ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


อนุมานปัญหา

สีห วรรคที่ห้า

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์เจ็ดประการแห่งราชสีห์ เป็นไฉน”
      พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร ธรรมดาราชสีห์เป็นสัตว์ขาวไม่หม่นหมอง หมดจดสะอาด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีจิตขาว ไม่หม่นหมอง บริสุทธิ์ผุดผ่อง ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งราชสีห์
      อนึ่ง ราชสีห์มีเท้าสี่เป็นเครื่องเที่ยวไป มักเที่ยวไปด้วยลีลาศ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีอิทธิบาทสี่เป็นเครื่องเที่ยวไป ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งราชสีห์
      อนึ่ง ราชสีห์เป็นสัตว์มีผมงอกงามมีรูปอันยิ่ง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีผม กล่าวคือศีลงาม มีรูปอันยิ่งฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งราชสีห์
      อนึ่ง ราชสีห์ย่อมไม่นอบน้อมแก่สัตว์ไร ๆ แม้เพราะต้องเสียชีวิต ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไม่นอบน้อมแก่ใคร ๆ แม้เพราะจะต้องเสีย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาเป็นปัจจัยแห่งคนไข้เป็นบริขาร ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งราชสีห์
      อนึ่ง ราชสีห์เป็นสัตว์มีภักษามิได้ขาด ย่อมบริโภคเนื้อสัตว์ในโอกาสที่สัตว์นั้นล้มนั่นแหละจนพอต้องการ มิได้เลือกบริโภคเนื้อล่ำของสัตว์ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีภักษามิได้ขาด มิได้เลือกตระกูลทั้งหลาย มิได้ละเรือนต้นเข้าไปใกล้ตระกูลทั้งหลาย บริโภคพอยังสรีระให้เป็นไป ในโอกาสเป็นที่รับโภชนะนั่นเอง มิได้เลือกโภชนะอันเลิศ ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งราชสีห์
      อนึ่ง ราชสีห์มิได้มีภักษาหารสะสมไว้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีความบริโภคมิได้กระทำความสะสมไว้ ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หกแห่งราชสีห์
      อนึ่ง ราชสีห์มิได้อาหารก็ไม่ได้ดิ้นรน ถึงได้อาหารก็ไม่โลภ ไม่หมกมุ่น ไม่ทะยานกินฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ไม่ได้โภชนะก็ต้องไม่ดิ้นรน ถึงได้โภชนะก็ต้องไม่โลภ ไม่หมกมุ่น ไม่ทะยาน เห็นอาทีนพอยู่เป็นปกติ มีปัญญาเป็นเหตุออกไปจากภพ บริโภคอยู่ ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่เจ็ดแห่งราสีห์
      แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสรรเสริญพระมหากัสสปเถระก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า
      “แน่ะภิกษุทั้งหลาย กัสสปนี้เป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และมีปกติกล่าวคุณของการสันโดา ด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ย่อมไม่ถึงความแสวงหาไม่ควร และกรรมไม่สมควร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่ดิ้นรนถึงได้บิณฑบาตก็ไม่โลภ ไม่หมกมุ่น ไม่ทะยาน เห็นอาทีนพอยู่เป็นปกติ มีปัญญาเป็นเหตุออกไปจากภาพ บริโภคอยู่’ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งนกจากพราก เป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร นกจากพรากย่อมไม่ละทิ้งนางนกตัวที่เป็นภริยาจนตลอดชีวิต ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็มิได้ละทิ้งความกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ จนตลอดชีวิต ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งนกจากพราก
      อนึ่ง นกจากพรากมีสาหร่ายและแหนเป็นภักษา ย่อมถึงความเต็มใจด้วยสาหร่ายและแหนนั้น และไม่เสื่อมจากกำลังและพรรณเพราะความเต็มใจนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องทำความเต็มใจตามลาภที่ได้ ฉันนั้น ก็โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรเป็นผู้เต็มใจตามลาภที่ได้ ก็ไม่เสื่อมจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ และมิได้เสื่อมจากสรรพกุศลธรรมทั้งหลาย นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนกจากพราก
      อนึ่ง นกจากพรากย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีทัณฑะอันละทิ้งแล้ว มีศัสตราอันละทิ้งแล้ว มีความละอาย ถึงพร้อมด้วยความเอ็นดู มีปกติอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ในสัตว์มีชีวิตทั้งปวง ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งนกจากพราก
      แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ ในจักกะวากชาดกว่า
      “ผู้ใดไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่า ไม่ผจญ ไม่ว่ากล่าว, เวรของผู้นั้น


      ย่อมไม่มีกับใคร ๆ เพราะอันไม่เบียดเบียนในสัตว์ทั้งปวง’ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งนางนกเงือก เป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร นางนกเงือกย่อมไม่เลี้ยงลูกทั้งหลายเพราะริษยาในผัวของตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องหวงห้ามกิเลสทั้งหลายอันเกิดขึ้นในใจตนเสีย ใส่เข้าซึ่งกิเลสทั้งหลายในโพรงไม้ กล่าวคือ ความสำรวมโดยชอบด้วยสติปัฏฐานแล้วยังกายคตาสติให้เจริญในมโนทวาร ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งนางนกเงือก
      อนึ่ง นางนกเงือกเที่ยวหาอาหารที่ป่าใหญ่ตลอดทั้งวัน เวลาเย็นก็กลับมายังฝูงนกเพื่อความรักษาซึ่งตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ผู้เดียว เสพที่อันสงัดทั้งเพื่อความพ้นรอบจากสังโยชนธรรม, เมื่อไม่ได้ความยินดีในที่สงัดทั่วนั้น พึงกลับสู่สังฆมณฑล เป็นผู้อันสงฆ์รักษาแล้วอยู่ เพื่ออันป้องกันซึ่งภัย คือ ความถูกว่าได้ ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนางนกเงือก
      แม้คำนี้ท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้กราบทูลในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“เสพที่นอนที่นั่งอันสงัดทั้งหลาย, ประพฤติเพื่อความพ้นวิเศษจากสังโยชนธรรม; ถ้าไม่ถึงทับความยินดีในเสนาสนะเหล่านั้น, จงเป็นผู้มีตนอันรักษาแล้ว มีสติอยู่ในสังฆมณฑล ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งนกพิราบเรือนเป็นไฉน”
      ถ ขอถวายพระพร นกพิราบเรือนเมื่ออยู่ที่เรือนของชนอื่นย่อมไม่ถือเอานิมิตหน่อยหนึ่งแห่งเข้าของ แห่งชนทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสัตว์มัธยัสถ์หมายรู้มากอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรเข้าไปสู่ตระกูลอื่น ก็ต้องไม่ถือเอานิมิตในเตียง ตั่ง ผ้า เครื่องประดับ เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค หรือโภชนะวิกัติทั้งหลายของสตรีหรือบุรุณ เป็นผู้มัธยัสถ์ เข้าไปตั้งไว้เฉพาะซึ่งความสำคัญว่าเราเป็นสมณะฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งนกพิราบเรือน
      แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ ในจูฬนารทชาดก ว่า
‘เข้าไปสู่ตระกูลแล้ว พึงเคี้ยวกิตแต่พอประมาณ บรรดาน้ำควรดื่มทั้งหลาย หรือโภชนะทั้งหลายพึงเคี้ยวกินแต่พอประมาณ พึงบริโภคแต่พอประมาณ, และอย่ากระทำซึ่งใจในรูป’ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งนกเค้า เป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร นกเค้าโกรธกาทั้งหลาย พอเวลากลางคืนก็ไปยังฝูงกาแล้วฆ่ากาเสียเป็นอันมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกระทำความยินร้ายต่ออญาณความไม่รู้เท่าเสีย เป็นผู้ ๆ เดียวนั่ง ณ ที่ลับย่ำยีอญาณ ตัดเสียตั้งแต่รากเง่า ฉันนั้นนี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งนกเค้า
      อนึ่ง นกเค้าเป็นสัตว์หลีกเร้นอยู่ ณ ที่ลับ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีที่สงัดเป็นที่มารื่นรมย์ ยินดีแล้วในการหลีกเร้นอยู่ ฉันนั้น, นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนกเค้า
      แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า
      ‘แน่ะภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีที่สงัดเป็นที่มารื่นรมย์ ยินดีในความหลีกเร้นอยู่ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า ‘อันนี้เป็นทุกข์ อันนี้เป็นสมุทัย อันนี้เป็นนิโรธ อันนี้เป็นมรรค’ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งนกสตปัตตะ เป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร นกสตปัตตะร้องขึ้นและย่อมบอกสุขเกษมหรือทุกข์ภัยให้เป็นนิมิตแก่ชนทั้งหลายอื่น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เมื่อสำแดงธรรมแก่ชนทั้งหลายอื่น ก็ต้องสำแดงวินิบาตโดยความเป็นทุกข์ภัย แสดงนิพพานโดยความเป็นสุขเกษม ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ประกอบหนึ่งแห่งนกสตปัตตะ
      แม้พระปิโณโฑลภารทวาชเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า
      ‘ผู้ประกอบความเพียร ควรจะแสดงซึ่งเนื้อความสองอย่างนี้ คือ ความน่ากลัว น่าสะดุ้งในนรก ความสุขอันไพบูลในนิพพาน’ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งค้างคาว เป็นไฉน”
      ถ ขอถวายพระพร ค้างคาวเข้าไปสู่เรือน เที่ยวไปแล้วก็ออกไป ไม่กังวลอยู่ในเรือนนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เข้าไปบิณฑบาตในบ้าน เที่ยวไปตามลำดับตรอก ได้บิณฑบาตแล้วก็กลับทันที มิได้กังวลอยู่ในบ้านนั้น ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งค้างคาว
      อนึ่ง ค้างคาวเมื่ออยู่ที่เรือนของชนอื่น ไม่ไดทำความเสื่อมแก่ชนเหล่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เข้าไปสู่ตระกูลแล้วก็ต้องไม่ทำความเดือดร้อนหน่อยหนึ่งแก่ชนเหล่านั้น ด้วยการรบกวนเขาเหลือเกิน ด้วยความเป็นผู้ขอเขามาก ด้วยความเป็นผู้มีโทษเกิดแต่กายมาก ด้วยความเป็นผู้ช่างพูดเหลือเกิน หรือด้วยความเป็นผู้มีสุขและทุกข์ร่วมด้วยเขา, และไม่ยังการงานอันเป็นที่ตั้งแห่งทรัพญ์สมบัติของชนเหล่านั้นให้เสื่อมเสียไป ปรารถนาความเจริญอย่างเดียวโดยประการทั้งปวง ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งค้างคาว
      แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในลักขณสูตร ในทีฆนิกายอันประเสริฐว่า
‘บุคคลปรารถนาอยู่ว่า ‘ไฉนชนเหล่าอื่นไม่พึงเสื่อมจากศรัทธา ศีล สุตะ ปัญญา จาคะ กรรมที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จเป็นอันมาก ทรัพย์ ข้าวเปลือก นาและที่ดิน บุตรทั้งหลาย ภริยาทั้งหลาย เหล่าสัตว์สี่เท้า เหล่าญาติ เหล่ามิตร เหล่าพวกพ้อง กำลัง พรรณ สุข, ฉะนี้, และจำนงหวังความมั่นคั่ง ความสำเร็จแห่งประโยชน์’ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งปลิง เป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร ปลิงเกาะที่อวัยวะใด ก็เกาะแน่นในอวัยวะนั้น ดื่มโลหิตอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร หน่วงจิตไว้ในอารมณ์ใด ก็ต้องตั้งอารมณ์นั้นไว้ให้มั่น โดย วรรณ สัณฐาน ทิศ โอกาส ปริจเฉท ลิงค์ และนิมิต ดื่มรส คือ วิมุตติอันไม่เจือกิเลส ด้วยอารมณ์นั้น ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ประกอบหนึ่งแห่งปลิง
      แม้พระอนุรุทธเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า
      ‘บุคคลมีจิตบริสุทธิ์ ตั้งอยู่เฉพาะในอารมณ์ พึงดื่มรส คือ วิมุตติอันไม่เจือกิเลส ด้วยจิตนั้น’ ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งงูเป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร งูย่อมเลื้อยไปด้วยอก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเที่ยวอยู่ด้วยปัญญา; เมื่อโยคาวจรเที่ยวอยู่ด้วยปัญญา จิตก็เที่ยวอยู่ในมรรคาอันนำออกไปจากภพ เว้นสิ่งที่ไม่มีเครื่องหมายเสีย ยังสิ่งที่มีเครื่องหมายให้เจริญ ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งงู
      อนึ่ง งูเมื่อเที่ยวไป เว้นยาเสียเที่ยวไปอยู่ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเว้นทุจริตเสียเที่ยวอยู่ ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งงู
      อนึ่ง งูเห็นมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมเดือดร้อน เศร้าโศก เสียใจ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ตรึกถึงความตรึกอันชั่วแล้วยังความไม่ยินดีให้เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเดือดร้อน เศร้าโศกเสียใจว่า วันแห่งเราเป็นไปล่วงแล้วด้วยความประมาท วันที่เป็นไปล่วงแล้วนั้น เราไม่อาจได้อีก, ฉะนี้ ฉันนั้น
      แม้กินนรทั้งสอง ก็ได้กล่าวไว้ ในภัลลาฏิยชาดกว่า
‘แน่ะนายพราน เราทั้งสองอยู่ปราศจากกันสิ้นราตรีหนึ่ง อันใด เราทั้งสองไม่อยากจะพลัดพรากกัน ระลึกถึงกันอยู่ เดือดร้อนเนือง ๆ เศร้าโศกถึงกันสิ้นราตรีหนึ่ง อันนั้น ราตรีนั้นจักมีอีกไม่ได้’ดังนี้”
      ร “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งงูเหลือม เป็นไฉน”
      ถ “ขอถวายพระพร งูเหลือมเป็นสัตว์มีกายใหญ่ มีท้องพร่องขัดสนอาหาร ย่อมไม่ได้อาหารสักว่าพอเต็มท้อง สิ้นวันเป็นอันมากเป็นสัตว์ไม่บริบูรณ์ด้วยอาหาร ย่อมประทังไปเพียงแต่อาหารสักว่ายังสรีระให้เป็นไป ฉันใด, เมื่อโยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ขวนขวายเพื่อภิกขาจารวัตร เข้าไปใกล้บิณฑะของบุคคลอื่น มีความมุ่งหมายบิณฑะอันบุคคลอื่นให้แล้ว เว้นเสียจากความถือเอาเอง ก็ยากที่จะได้อาหารให้เพียงพอ, ถึงกระนั้น กุลบุตรผู้เป็นไปในอำนาจประโยชน์ก็ไม่บริโภคคำข้าวสี่ห้าคำ ยังกระเพาะให้เต็มด้วยน้ำแทนคำข้าวที่เหลือนั้น ฉันนั้น นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งงูเหลือม
      แม้พระสารีบุตรเถระผู้ธรรมเสนาบดี ก็ได้กล่าวไว้ว่า
‘ภิกษุเมื่อบริโภคของสดหรือของแห้งก็มิให้อิ่มนัก เป็นผู้มีอุทรพร่อง มีอาหารพอประมาณ มีสติเว้นเสีย ไม่บริโภค คำข้าวสี่ห้าคำ ดื่มน้ำแทน การประพฤตินั้นเป็นของควรเพื่อวิหารธรรมอันสำราญ แห่งภิกษุผู้มีจิตส่งไปแล้ว’ ดังนี้”
 

หัวข้อประจำสีหวรรคนึ่ง
ราชสีห์หนึ่ง นกจากพรากหนึ่ง นางนกเงือกหนึ่ง นกพิราบเรือนหนึ่ง นกเค้าหนึ่ง นกสตปัตตะหนึ่ง ค้างคาวหนึ่ง ปลิงหนึ่ง งูหนึ่ง งูเหลือมหนึ่ง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าวรรค


โฆรสร วรรคที่หนึ่ง
ลาวุลตา วรรคที่สอง
จักกวัตติ วรรคที่สาม
กุญชร วรรคที่สี่
สีห วรรคที่ห้า
มักกฎ วรรคที่หก
กุมภ วรรคที่เจ็ด
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย