ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


เมณฑกปัญหา

วรรคที่สี่

6 อุทรสํยมปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้ และตรัสอีกแล้วว่า 'ดูก่อนอุทายี ก็เราแล ในกาลบางที บริโภคเสมอขอบบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'แน่ะอุทายี ก็เราแล ในกาลบางที บริโภคเสมอขอบบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้ นั้นผิด ถ้าว่า พระตถาคตเจ้าตรัสแล้วว่า 'แน่อุทายี ก็เราแลในกาลบางที บริโภคเสมอขอบบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหาร อันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาพึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด"
      พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้ว แม้ซึ่งพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้ และตรัสแล้วว่า 'แน่ะอุทายี ก็เราตถาคตแล ในกาลบางที บริโภคเสมอขอบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้ พระพุทธพจน์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า "ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง" ดังนี้ พระพุทธพจน์นั้นเป็นเครื่องกล่าวโดยสภาวะเป็นเครื่องกล่าวเหตุไม่เหลือ เป็นเครื่องกล่าวเหตุไม่มีส่วนเหลือ เป็นเครื่องกล่าวโดยนิปริยายโดยตรง เป็นเครื่องกล่าวเหตุที่แท้ เป็นเครื่องกล่าวเหตุตามเป็นจริง ไม่วิปริต เป็นคำของฤษีและมุนี เป็นพระพุทธพจน์ของพระผู้มีพระภาค เป็นคำของพระอรหันต์ เป็นคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระพุทธพจน์ของพระชินพุทธเจ้า เป็นพระพุทธพจน์ของพระสัพพัญญู เป็นพระพุทธพจน์ของพระตถาคต พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
      ขอถวายพระพร บุคลไม่สำรวมแล้วในท้อง ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้แล้วบ้าง ย่อมถึงภริยาของผู้อื่นบ้าง ย่อมกล่าวคำเท็จบ้าง ย่อมดื่มน้ำกระทำผู้ดื่มแล้วให้เมาบ้าง ย่อมฆ่ามารดาบ้าง ย่อมฆ่าบิดาบ้าง ย่อมฆ่าพระอรหันต์บ้าง ย่อมทำลายสงฆ์บ้าง ย่อมกระทำพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้น ด้วยจิตอันประทุษร้ายแล้วบ้าง
      ขอถวายพระพร พระเทวทัตไม่สำรวมท้องแล้ว ทำลายสงฆ์แล้วสร้างกรรมเป็นที่ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ไม่ใช่หรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุทั้งหลายมีอย่างมาก แม้เหล่าอื่นเป็นปานฉะนี้แล้ว จึงตรัสแล้วว่า "ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารที่ตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมท้อง" ดังนี้
      ขอถวายพระพร บุคคลผู้สำรวมท้องแล้ว ย่อมถึงพร้อมเฉพาะคือตรัสรู้อภิสมัย คือ สัจจะสี่ กระทำสามัญญผลทั้งหลายสี่ให้แจ้งย่อมถึงความเป็นผู้ชำนาญในปฏิสัมภิทาทั้งหลายสี่ด้วย ในสมาบัติทั้งหลายแปดด้วย ในอภิญญาทั้งหลายหกด้วย บำเพ็ญสมณธรรมสิ้นเชิงด้วย
      ขอถวายพระพร ลูกนกแขกเต้าเป็นผู้สำรวมท้องแล้ว กระทำโลกให้ไหวแล้ว เพียงไรแต่พิภพชื่อดาวดึงส์ นำท้าวสักกะผู้เป็นจอมของเทวดาทั้งหลาย เข้าไปยังที่บำรุงแล้วมิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุทั้งหลายมากอย่างแม้เหล่าอื่นเห็นปานฉะนี้ จึงตรัสแล้วว่า "ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารที่ตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงสำรวมแล้วในท้อง" ดังนี้
      ขอถวายพระพร ก็พระพุทธพจน์ใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า "แน่ะ อุทายี ก็เราผู้ตถาคตแล ในกาลบางคราว บริโภคเสมอขอบบาตรบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้" ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้นอันพระตถาคตมีกิจกระทำแล้ว มีกิริยาสำเร็จแล้ว สำเร็จประโยชน์แล้ว มีกาลเป็นที่สุดอยู่แล้ว ห้ามกิเลสได้แล้ว เป็นพระสัพพัญญูผู้เป็นเอง ตรัสหมายเอาพระองค์เอง
      ขอถวายพระพร ความกระทำความสบายแก่บุคคลเป็นไข้ กระสับกระส่ายอยู่ สำรอกแล้ว รุนแล้ว รมแล้ว เป็นกิริยาอันหมอพึงปรารถนาฉันใด, ความสำรวมในท้อง อันบุคคลยังมีกิเลส ยังไม่เห็นสัจจะ พึงกระทำฉันนั้นเทียวแล กิจที่จะต้องกระทำด้วยความขัดและครู่สี และชำระให้หมดจด ย่อมไม่มีแก่แก้วมณีอันมีความสว่าง มีชาติบริสุทธิ์โดยชาติยิ่ง ฉันใด, ความห้ามในความกระทำกิริยาทั้งหลาย ย่อมไม่มีแด่พระตถาคตเจ้า ผู้บรรลุบารมีในวิสัยของพระพุทธเจ้าแล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล"
      ร "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น"

 


วรรคที่ 1
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วัณณภณนปัญหา
อหึสานิคคหปัญหา
ภิกขุปณามปัญหา
สัพพัญญูสยปณามปัญหา
อนิเกตานาลยกรณปัญหา
อุทรสํยมปัญหา
ธัมมวินยปฏิจฉันนปัญหา
มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา
ยาจโยคปัญหา
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย