สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

การแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย
และความขัดแย้งทางการเมืองไทย

หน้า 3 >>

รัฐสภาในปี 2518 มีความเข้มแข็งพอสมควร และคุณภาพของสมาชิกสภาก็สูงกว่าที่แล้ว ๆ มา อย่างไรก็ตามส่วนประกอบใหม่ ๆ ของสังคมซึ่งเป็นผลผลิตของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา อันได้แก่นักศึกษาปัญญาชนและสหภาพแรงงาน รวมทั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแกนกลางในการโค่นล้มระบบเผด็จการก็ยังไม่มีตัวแทนในสภามากนัก ส่วนใหญ่ที่เข้าสภาได้คือผู้นำทางการเมืองเก่า ๆ และบรรดานายพล ขุนนาง ข้าราชการระดับสูง ตลอดจนพ่อค้า ปัญหาและความล้มเหลวก็คือ การที่จะดึงเอากลุ่มใหม่ ๆ เหล่านี้เข้ามาในระบบ ซึ่งกำลังค่อย ๆ วิวัฒนาการไป และชักจูงให้ทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่เชื่อว่า ทั้งสองกลุ่มต่างก็สามารถจะได้สิ่งที่ต้องการจากรัฐบาล ผ่านผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยตรง กลุ่มพลังต่าง ๆ ทั้งซ้ายและขวาซึ่งต่างก็สงสัยว่าที่คาดหวังไว้เช่นนั้นคงจะเป็นจริงไปไม่ได้ต่างก็หันมาใช้วิธีดำเนินการนอกสภาและนอกพรรค เมื่อเป็นเช่นนี้ ประสิทธิภาพของระบบใหม่ที่จะตอบสนองอย่างได้ผลก็ค่อยลดน้อยถอยลง

ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของฝ่ายหนึ่งก่อให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากอีกฝ่ายหนึ่ง การแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายกลายเป็นลักษณะพื้นฐานของการเมืองไทยแทนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประชาชนคนไทยซึ่งรวมทั้ง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์และคณะรัฐมนตรีด้วยนั้น ก็ได้แต่ปล่อยไปตามเหตุการณ์และรอให้ข้อขัดแย้งซึ่งควบคุมยากขึ้นทุกทีค่อยคลี่คลายไปเอง กระบอกเสียงของทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาต่างก็แสดงความเสียใจในสถานการณ์และกล่าวโจมตีซึ่งกันและกันว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นต้นเหตุ พวกซ้ายสุดและขวาสุดบางกลุ่มถึงกับสนับสนุนยุยงให้ข้อขัดแย้งเหล่านี้รุนแรงขึ้น เพื่อใช้เป็นดรรชนีของความเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองที่ยิ่งกว่านี้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มปฏิรูป ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษา ครู อาจารย์ นักหนังสือพิมพ์ กรรมกร และชาวนา อีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มอนุรักษ์นิยมอันได้แก่ทหาร ชนชั้นสูงบางกลุ่มและชนชั้นกลางบางพวก ชาวบ้านบางส่วน และนักเรียนอาชีวะส่วนหนึ่ง เวลายิ่งผ่านไป การแตกแยกระหว่างสองกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นรุนแรง



ในระหว่างปี 2517 ต่อต้นปี 2518 บทบาทของนักศึกษามองได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลถนอม นักศึกษาใช้วิธีชุมนุมประท้วงและเดินขบวนตามถนนสายต่าง ๆ อย่างสันติ เรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมือง ให้ถอนฐานทัพอเมริกันในประเทศไทย และให้ตัดทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักศึกษาหลายพันคนได้ออกไปสู่ชนบท มุ่งปลูกฝังความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับชาวบ้าน นักศึกษาส่วนหนึ่งจากวิทยาลัยครูต่าง ๆ ได้จัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิครูขึ้น บางส่วนได้ก้าวเลยจากขั้นตอนของระบบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ถึงขั้นประกาศลัทธิสังคมนิยม และเผยแพร่เรื่อง “อำนาจมาจากปวงชน” โดยยึดบทเรียนที่เขาได้เห็นมา ระหว่างเดือนตุลาคม 2516 เป็นหลัก แต่นักศึกษาที่ทำงานประสบผลสำเร็จที่สุดไม่ใช่พวกที่ท่องคำขวัญทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้ หากเป็นพวกที่ออกไปสัมผัสกับความทุกข์ยากของชาวบ้านตามท้องถิ่นชนบทเผยแพร่เรื่องค่าเช่าที่นา กรรมสิทธิ์ที่ดิน และการฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการเลว ๆ

ในหมู่บ้านหลาย ๆ แห่ง ผู้นำนักศึกษาเป็นตัวเร่งที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ความทุกข์ยากที่แท้จริงของประชาชนตามหมู่บ้านเป็นเรื่องการเมืองขึ้นมา และช่วยจัดตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยขึ้นมา สหพันธ์ฯ ซึ่งนำโดยชาวนาพื้นบ้านมีบทบาทอย่างมากในภาคเหนือ และภาคกลางตอนเหนือของไทย องค์การนี้ได้แสดงให้เห็นความต้องการต่าง ๆ ที่แอบแฝงมาเป็นเวลานานของชาวบ้านในอันที่จะให้มีการปฏิรูปที่ดิน มีการเก็บภาษีที่เป็นธรรมขึ้นและค่าเช่าที่ดินที่ถูกลงมีการให้สินเชื่อเกษตรที่กว้างขึ้น และมีอำนาจในทางการเมือง หลายครั้งที่ชาวนาถึงกับเดินขบวนมากรุงเทพฯ ชาวนากลุ่มหนึ่งได้ประท้วงเรื่องที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อการปฏิรูปที่ดิน และละเลยปัญหาการขูดรีดดอกเบี้ยของนายทุนเงินกู้ ที่สุดชาวนาถึงกับเผาบัตรประจำตัวประชาชน อันเป็นสัญลักษณ์ของการเลิกจากความเป็นประชาชนไทย

พระสงฆ์หลายรูปได้สนับสนุนชาวนาด้วยการร่วมเดินขบวนประท้วงด้วย แต่พระชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นสมาชิกของมหาเถรสมาคมได้เรียกร้องให้มีการลงโทษทางวินัยแก่พระสงฆ์ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง กลุ่มยุวสงฆ์ได้โต้ตอบด้วยการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปและสังคายนาการจัดลำดับทางสมณศักดิ์ ความอดกลั้นของยุวสงฆ์มาถึงขีดสูงสุด เมื่อมีการชุมนุมและอดอาหารประท้วงกรณีพระสงฆ์ 2 รูป ถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ แล้วถูกถอดออกจากสมณศักดิ์ โดยมิได้มีการไต่สวนในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

<< ย้อนกลับ || อ่านต่อหน้า 4 >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย