ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน
โดย :: เจือจันทน์ อัชพรรณ (มิสโจ)

ข้อที่สอง วิธีแก้ไขความผิดพลาด

2

        ไม่เพียงเท่านั้น หากลูกยังมีลมหายใจอยู่ แม้จะทำความผิดล้นฟ้า ก็ยังมีโอกาสแก้ตัวได้ ถ้าลูกสำนึกในความผิดนั้นได้ทันท่วงที ในกาลก่อน มีชายคนหนึ่ง ตลอดชีวิตของเขาชอบทำแต่กรรมชั่ว ครั้นพอใกล้จะตาย ได้สำนึกผิดเพียงขณะจิตเดียวและจิตสุดท้ายที่รู้จักผิดชอบชั่วดี ก็ยังสามารถทำให้จิตที่เกิดต่อจากจิตสุดท้าย (จุติจิต) ได้ปฏิสนธิในสุคติภพทันท่วงที รอดจากการไปสู่ทุคติภพอย่างหวุดหวิด และเมื่อเขาได้ไปสู่สุคติภพเสียก่อนเช่นนี้ จิตที่รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้วในวินาทีสุดท้ายนี้ ก็ย่อมเป็นปัจจัย ให้เขาประกอบแต่กรรมดี หากเขาสามารถสั่งสมความดีได้มากกว่ากรรมชั่ว ที่เคยกระทำมาเป็นหมื่นเท่าพันทวีแล้วไซร้ วิบากแห่งกรรมชั่วที่มิใช่กรรมหนัก จักติดตามมาให้ผลไม่ทันเสียแล้ว ดุจในถ้ำที่มืดมิดมานานนับพันปี เพียงแต่จุดไฟให้สว่างเพียงดวงเดียว ก็สามารถขับไล่ความมืด ที่มีมานานนับพันปีให้หมดสิ้นไปในพริบตาเดียว ฉะนั้น ลูกจงจำไว้ว่า ความผิดที่ลูกกระทำไว้นานแล้ว หรือเพิ่งกระทำ ขอให้รู้สำนึกและแก้ไขเสียทันที จึงจะเอาตัวรอดได้ ไม่ต้องไปสู่ทุคติภพที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน
        แต่ลูกจะต้องจำไว้ให้ดีว่า แม้ความผิดนั้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ อย่านอนใจ ที่จะทำผิดบ่อยๆ อย่านึกว่าวันนี้ เราทำผิดแค่นี้ไม่เป็นไร พรุ่งนี้เราจะแก้ไข ไม่ทำอีกก็แล้วกัน ถ้าคิดเช่นนี้ ก็ผิดจากวัตถุประสงค์ที่พ่อพร่ำสอนลูกมา อันความผิดที่เกิดจากรู้ว่าผิดแล้วยังจงใจทำ เป็นมโนกรรมที่มีโทษหนัก แม้ลูกตั้งใจจะแก้ไขในวันพรุ่ง ก็อาจจะสายไปเสียแล้ว เพราะในโลกแห่งความวุ่นวายนี้ ใครจะรับประกันได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่จนถึงวันพรุ่งนี้ มนุษย์มีชิวิตอยู่ได้ด้วยลมหายใจ ถ้าลูกขาดหายใจเพียงครั้งเดียว ชีวิตนี้ก็ไม่ใช่ของลูกเสียแล้ว ทุกสิ่งลูกก็นำติดตัวไปด้วยไม่ได้ เพราะทุกสิ่งเป็นรูปธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของรูปธรรมได้ชั่วนิรันดร์ สิ่งที่ติดตามลูกไปได้ มีเพียงกรรมดีและกรรมชั่วเท่านั้น อันเป็นนามธรรมที่มนุษย์มองไม่เห็น จะสัมผัสได้ด้วยใจเท่านั้น หากบุญยังมีเหลือพอ ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะเป็นคนที่ชื่อเสียงไม่ดีเป็นร้อยปีพันปี แม้จะมีลูกหลานที่ดี ก็ไม่สามารถช่วยลูกได้ หากกรรมหนักไม่สามารถมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะต้องตกนรกหมกไหม้ ทนทุกข์ทรมานไปชั่วกัปชั่วกัลป์ แม้พระพุทธองค์ ก็ทรงโปรดไม่ได้ เพราะผู้ใดทำกรรมไว้ ผู้นั้นเองเป็นผู้ได้รับผลแห่งกรรมนั้น ลูกยังจะไม่กลัวได้หรือ


        ข้อ ๓ ลูกจะต้องมีความกล้าที่จะแก้ไขตนเอง มีกำลังใจที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ท้อถอย มีความเพียรอย่างสม่ำเสมอไม่ใช่ทำบ้างหยุดบ้าง ความผิดเล็กๆ น้อยๆ นั้น เปรียบประดุจหนามตำอยู่ในเนื้อ ถ้ารีบบ่งหนามออกเสีย ก็จะหายเจ็บทันที หากเป็นความผิดใหญ่หลวง ก็เปรียบประดุจถูกงูพิษที่ร้ายแรงขบกัดเอาที่นิ้ว ถ้าลูกไม่กล้าตัดนิ้วทิ้ง พิษก็จะลุกลามไปถึงหัวใจ และตายได้ง่ายๆ ลูกจึงต้องมีจิตใจ ที่เด็ดเดี่ยว กล้าเผชิญความจริง รู้ตัวว่าผิดตรงไหน ต้องแก้ตรงนั้นทันที อย่ารีรอลังเล จะเสียการในภายหลัง ลูกจงศึกษาวิชาโป๊ยก่วย ที่ว่าด้วยความแข็งแกร่งของฟ้า ความอ่อนโยนของดิน ความมีพลังของไฟ ความเย็นของน้ำ ความกึกก้องของเสียงฟ้าร้อง ความแรงกล้าของลม ความมั่นคงของขุนเขา และความเป็นกระแสของสายธาร แล้วลูกจะเข้าใจ ถึงธรรมชาติแปดประการนี้ ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยให้กันและกัน ในยามที่พายุมา เสียงฟ้าร้อง ลมก็จะเป็นปัจจัยช่วยให้ฟ้าร้องดังยิ่งขึ้น ฟ้าก็จะช่วยลม ให้มีกำลังพัดรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเหล่านี้ ถ้าลูกศึกษาให้เข้าใจแล้ว ก็จะสามารถนำวิชาโป๊ยก่วยนี้ มาประยุกต์ในชีวิตประจำวัน ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ลูกเอง ความผิดถูกความดีชั่ว ล้วนเป็นปัจจัยแก่กันและกัน เมื่อรู้ว่าผิด รีบแก้ไขเสีย ความถูกก็จะกลับคืนมา เมื่อทำความดีอยู่ความชั่วไหนเลย จะกล้ำกราย ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของลูกเองเท่านั้น จงจำไว้
        เมื่อลูกมีความละอาย มีความเกรงกลัว และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ที่จะแก้ไขความผิดพลาดของตนเองแล้วไซร้ ความผิดนั้นก็ย่อมจะลดน้อยถอยลง จนหมดไปในที่สุด เปรียบประดุจสายน้ำที่รวมตัว กลายเป็นน้ำแข็งในฤดูใบไม้ผลิ เมื่อถูกแสงอาทิตย์ก็ย่อมละลายกลายเป็นน้ำดังเดิม แต่ความผิดพลาดของมนุษย์นั้น ไม่ง่ายดังว่าไปเสียทั้งหมด บางสิ่งต้องแก้ที่เหตุการณ์ บางสิ่งต้องแก้ที่เหตุผล บางสิ่งต้องแก้ที่ใจ วิธีการแก้ไขย่อมแตกต่างกันออกไป ผลที่ได้ก็ไม่เหมือนกัน ลูกจงฟังให้ดี
        เช่นเมื่อวานนี้เราฆ่าสัตว์ วันนี้เราตั้งใจไม่ฆ่าอีกต่อไป หรือเมื่อวานเราโกรธ ผรุสวาทไปมากมาย วันนี้เราตั้งใจไม่โกรธอีกต่อไป นี่คือการแก้ไขที่เหตุการณ์ ทำผิดแล้วจึงได้คิด ซึ่งไม่ค่อยจะได้ผล เพียงระงับได้ชั่วคราว เผลอเมื่อใด เราก็จะทำผิดได้อีก
        การแก้ไข จึงต้องแก้ก่อนที่จะมีการกระทำผิดเกิดขึ้น คือ ต้องรู้เหตุ ที่จะก่อให้เกิดความผิดได้เสียก่อน เช่น การฆ่าสัตว์ ถ้าเราเข้าใจเสียก่อนว่า ชีวิตใครๆ ก็รัก ไฉนจึงฆ่าสัตว์อื่นเพื่อเลี้ยงชีวิตเราให้ยืนยาวเล่า ถ้ามีใครทำกับเราบ้างอย่างนี้ ลูกจะยอมหรือ อนึ่งการฆ่าสัตว์นั้น ทำให้เกิดความทรมานเจ็บปวดแสนสาหัส นำสัตว์ต้มในกะทะร้อนๆ กว่าจะตายก็แสบร้อนไปทุกขุมขน แม้เราจะบริโภคอาหารสัตว์เอร็ดอร่อยเพียงไร เมื่อเข้าไปอยู่ในท้องเราแล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นปฏิกูลต่อไป ถ้าเราบริโภคแต่พืชผักผลไม้ เราก็อยู่ได้อย่างเป็นสุขเช่นกัน ไม่เดือดร้อนอะไร ไฉนจึงต้องไปทำลายชีวิตผู้อื่น เพื่อความอิ่มเพียงชั่วยาม แต่ต้องทำลายบุญที่มีอยู่แล้วให้น้อยลง และเพิ่มบาปให้มากขึ้นด้วยเล่า

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

ประวัติท่านเหลี่ยวฝาน
ข้อที่หนึ่ง การสร้างอนาคต
ข้อที่สอง วิธีแก้ไขความผิดพลาด
ข้อที่สาม วิธีสร้างความดี
ข้อที่สี่ ความถ่อมตน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย