ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2520

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาการแสดงธรรมปาฐกถา อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่าน อยู่ในอาการอันสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

เมื่อวานนี้ก็นั่งวิตกกังวลว่า ในวันอาทิตย์นี้ญาติโยมจะมาวัดไม่สะดวก เพราะว่าเขามีการปฎิวัติอะไรกัน แต่ว่าเหตุการเรียบร้อยไปตั้งแต่เย็นวาน เมื่อได้ยินข่าวปฏิวัติเมื่อวานนี้ พอดีไปแสดงปาฐกถา อยู่ที่โรงเรียนพาณิชยการสยาม พูดกับเจ้าหน้าที่ที่เขาเรียกว่า อาสาปราบอาชญากรรม คนหลายร้อย ก็แสดงไปตามเรื่อง พอจบก็มีนายตำรวจมากระซิบบอกว่า หลวงพ่อรู้หรือไม่ เขาปฏิวัติอีกแล้ว อาตมาก็พูดออกไปทันที่ปฏิบัติแบบโง่ๆ ไม่เข้าเรื่อง พูดออกไปอย่างนั้นตามความรู้สึก ทำไมจึงได้พูดออกไปอย่างนั้น เพราะความรู้สึกมันเป็นเช่นนั้น เวลานี้รัฐบาลก็บริหารงาน เรียกว่าเป็นปกติ รัฐนาวาไทยนี้ไหลไปตามปกติไม่มีคลื่นไม่มีลม ไปกันเรียบร้อย กัปตันและลูกเรือก็พร้อมเพรียงกันดีอยู่ ทำการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอยู่ แล้วใครที่จะลุกขึ้นทำการปฏิวัตินั้น อาตมานึกว่าโง่เต็มที ยังไม่รู้ว่าใครทำการปฏิวัติ

ได้ยินชื่อเขาประกาศของคณะปฏิวัติว่า พลเอกประเสริฐ ธรรมสิริ ก็นึกอยู่ว่าไม่น่าเลย เพราะนามสกุลกับชื่อมันไพเราะเหลือเกิน แต่ภายหลังรู้ว่าไม่ใช่ ก็ยังรักษาชื่อและนามสกุลไว้ได้ คนที่เป็นหัวหน้านั้น ชื่อฉลาดแต่ไม่ฉลาดซักหน่อยหนึ่ง

คนเราไม่ใช่ว่าชื่อดีแล้วมันจะดีเสมอไป ชื่อสวยๆ แต่อาจจะไม่สวยก็ได้ เช่นบางคนชื่อเผือกตัวดำ เลยทำไมเขาชื่ออย่างนั้น ชื่อให้มันตรงกันเข้าไว้หน่อย ฟังแล้วมันจะได้ชื่นใจ เหมือนกับชื่อนายอำเภอทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่อนายอำเภอเกษตรสมบูรณ์ แต่ความจริงมันไม่สมบูรณ์ ตระการพืชผล ก็ไม่สมบูรณ์อะไร วานรนิวาสพอเข้ากันได้ เพราะลิงมันเยอะที่นั่น เขาชื่อเพื่อให้มันไพเราะ คนที่เขาไปเขาจะได้สบายใจหน่อย ทีนี้คนเราบางทีมันโง่แต่เขาตั้งชื่อว่าฉลาด เพื่อว่าจะได้กลบลักษณะหน่อยนั่นเอง แต่ก็ไม่สามารถรักษาชื่อไว้ได้ ยังทำอะไรแบบโง่ๆ อยู่นั่นเอง ไปบวชอยู่วัดหลายเดือน ไม่ได้เข้าใจในธรรมะ ออกมาก็ไม่ได้เรื่อง ออกมาถึงก็ต้องออกนอกประเทศไปเลย นี่แหละเขาเรียกว่าไม่ฉลาดในการกระทำ คนเราจะทำอะไร มันต้องดูจังหวะดูสิ่งแวดล้อม ดูเหตุการณ์ว่ามันเป็นอย่างไร

เวลานี้มันไม่ใช่เวลาที่จะปฏิวัติรัฐประหาร จะเอาอะไรไปอ้าง อ้างอะไรมันก็ไม่สมเหตุสมผล คำที่คณะปฏิวัติประกาศมานั้น คนฟังแล้วไม่มีใครเห็นด้วยสักคนเดียว นอกจาก 5 คนเท่านั้นเอง ที่เป็นหัวหน้าเห็นด้วย นอกนั้นก็ไม่เห็นด้วยอะไร อันนี้แสดงว่าไม่ได้ความ นึกไปว่าทั้งพ่อทั้งลูก นี่ก็พังเพราะลูกอีกแล้ว ลูกชายพันตรี ไปกวนพ่อให้สึกออกมาเป็นหัวหน้ากันหน่อย พ่อบวชอยู่วัดก็ไม่ได้เจริญกรรมฐาน ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ใจก็ร้อนอยู่อย่างนั้นเอง เลยก็ออกมาไม่ได้เรื่องอะไร อันนี้เป็นตัวอย่างของธรรมะเหมือนกัน

เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าคนไม่ใช้ธรรมะ มันเดือดร้อนถ้าใช้ธรรมะแล้วก็ไม่วุ่นวายเดือดร้อน ที่ไม่ใช้ธรรมะนั้นมันเรื่องอะไร ใจร้อนใจเร็ว อยากดังอยากเด่น อยากโด่งไม่เข้าเรื่อง นี่มันเป็นตัวลิเกที่เกิดขึ้นในใจ แล้วก็ไม่ใช้ปัญญาที่จะระงับกิเลสตัวนั้น ไม่มีศิลปะแห่งการรอคอย แล้วไม่นึกว่าคนอื่นเขาทำอะไร ทำถูกหรือทำผิด ทำดีหรือทำชั่ว ทำเพื่อความก้าวหน้าหรือเพื่อความถอยหลัง ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องนี้ ตัวโลภมันแรงเกินไป ตัวโทสะก็แรง ตัวโมหะก็แรงเหมือนกัน เรียกว่ายักษ์สามตัวเข้าไปครองร่าง เลยทิ้งผ้ากาสาวพัตรแบบฉุกเฉิน แล้วก็ออกมาบงการทำอะไรๆ แบบไม่เข้าท่า ดูแล้วมันเป็นเรื่องน่าหัวเราะทั้งนั้น แล้วผลที่สุดก็เกิดความเสียหายแก่ชาติแก่บ้านเมือง เสียนายทหารที่ดีไปคนหนึ่งโดยไม่ได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทน นอกจากเสียคนดีไปเท่านั้นแหละ นี่แหละคือการขาดธรรมะ ไม่เอาธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะไปบวชไปเรียนแล้วก็ไม่ได้คิดธรรมะ ไปนั่งวางแผนว่ากูจะไปปฏิวัติวันไหนดี จะรัฐประหารวันไหนดี อันนี้มันจะไม่ได้เรื่องอะไร ไปบวชอยู่ในเรื่องเช่นนั้น

ถ้าบวชแล้วเจริญภาวนาอย่างน้อยๆ พิจารณาสังขารเสียบ้างว่า สัพเพ สังขารา อะนิจจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เหมือนกับที่เราสวดกันอยู่ตอนสุดท้าย พิจารณาวันหนไม่ต้องมากอะไร จิตใจก็จะสงบไม่วุ่นวาย แล้วก็นึกว่าอายุอานามของเรามันก็ป่านนี้แล้ว ทำงานให้กับประเทศชาติมาก็พอสมควรแล้ว ปล่อยให้คนอื่นเขาทำไปมั่งเถอะ เราออกมานั่งดูเสียมั่ง

นักมวยจะชกอยู่จนตายไม่ได้สักคนเดียว มันต้องลงจากเวทีมาดูคนอื่นเขาชกมั่ง เราลองดูชื่อนักมวยทั้งหลายตั้งแต่ เย็กเด็มเซ ตั้งแต่โน้นมา มันตายไปก็หลายคนแล้ว แต่ไม่ได้ตายคาเวทีสักคนเดียว ต้องลาออกตำแหน่งแชมเปี้ยนทั้งนั้น หรือไม่อย่างนั้นก็แพ้เขา คนเกิดมาแล้วมันก็ต้องมีแพ้มีชนะ เก้าอี้ตัวที่เรานั่งเราจะนั่งตลอดเวลาไม่ได้ ต้องให้คนอื่นเขานั่งมั่ง คนเรามันต้องมีศิลปะแห่งการเปลี่ยนแปลง เมื่อเราลงมานั่งเราก็ทำไปตามหน้าที่ หมดเวลาให้เพื่อนเขานั่งมั่ง แล้วก็นั่งดูเขามั่ง นั่งดูอย่างนักกีฬาดูให้เขาทำตามเรื่องตามราวของเขา มีอะไรไม่เหมาะก็ประท้วงไปบ้างตามแบบตามระเบียบ

ถ้าเมื่อเขาทำเรียบร้อย เราก็พลอยอนุโมทนาเขา อย่างนี้เรื่องมันก็ไม่วุ่นวาย ไม่เสียหาย ไม่กระทบกระเทือนแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง แต่ว่าไม่ได้คิดอย่างนี้ อะไรมันเกิดขึ้นในใจ ความเห็นแก่ตัวตัวเดียวเท่านั้น เกิดขึ้นในใจแล้วทำอะไร ที่เรียกว่าไม่เข้าเรื่อง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทำไปตามอารมณ์ ไม่ได้ใช้เหตุผล อันนี้มันเรื่องเสียหาย

ความจริงประวัติศาสตร์มันก็มีบอกอยู่แล้ว ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ไกลอะไร สมัยกองแลปฏิวัติโดยไม่มีแผนการ อยู่ๆ ก็ลุกขึ้น กูปฏิวัติ พอปฏิวัติเสร็จแล้วก็มานั่งร้องไห้ ร้องไห้ว่า กูไม่รู้ทำอะไรต่อไปแล้ว เหมือนกับว่าทำอะไรเสร็จแล้ว ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป เพราะว่าไม่มีปัญญาไม่มีความคิด ไม่มีแผนการว่าจะทำอะไร ใช้แต่กำลัง คนที่รู้จักใช้กำลัง ไม่รู้จักใช้ปัญญานั้น เขาไม่เรียกว่า มนุษย์หรอกแต่เขาเรียกว่า สัตว์เดรัจฉานนั้น มันแปลกที่ตรงไหน แปลกตรงที่ว่า เรามีปัญญา มีสมองที่จะคิดจะทำอะไร ก็ใช้ความคิดพิจารณา ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ทำด้วยความอยาก ไม่ใช่ทำด้วยความหลงไหล อะไรๆ ต่างๆ สิ่งทั้งหลายมันก็จะเป็นไป ด้วยความเรียบร้อย

อันนี้เป็นเรื่องเป็นบทเรียนที่สอนใจ ให้เราทั้งหลายได้คิดได้นึกได้พิจารณา อาตมานั่งฟังข่าวตลอดวัน เมื่อวานนี้ ดูภาพไป ฟังข่าวไป นึกในใจว่า มันแย่จริงๆ ที่ได้เป็นไปเช่นนี้ เพราะอะไร เพราะว่าไม่ค่อยได้เข้าถึงพระกัน หรือว่าเข้าหาพระ แต่ว่าไม่ได้เอามาใส่ไว้ในใจ ไม่รู้จักพราะที่ถูกที่ชอบ ไม่ได้เอาหลักธรรมะมาเป็นหลักประคองใจ ให้เดินไปในทางที่ถูกที่ควร ถ้าสมมติว่าไปลาสิกขา กับพระพระผู้ใหญ่ให้ลาสิขา น่าจะถามสักหน่อยว่า ลาทำอะไร ออกไปแล้วไปทำอะไร ทำมาหากินอะไร หรือว่า จะออกไปทำการปฏิวัติรัฐประหาร ก็ควรจะบอกว่า มาบวชวัดนี้ออกไปแล้วทำผิดอย่างนั้นได้หรือ วัดนี้ในหลวงท่านอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่นะ ออกไปทำผิดต่อในหลวงได้หรือ จะเหมาะจะควรหรือ ควรจะยับยั้งชั่งใจ พูดให้เข้าใจกันเสียหน่อย ก็เห็นจะพอไปได้ แต่พระท่านเกรงใจยศนายพลเอก ท่านเลยไม่กล้าสอนอะไร เลยออกไปก็ทำความวุ่นวายเสียหาย อันนี้เป็นบทเรียนไปในตัว เป็นธรรมะ อาตมาพูดออกไปนี้ก็ไม่ใช่เพื่ออะไร พูดเพื่อให้เป็นตัวอย่างปรากฏในหนังสือ ที่จะพิมพ์ต่อไป ให้เห็นว่าพระท่านไม่พอใจ ในการกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำแบบโง่เขล่า ไม่ได้เป็นการเจริญ ของชาติ ของบ้านเมือง

คนเราดูอะไรมันต้องดูจังหวะ จะอะไรทุกอย่างเขาเรียกว่า กาละเทศะ เวลามันควรหรือไม่ เทสะมันควรหรือไม่ที่เขาพูดๆ กันว่า เหตุ ผล บุคคล เวลา นี้มันลำบาก เคยสนทนากับมหาดเล็กบ่อยๆ ในเรื่องนี้ ท่านบอกว่าทำอะไรก็ตามเถอะ มันต้องมีเหตุผล ต้องดูบุคคล ต้องดูเวลา ว่ามันจะเหมาะที่เราจะกระทำหรือไม่ ถ้า เหตุ ผล บุคคล เวลา สี่ประการมีไม่พร้อมแล้ว ก็อย่าไปทำอะไรเข้า ถ้าเราไปทำอะไรโดยไม่คิดถึง เหตุ ผล บุคคล เวลาแล้ว การกระทำนั้นจะเป็นความโง่ความเขลา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ความเสียหายแก่ตน ด้วยประการต่างๆ อันนี้ท่านกล่าวย้ำกล่าวเตือน โดยเฉพาะคนที่เป็นนักปกครอง ต้องใช้สิ่งนี้ให้สำคัญมาก คือใช้เหตุผลให้มาก ดูเวลาให้เหมาะ ดูบุคคลให้เหมาะ จึงจะจัดทำอะไรลงไป แต่ถ้าเหตุผลไม่สมควร คือเหตุผลกับไม่ตรงกัน เวลามันก็ไม่เหมาะ บุคคลที่เกี่ยวข้องมันก็ไม่เหมาะ ถ้าเราขืนกระทำลงไปแล้ว จะเกิดเป็นปัญหา จะสร้างความทุกข์ ความเดือดร้อน

ทีนี้สิ่งที่ทำนั้นถ้าเป็นเรื่องของเราคนเดียว มันก็ไม่เสียหายอะไรมากนัก วงจำกัดอยู่แคบ แต่ถ้าว่าการกระทำเกี่ยวกับชาติกับประเทศ เราจะต้องคิดให้รอบคอบ ต้องให้ละเอียดให้ลึกซึ้ง ต้องนับหนึ่งถึงพัน ไม่ใช่นับหนึ่งถึงร้อย ต้องคิดนานๆ คิดว่าทำแล้วมันจะเสียหายอะไร เวลานี้ประเทศชาติของเราเป็นอย่างไร มีศัตรูภายนอกมีศัตรูภายใน การเศรษฐกิจการลงทุน ความไว้เนื้อเชื่อใจของชาวต่างประเทศ ที่มีต่อประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร ภาพพจน์ของประเทศไทยในเวลานี้ ในสายตาของชาวต่างประเทศเป็นอย่างไร ถ้าคิดดูให้ดีแล้วก็จะเห็นว่า มันดีขึ้นทั้งนั้น เขาได้แก้ไขได้ปรับปรุงให้มันดีขึ้น กว่าเมื่อสามปีก่อนมากมายแล้ว เรือไทยถ้าเป็นเรือใบ ก็เรียกว่าติดลมแล้ว กำลังวิ่งฉิวสะดวกสบาย แล้วเราจะไปเกาะท้ายเรือ เอาขวานสับหางเสือให้มันแกว่ง มันเรื่องอะไร เรือแกว่งแล้วคนในเรือมันจะล่มจมอะไรๆ ก็จะเสียหาย นี่ถ้าเราคิดอย่างนี้มันก็ดี

ทีนี้คนเรามันคิดแต่เรื่องได้ ไม่คิดถึงเรื่องเสีย คิดด้านเดียวมองด้านเดียวไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนนักสอนหนา ในเรื่องอย่างนี้ บอกว่า มองอะไรมองให้เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง ศัพท์บาลีเขาใช้ว่า "ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ" ยถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง หมายความว่า เห็นด้วยปัญญาในสิ่งนั้น ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ เห็นอะไรต้องเห็นด้วยปัญญา เห็นให้ชัดตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ อย่ามองแบบคลุมเคลือ แบบที่เรามองอะไรเช้ามืดนี่ มันไม่เห็นชัด เห็นต้นไม้ก็ไม่ชัดว่ามันเป็นต้นอะไร เห็นอะไรไม่ชัดอย่างนี้เราวินิจฉัยยาก เพราะไม่แจ่มแจ้งแก่ตา ไม่แจ่มแจ้งแก่ใจ จะไปวินิจฉัยว่าชั่วก็ไม่ได้ มันสุขมันทุกข์ก็ไม่ได้ เพราะมองไม่ชัด เพราะฉะนั้นต้องมองให้ชัดให้แจ่มแจ้งดี ในเรื่องนั้น ถ้าเรามองอย่างนั้น ก็เรียกว่ามองด้วยปัญญา มองด้วยตาที่มีปัญญากำกับ

ตามีปัญญากำกับนั้นเขาเรียกว่า ญาณ ญาณนั้นคือตาใน ไม่ใช่ตานอก ตานอกมันดูแต่วัตถุ แต่ตาในนั้นดูไปตลอด ทะลุปรุโปร่งในวัตถุนั้นๆ ในเหตุการณ์นั้นๆ ในเรื่องนั้นๆ ที่มันจะมีจะเกิดขึ้น แล้วตานอกมันมองเห็นใกล้ๆ ถ้าตาดีๆ ก็มองได้สักสองร้อยเมตร แต่ว่าญาณตาข้างในนั้นมันมองเห็นไปไกล เห็นไปถึงวันพรุ่งนี้ เห็นไปถึงเดือนหน้า เห็นไปถึงปีหน้า เห็นไปถึงอนาคต ว่ามันจะมีอะไร จะเกิดอะไรกระทบกระเทือนต่อสังคม ในบ้านเมืองของเรา มองไกลอย่างนั้น แล้วการมองอย่างนี้ ต้องมองทั้งในอดีต มองปัจจุบัน มองอนาคต เอาสามอย่างนี้มารวมกันเข้า อดีตนั้นมันผ่านพ้นไปแล้ว แต่ว่ามันเป็นบทเรียน เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ

เราศึกษาวิชาประวัติศาสตร์นั้นเราศึกษาเพื่ออะไร ไม่ใช่ศึกษาเพียงให้รู้ว่า คนสมัยก่อนเขาอยู่กันอย่างไร กินอย่างไร ไม่ใช่เพียงเท่านั้น แต่ศึกษาเพื่อให้รู้ว่าเขาปฏิบัติอะไรอย่างไร เขาใช้วิธีการอย่างจึงเกิดอะไรขึ้นมา ในประวัติศาสตร์นั้น มันมีทั้งส่วนดีทั้งส่วนเสีย ไม่ว่าในประวัติศาสตร์ชาติใด เพราะประวัติศาสตร์กับคน มันสัมพันธ์กัน คนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์

ทีนี้คนผู้สร้างประวัติศาสตร์นั้น สร้างไว้บางตอนก็ไม่งดงาม แต่บางตอนก็งดงามเรียบร้อย เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบ เราก็เอามาศึกษาพิจารณา ว่าตอนนั้นเป็นอย่างไร ตอนนี้เป็นอย่างไร เช่นสมมติว่า เราเรียนประวัติศาสตร์ไทย เริ่มตั้งแต่เริ่มสร้างประเทศ เอาเฉพาะยุคสุโขทัยเป็นราชธานี เราก็จะเห็นว่าสุโขทัยนั้นเป็นสมัยที่สงบ สมชื่อว่าสุโขทัย "สุขะ" เอามาร่วมกับ "อุทัย" เป็น สุโขทัย แปลความว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข" มันมีแต่ความสุขความสงบ ชาวสุโขทัยมักโปรยทาน มักรักษาศีล มักฟังธรรม เขาไปวัดทำบุญสุนทาน ยุคสุโขทัยไม่ได้รบราฆ่าฟันกับใคร สงครามมีนิดหน่อย พ่อขุนรามคำแหงไปชนช้าง กับเจ้าเมืองฉอดเท่านั้นเอง เมืองฉอดก็ไม่ใช่ที่ไหน แม่สอดในสมัยนี้เอง ไปรบกันหน่อย นอกนั้นก็ไม่ได้รบ

เพราะฉะนั้น จึงเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างสวยสดงดงาม เช่นสร้างพระพุทธรูปงามๆ สร้างวัดงามๆ ใช้วัตถุอย่างดี คือศิลาแลง เอามาก่อเป็นเจดีย์ เป็นโบสถ์ เป็นวิหาร โดยเฉพาะพระพุทธรูป ที่สร้างในสมัยนั้นสวยงามมาก มองแล้วสบายใจ ไหว้แล้วชื่นอกชื่นใจ คลายทุกข์คลายร้อน ที่เขาทำได้อย่างนั้นเพราะอะไร จิตใจคนเขาสงบ เขาไม่วุ่นวาย ไม่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่มีปัญหาทางการเมือง ไม่มีปัญหาทางสังคม อะไรให้มันเสียหาย ทุกคนสบายอกสบายใจ อะไรมันมีพร้อม จิตใจสบาย คนเราถ้าจิตใจสบาย ทำอะไรมันก็เรียบร้อย เป็นไปในทางที่ดีที่งาม ไม่มีปัญหา ก็อยู่กับพระกับศาสนา แม้พระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็สนใจแต่เรื่องวัดวาอาราม สร้างสิ่งดีสิ่งงาม ให้เกิดขึ้นในชาติในบ้านเมือง อะไรมันดีอย่างนี้

นี่ก็มองเห็นว่าสมัยนั้น เป็นสมัยรุ่งเรืองแห่งสัจจธรรม คนจึงได้อยู่เย็นเป็นสุข ต่อมาก็ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเริ่มยุ่งแล้ว เริ่มมีข้าศึกด้านตะวันตกมาจากพม่า ด่านตะวันออกมาจากเขมร มันไม่ค่อยรบเท่าใด แบบตีท้ายครัว พอไทยไปรบ พม่าก็แอบมากวาดพลเมืองแถวปราจีน ฉะเชิงเทราแถวนั้นไป ถ้าเมืองไทยสงบ ไม่เข้ามายุ่ง พวกนี้ชอบตีท้ายครัว อย่างนี้มีอยู่ แล้วก็เกิดรบกันบ่อยๆ บ้านเมืองไม่ค่อยจะสงบเท่าใด การสร้างพระพุทธรูปในสมัยนั้น พระพักตร์ไม่ค่อยยิ้มแย้ม ไม่ค่อยแจ่มใสเท่าใด มองกราบแล้ว ก็ไม่ชื่นใจเหมือนสมัยสุโขทัย อันนี้เป็นเรื่องที่เราเห็นง่ายในประวัติศาสตร์ แล้วทุกครั้งที่เราเสียกรุง เรารู้ว่าเพราะอะไร เพราะคนในเมืองไทยแตกแยกกัน หัวหน้าอ่อนแอไม่เข้มแข็ง ไม่เด็ดขาด แล้วก็เกิดความแตกร้าวกันภายใน พอเกิดความแตกร้าวกันภายใน ข้าศึกก็มาโจมตี

พม่าจะมาโจมตีประเทศไทยก็คอยจ้องดูว่าเปลี่ยนรัชกาล พอพระเจ้าแผ่นดินนี้สวรรคต รัชกาลใหม่ขึ้นครองราชย์ ก็ส่งคนมาทำจารกรรม ว่าเวลานี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร ความเลื่อมใสในพระราชาเป็นอย่างไร ระส่ำระสายหรือเปล่า มีการแตกก๊กแตกพวกกันหรือเปล่า เขามาดูก่อน ถ้าเห็นว่ามันเร่าๆ ทำท่าจะแตก เขาก็มาตี ตีแล้วเมืองไทยก็เสียท่าเขาทุกที เพราะความแตกร้าวภายในประเทศ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะตอนเสียกรุงด้วยแล้ว ไม่ได้เรื่องเลยทีเดียว นี่มันเป็นประวัติศาสตร์บอกให้เรารู้เราเห็นกันอยู่ทั้งนั้น ทุกคนก็เรียน นายทหารโรงเรียน จ.ป.ร. เขาก็เรียนประวัติศาสตร์ ออกไปแล้วก็ยังมีการเรียน มีแผนการค้าคว้าทางประวัติศาสตร์ เพื่อเอามาเปิดเผยให้คนได้รู้ได้เข้าใจ

เราเรียนประวัติศาสตร์ เราก็เรียนธรรมะเหมือนกัน คือเรียนให้รู้ว่าในนั้นมันมี ธรรมะอะไร ขาดธรรมะอะไร ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เป็นบทเรียนเครื่องสอนจิตสะกิดใจ ให้เราได้แก้ไขสิ่งที่เราจะทำต่อไป เรียกว่า ไม่กระทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย สิ่งใดที่เขาทำมาแล้วไม่สำเร็จ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เราก็จะไม่ทำสิ่งนั้น แต่ว่าสิ่งใดที่เขาทำใช้ได้ หรือใช้ได้ ก็ต้องดูอีกล่ะ เพราะเหตุการณ์ในสมัยนั้น กับสมัยนี้ไม่เหมือนกัน ของที่เขามีในสมัยโน้นบางทีเอามาใช้ในสมัยนี้ไม่ได้ กาละมันผิดกัน บุคคลผิดกัน ภูมิประเทศก็ผิดกัน เราจะต้องเอามาคิดปรับปรุง ว่าจะต้องอย่างไร ให้มันเหมาะกับสังคมในปัจจุบัน เหมาะกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ก็ต้องคิดปรับปรุงแก้ไขเอามาเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

ที่เขาพูดว่า ไม่มีอะไรใหม่ในโลกนี้ เป็นความจริง คือสิ่งที่ทำๆ กันในยุคปัจจุบันนี้ เขาทำกันมาแล้วในสมัยก่อน แต่ว่าคนที่เอามาทำในปัจจุบันนี้ เอามาเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย เพื่อให้มันได้เรื่องราวดีขึ้น ยาขอบแกแต่งผู้ชนะสิบทิศ ถ้าเราอ่านดูให้ดีแล้ว แกก็หยิบมาจากเรื่องอะไรต่ออะไร เอามาจากสามก๊กก็มี เอามาจากเรื่องโน้นเรื่องนี้ เอามาจากทุกเรื่อง แกอ่านหนังสืออะไรก็เอามาใส่ๆ ไว้ วางแผนอย่างนั้นอย่างนี้ วางแผนรบของจะเด็ด แกเอามาใส่ไว้ทุกอย่าง อ่านหนังสือใดก็เอามาใส่ไว้ แม้จากเรื่องพระอภัยมณี แกก็เอาเหมือนกัน เอามาใส่ไว้ ถ้าเราอ่านไปแล้วก็จะรู้ว่า ยาขอบนี้เป็นนักปรุงนั่นเอง ไม่มีอะไรของแกใหม่หรอก แกไปหยิบตรงนั้นมาตรงนี้มา เอามาบวกๆ กันเข้า แต่ว่าคำพูดที่ใช้มันทันสมัย อ่านแล้วเพลิดเพลินเจริญใจ

เพราะฉะนั้นคุณอาคมแกอ่านอยู่หลายปีแล้ว สมาชิกเยอะแล้วฟังกันชอบใจ นี่เขาเรียกว่าเอามาปรุงแต่งทำให้มันดีขึ้น ไม่มีอะไรใหม่อะไร อาตมาที่มาเทศน์สอนญาติสอนโยมอยู่นี้ก็เหมือนกัน ไม่ใช่มีอะไรใหม่หรอก มันของเก่าทั้งนั้น หยิบมาจากที่นั่นจากที่นี่ เป็นความรู้จากตำรับตำรา จากหนังสือหนังหา แล้วก็เอามาปรุงให้มันเหมาะกับ ปรุงให้เหมาะหูของญาติโยมที่จะฟัง ให้ฟังได้ง่ายให้เข้าอกเข้าใจ ญาติโยมฟังแล้วก็เพลิดเพลินเจริญใจไป แต่ว่าความจริงมันของเก่าทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องอะไรเก่าๆ แก่ๆ มันเป็นประโยชน์แก่ตัวเรา เราจึงควรศึกษา เอามาคิดมาตรอง เอามาใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อไป และบทเรียนเก่าๆ นั้นสอนให้เรารู้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร เวลาใดไม่เหมาะ เหตุการณ์อันใด กระทำการเป็นอย่างไร มันมีบทเรียนทั้งนั้น คอยสอนคอยเตือนเรา ให้พูด ให้ทำในเรื่องอย่างนั้น ถ้าทำถูกแก่เวลามันใช้ได้ ถ้าทำไม่เหมาะแก่เวลา ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน

ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ประเทศอินเดีย ท่านผู้หญิงอินทิรา คานธี ท่านปกครองบ้านเมือง ถ้าพูดกันตามความเป็นธรรมแล้ว ดีขึ้นทุกอย่าง บ้านเมืองดีขึ้นทุกอย่าง ความสะอาดของบ้านเมือง ข้าราชการเอาใจใส่ในหน้าที่ การคอรร์รัปชั่น ตลาดมืด อะไรมันหายไป ไม่ปรากฏว่ามันมีอยู่ สมัยก่อนนี้ถ้าเราไปอินเดีย มีเงินเหรียญดอลลาร์ พอไปถึงโรงแรมเท่านั้น มีคนมาตอมกันให้ยุ่ง จะแลกดอลลาร์ เดินไปในตลาดนิวมาเก็ต เด็กเล็กเด็กน้อยรุ่นๆ มาถึงดอลลาร์ๆ มาถามอย่างนั้น ไปเดี๋ยวนี้ไม่มีสักคนเดียว ที่จะมาถามเช่นนั้น เพราะอะไร เพราะว่าเขาไม่ให้แลกในตลาด ใครมีเงินดอลลาร์ไว้ในครอบครอง ผิดกฎหมาย มีเงินตราต่างประเทศไว้ในครอบครอง ผิดกฎหมายทั้งนั้น เงินตราต่างประเทศ มันต้องอยู่ในธนาคาร อยู่ตามโรงแรม อยู่ตามร้านค้า แต่ต้องมีหลักฐานแสดง ว่าได้มาจากใคร แม้มีหลักฐาน สมมติว่าเราไปจากเมืองไทยเราเอารูปีไปสักสองร้อย พอไปถึงจะไปซื้อตั๋วรถไฟก็ไม่ได้ จะไปเสียค่าเช่าโรงแรมก็ไม่ได้ ซื้อได้เพียงโรตีข้างถนนเทานั้นเอง นอกนั้นแล้วก็ซื้อไม่ได้

ถ้าเป็นทางการแล้วก็ซื้อไม่ได้ เพราะว่าเขาถือว่า ถ้าคนต่างประเทศไม่มีเงินอินเดียเข้ามา มีแต่เงินตราต่างประเทศ แต่ถ้าเราเอารูปีไปชำระโรงแรม เขาเขียนบอกไว้ที่เค้าเตอร์บอกว่า ผู้มาพักต้องจ่างเงินตราต่างประเทศ แต่ถ้าจ่ายเป็นเงินรูปี ต้องมีหนังสือแสดงว่า เงินรูปีนี้ได้มาจากไหน แลกมาจากธนาคารไหน จากอะไรที่ไหน ต้องมีใบแสดง ถ้าไม่มีใบนั้นแสดง ชำระไม่ได้ เอาเงินรูปีไปชำระก็ไม่ได้ แล้วเจ้าหน้าที่โรงแรมก็ไม่ยอมรับ กลัวจะผิดกฎหมาย สมัยก่อนทำได้ แต่ว่าสมัยนี้ทำไม่ได้ บ้านเมืองก็ดีขึ้นเยอะ เราลงจากเครื่องบิน จากสนามบินที่กัลกัตตาเข้าเมือง เห็นแต่สิ่งปฏิกูลทั้งนั้น สมัยก่อนนี้สกปรก ดูไม่ได้เลย

แต่ว่าไปคราวนี้ ที่สกปรกสมัยก่อน กลายเป็นสวนหย่อมไป กลายเป็นสวนดอกไม้ เป็นสวนต้นไม้ไป ปลูกไว้สวยๆ งามๆ ทำรั้วไว้อย่างเรียบร้อย ในเมืองกัลกัตตาที่นับว่าสกปรกที่สุดแล้ว เขาว่ากรุงเทพฯสกปรกแล้ว ยังแพ้ ถ้าเอาเทียบกับกัลกัตตา กัลกัตตาเขานำหน้าเรา แต่ว่าไปคราวนี้ของเขาเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน อะไรๆ เขาก็จัดเป็นระเบียบ ก็เห็นว่า ท่านผู้หญิงก็ปกครองเมืองได้ดีเหมือนกัน เรียบร้อยเหมือนกัน แต่ว่าพอเห็นว่าเรียบร้อยดีแล้ว ท่านก็ประกาศให้เลือกตั้งผู้แทน มันผิดตรงที่ว่าพอประกาศเลือกตั้ง ก็ปล่อยนักการเมืองเก่า ออกมาจากคุกใหม่ๆ ก็ไปสมัครผู้แทน อารมณ์ของมนุษย์นั้น มักสงสารผู้แพ้ เราสังเกตตัวเราดูเถอะ อ้ายแสบชกกับบรู๊คเรากลับสงสารอ้ายบรู๊ค ที่อ้ายแสบชกตกเวที ชั่วขณะหนึ่งเราดีใจว่าอ้ายแสบชนะ แต่อีกขณะหนึ่งเราสงสารอ้ายบรู๊ค ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมา ถูกชกตกเวทีนี่น่าสงสาร ใจมนุษย์มันเป็นอย่างนั้น

นักการเมืองที่ติดคุกติดตะราง พอเขาประกาศให้เลือกผู้แทนก็ปล่อยออกหมด ปล่อยมาถึงคนก็สงสาร แล้วคนเหล่านั้นไปพูดอะไร คนก็ประทับใจ ผลที่สุดท่านพ่ายแพ้ไป เขาเรียกว่า จังหวะมันไม่เหมาะ ถ้าปล่อยคนพวกนี้ให้ออกมาวิ่งเต้นๆ อยู่สักปีสองปี แล้วก็เปิดรับสมัครบางทีก็ไม่เป็นอะไร เพราะมันออกมาแล้วคนก็เห็นว่า อะไรเป็นอะไร บางคนยังอยู่ในคุกยังไม่ได้ออกยังไปสมัครชื่อได้ แล้วก็ได้คะแนนด้วย ได้อย่างชนะท่านผู้หญิงด้วยซ้ำไป นี่เขาเรียกว่า จังหวะเหมือนกัน คนเราทำอะไรมากๆ ก็ลืมเผลอได้เหมือนกัน คือลืมไปได้เหมือนกัน อาตมานี่งานมากๆ ก็เหมือนกัน เมื่อวานนี้เขานิมนต์ไปเทศน์โน้น เพชรบูรณ์โน้น เขานิมนต์แล้วแต่ลืมจดไว้ในสมุดบันทึก แล้วก็เลยไปรับนิมนต์มาบอกว่า วันนั้นนะท่านเปิดปฏิทินตายแล้วไม่ได้จดไว้ มันก็ลืมได้เหมือนกัน งานมากๆ เผลอได้ เพราะฉะนั้นก็คิดให้ดีในเรื่องนี้

ทีนี้เผลอแล้วก็เป็นบทเรียน วันหลังไม่ให้เผลออย่างนั้น ต้องคอยจดไว้ ใครนิมนต์ก็ต้องจดก่อน ให้เขาเห็นเฉพาะหน้าว่าจดไว้แล้ว ให้เขาอุ่นใจ ทีนี้ถ้าไม่ได้จดไว้ ก็เกิดพลาดเกิดความเสียหาย แต่ว่าไม่เป็นไร ส่งพระอื่นไปแทนก็ได้ แต่มันไม่เหมือนดังที่เขาต้องการ ว่าจะฟังองค์นี้แต่องค์อื่นไป ก็ไม่เหมือนใจ เสียใจเล็กน้อย มันเป็นอย่างนี้ คนเราเผลอได้มีงานมากๆ

เพราะฉะนั้น จะทำอะไรต้องคิดต้องตรองให้รอบคอบ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า นิสมฺมกรณํ เสยฺโย ใครครวญให้ละเอียดก่อนจึงทำ ประเสริฐ ไม่ว่าเรื่องอะไรใคร่ครวญเสียก่อน ทำไมคนเราใคร่ครวญอะไรไม่ได้ มีอุปสรรคอยู่ตรงไหน ใจร้อน ใจร้อนนี่แหละเป็นตัวเสียหาย ใจร้อนใจเร็วจะให้ได้ดังอกดังใจ ถ้าความใจร้อนใจเร็วเกิดขึ้นแล้ว มันก็ผิดทั้งนั้น ไม่ได้ดังใจ แล้วก็ทำในขณะที่ใจร้อน ทำอะไรด้วยใจร้อนมักจะผิดพลาด เพราะขาดความยับยั้ง ขาดสติขาดปัญญา คิดแต่จะทำท่าเดียวเลยเสียหาย พระจึงสอนว่าให้ใจเย็นให้ใจสงบ จะทำอะไรต้องใจเย็นใจสงบเสียก่อน แล้วต้องคิดให้รอบคอบในเรื่องนั้น ยิ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบ้านเมือง ต้องในเย็นคิดนานๆ อย่าทำอะไรอย่างชนิดที่ วางแผนปุ๊บลงมือปั๊บ อย่างนั้นมันไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำเช่นนั้น แต่ต้องทำอะไรให้ซึ้งกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ อันนี้เป็นเรื่องญาติโยมต้องคิดให้มาก

ญาติโยมบางทีก็เคยได้รับความผิดหวัง ในเรื่องบางประการ ตัวอย่างเช่นเราเล่นแชร์ สมัยนี้คนนิยมเล่นแชร์ ไปเจอคนหน้าตาดีๆ ท่าทางดีพูดจาดี แต่งตัวดี บ้านช่องเป็นหลักเป็นฐาน แต่ว่าบ้านใครก็ไม่รู้ เราก็ไว้ใจ ว่าเจ้ามือรายนี้ไม่เป็นไร เป็นคนมีหลักมีฐาน แต่ว่าเราไม่รู้ละเอียด ว่ามีหลักฐานจริงหรือเปล่า แล้วก็ไปร่วมหุ้น ร่วมแชร์กันเข้า เล่นกันไปเล่นกันมาเปียไปเปียมา หายไปเสียแล้วเจ้ามือ คนอยู่ข้างหลังก็เดือดร้อนไปตามๆ กัน อย่างนี้ปรากฏบ่อยๆ ญาติโยมเคยมาเล่าให้ฟังว่า แหมดิฉันเสียท่าเขาเสียแล้ว หัวหน้าแชร์หายไปเสียแล้ว ไม่รู้ว่าจะไปเอากับใคร นี่มันเรื่องอะไรเชื่อคนง่ายเกินไป แล้วก็การกระทำเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องเปิดเผย

 | หน้าถัดไป >>

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย