่นคือ การเมืองที่ถูกครอบงำโดยคณาธิปไตยทหาร โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ดังนั้น ยุคสมัยนี้จะกินเวลาประมาณเกือบ 10 ปี จนกระทั่งถึงสมัยของคณะปฏิวัติ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ร่วมกันก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ส่งผลให้จอมพลสฤษดิ์ฯ ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างเป็นทางการในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ และสถาปนาระบอบปฏิวัติ ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญถึงสภาวะสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมถึงระบบรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ จอมพลสฤษดิ์ฯ ครองอำนาจอยู่เป็นเวลาเกือบ 5 ปีเต็ม (9 กุมภาพันธ์ 2502 – 8 ธันวาคม 2506)

การเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มิได้ทำให้ระบอบปฏิวัติสิ้นสุดลง แต่ได้รับการสืบทอดโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และนำไปสู่การรัฐประหาร และนำไปสู่การรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มของหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองก็ว่าได้ เพราะคณะปฏิวัติ พ.ศ. 2514 ต้องเผชิญกับปัญหาความชอบธรรม ทั้งจากสาธารณชน โดยเฉพาะพลังของชนชั้นกลางใหม่ และภายในกองทัพเอง

กระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญเริ่มปรากฎหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2514 และเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นกับการเคลื่อนไหวก่อตัวของขบวนการนิสิตนักศึกษา ในการไล่ผู้นำทรราชย์ที่ประชาชนไม่ต้องการ การลุกฮือของประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญปี 2517 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยอย่างที่สุด แต่ผลสุดท้าย กลุ่มอำนาจเก่า คือ กลุ่มข้าราชการก็พยายามตีกลับเข้ามาใหม่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการฆ่าผู้ชุมนุมอย่างทารุณ และทำการรัฐประหารจนสำเร็จ ต่อมาก็มีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 โดยคณะทหารได้ล้มรัฐบาลขวาจัดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จากนั้นมา ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2521 นายกรัฐมนตรีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ถึงแปดปีห้าเดือน (12 มีนาคม 2523 – 28 เมษายน 2531) กล่าวกันว่า ระบบประชาธิปไตยภายใต้พลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกเปรม คือประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งเป็นการผสมระหว่างระบบการเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง คือการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก และเปิดโอกาสให้ข้าราชการประจำ โดยเฉพาะทหารดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประชาธิปไตยครึ่งใบ คือ การพยายามประสานประโยชน์ผสมระหว่างระบบไทย และระบบเทศกล่าวคือ พยายามตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มพลังกลุ่มเดิม คือ ข้าราชการทหาร และพลเรือน และกลุ่มพลังกลุ่มใหม่ คือ ชนชั้นกลางที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และผ่านการเลือกตั้ง

เมื่อมาถึงสมัยของนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ (4 สิงหาคม 2531–23 กุมภาพันธ์ 2534) การเติบโตของชนชั้นกลาง และกลุ่มทุนก็ถึงขีดสุด อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศประมาณ
9-10%6 กลุ่มคนดังกล่าว ก็เติบโตขึ้นมาจนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มที่เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองโดยตรง เพราะฉะนั้น ผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ก็เริ่มมาจากกลุ่มธุรกิจมากขึ้น

สภาวะเบ่งบานทางเศรษฐกิจ การเมือง ก็เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน กลุ่มทุนและชนชั้นกลางใหม่ก็ขยายตัวเติบใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอำนาจขึ้นมา จึงไม่น่าแปลกใจที่การรัฐประหารของคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ (รสช.) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากคนกลุ่มดังกล่าว จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” ขึ้นเมื่อวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 มีการเรียกร้องอย่างชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง นับแต่ช่วงปี 2535 จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ภาวะที่ชัดเจนมากประการหนึ่งในเชิงการพัฒนา คือ การก่อตัวของกลุ่มทุนใหม่ ที่เรียกว่า ทุนชาติที่เป็นพันธมิตรกับทุนนานาชาติที่ค่อยๆ พัฒนามาจากยุทธศาสตร์การพัฒนาที่มุ่งผนวกเศรษฐกิจ (การเมือง) ไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (การเมือง) โลก การเปลี่ยนระบบการผลิตจากเพื่อทดแทนการนำเข้า สู่การผลิตเพื่อการส่งออก การมุ่งให้ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงิน และการค้า การเปิดเสรีทางสื่อสารคมนาคม และสารสนเทศ ทำให้เกิดการก่อตัวของกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น และมีแรงกดดันมากขึ้น เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง และรัฐธรรมนูญ เพื่อวางกรอบกติกาบ้านเมืองใหม่ ที่เปิดโอกาสให้นักบริหารมืออาชีพเข้าไปเป็นรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการได้มา กระบวนการจัดทำ และยกร่างมากที่สุด เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา และด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่มีความมั่นคง และเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสาร

รัฐธรรมนูญใหม่นี้ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเมืองเป็นอย่างสูง ในขณะที่ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพ และภาคการเมือง (ของนักการเมือง) เข้มแข็งอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน การเมืองยังคงเป็นการเมืองของการเลือกตั้ง อำนาจของฝ่ายบริหารมีลักษณะเกือบจะเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ หากแต่ใช้นโยบายเป็นเครื่องมือ มิใช่กำลังอาวุธอีกต่อไป เครื่องมือทางนโยบาย เช่น นโยบายอุปถัมภ์ นโยบายยึดกุมรัฐสภา และสร้างความมั่นคงให้ฝ่ายบริหารโดยใช้เสียงข้างมาก (absolute majority) ในสภา โดยพรรครัฐบาลมีอำนาจสูงสุด นโยบายการครอบงำกลุ่มทุน หรือร่วมมือกับกลุ่มทุนธุรกิจในทุกแขนงทั้งกลุ่มทุนข้ามชาติ และกลุ่มทุนท้องถิ่น อำนาจของรัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณฯ จึงอยู่บนฐานทั้งอำนาจบารมี อำนาจเงิน และอำนาจครอบงำข้าราชการ รวมทั้งนโยบายหว่านเงินให้คนจน จนทำให้เกิดความอ่อนแอขึ้นในชุมชน

นอกจากนั้น นโยบายในประเทศถูกกำหนดโดยกลุ่มอำนาจที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนระหว่างชาติ/ข้ามชาติ เช่น WTO, IMF, TNCs ภายใต้กระแสการเปิดเสรีทางการเงิน เสรีทางการค้า เสรีทางการลงทุน ภายใต้กระแสที่เอกชน (ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่น) กับรัฐมาเป็นผู้บริหารสังคม ทรัพยากรทั้งหมดขึ้นอยู่กับกลไกตลาดภายใต้การแข่งขันในทุกๆ ด้านที่ไม่เป็นธรรม แต่เป็นเสรีที่จะผูกขาด คนจนไม่อาจเข้าสู่การแข่งขันได้เลย

ความรุนแรงของปัญหาตามทัศนะของรองศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คือ “ปัจจุบันกลุ่มนักการเมืองและกลุ่มนายทุนกลายเป็นกลุ่มเดียวกันที่เข้าครอบครองอำนาจรัฐในระดับท้องถิ่น และขยายสู่การเมืองในระดับชาติ กลุ่มนี้จึงสามารถดึงเอาบุคลากรจากองค์กรที่มีเครื่องมือ (ของรัฐ) และอำนาจ (ตามกฎหมาย) มาเป็นเครื่องมือของตัวเองในการดำเนินการทางการเมืองดังเช่นที่ปรากฎจากรูปธรรมของการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง

ประเทศไทยนั้นผู้นำมีหลายแบบจะแตกต่างกันไปตามสถานการณ์มีทั้งผู้นำที่เป็นทหาร นักธุรกิจ ผู้นำที่มาจากการการแต่งตั้ง และผู้นำที่มาจากนักการเมืองอาชีพ
ช่วงระหว่างระยะเวลา 12 มีนาคม 2523-28 เมษายน 2531 ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนดี คนเก่ง และได้รับการยอมรับจากประชาชน คือ พลเอกเปรม ตินสูลานนท์ แต่ก็เป็นข้าราชการทหารเก่า และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงถือว่าผิดกติกาของระบอบประชาธิปไตย

พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีตกรรมการการเลือกตั้งได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยชินกับวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนาย ชินกับผู้นำประเทศที่มาจากการแต่งตั้ง การเลือกตั้งเป็นวัฒนธรรมแบบฝรั่งแปลกปลอมเข้ามา เมื่อไม่ใช่วัฒนธรรมของเราก็ไม่เกิดความเข้าใจลึกซึ้ง ไม่เกิดการหวงแหนจะเห็นได้ว่า นายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งนั้น คนจะชอบและชื่นชมมากกว่านายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

ดร.วิชัย ตันศิริ ระบุว่าธรรมชาติของระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยนั้นมิได้มีผลในการเลือกสรรผู้นำเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพหรือ มีวิสัยทัศน์ได้เสมอไป บ่อยครั้งมักจะได้ผู้นำที่ค่อนข้างปานกลางเพราะคนที่ดีที่สุดในแผ่นดิน คนเก่งที่สุดในแผ่นดิน อาจไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้งก็ได้

ครั้นคนไทยจะพึ่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมากก็เห็นได้ชัดเจนว่าพึ่งไม่ได้ เพราะในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารถูกรวบเข้าอยู่ในมือของคนๆ เดียวกัน หรือ องค์คณะบุคคลเดียวกัน รัฐบาลในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณฯ ได้ใช้จ่ายเงินไปกับ “นโยบายประชานิยม” เป็นจำนวนมาก เพื่อหวังเพิ่มคะแนนนิยมซึ่งเป็นนโยบายทางการเมืองมากกว่านโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อกลบปัญหาการคอร์รัปชันที่มีอยู่ รัฐบาลได้ใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์สูงสุดทางการเมืองจนเกิดเป็น “ระบอบทักษิณ” ขึ้น ระบอบทักษิณมาด้วยเงิน และอำนาจอันเกิดจากระบบราชการที่อ่อนแอลงความพยายามของรัฐบาลทักษิณฯ ที่จะครอบงำทุกสถาบันโดยอ้างสถานะความชอบธรรมตามกฎ กติกา ระบอบประชาธิปไตย อ้างการเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คนไทยเกิดความกลัวอำนาจรัฐที่ไร้ขอบเขต กลัว “อำนาจเบ็ดเสร็จ” ของรัฐบาลทักษิณฯ กลัวอำนาจเงิน กลัวจะคิดการใหญ่ในแผ่นดินต่อไป จึงนำมาซึ่งการมี

ม๊อบพันธมิตรกู้ชาติ ครั้งที่ 1 และต่อด้วยการที่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณฯ โดยคณะปฏิรูปการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงนำไปสู่การนำคดีทุจริตประพฤติมิชอบทั้งหลายของอดีตผู้นำประเทศขึ้นสู่ศาล และจบลงด้วยการหนีออกนอกประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ และครอบครัว ความกลัว และความหวาดระแวงของประชาชนได้สะสมกันมาเป็นเวลานานเกือบ 6 ปี หลายคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลเป็นเรื่องผิดจริยธรรม และมีผลประโยชน์ทับซ้อนจึงทำให้ประชาชนหมดความไว้วางใจ และนำไปสู่ “วิกฤตศรัทธา” ในตัวผู้นำในที่สุด
ประเทศไทยมีผู้นำที่มาจากการแต่งตั้งหลายคน คนล่าสุด (ณ วันที่ 15 กันยายน 2551) คือ พลเอก

สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้มีภาพพจน์ของคนดี คนเก่ง ก่อนเข้ามาสู่วิถีทางการเมือง แต่เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน สิ่งที่ปรากฎต่อสายตาของประชาชน คือ ท่านเชี่ยวชาญเรื่องการทหาร (ในอดีต) แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการอื่นเลย และไม่สามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เลย เพราะรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ รับหน้าที่บริหารรัฐ แต่ไม่บริหารรัฐ ปล่อยปัญหาให้ข้าราชการประจำกองทัพบกรับผิดชอบ แต่กองทัพเพียงหน่วยเดียวก็ไม่สามารถ
รับผิดชอบปัญหาที่มีความซับซ้อน หลากมิติได้

พลเอกสุรยุทธ์ฯ ใส่ “เกียร์ว่าง” ลอยตัวเหนือความรับผิดชอบทุกประการ และไม่สามารถสมานฉันท์ ไม่สามารถแก้ปัญหาความแตกร้าวในประเทศได้ ไม่สามารถจะบริหารจัดการให้ออกมาในแนวทางที่ประชาชนต้องการได้ จนมีคำกล่าวว่ารัฐบาลในยุคของท่าน “คอร์รัปชั่นเวลา”

ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ฯบริหารประเทศ ประชาชนจึงไม่รักรัฐบาล และไม่หวังรัฐบาลเป็นที่พึ่งอีกต่อไป
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก มักจะพูดเสมอว่า “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ให้ทหารไปแก้ไม่ได้” จึงน่าที่จะมาพิจารณาการเมืองของประเทศเมื่ออยู่ภายใต้การบริหารของนักการเมืองอาชีพกันดูบ้าง

นักการเมืองอาชีพนั้นในประเทศไทยมีหลายคน แต่ประชาชนมักจะนึกถึงคุณชวน หลีกภัย และคุณสมัคร สุนทรเวช อยู่ในลำดับต้นๆ คุณชวนมีบุคลิกนิ่ง ใจเย็น เป็นคนติดดิน สมถะ และนุ่มนวล จนถูกค่อนขอดว่า “ชวนเชื่องช้า” เป็นนักการเมืองที่มีภาพพจน์ดี แต่ความสามารถในการบริหารประเทศนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับภาพพจน์ และบุคลิกลักษณะภายนอก ตามที่คุณสมัคร สุนทรเวช เคยวิจารณ์ไว้ว่า

คุณชวนนั้น เป็นคนของพรรคการเมืองเก่าแก่ สืบเนื่องกันมาเป็นสถาบันแข็งแรง คุณชวนเก่งไหม เก่ง แต่แบบของคุณชวนเขาเรียกเป็นแบบบูโรเครซี่ คือ เชื่อมั่นในระบบราชการ บริหารบ้านเมืองแบบระบบราชการ ต้องดู ต้องตรวจ ต้องแน่ใจถึงจะเซ็น ข้าราชการว่าโอเค ถึงจะดำเนินการ

ผู้วิจารณ์ คือ คุณสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนักการเมืองอาชีพ เริ่มดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2511 จนถึงปัจจุบัน

เหตุผลในการเล่นการเมืองปี 2550 ของนายกสมัครฯ นั้น ตัวท่านเองยืนยันไว้ดังนี้

การเล่นการเมืองก็เพื่อชาติบ้านเมือง เหมือนกับคำขวัญของพรรคประชากรไทยที่เขียนชัดว่า เรื่องส่วนรวมมาก่อนเรื่องส่วนตัว จึงเห็นว่าเมื่อยังมีกำลังยังมีประโยชน์จึงกลับมา เพื่อทำให้ประชาชนได้ในสิ่งที่ควรจะมีกลับคืนมา คือ เรื่องความเป็นธรรม และการต่อสู้ตามครรลองในระบอบประชาธิปไตย

นายกสมัครฯ ถูกเลือกมาเพราะเหตุใด

การต่อสู้ทางการเมืองในช่วงปี 2549-2551 ไม่สำคัญเท่ากับคดีต่างๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องต่อสู้ในศาลที่จะต้องใช้เวลานานหลายปีเท่ากับปิดเส้นทางการใช้เงิน และการเล่นการเมืองไปในตัว ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณฯ จึงต้องรักษาฐานอำนาจและหาคนเชื่อใจได้เข้ามาเป็นแนวหน้า ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณสมัคร สุนทรเวช จึงเหมาะสมที่สุด ไม่ใช่แค่กล้าพูดเท่านั้น แต่ยังมีลีลาที่ทั้งหนัก และเบาได้ นอกจากนี้คุณสมบัติทางการเมืองของคุณสมัครฯ ก็ไม่ได้ตกต่ำ แต่ยังมีคะแนนนิยมในกรุงเทพฯ ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2543 ที่ได้คะแนนถึง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือการเลือกตั้งวุฒิสภาปี 2549 ที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์

การประกาศตัวว่าเป็นพรรค นอมินีของ “ทักษิณ” ซ้ำยังยืนยันว่าจะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับอดีตนายกฯ คนที่แล้ว จึงกลายเป็นดาบสองคมของพรรคพลังประชาชนจึงทำให้เกิดม๊อบพันธมิตรกู้ชาติครั้งที่ 2 และปัญหาทางการเมืองที่ลุกลามต่อไปจนยากจะเยียวยา สิ่งที่คุณสมัครฯ หัวหน้าพรรคพลังประชาชนออกมาพูดว่าหากตนเองได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะยุบคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) แล้วโอนคดีไปให้ ปปช. พิจารณาแทน รวมถึงจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับ 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และยังบอกอีกว่าจะทำให้ “ทักษิณ” กลับมาสู้คดีอย่างสง่างาม

นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช จึงตั้งหลักไม่ได้ เสถียรภาพทางการเมืองไม่มี เป็นรัฐบาลแต่ไม่มีอำนาจบริหารประเทศ ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์นอกสภาได้ เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการแก้ปัญหาในเรื่องหลักๆ รวม 3 เรื่อง คือ ปัญหาการจัดการกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนายทุนของพรรคตนเอง ปัญหาเรื่องพรรคจะถูกยุบ และปัญหาเรื่องม๊อบพันธมิตร จนไม่มีเวลาที่จะไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ

ผู้นำทางการเมือง
วิเคราะห์ผู้นำทางการเมืองของประเทศไทย
ทฤษฎีและแนวความคิดทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
แนวทางแก้ไข

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย