ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


อนุมานปัญหา

กุญชร วรรคที่สี่

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งปลวกเป็นไฉน”
      พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร ปลวกทำเครื่องปิดบังข้างบนปกปิดตนเที่ยวหากินอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องทำเครื่องปิดบัง กล่าวคือ ศีลสังวร ปกปิดใจเที่ยวอยู่เพื่อบิณฑาหารฉันนั้น ขอถวายพระพร โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ย่อมเป็นผู้ก้าวล่วงภัยทั้งปวงได้ด้วยเครื่องปิดบัง คือ ศีลสังวรแล นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งปลวก
      แม้คำนี้ พระอุปเสนเถระผู้บุตรวังคันตพราหมณ์ก็ได้กล่าวไว้ว่า
      “ผู้ประกอบความเพียร ทำใจให้มีศีลสังวรเป็นเครื่องปิดบังเป็นผู้อันโลกทาไล้ไม่ได้แล้ว ก็ย่อมพ้นรอบจากภัย ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งแมวเป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร แมวไปสู่ถ้ำ ไปสู่โพรงไม้ หรือไปสู่ภายในเรือน ย่อมแสวงหาหนูเท่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรไปสู่บ้าน ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่สุญญาคาร ก็ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วเนือง ๆ แสวงหาโภชนะ กล่าวคือ กายคตาสติอย่างเดียวฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งแมว
      อนึ่ง แม้ย่อมหากินในที่ใกล้เท่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้เห็นความเกิดและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ห้าเหล่านี้อยู่ทุกอริยาบถว่า ‘รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ ๆ , ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ ๆ, ความดับไปแห่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ ๆ’ ดังนี้ นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งแมว
      แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า
“ขันธบัญจกไม่พึงมีไม่พึงเป็น ในที่ไกลแต่ที่นี้, ที่สุดของความมีความเป็นแห่งขันธบัญจก จักทำอะรได้, ท่านทั้งหลายประสพอยู่ในกายเป็นของตน อันเกิดข้นเฉพาะหน้า อันนำไปวิเศษ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งหนูเป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร หนูวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ หวังต่ออาหารเท่านั้น วิ่งไปอยู่ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ เป็นผู้หวังต่อโยนิโสมนสิการเท่านั้น ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งหนู
      แม้พระอุปเสนเถระวังคันตบุตร ก็ได้กล่าวไว้ว่า
      “ผู้มีปัญญาเห็นแจ้งกระทำความมุ่งหวังธรรมอยู่ มิได้ย่อหย่อนเป็นผู้ข้าระงับแล้ว มีสติอยู่ทุกเมื่อ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งแมลงป่องเป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร แมลงป่องมีหางเป็นอาวุธ ชูหางเที่ยวไปอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีญาณเป็นอาวุธ ยกญาณขึ้นอยู่ทุกอิริยาบถ ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งแมลงป่อง
      แม้พระอุปเสนเถระคันตบุตร ก็ได้กล่าวไว้ว่า
“ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ถือเอาพระขรรค์กล่าว คือ ญาณเที่ยวอยู่ย่อมพ้นจากสรรพภัยอันตราย, และผู้มีปัญญาเห็นแจ้งนั้น ยากที่ใคร ๆ จะผจญได้ในภพ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งพังพอนเป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร พังพอนเมื่อเข้าใกล้งู เกลือกกายด้วยยาแล้ว จึงเข้าใกล้เพื่อจะจับงู ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรเมื่อเข้าใกล้โลกผู้มีความโกรธความอาฆาตมาก ผู้อันความทะเลาะถือเอาต่าง กล่าวแก่งแย่ง ความยินย้ายครอบงำแล้ว ก็ต้องลูบทาน้ำใจด้วยยากล่าวคือเมตตาพรหมวิหาร ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งพังพอน
      แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า
“ด้วยเหตุนั้น กุลบุตรควรกระทำเมตตาภาวนาแก่ตนและคนอื่น, กุลบุตรควรแผ่ไปด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา ข้อนี้เป็นคำสั่งสอนแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” ดังนี้
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งสุนัขจิ้งจอกแก่เป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพระ สุนัขจิ้งจอกแก่ได้โภชนะแล้ว ไม่เกลียดกินจนพอต้องการ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ได้โภชนะแล้วก็มิได้เกลียด บริโภคสักว่ายังสรีระให้เป็นไปนั่นเทียว, ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งสุนัขจิ้งจอกแก่
      แม้พระมหากัสสปเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า
      “ข้าพเจ้าลงจากเสนาสนะเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต; ข้าพเจ้าบำรุงบุรุษผู้มีโรคเรื้อนผู้บริโภคอยู่นั้นโดยเคารพ บุรุษนั้นน้อมคำข้าวไปด้วยมือของข้าพเจ้า, เมื่อข้าพเจ้าป้อนคำข้าวอยู่ บุรุษนั้นงับเอานิ้วมือของข้าพเจ้าไว้ในปากนั้น ข้าพเจ้าอาศัยประเทศเป็นที่ตั้งแห่งฝาเรือน จักบริโภคคำข้าว; ในเมื่อคำข้าวที่ข้าพเจ้าบริโภคอยู่หรือบริโภคแล้ว ความเกลียดย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า ดังนี้”
      อนึ่ง สุนัขจิ้งจอกแก่ได้โภชนะแล้ว มิได้เลือกกว่าเศร้าหมองหรือประณีต ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ได้โภชนะแล้วก็ไม่ต้องเลือกว่าเศร้าหมองหรือประณีต บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ ยินดีตามมีตามที่ได้มาอย่างไร ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์สองแห่งสุนัขจิ้งจอกแก่
      แม้พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า
“เรายินดีตามมีแม้ด้วยของเศร้าหมอง ไม่ปรารถนารสอื่นมาก, เมื่อเราไม่ละโมบในรสทั้งหลาย ใจของเราก็ย่อมยินดีในฌาน, ในเมื่อเรายินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ คุณเครื่องเป็นสมณะของเราย่อมเต็มรอบ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งเนื้อเป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร เวลากลางวันเนื้อย่อมเที่ยวไปในป่า เวลากลางคืนย่อมเที่ยวไปในกลางแจ้ง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เวลากลางวันพึงอยู่ในป่า เวลากลางคืนอยู่ในที่แจ้ง ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งเนื้อ
      แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในโลมหังสนะปริยายว่า


“ดูก่อนสารีบุตร ราตรีทั้งหลายนั้นใด เย็นเป็นไปในเหมันตฤดู ในราตรีทั้งหลายเห็นปานนั้น ณ สมัยเป็นที่ตกแห่งน้ำค้าง เรานั้นแลสำเร็จอิริยาบถอยู่ในอัพโภกาสในราตรี สำเร็จอิริยาบถอยู่ในราวป่าในกาลวัน, ในเดือนมีในภายหลังแห่งคิมหฤดูเราสำเร็จอิริยาบถอยู่ในอัพโภกาสในกลางวัน, เราสำเร็จอิริยาบถอยู่ในราวป่าในราตรี ดังนี้”
      อนึ่ง เนื้อในเมื่อหอกหรือศรตกลงอยู่ ย่อมหลบ ย่อมหนีไป ย่อมไม่นำกายเข้าไปใกล้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ในเมื่อกิเลสทั้งหลายตกลงอยู่ ก็ต้องหลบ ต้องหนีไป ต้องไม่น้อมจิตเข้าไปใกล้ ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งเนื้อ
      อนึ่ง เนื้อเห็นมนุษย์ทั้งหลายย่อมหนีไปเสียทางใดทางหนึ่งด้วยคิดว่า ‘มนุษย์เหล่านั้นอย่าได้เห็นเราเลย’ ฉะนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เห็นชนทั้งหลายผู้มีปกติบาดหมางกัน ทะเลาะกัน แก่งแย่งกัน วิวาทกัน ผู้ทุศีล ผู้เกียจคร้าน ผู้มีความยินดีในความคลุกคลี ก็ต้องหนีไปเสียทางใดทางหนึ่ง ด้วยคิดว่า ‘ชนเหล่านั้นอย่าได้พบเราเลย, และเราก็อย่าได้พบชนเหล่านั้นเลย’ ฉะนี้ ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งเนื้อ”
      แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า
“บางทีบุคคลมีความปรารถนาลามกเกียจคร้าน มีความเพียรอันละแล้ว มีพุทธวจนะสดับน้อย ผู้ประพฤติไม่ควร อย่าได้พบเราในที่ไร ๆ เลย” ดังนี้
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สี่ประการแห่งโคเป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร โคย่อมไม่ละที่อยู่ของตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ละกายของตนโดยโยนิโสมนสิการว่า “กายนี้ไม่เที่ยง ต้องอบกลิ่น นวดฟั้น มีความสลาย เรี่ยรายกระจัดกระจายเป็นธรรมดา’ ดังนี้ ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์เป็นปฐมแห่งโค”
      อนึ่ง โคเป็นสัตว์มีแอกอันรับไว้แล้วย่อมนำแอกไปโดยง่ายและยาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีพรหมจรรย์อันถือไว้แล้ว ประพฤติพรหมจรรย์มีชีวิตเป็นที่สุดจนถึงสิ้นชีวิต โดยง่ายและโดยยาก ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งโค
      อนึ่ง โคเมื่อสูดดมตามความพอใจ จึงดื่มกินซึ่งน้ำควรดื่ม ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องสูดดมตามความพอใจ ตามความรัก ตามความเลื่อมใส รับเอาคำพร่ำสอนของอาจารย์และอุปัชฌาย์ ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งโค
      อนึ่ง โคอันบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งขับไปอยู่ ก็ย่อมทำตามถ้อยคำ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องรับโอวาทานุสาสนีของภิกษุผู้เถระผู้ใหม่ ผู้ปานกลาง และของคฤหัสถ์ผู้อุบาสก ด้วยเศียรเกล้าฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งโค
      แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า
“กุลบุตรบวชในวันนั้น มีปีเจ็ดโดยกำเนิด, แม้ผู้นั้นพร่ำสอนเรา เราก็ต้องรับไว้เหนือกระหม่อม เราเห็นแล้ว พึงตั้งไว้ซึ่งความพอใจและความรักอันแรงกล้าในบุคคลนั้น, พึงนอบน้อมบุคคลนั้นเนือง ๆ โดยเอื้อเฟื้อในตำแหน่งอาจารย์ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งสุกรเป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร สุกรเมื่อถึงคิมหฤดูเป็นคราวเร่าร้อน ย่อมเข้าไปหาน้ำ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ครั้นเมื่อจิตขุ่นมัว พลั้งพลาด เหหวน เร่าร้อนด้วยโทสะ ก็ต้องเข้าไปใกล้ซึ่งเมตตาภาวนา ซึ่งเป็นของเยือกเย็น เป็นของไม่ตาย เป็นของประณีตฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งสุกร
      อนึ่ง สุกรเข้าไปใกล้น้ำตมแล้ว คุ้ยขุดดินด้วยจมูกกระทำให้เป็นปลักนอนในปลักนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องวางกายไว้ในใจ ไปในระหว่างอารมณ์นอนอยู่ ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งสุกร
      แม้พระปิณโทลภารทวาชเถระ ก็ได้กล่าไว้ว่า
“ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นความเป็นเองในกายแล้ว พิจารณาแล้ว เป็นผู้เดียวไม่มีเพื่อนที่สองนอนในระหว่างอารมณ์ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งช้างเป็นไฉน”
      ถ”ขอถวายพระพร ธรรมดาช้าง เมื่อเที่ยวไป ย่อมทำลายแผ่นดิน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องพิจารณากายทำลายกิเลสทั้งปวงเสีย ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งช้าง
      อนึ่ง ช้างไม่เหลียวด้วยกายทั้งปวง ย่อมเพ่งดูตรงนั่นเทียว มิได้เลือกทิศน้อยทิศใหญ่ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่เหลียวด้วยกายทั้งปวง ไม่เลือกทิศน้อยทิศใหญ่ ไม่แหงนขึ้นข้างบน ไม่ก้มลงข้างล่าง เป็นผู้เพ่งแลไกลชั่วแอก ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งช้าง
      อนึ่ง ช้างไม่ได้นอนเป็นนิตย์ ไปหาอาหารเนือง ๆ ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งประเทศนั้นเพื่อจะอยู่ มิได้มีอาลัยในที่อาศัยแน่นอน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มิได้นอนเป็นนิตย์ มิได้มีที่อยู่ ไปเพื่อบิณฑบาต ถ้าว่าเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นมณฑปมีในประเทศอันงดงาม หรือโคนไม้ ถ้ำ เงื้อม เป็นที่ฟูใจสมควร ก็เข้าอาศัยอยู่ในที่นั้น แต่หากระทำความอาลัยในที่อาศัยแน่นอนไม่ ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งช้าง
      อนึ่ง ช้างลงสู่น้ำก็ลงสู่สระบัวใหญ่ ๆ ซึ่งบริบูรณ์ด้วยน้ำอันสะอาดไม่ขุ่นและเย็น ดาดาษแล้วด้วยกุมาท อุบล ปทุม ปุณฑริก เล่นอย่างช้างอันประเสริฐ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องลงสู่สระโบกขรณีอันประเสริฐ กล่าวคือ มหาสติปัฏฐาน ซึ่งเต็มแล้วด้วยน้ำ กล่าวคือ ธรรมอันประเสริฐ อันสะอาด ไม่หม่นหมอง ผ่องใส มิได้ขุ่นมัว ดาดาษด้วยดอกไม้ กล่าวคือ วิมุตติ ล้างขัดสังขารทั้งหลายด้วยญาณปรีชา เล่นอย่างโยคาวจร ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งช้าง
      อนึ่ง ช้างยกเท้าขึ้นก็มีสติ จดเท้าลงก็มีสติ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยกเท้าขึ้นด้วยสติสัมปชัญญะ จดเท้าลงด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะในเวลาก้าวไปและก้าวกลับคู้อวัยวะเข้าและออกในที่ทั้งปวง ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งช้าง
      แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า
‘ความสำรวมด้วยกายเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมด้วยวาจาเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมด้วยใจเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, บุคคลผู้สำรวมในที่ทั้งปวง นักปราชญ์กล่าวว่า ‘ผู้มีความละอาย มีไตรทวารรักษาแล้ว’ ดังนี้”
     

หัวข้อประจำกุญชรวรรคนั้น
ปลวกหนึ่ง แมวหนึ่ง หนูหนึ่ง แมลงป่องหนึ่ง พังพอนหนึ่ง สุนัขจิ้งจอกหนึ่ง เนื้อหนึ่ง โคหนึ่ง สุกรหนึ่ง ช้างหนึ่ง เป็นสิบ ฉะนี้


โฆรสร วรรคที่หนึ่ง
ลาวุลตา วรรคที่สอง
จักกวัตติ วรรคที่สาม
กุญชร วรรคที่สี่
สีห วรรคที่ห้า
มักกฎ วรรคที่หก
กุมภ วรรคที่เจ็ด
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย