ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

มิลินทปัญหา
ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย

มิลินทปัญหา

วรรคที่สาม

1 อัทธานปัญหา

      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ก็อะไรเป็นมูลของกาลไกลที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันเล่า "
           พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "มหาราช อวิชชาเป็นมูลของกาลไกลที่เป็นอดีตอนาคตปัจจุบัน, (คือ) สังขารย่อมมีมา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย, วิญญาณย่อมมีมา เพราะสังขารเป็นปัจจัย, นามรูปย่อมมีมา เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย, สฬายตนะย่อมมีมา เพราะนามรูปเป็นปัจจัย, ผัสสะเป็นปัจจัย, ตัณหาย่อมมีมา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย, อุปาทานย่อมมีมา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย, ภพย่อมเป็นปัจจัย, ชราและมรณโสกปริเทวทุกขโสมนัสอุปายาสย่อมมีมา เพราะชาติเป็นปัจจัย; เงื่อนต้นแห่งกาลไกลนั้นย่อมไม่ปรากฏดังนี้"
           ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

2 ปุริมโกฏิปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ก็ข้อที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า 'เงื่อนต้นไม่ปรากฏนั้น,' ขอพระผู้เ)นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่ง จะเพาะพืชลงในแผ่นดินสักนิดหน่อย, หน่อก็จะแตกขึ้นจากพืชนั้นแล้ว ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยลำดับแล้วจะเผล็ดผล, และบุรุษคนนั้น จะถือเอาพืชแม้แต่ผลไม้นั้นไปปลูกอีก, หน่อก็จะแตกขึ้น แม้จากพืชนั้นแล้ว ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยลำดับแล้วจะเผล็ดผล, เมื่อเป็นดังนั้น ที่สุดของความสืบต่ออันนี้มีหรือไม่ "
      ร "ไม่มีซิ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ข้อนั้นฉันใด, เงื่อนต้นของกาลไกล ก็ไม่ปรากฏฉันนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นอีก"
           ถ "เหมือนอย่างว่า ฟองไก่มาจากแม่ไก่ แม่ไก่ก็มาจากฟองไก่ ฟองไก่ก็มาจากแม่ไก่นั้นอีก, เมื่อเป็นดังนี้ ที่สุดของความสืบต่ออันนี้มีหรือไม่ "
      ร "ไม่มีซิ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ข้อนั้นฉันใด, เงื่อนต้นของกาลไกล ก็ไม่ปรากฏฉันนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก"
      พระเถรเจ้า เขียนรูปจักรลงที่พื้นแล้ว ทูลถามพระเจ้ามิลินท์ว่า "ขอถวายพระพร ที่สุดของจักรนี้มีหรือไม่ "
      ร "ไม่มีซิ พระผู้เป็นเจ้า"
           ถ "ข้อนั้นฉันใด, จักรทั้งหลาย (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วเหล่านี้ ก็เหมือนฉันนั้น, (คือ) อาศัยตากับรูป เกิดจักขุวิญญาณขึ้น, อาศัยหูกับเสียง เกิดโสตวิญญาณขึ้น, อาศัยจมูกกับกลิ่น เกิดฆานวิญญาณขึ้น, อาศัยลิ้นกับรสเกิดชิวหาวิญญาณขึ้น, อาศัยกายกับโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาขึ้น, อาศัยใจกับธรรม เกิดมโนวิญญาณขึ้น, ความประชุมแห่งธรรมทั้งหลายสามประการ ๆ ชื่อผัสสะ, ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา, เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา, ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน, อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดกรรมล ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมเกิดขึ้นแต่กรรมนั้นอีก, ก็เมื่อเป็นดังนี้ ที่สุดของความสืบต่ออันนี้ มีหรือไม่ "
      ร "ไม่มีซิ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ขอถวายพระพร ข้อนั้นฉันใด, เงื่อนต้นของกาลไกลก็ไม่ปรากฏฉันนั้น"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

3 โกฏิยาปุริมปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ก็ข้อที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า 'เงื่อนต้นไม่ปรากฏนั้น,' เงื่อนต้นนั้นอะไร "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "เงื่อนต้นนั้น คือ กาลไกลที่เป็นอดีต"
           ร "ก็ข้อที่พระผู้เป็นเจ้าว่า 'เงื่อนต้นไม่ปรากฏนั้น,' ไม่ปรากฏทั้งหมดหรือ "
      ถ "บางอย่างปรากฏ, บางอย่างไม่ปรากฏ"
      ร "อย่างไหนปรากฏ อย่างไหนไม่ปรากฏ "
      ถ "ขอถวายพระพร ในกาลก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่ได้มีแล้วด้วยประการทั้งปวง, เงื่อนต้นนั้นแหละไม่ปรากฏ; สิ่งใดที่ยังไม่มีย่อมมีขึ้น ที่มีแล้วย่อมกลับไปปราศ, เงื่อนต้นนั้นแหละปรากฏ"
      ร "ก็สิ่งใดที่ยังไม่มีย่อมมีขึ้น, ที่มีแล้วกลับไปปราศ, สิ่งนั้นขาดทั้งสองข้างแล้ว ย่อมถึงความล่วงลับไปไม่ใช่หรือ พระผู้เป็นเจ้า "
      ถ "ขอถวายพระพร ได้"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "ได้ทำต้นไม้ให้เป็นอุปมาในข้อนั้นว่า 'ก็แต่ว่าขันธ์ทั้งหลายชื่อว่าพืชแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

4 สังขารชายนปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เจ้า สังขารทั้งหลายบางอย่างที่เกิดอยู่ มีหรือ "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร มี"
      ร "สังขารทั้งหลายเหล่าไหน พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "เมื่อตาและรูปมี จักขุวิญญาณก็มีขึ้น, เมื่อจักขุวิญญาณมีจักขุสัมผัสก็มีขึ้น, เมื่อหูและเสียงมี โสตวิญญาณก็มีขึ้น, เมื่อโสตวิญญามี โสตสัมผัสก็มีขึ้น, เมื่อจมูกและกลิ่นมี ฆานวิญญาณก็มีขึ้น, เมื่อฆานวิญญาณมี ฆานสัมผัสก็มีขึ้น, เมื่อลิ้นและรสมี ชิวหาวิญญาณก็มีขึ้น, เมื่อชิวหาวิญญาณมี ชิวหาสัมผัสก็มีขึ้น, เมื่อกายและโผฏฐัพพะมี กายวิญญาณก็มีขึ้น, เมื่อกายวิญญาณมี กายสัมผัสก็มีขึ้น, เมื่อใจและธรรมมี มโนวิญญาณก็มีขึ้น, เมื่อมโนวิญญาณมี มโนสัมผัสก็มีขึ้น, เมื่อสัมผัสทั้งหกนี้มีอยู่แล้ว เวทนาก็มีขึ้น, เมื่อเวทนามี ตัณหาก็มีขึ้น, เมื่อตัณหามี อุปาทานก็มีขึ้น, เมื่ออุปาทานมี ภพก็มีขึ้น, เมื่อภพมี ชาติก็มีขึ้น, เมื่อชาติมี ชรา มรณะ โสก ปริเทวทุกข โทมนัส อุปายาส ก็มีขึ้นพร้อม, ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีอย่างนี้, ก็เมื่อตาและรูปไม่มี จักขุวิญญาณก็มิได้มี, เมื่อจักขุวิญญาณไม่มี จักขุสัมผัสก็มิได้มี, เมื่อจักขุสัมผัสไม่มี เวทนาก็มิได้มี, เมื่อเวทนาไม่มี ตัณหาก็มิได้มี, เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานก็มิได้มี, เมื่ออุปทานไม่มี ภพก็มิได้มี, เมื่อภพไม่มี ชาติก็มิได้มี, เมื่อชาติไม่มี ชราและมรณโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสก็ดับไป, ความดับโดยไม่เหลือแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีอย่างนี้"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

5 ภวันตสังขารชายนปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า สังขารทั้งหลายบางอย่างที่ไม่เคยเกิด ย่อมเกิดขึ้นมีบ้างหรือ "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร ไม่มี"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน, พระที่นั่งซึ่งเป็นที่ประทับแห่งพระองค์หลังนี้ ไม่เคยเกิด เกิดแล้วหรือ "
      ร "อะไร ๆ ในที่นี้ ซึ่งไม่เคยเกิด เกิดแล้วไม่มี, ของในที่นี้ล้วนแต่เคยเกิด เกิดแล้วทั้งสิ้น, ไม้ทั้งหลายนี้ได้เกิดแล้วในป่า, ดินนี้ได้เกิดแล้วที่แผ่นดิน, เรือนหลังนี้ได้เกิดแล้วอย่างนี้ เพราะอาศัยความเพียรที่พอจะให้เป็นได้ของหญิงและบุรุษ"
      ถ "ข้อนั้นฉันใด, สังขารทั้งหลายบางอย่างที่ไม่เคยเกิด ย่อมเกิดขึ้นไม่มี, ที่เคยเกิดจึงเกิดขึ้นได้ ข้อนี้ก็ฉันนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก"
      ถ "เหมือนอย่างว่า พืชคามและภูตคามทั้งหลายบางอย่างที่ปลูกไว้ในแผ่นดินแล้ว ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยลำดับ ก็เผล็ดดอกออกผล ใช่ว่าต้นไม้ทั้งหลายเหล่านั้นไม่เคยเกิด เกิดแล้ว, ต้นไม้ทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เคยเกิด เกิดแล้วทั้งสิ้น ข้อนี้ฉันใด; สังขารทั้งหลายบางอย่าง ที่ไม่เคยเกิดย่อมเกิดขึ้น ไม่มี, ที่เคยเกิดจึงเกิดขึ้นได้ ก็เหมือนฉันนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นอีก"
      ถ "เหมือนอย่างว่า ช่างหม้อทั้งหลาย ขุดดินขึ้นจากแผ่นดินแล้ว ทำภาชนะทั้งหลายต่าง ๆ, มิใช่ว่าภาชนะทั้งหลายนั้น ไม่เคยเกิดแล้ว, ภาชนะทั้งหลายนั้น เคยเกิดจึงเกิดแล้ว ข้อนั้นฉันใด; สังขารทั้งหลาย บางอย่างที่ไม่เคยเกิด ย่อมเกิดขึ้น ไม่มี, ที่เคยเกิดจึงเกิดขึ้นได้ ฉันนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก"
      ถ "ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า "ตัวของพิณไม่มี, หนังไม่มี, รางไม่มี, คันไม่มี, ลูกบิดไม่มี, สายไม่มี, เครื่องดีดไม่มี, ความเพียรที่พอจะให้เกิดเสียงได้ของบุรุษไม่มี, เสียงจะเกิดขึ้นได้หรือ "
           ร "ไม่ได้ซิ"
      ถ "ก็เมื่อใด ตัวของพิณมี, หนังมี, รางมี, คันมี, ลูกบิดมี, สายมี, เครื่องดีดมี,        ความเพียรที่พอจะให้เกิดเสียงได้ของบุรุษมีอยู่เสียงจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ "
      ร "ได้ซิ"
      ถ "ข้อนั้นฉันใด, สังขารทั้งหลายบางอย่างที่ไม่เคยเกิด ย่อมเกิดขึ้น ไม่มี, ที่เคยเกิด จึงเกิดขึ้นได้ ฉันนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นอีก"
      ถ "เหมือนอย่างว่า ไม้สีไฟไม่มี, ลูกไม้สีไฟสำหรับรองข้างล่างไม่มี, เชือกสำหรับผูกไม้สีไฟไม่มี ไม้สำหรับสีข้างบนไม่มี, ปุยไม่มี ความเพียรที่พอจะให้เกิดไฟได้ของบุรุษไม่มี, ไฟนั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ "
      ร "ไม่ได้ซิ"
      ถ ก็เมื่อใดไม้สีไฟมี, ลูกไม้สีไฟสำหรับรองข้างล่างมี, เชือกสำหรับผูกไม้สีไฟมี, ไม้สำหรับสีข้างบนมี, ปุยมี, ความเพียรที่พอจะให้เกิดไฟได้ของบุรุษมี, ไฟนั้นจะเกิดได้หรือไม่ "
           ร "ได้ซิ"
           ถ "ข้อนั้นฉันใด, สังขารทั้งหลายบางอย่างที่ไม่เคยเกิด ย่อมเกิดขึ้น ไม่มี, ที่เคยเกิด จึงเกิดขึ้นได้ ฉันนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นอีก"
      ถ "เหมือนอย่างว่า แก้วมณีไม่มี, แสงพระอาทิตย์ไม่มี, โคมัยไม่มี, ไฟนั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ "
      ร "ไม่ได้ซิ"
      ถ "ก็เมื่อใดแล้วมณีมี, แสงพระอาทิตย์มี, โคมัยมี, ไฟนั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ "
      ร "ได้ซิ"
      ถ "ข้อนั้นฉันใด, สังขารทั้งหลายบางอย่างที่ไม่เคยเกิด ย่อมเกิดขึ้น ไม่มี, ที่เคยเกิด จึงเกิดขึ้นได้ ฉันนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังให้ยิ่งขึ้นอีก"
      ถ "เหมือนอย่างว่า แว่นไม่มี, แสงสว่างไม่มี, หน้าไม่มี, ตัวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ "
      ร "ไม่ได้ซิ"
      ถ "ก็เมื่อใด แว่นมี, แสงสว่างมี, หน้ามี, ตัวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ "
      ร "ได้ซิ"
      ถ ข้อนั้นฉันใด, สังขารทั้งหลายบางอย่างที่ไม่เคยเกิด ย่อมเกิดขึ้น ไม่มี, ที่เคยเกิด จึงเกิดขึ้นได้ ฉันนั้น"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

6 เวทคูปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "เจตภูต (เวทคู) มีอยู่หรือพระผู้เป็นเจ้า "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "มหาราช อะไรชื่อว่า เจตภูต (เวทคู)"
      ร "สภาวะที่เป็นอยู่ในภายใน ย่อมเห็นรูปได้ด้วยนัยน์ตา, ฟังเสียงได้ด้วยหู, สูบดมกลิ่นได้ด้วยจมูก, ลิ้มรสได้ด้วยลิ้น, ถูกต้องอารมณ์ที่จะพึงถูกต้องได้ด้วยกาย, รู้ธรรมที่ควรรู้ได้ด้วยใจ, เหมือนกะเราทั้งหลายนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้แล้ว ปรารถนาจะดูโดยหน้าต่างใด ๆ จะพึงเห็นได้โดยหน้าต่างนั้น ๆ, ปรารถนาจะดูโดยหน้าต่างข้างทิศบูรพาก็จะเห็นได้โดยหน้าต่างข้างทิศบูรพา, ปรารถนาจะดูโดยหน้าต่างข้างทิศปัศจิม ก็จะแลเห็นได้โดยหน้าต่างข้างทิศปศจิม, ปรารถนาจะดูโดยหน้าต่างข้างทิศอุดร ก็จะแลเห็นได้โดยหน้าต่างข้างทิศอุดร, ปรารถนาจะดูโดยหน้าต่างข้างทิศทักษิณ ก็จะแลเห็นได้โดยหน้าต่างข้างทิศทักษิณ, ข้อนี้ฉันใด; สภาวะที่เป็นอยู่ในภายในนั้น ปรารถนาจะเห็นโดยทวารใด ๆ ย่อมเห็นได้โดยทวารนั้น ๆ"
           ถ "ขอถวายพระพร อาตมภาพจะกล่าวถึงทวารห้า, ขอพระองค์ทรงสดับ ทำในพระทัยให้ชอบเถิด ถ้าสภาวะที่เป็นอยู่ในภายในนั้นจะเห็นรูปได้ด้วยนัยน์ตา, เหมือนอย่างว่า เราทั้งหลายนั่งอยู่ที่ปราสาทนี้ปรารถนาจะดูโดยพระแกลใด ๆ ก็ย่อมจะเห็นรูปได้โดยพระแกลนั้น ๆ, ปรารถนาจะดูโดยพระแกลข้างทิศบูรพา หรือทิศปัศจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ก็จะแลเห็นรูปได้โดยพระแกลข้างทิศบูรพา ทิศปัศจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ, เมื่อเป็นเช่นนี้; สภาวะที่เป็นอยู่ในภายในนั้นจะเห็นรูป ฟังเสียง สูบดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ ด้วยตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ, (ที่มิใช่วิสัยอีกห้าทวารนั้น) ก็ได้ทั้งนั้นหรือมหาราช "
      ร "ไม่ได้หมดทั้งนั้นซิ"
      ถ "คำที่พระองค์ตรัสนั้น ข้างต้นกับข้างปลายมิได้สมกัน อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า เราทั้งหลายนั้งอยู่บนปราสาทนี้แล้ว, เมื่อพระบัญชรทั้งหลายเหล่านี้เปิดแล้ว หันหน้าไปข้างนอก ย่อมเห็ฯรูปได้ดีกว่าทางอากาศอันใหญ่ ข้อนี้ฉันใด, สภาวะที่เป็นอยู่ในภายในนั้น, ครั้นเมื่อทวาร คือ ดวงตาเปิดแล้ว จะพึงเห็นรูปได้ดีกว่าทางอากาศอันใหญ่ ฉันนั้น, ครั้นเมื่อเปิดแล้ว จมูกเปิดแล้ว ลิ้นเปิดแล้ว กายเปิดแล้ว จะพึงฟังเสียงได้ จะพึงดมกลิ่นได้ จะพึงลิ้มรสได้ จะพึงถูกต้องโผฏฐัพพะได้ ดีกว่าทางอากาศอันใหญ่หรือไม่ "
      ร "ไม่ได้ซิ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ขอถวายพระพร คำที่พระองค์ตรัสนั้น ข้างต้นกับข้างปลายมิได้สมกัน อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ทินนอมาตย์นี้ออกไปยืนอยู่ที่ภายนอกซุ้มพระทวารแล้ว, พระองค์จะทรงทราบหรือไม่ "
      ร "ทราบซิ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า ทินนอมาตย์นี้เข้าไป ณ ภายในแล้ว ยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ ๆ จะทรงทราบหรือไม่ "
      ร "ทราบซิ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ ข้อนั้นฉันใด, สภาวะที่เป็นอยู่ในภายในนั้น จะพึงรู้รสที่วางไว้บนลิ้นว่า 'เป็นรสเปรี้ยว, รสเค็ม, รสขม, รสเผ็ด, รสฝาด, รสหวาน' หรือไม่ "
      ร "รู้ซิ พระผู้เป็น"
      ถ "สภาวะที่เป็นอยู่ในภายในนั้น จะพึงรู้รสทั้งหลายที่เข้าไปในภายในแล้วว่า 'เป็นรสเปรี้ยว, หรือรสเค็ม, รสขม, รสเผ็ด, รสฝาด, รสหวาน' หรือไม่ "
      ร "รู้ไม่ได้ซิ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "คำที่พระองค์ตรัสนั้น ข้างต้นกับข้างปลายมิได้สมกัน อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่ง นำน้ำผึ้งมาสักร้อยหม้อแล้วเทลงในรางให้เต็มแล้ว ปิดปากของบุรุษแล้ว จะจับลงวางไว้ในรางน้ำผึ้งนั้น, บุรุษนั้นจะรู้ได้ไหมว่า 'น้ำผึ้งนั้นอร่อยหรือไม่อร่อย "
           ร "รู้ไม่ได้ซิ พระผู้เป็นเจ้า"
           ถ "เพราะเหตุไร จึงรู้ไม่ได้ "
      ร "เพราะน้ำผึ้งไม่ได้เข้าไปในปากของบุรุษนั้น"
           ถ "คำที่พระองค์ตรัสนั้น ข้างต้นกับข้างปลายมได้สมกัน"
           ร "ข้าพเจ้ามสามารถจะเจรจากับพระผู้เป็นเจ้า ผู้ช่างพูดได้; ขอพระผู้เป็นเจ้าขยายความเถิด"
      พระเถรเจ้าได้ถวายวิสัชนาให้พระเจ้ามิลินท์ทรงเข้าพระราชหฤทัยด้วยพระอภิธรรมกถาว่า "ขอถวายพระพร อาศัยตากับรูป เกิดจักขุวิญญาณขึ้น, อาศัยหูกับเสียง เกิดโสตวิญญาณขึ้น, อาศัยจมูกกับกลิ่น เกิดฆานวิญญาณขึ้น, อาศัยลิ้นกับรส เกิดชิวหาวิญญาขึ้น, อาศัยกายกับโผฏฐัพพะ เกิดกายวิญญาณขึ้น, อาศัยใจกับธรรม เกิดมโนวิญญาณขึ้น, ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ และมนสิการ เกิดพร้อมกับวิญญาณทั้งหกนั้น, ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น เพราะปัจจัยอย่างนี้, แต่เจตภูต (เวทคู) ไม่มีอยู่ในนั้น"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

7 จักขุวิญญาณ มโนวิญญาปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า จักขุวิญญาณ, โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ, ชิวหาวิญญาณ, กายวิญญาณ, วิญญาณทั้งห้าอย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นในที่ใด; มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นในนั้นหรือ
           พระเถรเจ้าก็ทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร"
           ร "พระผู้เป็นเจ้า ก็วิญญาณทั้งห้านั้น อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก่อน มโนวิญญาณเกิดขึ้นภายหลัง, หรือว่ามโนวิญญาณเกิดขึ้นก่อน, วิญญาณทั้งห้านั้นเกิดขึ้นภายหลังเล่า "
      ถ "ขอถวายพระพร วิญญาณทั้งห้านั้นเกิดขึ้นก่อน มโนวิญญาณเกิดขึ้นภายหลัง"
      ร "ก็วิญญาณทั้งห้านั้น ได้สั่งมโนวิญญาณว่า 'เราเกิดขึ้นในที่ใด ท่านจงเกิดขึ้นในที่นั้น' ดังนี้, หรือว่ามโนวิญญาณบอกวิญญาณทั้งห้าว่า 'ท่านจักเกิดขึ้นในที่ใด เราจักเกิดขึ้นในที่นั้น' ดังนี้"
      ถ "ขอถวายพระพร ไม่อย่างนั้น, ความเจรจาด้วยกันและกันแห่งวิญญาณทั้งหลายเหล่านั้นมิได้มี"
      ร "ก็อย่างไร วิญญาณทั้งห้านั้นเกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณจึงเกิดขึ้นในที่นั่นเล่า พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "เพราะมโนวิญญาณเป็นดุจที่ลุ่ม เพราะเป็นทวาร เพราะเป็นที่เคย และเพราะเป็นที่ชำนาญ"
           ร "วิญญาณทั้งห้าเกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณเกิดขึ้นในที่นั้น, เพราะมโนวิญญาณเป็นดุจที่ลุ่มนั้นอย่างไร, ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
           ถ "ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นป็นไฉน: เหมือนอย่างว่า เมื่อฝนตกอยู่ น้ำจะพึงไหลไปโดยที่ไหนเล่า "
      ร "ที่ลุ่มอยู่ทางไหน น้ำก็จะไหลไปโดยทางนั้นแหละ พระผู้เป็นเจ้า"
      ถ "ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ฝนตกในสมัยอื่นอีก, น้ำจะพึงไหลไปทางไหนอีกเล่า "
      ร "น้ำคราวก่อนไหลไปทางใด, น้ำคราวหลังก็ไหลไปทางนั้น"
      ถ "ขอถวายพระพร น้ำคราวก่อนได้สั่งน้ำคราวหลังหรือว่า 'ถ้าเราไหลไปทางใด, ท่านจงไหลไปทางนั้น' ดังนี้, หรือว่าน้ำคราวหลังบอกน้ำคราวหน้าก่อนว่า 'ท่านจักไหลไปทางใด, เราจักไหลไปทางนั้น' ดังนี้"
      ร "หามิได้ ความเจรจาด้วยกันและกัน ของน้ำทั้งสองคราวนั้นมิได้มี, น้ำทั้งสองคราวนั้นไหลไป ก็เพราะที่นั้นลุ่ม"
      ถ "ข้อนั้นฉันใด, วิญญาณทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นในที่นั้น เพราะเป็นดุจที่ลุ่ม, วิญญาณทั้งห้านั้น มิได้สั่งมโนวิญญาณว่า 'เราเกิดขึ้นในที่ใด ท่านจงเกิดขึ้นในที่นั้น'  ดังนี้, มโนวิญญาณก็มิได้บอกวิญญาณทั้งห้าว่า 'ท่านเกิดขึ้นในที่ใด เราจักเกิดขึ้นในที่นั้น' ดังนี้ความเจรจาด้วยกันและกันของวิญญาณทั้งหลายนั้นมิได้มี, มโนวิญญาณเกิดขึ้น ก็เพราะมโนวิญญาณเป็นดุจที่ลุ่ม ข้อนี้ก็เหมือนฉะนั้น"
      ร "วิญญาณทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น เพราะมโนวิญญาณเป์นทวารนั้นอย่างไร  ขอพระพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "เหมือนอย่างว่า เมืองซึ่งตั้งอยู่ในที่สุดแดนของพระราชา มีกำแพงและเสาระเนียดแข็งแรงหนา มีประตู ๆ เดียว, บุรุษปรารถนาจะออกไปจากเมืองนั้น บุรุษนั้นจะพึงออกไปทางไหน"
      ร "ออกไปทางประตูนะซิ"
      ถ "ขอถวายพระพร บุรุษคนอื่นอีก ปรารถนาจะออกไปจากเมืองนั้น จะพึงออกไปทางไหน "
      ร "บุรุษคนก่อนออกไปทางใด บุรุษคนทีหลังก็ออกไปทางนั้นแหละ"
      ถ บุรุษคนก่อนได้สั่งคนทีหลังว่า 'เราออกไปทางใด ท่านจงออกไปทางนั้น' ดังนี้, หรือว่าบุรุษคนทีหลังบอกบุรุษคนก่อนว่า 'ท่านจักไปทางใด เราจักไปทางนั้น' ดังนี้เล่า "
      ร "หามิได้, ความเจรจาด้วยกันและกัน ของบุรุษทั้งสองนั้นมิได้มี"
      ถ "ข้อนั้นฉันใด, วิญญาณทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นในที่นั้น เพราะมโนวิญญาณเป็นทวาร, วิญญาทั้งห้านั้นมิได้สั่งมโนวิญญาณว่า 'เราเกิดขึ้นในที่ใด ท่านจงเกิดขึ้นในที่นั้น' ดังนี้, และมโนวิญญาณก็มิได้บอกวิญญาณทั้งห้าว่า 'ท่านจักเกิดขึ้นในที่ใด เราจักเกิดขึ้นในที่นั้น' ดังนี้ ความเจรจาด้วยกันและกัน ของวิญญาณทั้งหลายเหล่านั้นมิได้มี, วิญญาณทั้งห้านั้น เกิดเพราะมโนวิญญาณเป็นทวาร ข้อนี้ก็เหมือนฉะนั้น"
      ร "วิญญาณทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น เพราะมโนวิญญาณเป็นที่เคยนั้นอย่างไร  ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เกวียนเล่มหนึ่งไปก่อน, ในภายหลังเกวียนเล่มที่สองจะพึงไปทางไหน "
      ร "เกวียนเล่มก่อนไปทางใด เกวียนเล่มทีหลังก็ไปทางนั้นนะซิ"
       ถ"ขอถวายพระพร เกวียนเล่มก่อนได้สั่งเกวียนเล่มทีหลังว่า 'เราไปทางใด ท่านจงไปทางนั้น' ดังนี้, หรือว่าเกวียนเล่มทีหลังบอกเวียนเล่มก่อนว่า 'ท่านจักไปทางใด เราจักไปทางนั้น' ดังนี้"
      ร "หามิได้, ความเจรจาด้วยกันและกัน ของเกวียนทั้งหลายนั้นมิได้มี, เกวียนเล่มก่อนไปทางใด เกวียนเล่มทีหลังก็ไปทางนั้น เพราะเป็นของเคย"
      ถ "ข้อนั้นฉันใด, วิญญาณทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น เพราะมโนวิญญาณเป็นที่เคย, วิญญาณทั้งห้านั้นมิได้สั่งมโนวิญญาณว่า 'เราเกิดขึ้นในที่ใด ท่านจงเกิดขึ้นในที่นั้น' ดังนี้, และมโนวิญญาณก็มิได้บอกวิญญาณทั้งห้าว่า 'ท่านจักเกิดขึ้นในที่ใด เราจักเกิดขึ้นในที่นั้น' ดังนี้, ความเจรจาด้วยกันและกัน ของวิญญาณทั้งหลายเหล่านั้นมิได้, วิญญาณทั้งห้าเกิดขึ้นเพราะมโนวิญญาณเป็นที่เคย ข้อนี้ก็เหมือนฉะนั้น
      ร "วิญญาณทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น เพราะมโนวิญญาณเป็นที่ชำนาญนั้นอย่างไร  ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "คนแรกเรียนศิลป คือ วิธีนับ อันต่างโดยชื่อว่า มุทธา คณนา สังขา เลขา ย่อมมีความเงื่องช้า, ภายหลังในสมัยอื่น เพราะได้ตริตรองทำชำนาญ ย่อมไม่มีความเชื่องช้า เหมือนอย่างก่อนฉันใด; วิญญาณทั้งห้าอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในที่ใด มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น เพราะมโนวิญญาณเป็นที่ชำนาญ, วิญญาณทั้งห้านั้นมิได้สั่งมโนวิญญาณว่า 'เราเกิดขึ้นในที่ใด ท่านจงเกิดขึ้นในที่นั้น' ดังนี้, และมโนวิญญาณก็มิได้บอกวิญญาณทั้งห้าว่า 'ท่านจักเกิดขึ้นในที่ใด เราจักเกิดขึ้นในที่นั้น' ดังนี้, ความเจรจาด้วยกันและกันของวิญญาณทั้งหลายนั้นมิได้มี, วิญญาณทั้งห้านั้นเกิดขึ้นเพราะมโนวิญญาณเป็นที่ชำนาญ ข้อนี้ก็เหมือนฉะนั้น"
           ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

8 ผัสสลักขณปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า มโนวิญญาณเกิดขึ้นในที่ใด, เวทนาก็เกิดขึ้นในที่นั้นหรือ "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร มโนวิญญาณเกิดขึ้นในที่ใด แม้ผัสสะ แม้เวทนา แม้สัญญา แม้เจตนา แม้วิจารก็ย่อมเกิดในที่นั้น; ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้นแม้ทั้งหมด"
      ร "พระผู้เป็นเจ้า ผัสสะมีลักษณะอย่างไร "
      ถ "ผัสสะมีลักษณะถูกต้อง"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "เหมือนอย่างว่า แกะสองตัวจะชนกัน, พึงเห็นจักษุว่าเหมือนแกะตัวหนึ่งในแกะทั้งสองนั้น, พึงเห็นรูปว่า เหมือนแกะตัวที่สอง, พึงเห็นผัสสะว่า เหมือนความถูกกันแห่งแกะทั้งสองนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าของอุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก"
           ถ "เหมือนอย่างว่าฝ่ามือทั้งสองจะปรบกัน พึงเห็นจักษุว่าเหมือนฝ่ามือข้างนั้น, พึงเห็นรูปว่า เหมือนฝ่ามือข้างที่สอง, พึงเห็นผัสสะว่า เหมือนความถูกกันแห่งฝ่ามือทั้งสองข้างนั้น"
           ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก
      ถ "เหมือนอย่างว่า คนถือไม้กรับสองอันจะตีกัน, พึงเห็นจักษุว่า เหมือนไม้กรับอันหนึ่ง ในไม้กรับทั้งสองอันนั้น, พึงเห็นรูปว่า เหมือนไม้กรับอันที่สอง, พึงเห็นผัสสะว่า เหมือนความถูกกันแห่งไม้กรับทั้งสองอันนั้น"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

8 ผัสสลักขณปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า มโนวิญญาณเกิดขึ้นในที่ใด, เวทนาก็เกิดขึ้นในที่นั้นหรือ "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "ขอถวายพระพร มโนวิญญาณเกิดขึ้นในที่ใด แม้ผัสสะ แม้เวทนา แม้สัญญา แม้เจตนา แม้วิจารก็ย่อมเกิดในที่นั้น; ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้นแม้ทั้งหมด"
           ร "พระผู้เป็นเจ้า ผัสสะมีลักษณะอย่างไร "
      ถ "ผัสสะมีลักษณะถูกต้อง"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "เหมือนอย่างว่า แกะสองตัวจะชนกัน, พึงเห็นจักษุว่าเหมือนแกะตัวหนึ่งในแกะทั้งสองนั้น, พึงเห็นรูปว่า เหมือนแกะตัวที่สอง, พึงเห็นผัสสะว่า เหมือนความถูกกันแห่งแกะทั้งสองนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าของอุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก"
      ถ "เหมือนอย่างว่าฝ่ามือทั้งสองจะปรบกัน พึงเห็นจักษุว่าเหมือนฝ่ามือข้างนั้น, พึงเห็นรูปว่า เหมือนฝ่ามือข้างที่สอง, พึงเห็นผัสสะว่า เหมือนความถูกกันแห่งฝ่ามือทั้งสองข้างนั้น"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก
      ถ "เหมือนอย่างว่า คนถือไม้กรับสองอันจะตีกัน, พึงเห็นจักษุว่า เหมือนไม้กรับอันหนึ่ง ในไม้กรับทั้งสองอันนั้น, พึงเห็นรูปว่า เหมือนไม้กรับอันที่สอง, พึงเห็นผัสสะว่า เหมือนความถูกกันแห่งไม้กรับทั้งสองอันนั้น"
           ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

9 เวทนาลักขณปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า เวทนามีลักษณะอย่างไร "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "มหาราช เวทนามีลักษณะรู้สึกและมีลักษณะเสวย"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งทำความชอบไว้แด่พระเจ้าแผ่นดิน ๆ ก็ทรงยินดี พระราชทานบำเหน็จแก่บุรุษนั้น ๆ บำเรอตนให้อิ่มเอิบบริบูรณ์ด้วยกามคุณทั้งห้า เพราะบำเหน็จที่ได้รับพระราชทานนั้น, บุรุษนั้นจึงมาคำนึงอยู่ว่า 'เราได้ทำความชอบไว้แด่พระเจ้าแผ่นดินในกาลก่อนแล้ว, พระเจ้าแผ่นดินทรงยินดี พระราชทานบำเหน็จแก่เรา, เราจึงได้เสวยเวทนาอันนี้ มีการที่ได้ทำความชอบนั้นเป็นเหตุ' ก็อีกนัยหนึ่ง เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหึ่งทำกุศลไว้แล้ว ครั้นสิ้นชีพแล้วก็ได้ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์, บุรุษนั้นก็บำเรอตนให้อิ่มเอิบบริบูรณ์ด้วยกามคุณห้าอันเป็นทิพย์อยู่ในที่นั้น, บุรุษนั้นจึงมาคำนึงว่า 'เราได้ทำกุศลกรรมไว้ในปางก่อนแหละ เราจึงได้เสวยเวทนาอันนี้ มีการที่ได้ทำกุศลกรรมอันนั้นเป็นเหตุ' ดังนี้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด; เวทนามีลักษณะรู้สึก และมีลักษณะเสวย ก็เหมือนกันฉะนั้น"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

10 สัญญาลักขณปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า สัญญามีลักษณะอย่างไร "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "สัญญามีลักษณะกำหนดรู้"
      ร "สัญญา กำหนดรู้อย่างไร "
      ถ "สัญญา กำหนดรู้สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว และสีแสด; สัญญามีลักษณะกำหนดรู้อย่างนี้แหละ มหาราช"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "เหมือนอย่างว่า เจ้าพนักงานผู้จัดการพระคลังหลวง เข้าไปสู่พระคลังหลวงแล้ว เห็นเครื่องราชูปโภคทั้งหลาย ที่มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว และสีแสดแล้วก็กำหนดจำได้ ข้อนี้ฉันใด, สัญญามีลักษณะกำหนดจำเหมือนฉะนั้น"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

11 เจตนาลักขณปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า เจตนามีลักษณะเป็นอย่างไร "
           พระเถรเจ้าก็ทูลตอบว่า "มหาราช เจตนามีลักษณะดำริและลักษณะแต่ง"
           ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
           ถ "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งแต่งยาพิษแล้วดื่มกินเองบ้าง ให้คนอื่นดื่มกินบ้าง, บุรุษนั้นก็จะได้เสวยทุกข์ด้วยตนเอง, แม้ถึงคนอื่นก็จะได้เสวยทุกข์ ข้อนี้ฉันใด; บุคคลบางคนในโลกนี้ ดำริอกุศลกรรมด้วยเจตนาแล้ว ครั้นสิ้นชีพแล้วก็จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก, แม้ผู้ใดสำเหนียกตามบุรุษนั้น ครั้นสิ้นชีพแล้ว ผู้นั้นก็จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้อนี้ก็เหมือนฉะนั้น อีกอย่างหนึ่งเหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งแต่งเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้มีรสกลมเกลียวกันแล้ว ดื่มกินเองบ้าง ให้คนอื่นดื่มบ้าง, บุรุษนั้นก็จะพึงได้ความสุขด้วยตนเอง แม้คนอื่นก็พึงได้ความสุขด้วย ข้อนี้ฉันใด; บุคคลบางคนในโลกนี้ ดำริกุศลกรรมด้วยเจตนาแล้ว ครั้นสิ้นชีพแล้วก็จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์, แม้ผู้ใดสำเหนียกตามบุคคลนั้น ครั้นสิ้นชีพแล้ว ก็จะไปเกิดในสุคติในโลกสวรรค์ ข้อนี้ก็เหมือนฉะนั้น เจตนามีลักษณะดำริและมีลักษณะแต่งอย่างนี้"
           ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

12 วิญญาณลักขณปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า วิญญาณมีลักษณะอย่างไร "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "มหาราช วิญญาณมีลักษณะรู้แจ้ง"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "เหมือนอย่างว่า คนรักษาพระนครนั่งอยู่ที่ถนนสี่แยก ณ ท่ามกลางแห่งพระนครแล้ว จะพึงแลเห็นบุรุษที่มาอยู่แต่ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือได้ ฉันใด; บุคคลเห็นรูปใดด้วยนัยน์ตา ฟังเสียงด้วยหู สูบดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะ (สิ่งที่ควรถูกต้อง) ด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็ย่อมรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านั้นได้ชัดด้วยวิญญาณ ข้อนี้ก็เหมือนฉะนั้น วิญญาณมีลักษณะรู้แจ้งอย่างนี้"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

13 วิตักกลักขณปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า วิตกมีลักษณะอย่างไร "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "มหาราช วิตกมีลักษณะแนบกับจิต"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "เหมือนอย่างว่า นายช่างไม้เข้าปากไม้ ที่ทำบริกรรมดีแล้วให้สนิท ข้อนี้ฉันใด, วิตกมีลักษณะแนบกับจิต เหมือนฉะนั้น"
           ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"

14 วิจารลักขณปัญหา
      พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า วิจารมีลักษณะอย่างไร "
      พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "มหาราช วิจารมีลักษณะตามเคล้า"
      ร "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง"
      ถ "เหมือนอย่างว่า กังสดาลอันบุคคลเคาะแล้ว ภายหลังยังครวญครางอยู่; พึงเห็นวิตกว่า เหมือนความเคาะ, พึงเห็นวิจารว่าเหมือนความครวญคราง"
      ร "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริง ๆ"


วรรคที่ 1
วรรคที่ 2
วรรคที่ 3
วรรคที่ 4
วรรคที่ 5
วรรคที่ 6
วรรคที่ 7
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย