ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

อาหารเรปฏิกูลสัญญา

สภาพใดย่อมนำมา เหตุนี้ สภาพนั้นจึงชื่อว่า อาหาร แปลว่า สภาพผู้นำมา อาหารนั้นมี 4 อย่าง คือ

  1. กพฬิงการาหาร
  2. ผัสสาหาร
  3. มโนสัญเจตนาหาร
  4. วิญญาณาหาร

สิ่งที่อาหารนำมา
ก็ในอาหาร 4 อย่างนั้น อาหารอย่างไหน ย่อมนำอะไรมา

  1. กพฬิงการาหาร ย่อมนำรูปกลาปมีโอชาเป็นที่ 8 มา
  2. ผัสสาหารนำเวทนา 3 มา
  3. มโนสัญเจตนาหารนำปฏิสนธิในภพ 3 มา
  4. วิญญาณหารนำรูปในขณะปฏิสนธิมา

ภัยที่เกิดเพราะอาหารเป็นเหตุ

  1. ภัยคือความนิยมยินดี ย่อมมีในเพราะกพฬิงการาหาร
  2. ภัยคือความเข้าไปหา ย่อมมีในเพราะผัสสาหาร
  3. ภัยคือความเข้าถึง (คือเกิด) ย่อมมีในเพราะมโนสัญเจตนาหาร
  4. ภัยคือปฏิสนธิ ย่อมมีในเพราะวิญญาณาหาร

อาหารที่ประสงค์เอาในกรรมฐานนี้
แต่ในอาหาร 4 นี้ กพฬิงการาหารอันแยกประเภทเป็นของกินของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้ม เท่านั้น ท่านประสงค์เอาในกรรมฐานข้อนี้ พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญอาหารเรปฏิกูลสัญญานั้น พึงเรียนเอากรรมฐานได้แล้ว จำไว้มิให้ผิดจากที่เรียกมาแม้แต่บทเดียว ไปในที่ลับคน เร้นอยู่คนเดียว แล้วจึงพิจารณาดูความปฏิกูลในกพฬิงการาหารอันแยกเป็นของกิน ของดื่มของเคี้ยว ของลิ้ม โดยอาการ 10 นี้ คือ

  1. โดยการเดินไป
  2. โดยการแสวงหา
  3. โดยการบริโภค
  4. โดยอาสยะ
  5. โดยที่พัก
  6. โดยยังไท้ย่อย
  7. โดยย่อยแล้ว
  8. โดยผล
  9. โดยการไหลออก
  10. โดยความเปรอะเปื้อน

ปฏิกูลโดยการเดินไป
พระโยคาวจรพึงพิจารณาเห็นโดยนัยดังนี้ว่า “อันบรรพชิตในพระศาสนานี้ มีหน้ามุ่งสู่หมู่บ้านไปเพื่อต้องการอาหาร ดังสุนัขจิ้งจอก มุ่งหน้าสู่ป่าช้าไปเพื่อต้องการซากศพ ฉะนั้น เมื่อไปอย่างนั้นเล่า ตั้งแต่ลงเตียงหรือตั่งไป ก็ต้องย่ำเครื่องลาดอันเกลื่อนกล่นไปด้วยสิ่งไม่สะอาดมีละอองติดเท้าและมูลจิ้งจอกเป็นต้น ต่อนั้นไปก็จำต้องเจอหน้ามุขอันปฏิกูลยิ่งกว่าภายในห้อง เพราะลางทีก็ถูกสิ่งปฏิกูลมีมูลหนูและมูลค้างคาวเป็นต้นทำให้เสียไป ถัดออกไปก็จำต้องเจอ พื้นล่าง ซึ่งปฏิกูลยิ่งกว่าชั้นบน เพราะลางทีก็เปรอะไปด้วยมูลนกเค้าและมูลนกพิราบเป็นต้น ต่อออกไปก็จำต้องเจอบริเวณอันปฏิกูลยิ่งกว่าพื้นล่าง เพราะลางทีก็สกปรกไปด้วยหญ้าและใบไม้เก่า ๆ ที่ลมพัดมา ด้วยปัสสาวะ อุจจาระ น้ำลาย น้ำมูก ของพวกคนที่เป็นไข้ และด้วยน้ำและโคลนในหน้าฝนเป็นต้น ก้าวออกเดินไปตามทางไปสู่หมู่บ้าน ก็จำต้องเจอทางอันมีตอและหนามบ้าง ทางอันถูกกำลังน้ำเซาะ และลุ่ม ๆ ดอน ๆ บ้าง แต่นั้น เธอผู้นุ่งผ้า เหมือนปิดแผลฝี คาดประคด เหมือนพันผ้าพันแผล ห่มจีวร เหมือนคลุมโครงกระดูก นำบาตรไป เหมือนนำกระเบื้องใส่ยาไป ถึงที่ใกล้ช่องทางเข้าหมู่บ้าน ก็จะพึงได้เจอซากต่าง ๆ เช่น ซากช้างบ้าง ซากม้าบ้าง ซากโคบ้าง ซากกระบือบ้าง ซากคนบ้าง ซากงูบ้าง ซากสุนัขบ้าง ใช่แต่จะพึงได้เจอก็หาไม่ แม้กลิ่นของซากเหล่านั้นที่มากระทบจมูก ก็เป็นสิ่งที่เธอจำต้องทนด้วย ต่อนั้น เธอจะต้องยืนที่ช่องเข้าหมู่บ้าน มองดูทางเดินในหมู่บ้าน เพื่อหลีกอันตราย มีช้างดุ ม้าดุเป็นต้น สิ่งปฏิกูลมีเครื่องลาด ที่เปื้อนละอองเป็นต้น มีซากหลายอย่างเป็นที่สุด ดังกล่าวมาฉะนี้นี้ เป็นสิ่งที่เธอจำต้องเหยียบย่ำด้วย จำต้องเจอด้วย จำต้องได้กลิ่นด้วย ก็เพราะอาหารเป็นเหตุ ความปฏิกูลโดยการเดินไป พระโยคาวจรพึงเห็นดังนี้เถิดว่า “โอ !ปฏิกูลจริงนะ อาหารนี้”
ส่วนโยคาวจรที่เป็นคฤหัสถ์ พึงเห็นโดยนัยแห่งการเดินไปเพื่อประกอบหน้าที่การงานเถิด ปฏิกูลโดยการแสวงหา
บรรพชิตผู้แม้ทนความปฏิกูลในการเดินไปอย่างนี้แล้ว เข้าสู่หมู่บ้าน คลุมตัวด้วยสังฆาฏิ ก็ต้องเที่ยวไปตามทางในหมู่บ้างตามลำดับเรือน เหมือนคนกำพร้ามือถือกระเบื้องเที่ยวไปฉะนั้น ในทางไรเล่า คราวฤดูฝนในที่ ๆ ย่ำ ๆ ไป เท้าจมลงในเลนกระทั่งถึงเนื้อปลีแข้ง ต้องถือบาตรด้วยมือข้างหนึ่ง ยกจีวรได้ด้วยมือข้างหนึ่ง ครั้นถึงฤดูร้อน ก็ต้องเที่ยวไปภิกขา ทั้งที่ร่างกายมอมแมมด้วยฝุ่นและละอองหญ้า ที่ฟุ้งขึ้นด้วยกำลังลม ถึงประตูเรือนนั้น ๆ แล้ว ก็ต้องเจอ ลางทีก็ต้องย่ำหลุมโสโครกและแอ่งน้ำครำ อันคละคล่ำไปด้วยของโสโครกมีน้ำล้างปลา น้ำล้างมือ น้ำซาวข้าว น้ำลาย น้ำมูก และมูลสุนัขมูลสุกรเป็นต้น คลาคล่ำไปด้วยหมู่หนอนและแมลงวันหัวเขียว ซึ่งเป็นแหล่งที่แมลงวันในหมู่บ้านขึ้นมาเกาะที่สังฆาฏิบ้าง ที่บาตรบ้าง ที่ศีรษะบ้าง เมื่อเธอเข้าไปถึงเรือนเล่า เจ้าของเรือนลางพวกก็ให้ลางพวกก็ไม่ให้ ที่ให้เล่า ลางพวกก็ให้ข้าวที่หุงไว้แต่เมื่อวานบ้าง ของเคี้ยวเก่า ๆ บ้าง กับข้าวมีแกงถั่วบูด ๆ เป็นต้นบ้าง ที่ไม่ให้เล่า ลางพวกบอกว่า “โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด เจ้าข้า” เท่านั้น แต่ลางพวกแสร้งทำเป็นไม่เห็น นิ่งเฉยเสีย ลางพวกก็เบือนหน้าเสียลางพวกก็ร้องว่าเอาด้วยคำหยาบ ๆ เป็นต้นว่า “ไปเว้ย คนหัวโล้น”ถึงอย่างนี้ เธอก็จำต้องเที่ยวบิณฑบาตไปในหมู่บ้านอย่างคนกำพร้า แล้วจึงออกไปแล สิ่งปฏิกูลมีเลนเป็นอาทิดังกล่าวมาฉะนี้นี่ เป็นสิ่งที่เธอจำต้อง เหยียบย่ำด้วย จำต้องเจอด้วย จำต้องทนด้วย ตั้งแต่เข้าสู่หมู่บ้านจนกระทั่งออกไป ก็เพราะอาหารเป็นเหตุโดยแท้ ความปฏิกูลโดยการแสวงหา พระโยคาวจรพึงเห็นลงดังนี้เถิดว่า “โอ ! ปฏิกูลจริงนะ อาหารนี่”
ส่วนโยคาวจรที่เป็นคฤหัสถ์ พึงเห็นโดยนัยแห่งการประกอบหน้าที่การงานเถิดปฏิกูลโดยการบริโภค
บรรพชิตผู้มีอาหารอันแสวงหาอย่างนี้แล้ว นั่งตามสบายอยู่ในที่อันผาสุกภายนอกหมู่บ้าน พึงเห็นลงดังนี้เถิดว่า “เธอยังมิได้หย่อนมือลงในอาหารที่อยู่ในบาตรนั้นเพียงใด เธอได้เห็นภิกษุผู้เป็นครุฐานิยะก็ดี คนผู้เป็นลัชชีก็ดี เช่นนั้นแล้วก็อาจนิมนต์ หรือเชื้อเชิญให้บริโภคอาหารนั้นได้อยู่เพียงนั้น แต่ครั้นพอเธอหย่อนมือลงในอาหารนั้นด้วยใคร่จะฉัน จะกล่าวเชื้อเชิญท่านให้รับอาหารนั้น มีอันจะต้องกระดากอาย ครั้นเมื่อเธอหย่อนมือลงแล้วขยำอยู่ เหงื่อมือ ออกตามนิ้วทั้ง 5 ทำข้าวสุกแม้ที่กระด้างเพราะความแห้งให้ชุ่มจนอ่อนไปได้ ทีนี้ ครั้นบิณฑบาตนั้น เสียความงามไปแล้วเพราะการกระทำแม้เพียงขยำ เธอทำให้เป็นคำวางลงในปากแล้ว ฟันล่างทำกิจแห่งครก ฟันบททำกิจ แห่งสาก ลิ้นทำกิจแห่งมือให้สำเร็จไป บิณฑบาตนั้น อันโขลกด้วยสากคือฟัน พลิกไปมาอยู่ด้วยลิ้น ราวกะข้าวสุนัขในรางข้าวสุนัข อยู่ในปากนั้น น้ำลายใสจางที่ปลายลิ้นก็เปื้อนเอา น้ำลายข้นแต่กลางลิ้นเข้าไปก็เปื้อนเอา มูลฟันในที่ ๆ ไม่ชำระฟันไม่ถึงก็เปื้อนเอา บิณฑบาตนั้นที่แหลกและเปื้อนแล้วอย่างนี้ มีสีกลิ่นและการปรุงแต่อย่างวิเศษหายไปทันที กลับกลายเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่ง ดังสำรอกของสุนัขที่อยู่ในรางข้าวสุนัขฉะนั้น บิณฑบาตนั้นแม้เป็นอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่พึงกลืนลงไปได้ เพราะมันล่วงคลองจักษุ คือมองไม่เห็น” ส่วนโยคาวจรที่เป็นคฤหัสถ์ พึงเห็นโดยนัยเดียวกันปฏิกูลโดยอาสยะ
ความปฏิกูลโดยอาสยะ พึงเห็นลงอย่างนี้ว่า “ก็แลอาหารที่ได้บริโภคเข้าไปแล้วอย่างนี้ เมื่อกำลังเข้าไปข้างในสำไส้ เพราะเหตุที่ในอาสยะ 4 คือ อาสยะคือน้ำดี อาสยะคือเสมหะ อาสจยะคือบุพโพ อาสยะคือโลหิต อาสยะอย่างหนึ่ง ย่อมมี แม้แก่พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธ แม้แก่พระเจ้าจักรพรรดิ แต่สำหรับพวกคนมีปัญญาอ่อน อาสยะมีทั้ง 4 อย่าง เพราะเหตุนั้น ผู้ใดมีอาสยะคือน้ำดียิ่ง อาหารที่เข้าไปในลำไส้ของผู้นั้น ก็เป็นเหมือนเปรอะด้วยยางมะซางข้น ๆ น่าเกลียดยิ่งนัก ผู้ใดมีอาสยะคือเสมหะยิ่ง ของผู้นั้นก็เป็นเหมือนเปรอะด้วยน้ำในแตงหนู ผู้ใดมีอาสจยะคือบุพโพยิ่ง ของผู้นั้นก็เป็นเหมือนเปรอะด้วยเปรียงเน่า ผู้ใดมีอาสยะคือโลหิตยิ่ง ของผู้นั้นก็เป็นเหมือนเปรอะด้วยน้ำย้อมจีวร น่าเกลียดยิ่งนัก” ปฏิกูลโดยที่พัก
ความปฏิกูลโดยที่พักพึงเห็นลงอย่างนี้ว่า “อาหารอันกลืนเข้าไปที่เปื้อนด้วยอาสยะ 4 อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วนั้น เข้าไปภายในท้องแล้วจะได้ไปพักอยู่ในภาชนะทำด้วยทองก็หามิได้ ไปพักอยู่ในภาชนะ ประดับแก้วมณีหรือภาชนะทำด้วยเงินเป็นต้นก็หามิได้ แต่ว่าถ้าคนอายุ 10 ขวบกลืนลงไป ก็ไปพักอยู่ในโอกาสที่เป็นเช่นหลุมคูถอันไม่ได้ล้างมา 10 ปี ถ้าคนอายุ 20-30-40-50-60-70-80-90 ปี กลืนลงไป ก็ไปพักอยู่ในโอกาสที่เป็นเช่นหลุมคูถอันไม่ได้ล้างมา 20-30-40-50-60-70-80-90 ปี ถ้าคนอายุ 100 ปีกลืนลงไป ก็ไปพักอยู่ในโอกาสที่เป็นเช่นหลุมคูถอันไม่ได้ล้างมา 100 ปี ” ปฏิกูลโดยยังไม่ย่อย
ความปฏิกูลโดยยังไม่ย่อย พึงเห็นลงอย่างนี้ว่า “ก็แลอาหารนี้นั้น ที่เข้าไปพักอยู่ในโอกาสอย่างนั้นแล้ว ยังไม่ย่อยเพียงใด ที่กลืนลงไปในวันนั้นบ้าง ในวันวานบ้าง ในวันก่อนนั้นบ้าง ทั้งหมดด้วยกัน อันฝ้าเสมหะปิดคลุมไว้ ก่อเป็นฟองเป็นต่อมขึ้น อันเกิดซึ่งความเป็นของน่าเกลียดอย่างยิ่งตั้งอยู่ในที่มีประการดังกล่าวแล้วนั้นแหละอันเป็นที่มืดมิด ตลบไปด้วยกลิ่นอายอับด้วยกลิ่นซากสัตว์ที่เป็นอาหารต่าง ๆ มีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดนักอยู่เพียงนั้น เปรียบประดุจของไม่สะอาดต่าง ๆ เช่นหญ้า ใบไม้ เสื่อขาด ๆ และซากงู ซากสุนัข ซากคน ที่ตกอยู่ในหลุมโสโครก ข้างช่องเข้าหมู่บ้านพวกจัณฑาล อันถูกเมฆฝนนอกฤดู กาลในหน้าร้อน ตกรดแล้ว ถูกแดดแผดเผา ก็ก่อเป็นฟองเป็นต่อม ส่งกลิ่นน่าเกลียดอยู่ฉะนั้น” ปฏิกูลโดยย่อยแล้ว
ความปฏิกูลโดยย่อยแล้ว พึงเห็นลงอย่างนี้ว่า “อาหารนั้นเมื่อเป็นสิ่งที่ย่อยไปด้วยไปธาตุในร่างกาย ในโอกาสที่พักอยู่นั้นแล้ว ก็หาได้กลายเป็นของมีค่าเช่นทองและเงินไปไม่ แต่มันกลับปล่อยฟองและต่อมออกมา กลายเป็นอุจจาระไป เหมือนดินสีเหลืองที่เขาบดที่หินบดแล้วบรรจุเข้าไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ฉะนั้น และกลายเป็นปัสสาวะไปอีกส่วนหนึ่ง” ปฏิกูลโดยผล
ความปฏิกูลโดยผลพึงเห็นลงอย่างนี้ว่า “ก็อาหารนี้ ที่ย่อยดีเท่านั้นจึงผลิตซากต่าง ๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้นขึ้นได้ ที่ย่อยไม่ดี กลับก่อโรค ตั้ง 100 ชนิดขึ้น เป็นต้นว่า หิดเปื่อย หิดด้าน คุดทะราด เรื้อนกลาก หืด ไอ และลงแดง นี้ผลของมัน” ปฏิกูลโดยการไหลออก
ความปฏิกูลโดยการไหลออก พึงเห็นลงอย่างนี้ว่า “ก็อาหารนั่น เมื่อกลืนลงไปเข้าไปช่องเดียว แต่เมื่อไหลออก ไหลออกจากหลายช่องอย่างเช่นว่า มูลตาไหลออกจากตา มูลหูไหลออกจากหู อนึ่ง อาหารนั่น ในคราวกิน กินกับพรรคพวกมากคนก็มี แต่ในคราวไหลออกมันกลายเป็นของไม่สะอาด มีอุจจาระปัสสาวะเป็นต้นไปเสียแล้ว ก็ถ่ายออกแต่คนเดียว อนึ่ง ในวันที่หนึ่ง คนกินมันร่าเริง เบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัสก็มี แต่ในวันที่สองมันไหลออก คนปิดจมูก เบือนหน้า เกลียด กระดาก อนึ่ง ในวันที่หนึ่งคนยินดี ละโมบ ติดใจ สยบ กลืนมันลงไปก็มี แต่พอวันที่สองเพราะค้างอยู่คืนเดียวก็สิ้นยินดี เกิดเป็นทุกข์ อาย รังเกียจ ถ่ายออกไป เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
“ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของกิน อันมีค่ามาก เข้าทางช่องเดียว แต่ ไหลออกจาก 9 ช่อง ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของกินอันมีค่ามาก คน กินกันพร้อมทั้งพวกพ้อง แต่ เมื่อถ่ายออก ย่อมซ่อนเร้น ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และของกิน อันมีค่ามาก คนนิยมยินดีกินเข้าไป แต่ เมื่อ ถ่ายออกย่อมเกลียด ข้าว น้ำ ของเคี้ยว และ ของกินอันมีค่ามาก เพราะค้างอยู่คืนเดียว ก็เป็น ของเสียไปสิ้น” ปฏิกูลโดยความเปรอะเปื้อน
ความปฏิกูลโดยความเปรอะเปื้อนพึงเห็นลงอย่างนี้ว่า “ก็แลอาหารนั่นแม้ในเวลาบริโภค ก็เปื้อนมือ ริมฝีปาก ลิ้น แลเพดานปาก มือริมฝีปาก ลิ้น แลเพดานปากนั้นเป็นสิ่งปฏิกูลไปเพราะถูกอาหารนั้นเปื้อนเอา ซึ่งแม้ล้างก็ยังต้องล้างอีกเล่า เพื่อขจัดกลิ่น เมื่อคนบริโภคมันเข้าไปแล้ว มันย่อยเป็นฟองปุดขึ้นด้วยไฟธาตุในกายอันซ่านไปทั่วร่างแล้วก็ขึ้นมาเปื้อนฟันโดยเป็นมูลฟัน เปื้อนสิ่งที่เนื่องด้วยปากเช่นลิ้นและเพดานปาก โดยเป็นเขฬะและเสมหะเป็นต้น เปื้อนทวารทั้งหลาย มีช่องตา ช่องหู ช่องจมูก และช่องเบื้องล่าง เป็นต้น โดยเป็นมูลตา มูลหู น้ำมูก น้ำปัสสาวะ และอุจจาระ เปรียบเหมือนเมื่อข้าวถูกหุงอยู่ สิ่งที่เป็นกากทั้งหลายมีแกลบ รำ และ ข้าวลีบเป็นต้น ย่อมลอยขึ้นมาเปื้อนขอบปากหม้อข้าวและฝา ฉะนั้น ซึ่งทวารเหล่านี้ที่มันเปื้อนเอาแล้ว แม้ล้างอยู่ทุกวันก็ยังเป็นสิ่งไม่สะอาดไม่น่าชอบใจอยู่นั่น ในทวารทั้งหลายไรเล่า เพราะล้างทวารลางอย่างเข้า มือก็เป็นสิ่งที่จำต้องล้างด้วยน้ำอีกที เพราะล้างทวารลางอย่างแล้ว มือนั้นฟอกด้วยสบู่บ้าง ด้วยน้ำยาบ้าง ด้วยผงซักฟอกบ้างตั้ง 2-3 ครั้ง จึงหายจากความปฏิกูล” อาหารเรปฏิกูลสัญญาฌาน
เมื่อโยคางจรภิกษุนั้น พิจารณาเห็นความปฏิกูลโดยอาการ 10 อย่างนี้ ทำจนเป็นสิ่งที่ตรึกเอามาได้อยู่ กพฬิงการาหารย่อมจะปรากฏโดยอาการปฏิกูล เธอส้องเสพเจริญทำให้มากซึ่งนิมิตนั้นแล้ว ๆ เล่า ๆ เมื่อเธอทำไปอย่างนั้น นิวรณ์ทั้งหลายจะรำงับ จิตจะตั้งมั่นโดยอุปจารสมาธิ อันไม่ถึงอัปปนา เพราะความที่กพฬิงการาหารเป็นสภาพลึกโดยความเป็นสภาวธรรม แต่เพราะว่าสัญญาในกพฬิงการาหารนั้น ย่อมปรากฏด้วยอำนาจการถือเอาการปฏิกูล เพราะเหตุนั้น กรรมฐานนี้จึงถึงซึ่งความนับว่า “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” ดังนี้ อานิสงส์แห่งอาหารเรปฏิกูลสัญญา
ก็แล จิตของภิกษุผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งอาหาเรปฏิกูลสัญญานี้ย่อมถอย ย่อมหด ย่อมกลับจากรสตัณหา เธอเป็นผู้ปราศจากความมัวเมากลืนกินอาหารเพียงเพื่อต้องการจะข้ามทุกข์ไปได้ ดุจคนเดินทางกันดาร มีความต้องการจะข้ามทางกันดารให้จงได้ ไม่มีอะไรจะกิน จำต้องฆ่าบุตรแล้ว กินเนื้อบุตรฉะนั้น ทีนี้ราคะอันเป็นไปในเบญจกามคุณของเธอก็จะถึงซึ่งความกำหนดรู้ได้ ไม่สู้ยาก โดยมีความกำหนดรู้กพฬิงการาหาร โดยอาการปฏิกูล เป็นตัวนำทาง เธอจะกำหนดรู้รูปขันธ์ได้โดยมีความกำหนดรู้เบญจกามคุณเป็นมุข อนึ่ง แม้การเจริญกายคตาสติของเธอก็จะถึงความบริบูรณ์ ด้วยอำนาจความปฏิกูลแห่งอาหาร เธอนับว่าเป็นผู้ดำเนินข้อปฏิบัติอนุโลมแก่อสุภสัญญาด้วย อนึ่งเล่า เธออาศัยข้อปฏิบัติอันนี้แล้ว เมื่อยังไม่ลุถึงความสิ้นสุดคือพระอมตะในทิฏฐธรรมนี่ ก็จะมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแล

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย