ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง พักกาย พักใจ

วันอาทิตย์ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2520

2

ทีนี้โดยปกติอารมณ์ต่างๆ นั้น ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นเครื่องยั่วเสมอไป ไม่ใช่ยั่วให้เกิดความโกรธเคืองอะไรๆเสมอไปก็หามิได้ มันมีเฉพาะเรื่องเฉพาะบางประการขอให้เราสังเกตุว่าตาได้เห็นรูปหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้ถูกต้องสิ่งไรก็ตาม บางทีมันก็เฉย ๆ ไม่มีความรู้สึกอะไร เช่นตาเราเห็นของบางอย่างมันก็เฉยๆ ไม่มีการปรุงแต่งเป็นความรักความชัง หรืออะไรขึ้นมาในใจแม้แต่น้อย มัมเพียงสักแต่ว่า เห็นแล้วผ่านพ้นไปเท่านั้นเอง แต่ว่าอารมณ์บางประเภทมันก่อให้เกิดอะไรขี้น เช่นก่อให้เกิดความกำหนัด เกิดความขัดเคือง เกิดความลุ่มหลง เกิดความมัวเมาขึ้นในใจของเรา มัมก็มีเหมือนกัน อันนี้ขอให้เราสังเกตุดูตัวเราเองว่าเวลาเราเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้รสอะไร ได้ถูกต้องสิ่งใดสภาพจิตของเรา มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีความกำหนัดเกิดขึ้นหรือไม่มีโทสะเกิดขึ้นหรือไม่ มีความลุ่มหลงเกิดขึ้นหรือไม่มีความมัวเมา มีความริษยา มีความพยาบาทเคียดแค้นต่อสิ่งเหล่านั้นที่มากระทบหรือไม่ให้คอยสังเกตุลักษณะความคิดที่เกิดขึ้นในใจของเรา การคอยสังเกตุนี่แหละคือเพ่งอยู่เฉพาะหน้าเหมือนกัน "ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ" คือ การเพ่งอยู่เฉพาะหน้า ก็คือการคอยสังเกตุดู ว่า เมื่อสิ่งนั้นมากระทบตาเกิดอะไรขึ้น เสีองมากระทบหูแล้วเกิดอะไรขึ้น กลิ่นมากระทบจมูก ของเราแล้วเกิดอะไรขึ้น เรารับประทานอาหาร เช่นรับประทานรสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน รสผสมกัน เราก็ต้องคอยสังเกตุว่า พอเคี้ยวถูกสิ่งนั้น มีรสเป็นอย่างนั้น อะไรเกิดขึ้นในใจเรา ให้คอยกำหนดไว้ ขณะรับประทานอาหารเข้าไปในปากก็คอยกำหนดไว้ ขณะดื่มก็คอยกำหนดไว้ ขณะรับประทานอะไรเข้าไปในปากก็คอยกำหนดไว้ ตาได้ดู หูได้ฟัง จมูกได้กลิ่น มือได้สัมผัสสิ่งใด เราก็คอยกำหนดสิ่งนั้นไว้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในจิตของเรา เราก็จะได้รู้ว่ามันเกิดอะไร แล้วเมื่อรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นแล้ว เราก็อย่าให้มัมพ้นไปเฉยๆ แต่เราควรจะตั้งปัญหาต่อไปว่า ทำไมจึงเกิดอย่างนี้ ทำไมจึงเกิดความพอใจ ทำไมจึงไม่พอใจ ทำไมจึงไปโกรธเขา ทำไมจึงไปเกลียดเขา ทำไมจึงไปริษยาเขา หรือทำไมจึงไปพยาบาทเขาอาฆาตเขา

ให้เอามาแยกแยะวิเคราะห์วิจัยดูอารมณ์นั้นว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้นแล้วสิ่งนั้นมันคืออะไร ที่ทำให้เราโกรธเคืองมันคืออะไร ยกตัวอย่าง ง่ายๆ เช่นคำว่า ด่า คำ ด่า ว่าที่คนอื่น ด่า เรา เช่นเขา ด่า เราว่าอ้ายชาติชั่ว หรือว่าชาตินั้นชาตินี้ หรือคนอย่างนั้นอย่างนี้ พอเราได้ฟังแล้วแหมส่าขึ้นมา ด่ากู ทีเดียว หูแดงตาแดงขึ้นมาทีเดียวมันมาแล้ว อารมณ์มันมาแล้ว มันเกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว ทำไมจึงเกิดความโกรธขึ้นมาในเมื่อเขาว่าอย่างนั้น ก็เพราะว่าเราไปสำคัญผิด สำคัญผิดว่าเขาด่าเรา มันมีเราแล้วก็มีเขา มีสองผู้ขึ้นมา ผู้รับกับผู้ให้ ผู้รับคือตัวเราผู้ให้ก็คือผู้ที่ด่าเรา เกิดเป็นสองคนขึ้นมา คนหนึ่งเป็นผู้ด่า อีกคนหนึ่งเป็นผู้รับคำด่าเรียกว่า มีตัวสมมติขึ้นสองตัวในโลกแล้ว คือตัวเราตัวหนึ่ง แล้วตัวเขาอีกตัวหนึ่ง แล้วเราก็เกิดฟังขึ้นมาว่ามันด่ากูนี่หว่า อ้ายคนด่าก็มีขึ้นมา กลายเป็นสองตัวขึ้นมา สองผู้ขึ้นมาแล้ว เรียกว่าผู้ด่ากับผู้ถูกด่า มีสองอย่าง ในโลกนี้มันก็มีอยู่สองเรื่องนี้ ญาติโยมจำไว้ด้วยมีอยู่สองเรื่องเท่านี้ คือสิ่งที่เรารับรู้ แล้วก็ความรับรู้ของเรา หรือว่า ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ ว่านาย ก.ด่านาย ก. เป็นผู้ทำ เราเป็นผู้ถูกกระทำคือถูกด่า แล้วเราก็ไปโกรธนาย ก. โกรธนาย ก. ว่าด่าเราเรามองเห็นนาย ก. เป็นก้อนเป็นกลุ่มขึ้นมา ว่าเป็นตัวเป็นตนมีอะไรต่ออะไรพร้อม แล้วก็พูดคำผรุสวาท ด่าเราอย่างนั้น แล้วเราก็มองดูตัวเราว่า ฉันก็เป็นตัวเหมือนกัน เป็นตัวที่จะออกไปรับคำด่า เลยเกิดโกรธขึ้นมาเช่นนั้น สาเหตุมันอยู่ที่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องอะไรตรงที่ว่าเรายึดมั่นถือมั่น ว่าฉันมีฉันเป็น แล้วก็ยึดมั่นว่าเขามีเขาก็เป็น มันมีเรามีเขาขึ้นมา เขาด่าเรา เราเป็นผู้ถูกด่า แล้วเราเป็นผู้โกรธ โกรธเขาผู้นั้น ว่าเขาผู้นั้นมันด่าเรา เราก็โกรธขึ้นมาทันที อันนี้เป็นความคิดที่ได้รับมานานแล้ว ฝังอยู่ในใจมานานแล้ว ตั้งแต่เป็นเด็กตัวน้อยๆ

เพราะว่าคนเราพอเกิดมาก็ถูกสอนให้ยึดมั่นถือมั่น ในเรื่องอะไรต่างๆ ให่ยึดมั่นในเรื่องเล็กๆน้อยๆ แล้วก็ค่อยขยายไปทุกวันเวลา อยู่ในครอบครัวเด็กตัวน้อยๆ ก็ยึดมั่นในของที่ตัวมี เช่นว่ามีของเล่นของฉัน คนอื่นมาแตะต้องไม่ได้ มาเอาไปก็ไม่ได้เกิดความร้องไห้ ทำอะไรไม่ได้ก็ร้องไห้ไปตามเรื่อง เมื่อเขาเอาอะไรของฉันไป เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจขึ้นมา เพราะความยึดถือว่า สิ่งนี้เป็นของฉัน แล้วแม่พ่อก็สอนอย่างนั้น นี่ของหนูน๊ะ บอกให้เด็กรับไว่ว่าเป็นของหนู ตุ๊กตาของหนู อ้ายนี่ของหนู เราสอนมาอย่างนั้นสอนให้ยึดไว้โดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่ตัวน้อยๆแต่ว่าเด็กนั้นเราจะอธิบายเหตุผลมันก็ลำบาก จึงต้องให้เข้าอย่างนั้นไว้ก่อน แต่ว่าเมื่อเด็กนั้นพอรู้เดียงสา พอพูดจากันเข้าใจ พ่อแม่ควรจะเพาะแล้วเพาะให้เรียนรู้ความจริงของชีวิต ให้รู้ว่าอไรที่เป็นตัวเรานั้นมันหามีไม่ ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา หลักอนัตตาไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่จะสอนคนแก่ หรือว่าคนที่มีอายุมากๆ อะไรหามิได้ เราจะต้องสอนเด็กนั้งแต่ตัวน้อยๆ ให้เขามีฐานทางจิตใจถูกทางไว้ตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ให้เกิดความยึดถือที่รุนแรงในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ให้รู้ว่าอะไรเป็นของสมมติ อะไรเป็นของจริงของแท้ แล้วให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร บางทีเราอาจจะพาเด็กไปดูดอกไม้ เพราะในต้นไม้ต้นหนึ่งมันมีดอกไม้หลายชนิด เช่นมีดอกไม้ที่กำลังตูม กำลังแย้ม กำลังบาน บานเต็มที่ แล้วก็กลีบบางอันก็เริ่มเหี่ยว แล้วก็ล่วงหล่นลงไปอยู่ที่โคนต้น บางอันก็หล่นไปหมดแล้ว บางอันก็ยังสมบูรณ์อยู่ เราก็เอาเด็กไปใกล้ต้นไม้ คุยกับเด็กในแง่ธรรมะ ซึ่งเป็นสัจจธรรมเลย คือความจริงที่เด็กควรจะเข้าใจ เป็นการสร้างฐานชีวิตให้เด็กได้เข้าใจตั้งแต่ตัวน้อยๆโตขึ้นเด็กจะไม่เป็นโรคประสาท จะไม่เกิดความหลงผิดในปัญหาอะไรต่างๆจะช่วยชีวิตเขาสดชื่นรื่นเริง เพราะเขารู้ความจริงเข้าใจความจริงของสิ่งเหล่านั้น เราก็อธิบายให้เห็นว่า นี่ดอกไม่เหล่านี้ มันแตกต่างกัน มันไม่เหมือนกัน แต่ว่าทุกดอกต้องมีสภาพเหี่ยวแห้งร่วงโรย เหมือนกันไปโดยลำดับ ชั้นแรกก็เป็นดอกตูม ดอกแย้ม ดอกบานแล้วก็ล่วงผลอยลงไปที่โคนต้น ไม่มีอะไรเหลืออยู่มันเป็นอย่างนี้

ถ้าเรา เห็นผลไม้ก็สอนเด็กได้ในเรื่องผลไม้ ในเรื่องความเปลี่ยนแปลง ก็ผลไม้แรกออกมันก็ลูกเล็กๆ เกิดจากดอกนั้นเอง แล้วต่อมาก็ค่อยโตขึ้นๆ โดยลำดับต้นไม้ต้นหนึ่งก็มีลูกหลายชนิด ลูกเริ่มเป็น แล้วก็ลูกที่อ่อน ลูกที่แก่ ลูกที่มีเปลือกเป็นสีเรื่อๆ เหลืองๆลูกที่สุกเอาไปกินได้ แล้วที่หล่นไปกองอยูที่พื้นดินเน่าไปก็มี สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนได้ทั้งนั้น ที่เราจะคุยกับเด็กของราให้เข้าใจไปทีละน้อยๆ ในเรื่องเกี่ยวกับปัญญาของชีวิต เรื่องปัญหาหรือปัญญาของชีวิตเด็กจะได้รู้เป็นฐาน เมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นน้อย เราก็ค่อยอธิบายไปโดยลำดับ ในเรื่องความจริงตามหลักเหล่านี้ ซึ่งเป็นสัจจะเป็นเรื่องแท้เรื่องถูกต้อง เด็กก็จะรับสิ่งเหล่านี้มาฝังไว้ในความคิดของเขา เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเขาก็จะปลงตกไป เหมือนกับเด็กที่พอเอาแมวสองตัวไปให้คนอื่นเขา แล้วก็ยิงตัวตาย แสดงว่าคนในครอบครัวนั้นไม่ได้คุยธรรมะกับลูกกับหลานเลย ไม่ได้คุยธรรมะให้เด็กเข้าใจ ว่าแมวนี่มันเป็นสัตว์ธรรมดามีอยู่ทั่วไปเยอะแยะ บ้านไหนเขาก็เลี้ยงแมวกันทั้งนั้น แล้วก็ต้องตายต้องสูญหาย มันต้องเปลี่นนแปลงอะไรไปบ้างเป็นธรรมดา แล้วจะไปยึดถืออะไร นี่ไม่ได้คุยธรรมะ เพราะทั้งพ่อทั้งแม่ก็ต้องไปทำงานตลอดทั้งวัน ลืมที่จะสอนธรรมะให้ลูกได้เข้าใจ นับถือศาสนาแต่ไม่ถึงธรรมะของพระศาสนา เลยไม่ได้เอาไปใช้ เสียดายที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย แล้วก็ไปยิงตัวตาย วิชาที่เรียนมาทั้งหมดนั้นช่วยตัวเองไม่ได้ ช่วยจิตใจไม่ได้ถ้าปราศจากธรรมะ อันเป็นความจริงที่เราจะต้องรู้ต้องเข้าใจ ถ้าเราสอนลูกของเราไปตั้งแต่เริ่มต้น ให้เข้าใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทุกโอกาสที่จะสอนได้ เช่นเราไปงานศพเราก็สอนเด็กได้ ดูหนังดูละครก็สอนเด็กได้ เพราะในนั้นมันก็มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงอยู่ เรื่องกฏแห่งกรรมยิ่งสอนได้ง่าย เพราะว่ามันสนองกันอยู่ในตัว ใครทำบาปทำกรรมไว้ก็ได้รับผล เราก็สอนให้เด็กเข้าใจได้ทุกโอกาส

คือว่า การสอนธรรมะ กับเด็กๆ นี่ อย่าเอาเป็นจริงเป็นจัง สอนเล่นๆฝากไว้ในสมองมันตั้งแต่ตัวน้อยๆ สังเกตดูเด็กน้อยๆ ยังไม่รู้ แต่ว่าเราเป็นผู้ใหญ่ออายุหลายสิบแล้ว ลองระลึกถึงอดีตว่า ในสมัยที่เราเป็นเด็กนั้นเรานอนกับคุณย่าคุณยาย ท่านสอยอะไรเรามั่ง ท่านพูดอะไรกับเรามั่ง สิ่งที่เราได้รับเมื่อเป็นเด็กมันฝังอยู่ในหัวเป็นความคิดที่นานเหลือเกิน  แล้วก็ถ้าว่าเรื่องที่ท่านสอนเราในเรื่องที่ถูกที่ชอบ มันก็ฝังอยู่ในใจ ทำให้เรายึดมั่นอยู่ในสิ่งนั้น ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลง เพราะรับตั้งแต่เด็ก คือจิตใจของเด็กนี้มันคล้ายกับผ้าขาวที่สะอาด ใครจะย้อมสีอะไรก็ได้ จะย้อมสีใดก็เรียกว่าสวยทั้งนั้น แต่ถ้าเราไม่ย้อมมันเลยมันก็เปรอะขี้ฝุ่นไปตามเรื่อง เก็บตกจากสิ่งต่างๆ จากสิ่งแวดล้อม จากคนนั้นนิดจากคนนี้หน่อย เรียกว่าเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด ไม่มีระเบียบในจิตใจเขา ไม่มีหลักเกณฑ์ เที่ยวเก็บมาจากนั้นนิดหน่อยเลยไม่ได้เรื่องอะไร ทีนี้ให้เราค่อยพูดค่อยจาให้เขาเข้าใจในเรื่องความจริง เช่นเด็กมาฟ้องว่าเด็กคนนั้นด่าหนู เขาด่าว่าอย่างไร เราลองถามเด็กว่าเขาด่าว่าอย่างไร เขาด่าว่าหนูเป็นหมา แล้วหนูเป็นหมาหรือเปล่า ไหนเดินดูซิเหมือนหมาไหม เราต้องถามเด็กอย่างนั้น เด็กมันบอกว่าเดินไม่เหมือนสุนัข สุนัขมันไม่ได้เดินอย่างนั้น ก็คลำดูตามเนื้อตามตัวก็ไม่มีขน หูก็ไม่ยาวเหมือนสุนัข ปากก็ไม่แหลม อะไรๆ ที่เขาว่าเขาโกหกทั้งนั้น เขาว่าเราเป็นหมาเราก็ไม่ได้เป็นตามเขาว่า จะไปโกรธไปเคืองอะไรเขา ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะโกรธเคืองอะไร หรือจะพูดในแง่ว่าเขาเตือนเรา ให้เราสำนึกตัวว่าอย่าเป็นสุนัข อย่าทำอะไรเหมือนกับสุนัข จะได้เป็นเครื่องสำรวมจิตใจ เราพูดเราสอนเขาอย่างนั้นทำให้เด็กคลายความโกรธไป

เรื่องของเด็กเขาไม่ยึดมั่นเท่าใดหรอก ไม่เหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่มีเรื่องอะไร แหม ฝังหัวไว้เลยทีเดียวโกรธนักโกรธหนา ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยึดมั่นไว้ในจิตใจ เคยมีท่านคนหนึ่งแกมีลูกสาวแล้วก็ไปรักไปชอบกับผู้ชายคนหนึ่ง ก็ไปแต่งงานกัน ไม่ได้ถูกต้องตามประเพณีอะไร ไปอยู่ด้วยกันอย่างนั้น ก็โกรธใหญ่โตเลยบอกพี่ชายของผู้หญิงว่า เอ็งไปซิไปที่บ้านนั้น ไปเอากลับมา กูเกลียดน้ำหน้าอ้ายผู้ชายคนนั้น ทีนี้พี่ชายก็ไปไปนั่งดูๆ เอ๊ะ เขารักกันดีนี่ ไปอยู่กันเรียบร้อย ไม่มีอะไร ดูเสร็จแล้วก็ไม่พูดอะไรเลยสักคำหนึ่ง กลับมาเลย มาถึงบอกพ่อให้ไปเอาน้องมา ทำไมไม่เอามา ผมไปดูแล้วมันรักกันดี ไปอยู่กับเรียบร้อย แล้วก็ผู้ชายนั้นก็เป็นคนเรียบร้อย ไม่ขี้เหล้าเมายาเป็นคนมีความรู้ งานการต่อไปเขาจะก้าวหน้าสูง พื้นฐานเขาดี จะไปแยกเขามมำทำไม เขาอยู่กันก็ดีแล้ว พ่อว่า เอ็งมันไม่เหมือนข้าดุลูกชายเข้าไปอีกว่าไม่เหมือนข้า หาว่าไม่โกรธเหมือนข้า แล้วก็ต่อมาก็มีลูก มีลูกเป็นชายน่ารักน่าเอ็นดูทีเดียวแล้วก็พามาที่บ้านคุณตา เอามาถึงให้คนอุ้มดูแล แกก็เห็นเข้า โอ๋ลูกใครน่ารักจริง ไม่ว่าหลานตัวก็เข้าไปอุ้ม โอ๋อ้ายหนูน่ารักยิ้มน่าเอ็นดู แล้วก็ถามว่าคนใช้ลูกใครวะ พอเขาบอกว่า ลูกของลูกสาวตัว ก็วางทันที เอาไปๆ กูไม่อยากแตะต้อง ดูเถอะนี่เขาเรียกว่า โกรธเหลือเกิน เอาไปอุ้มอยู่ได้ เพราะไม่รู้ พอรู้ว่าลูกของลูกสาวตัว ก็ว่าเอาไปเลย กูไม่อยากแตะต้อง ของเก่ามันออกมา ไม่รู้ตัวมันออกมาไม่รู้ตัว นี่เรื่องผู้ใหญ่โกรธแล้วก็โกรธนานจริงๆ โกรธตัดญาติขาดมิตรกันเลย แต่ว่าเด็กนั้นเขาโกรธประเดี๋ยวประด๋าว เช่นเด็กชาย ก. ด่าเด็กชาย ข. เด็กชาย ข. ก็โกรธไม่อยากจะคุยด้วยแล้ว หันหลังให้ ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นแหละ ไปคุยกันต่อไปหยอกล้อกันต่อไป

ผู้ใหญ่เรา ถ้าทำใจให้เป็นเด็กมั่งก็จะดีเหมือนกัน มันสบายไม่ต้องผูกโกรธกัน แล้วคนเดี๋ยวนี้น่ากลัวกันจริงๆ มันโกรธกันมันฆ่ากันทั้งนั้น ไม่ไว้ชีวิตกันแล้ว อยู่รวมแผ่นดินกันไม่ได้ มันเหลือเกินแล้ว นี่เพราะอะไร ก็เพราะว่าจิตใจห่างศีลธรรมเหลือเกิน ห่างธรรมะ ในครอบครัวของคนเหล่านั้นคงจะไม่มีศาสนา ประจำจิตใจไม่มีธรรมะ ไม่ได้อบรมบ่มนิสัย อยู่กันแต่เรื่องของวัตถุ เรื่องกิน เรื่องใช้ เรื่องวัตถุตลอดเวลา ไม่ได้สอนธรรมะกันไว้บ้าง นี่แหละคือความผิดพลาดของการดำเนินชีวิต ของสังคมในยุคปัจจุบัน ที่ไม่หันหน้าเข้าหาศาสนาไว้ ศาสนานี่มันเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งบังคับจิตใจทำคนให้เกิดความสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดี จะช่วยให้จิตใจของเราสงบสบาย ไม่กระทำชั่วหยาบๆ แล้วก็ไม่ให้กระทำความขั่วที่ลึกซึ้งมากเกินไป เพราะพอคิดได้ แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือว่าเป็นยาแก้ทุกข์ในชีวิตประจำวัน ที่จะทำเราให้ผ่อนคลายจากปัญหานานาประการที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ให้ลองสังเกตตัวเราแต่ละท่านตั้งแต่เราเริ่มศึกษาธรรมะ อ่านหนังสือบ้างมาฟังธรรมะบ้าง สนทนาอะไรๆ กันอยู่บ่อยๆ ความรู้สึกนึกคิดในจิตใจนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เราก็เห็นว่าเปลี่ยนแปลงไป มีความยับยั้งชั่งใจ มีความสำนึก มีปํญญาในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ เช่นว่าบางคนใจร้อนก็หายใจร้อนไป มักโกรธก็เบาไป หรือว่าอะไรต่ออะไรมันดีขึ้นทุกอย่าง นี่คืออะไรช่วยธรรมะช่วย ธรรมะอย่างเดียวที่จะช่วยเราได้ในทุกประการ ถ้าเราใช้ธรรมะเหล่านั้นเป็นเครื่องปลอลโยนจิตใจของเราไว้

เพราะฉะนั้น จึงต้องคอยควบคุมไว้ตลอดเวลา เอาสติปัญญาเป็นเครื่องมือควบคุมไว้ ให้มองเห็นอะไรๆ ตามสภาพเป็นจริงไว้ตลอดไป นอกจากการพิจารณาดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเราอยู่ว่างๆ เราก็หมั่นดูตัวเอง กำหนดลมหายใจเข้าออกง่ายๆหายใจธรรมดาธรรมดาแล้วก็คอยกำหนดไว้ ให้จิตมันอยู่ที่ลมเข้าลมออกว่างๆ ก็นั่งทำอย่างนั้นเสียบ่อยๆ จะได้เกิดกำลังทางภายในมากขึ้นนเวลามีปัญหาอะไร เรียกว่าทิ้งปัญหานั้นเสีย แล้วก็มานั่งเพ่งอยู่ที่ลมเข้าลมออก เพื่อปรับตัวเองให้มันหยุดเสียก่อน เช่นว่าจะเกิดความโกรธกำหนดลมเสีย หายใจแรงๆหายใจเข้าแรงหายใจออกแรงกำหนดลมเสีย ความโกรธมันก็เบาไปเช่นคนเราพอจะโกรธนี้รีบหายใจ หายใจให้แรง หายใจเข้าแรงๆหายใจออกแรงๆ อารมณ์นั้นก็ผ่อนคลายไป และขณะหายใจนั้นคอยกำหนดอยู่เรื่อย มีสติคอยกำหนดลมเข้าลมออก ก็พอจะตั้งตัวได้ไม่เกิดความโกรธประเภทรุนแรงขึ้นมา ไม่ต้องไปทุบไปตีกับใครๆแล้วเมื่อจิตสงบแล้วจากความโกรธ เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่าเอ๊ะ เมื่อตะกี้นี้ อะไรมันเกิดขึ้นในใจของเรา เราก็ตอบตัวเองว่าความโกธรเกิดขึ้น โกรธอะไรโกรธใคร โกรธเรื่องนั้นโกรธเรื่องนี้ แล้วทำไมไปโกรธเรื่องนั้น เรื่องนั้นมันเรื่องอะไร ทำไมมันจึงเกิดขึ้น เราบังคับมันได้หรือ อยู่ในอำนาจของเราหรือที่จะไม่ให้โกรธนั้น เราก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรขึ้นมา ก็พอจะหนี่ยวรั้งจิตใจของเราไว้ ไม่ให้เกิดความกระทบกระทั่ง เพราะอารมณ์นั้นๆมากเกินไป

เมื่อเรานำพาไปบ่อยๆ ก็เกิดความชำนาญ เกิดความแคล่วคล่องที่จะต่อสู้กับอารมณ์ มีความแคล่วคล่องที่จะคิดแยกแยะปัญหาปรเภทน่างๆ ที่จะเกิดขึ้นรบกวนจิตใจของเรา สภาพจิตใจก็ค่อยสบายขึ้น ถ้าจิตใจสบายแล้ว อะไรอื่นมันก็พลอยดีไปหมด เช่นระบบการย่อยอาหาร การขับถ่าย ประสาทสมองอะไรมันก็ดีไปหมด เพราะระบบการควบคุมจิตใจอยู่ในสภาพปกติ แต่ถ้าเมื่อใดจิตใจไม่ปกติแล้ว การสั่งงานมันไม่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นจึงเกิดเป็นโรคอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเป็นโรคทางประสาท โรคขับถ่ายไม่ดี ย่อยอาหารก็ไม่ดี นี่มันกระทบกระเทือนจากความยุ่งยากทางด้านจิตใจทั้งนั้น ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นต้นเรื่องของอะไรทุกสิ่งทุกประการ เราจึงต้องคอยควบคุมความคิดนึกของเราไว้ ให้อยู่ในแนวทางที่ถูกที่ชอบ วันหนึ่งๆของชีวิตต้องพยายามรักษาจิตของเราให้มันสงบไว้ ให้เป็นน้ำนิ่งในอ่าง อย่าให้เป็นน้ำในทะเล ที่มันกระเพื่อมเป็นคลื่นใหญ่ๆ อยู่ตลอดเวลาไม่เอา ให้เป็นน้ำนิ่งในอ่าง มีอะไรเกิดขึ้นก็ค่อยนึกตรึกตรอง อย่าใจร้อนอย่าใจเร็ว อย่าทำอะไรด้วยอารมณ์หุนหันพลันแล่น การทำด้วยอารมณ์หุนหันนั้น ตั้งตัวไม่ทันเมื่อตั้งตัวไม่ทัน แล้วก็สับสนวุ่นวายไปหมดเพราะปรับตัวไม่ทันลำบากเพราะฉนั้นค่อยๆคิด ค่อยๆตรอง หัดทำอย่างนี้บ่อยๆ สภาพจิตใจก็จะอยู่ในภาวปกติ เมื่อจิตใจปกติเราก็จะรู้สึกว่าสบาย มีอะไรมากระทบก็เฉยๆได้ ไม่วุ่นวายมากเกินไป

สมัยก่อน มีบ้านเจ้าคุณอะไรอยู่คลองบางลำภูใกล้ถนนวันชาติ สพานยี่สิบสี่มิถุนา บ้านนี้สวดมนต์กันทั้งบ้านเลย คนใช้สวดมนตืเป็นหมด ไม่ใช่สวดน้อยๆ สวดธรรมจักร สวดอาทิตย์ สวดอนัตต์ได้คนใช้ในบ้านนั้น สวดทุกคืนพอค่ำก็สวดมนต์แล้ว ลูกเล็กเด็กน้อยก็มานั่งสวดมนต์กันหมดทั้งบ้าน ใส่บาตรขันใหญ่เคยไปบิณฑบาตที่บ้าน เขาสวดมนต์กันอย่างนั้น นี่คืออุบายให้คนในบ้านรักกัน นั่งสวดมนต์ด้วยกันแล้วก็เป็นกันเองแล้ว ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน คนอยู่กันมากๆ มันต้องมีอะไรเป็นเครื่องควบคุมจิตใจ ถ้าไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งเลยมันก็แตกแยกทะเลาะกันเบาะแว้งกัน คนโบราณเขาฉลาดใช้วิธีการระงับจิตใจด้วยธรรมะ ก็อยู่กันด้วยความสบาย ไม่ต้องขึ้นเงินเดือนให้ก็ได้ เพราะคนใจมันไม่วุ่นวาย เดี๋ยวนี้พอไม่พอใจก็สไตรค์ นักเรียนก็สไตรค์ต้องการไว้ผมยาว ต้องการห้องสูบบุหรี่พิเศษนานๆ มันจะเดินสไตรค์ว่าให้ครูสอนเวลานั้น เวลานั้นหยุดพักสูบบุหรี่กัน บ้านเมืองจะเละเทะเข้าทุกวันเวลานี้ เพราะว่ามันขาดสิ่งสำคัญในทางจิตใจ ดังที่กล่าวมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

<< ย้อนกลับ

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย