ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย


เมณฑกปัญหา

วรรคที่สี่

9 ยาจโยคปัญหา

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรที่ยาจกจะพึงขอ เป็นผู้ล้างมือเตรียมไว้ทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงสรีระกายมีในที่สุด เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้ และตรัสอีกว่า 'ขันธปัญจก คือ พากุลภิกษุนี้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้ ก็อาพาธที่เกิดแล้วในพระสรีรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมปรากฏมากครั้ง ถ้าว่า พระตถาคตไม่มีใครยิ่งกว่า, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ขันธปัญจก คือ พากุลภิกษุนี้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้เป็นผิด ถ้าว่า พระพากุลเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย บรรดาที่มีอาพาธน้อย, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรที่ยาจกจะพึงขอ เป็นผู้ล้างมือเตรียมไว้ทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงสรีรกายมีในที่สุด เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด"
      พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร จริงอยู่ พระพุทธพจน์นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรที่ยาจกจะพึงขอ เป็นผู้ล้างมือเตรียมไว้ทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงสรีระกายมีในที่สุด เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้ และตรัสแล้วว่า 'ขันธปัญจก คือ พากุลภิกษุนี้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้ ก็แหละ พระพุทธพจน์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอานิกายเป็นที่มา และมรรคที่บุคคลจะพึงเรียนซึ่งมีในภายนอก
      ขอถวายพระพร พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เป็นผู้ประกอบการยืนและจงกรมก็มีอยู่, พระสาวกเหล่านั้น ย่อมยังวันให้น้อมล่วงไป ด้วยการยืนและจงกรม, ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังวันและคืนให้น้อมล่วงไป ด้วยการยืน จงกรม นั่ง บรรทม; ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นใด เป็นผู้ประกอบการยืนและจงกรม ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้เอกยิ่ง ด้วยคุณพิเศษนั้น พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เป็นเอกาสนิกะ คือ ฉันหนเดียวก็มีอยู่, พระสาวกเหล่านี้ ไม่ยอมฉันโภชนะเป็นครั้งที่สอง แม้เพราะเห็นแก่ชีวิต, ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเสวยพระกระยาหารครั้งที่สอง เพราะทรงหิว; ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นใด ที่เป็นเอกาสนิกะ ฉันหนเดียว ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้เอกยิ่ง ด้วยคุณพิเศษนั้น เหตุทั้งหลายเช่นนั้นมากมายอย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความข้อนั้นตรัสแล้ว ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีใครยิ่งกว่า โดยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตตญาณทัสสนะ และโดยพระกำลัง และเวสารัชชญาณ และโดยพระพุทธธรรมสิบแปดประการ ก็แหละพระองค์ทรงหมายเอาพระคุณธรรมนั้น ในพุทธวิสัยทั้งมวลตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ฯลฯ เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้
      ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนในหมู่มนุษย์ บุคคลผู้หนึ่งเป็นผู้มีชาติ ผู้หนึ่งเป็นผู้มีทรัพย์ ผู้หนึ่งเป็นผู้มีวิชชา ผู้หนึ่งเป็นผู้มีศิลปะ ผู้หนึ่งเป็นคนกล้าหาญ ผู้หนึ่งเป็นคนฉลาดเฉียบแหลม, ชนเหล่านั้นแม้ทุกชนิด พึงมีในโลก, พระราชานั่นแล ย่อมเป็นผู้สูงสุดกว่าชนทั้งหลายเหล่านั้น โดยแท้ ข้อนี้ฉันใด; พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเป็นยอดเป็นใหญ่เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้นนั่นแล ส่วนท่านผู้มีอายุพากุละนี้ ที่เป็นผู้มีอาพาธน้อยนั้น เนื่องด้วยอภินิหาร คือ บุญกุศลที่ได้ก่อสร้างไว้โดยเฉพาะ ท่านเป็นผู้มีอาพาธน้อย อันพระผู้มีพระภาคเจ้ายกย่องว่าเป็นผู้เลิศ ก็เพราะช่วยบำบัดพยาธินั้น ๆ เสีย"
      ร "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น"

 


วรรคที่ 1
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วัณณภณนปัญหา
อหึสานิคคหปัญหา
ภิกขุปณามปัญหา
สัพพัญญูสยปณามปัญหา
อนิเกตานาลยกรณปัญหา
อุทรสํยมปัญหา
ธัมมวินยปฏิจฉันนปัญหา
มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา
ยาจโยคปัญหา
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
วรรคที่ 8
วรรคที่ 9
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย