ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

ธรรมบรรยายของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ

พุทธวิธีควบคุมความคิด(2)

วิธีที่สอง : พิจารณาโทษของความคิด

การจะควบคุมความคิดไม่ให้เป็นเหตุให้เกิดโทสะ มีวิธีอยู่ว่า ให้พิจารณาโทษของความคิด ให้เห็นว่าความคิดที่นำให้เกิดโทสะนั้นมีโทษอย่างไร เมื่อพิจารณาจนเห็นโทษของความคิดเช่นนั้นชัดเจน ใจก็จะสลัดความคิดนั้นทิ้ง ท่านเปรียบเหมือนหนุ่มสาวที่กำลังรักสวยรักงาม ยินดีพอใจประดับตกแต่งร่างกายด้วยอารภรณ์อันงาม เมื่อซากอสุภเน่าเหม็นไปคล้องคออยู่ ก็ย่อมสลัดทิ้งเสียทันทีด้วยความรังเกียจ

อันที่จริงแม้จับพิจารณาก็ย่อมจะเห็นว่า ความคิดที่จะนำให้เกิดโทสะนั้นมีโทษมากมายต่างๆ กัน ทั้งโทษหนักและโทษเบา ความคิดที่จะนำให้เกิดโทสะ จะเรียกอย่างง่ายๆ ก็คือการคิดไปคิดมาจนโกรธนั่นแหละ คิดไปคิดมาจนโกรธแล้วมีโทษอย่างไรบ้าง พิจารณาตรงนี้ ทุกคนเคยคิดไปคิดมาจนโกรธมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น และทุกคนก็คงเคยได้รับโทษเพราะการคิดไปคิดมาจนบันดาลโทสะหรือเกิดความโกรธมาด้วยกันแล้วมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี

การตีรันฟันแทงที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ มีสาเหตุมาจากความคิดที่นำให้เกิดโทสะมากกว่าอย่างอื่น ตัวอย่างเช่นเห็นคนหนึ่งมองหน้า ใจก็คิดไปว่า มองเพราะดูถูก เพราะจะท้าทาย เพราะเห็นตนอ่อนแอ ขลาด ถ้าโทสะไม่ทันเกิดรุนแรงในขณะนั้น แยกทางกันมาแล้วกลับมาคิดถึงต่อไปอีก ยิ่งคิดก็ยิ่งอารมณ์ร้อนขึ้นทุกทีจนถึงจุดที่เรียกว่าเกิดโทสะ เลยไปถึงต้องแสดงออกเพื่อให้เป็นการกระทำทางกาย



ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดเรื่องร้ายขึ้น โทษเกิดขึ้น คือเมื่อปล่อยให้โทสะเกิดขึ้นเต็มที่เพราะความคิด ความคิดเกิดจากโทสะอีกต่อหนึ่งก็จะพาให้กระทำกรรมต่างๆ เช่น ทะเลาะกับเขาเป็นอย่างเบา หรือชกต่อยทุบตี จนถึงฆ่าฟันกัน แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะบาดเจ็บหรือถึงตายไปก็ตาม ฝ่ายที่ปล่อยให้ความคิดดำเนินไปจนเกิดการบันดาลโทสะเช่นนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้รับโทษ จะต้องได้รับโทษเหมือนกัน ทั้งโทษอันเป็นอาญาของบ้านเมือง และโทษที่เกิดขึ้นในจิตใจตนเอง เพราะแน่ละเมื่อก่อเรื่องร้ายแรงเช่นนั้นให้เกิดขึ้นแล้ว ผู้ก่อจะต้องเดือดร้อนทั้งใจด้วย มิใช่เดือดร้อนเพียงกายเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นหาได้เดือดร้อนแต่ลำพังตนเองไม่ ผู้เกี่ยวข้องเป็นมารดาบิดาญาติพี่น้องทั้งหลายย่อมต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย

แต่ถ้าหากพิจารณาความคิดของตนเสียแต่เริ่มแรก ทำสติให้รู้เสียแต่ต้นว่า ความคิดเช่นนั้นแม้ปล่อยให้ดำเนินต่อไป ผลร้ายคือโทษจะเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ก็อาจทำให้เลิกคิดอย่างนั้นได้ แต่การมีสติพยายามยับยั้งความคิดเช่นนั้นอาจจะไม่เกิดผลทันที คือบางทีพอเริ่มจะเกิด จะห้ามให้หยุดคิดทันทีไม่ได้ แต่ถ้าไม่ยอมแพ้ รักษาสติไว้ พยายามใช้สติต่อไป จะได้ผลในจุดหนึ่งก่อนที่จะทันเกิดโทษ เช่น ความคิดดำเนินไปจนถึงที่ว่าจะต้องไปฆ่าผู้ที่เป็นต้นเหตุเสีย สติจะชี้ให้เห็นโทษว่าฆ่าเขาตายเราก็เหมือนตายด้วย เพราะอาญาบ้านเมืองที่จะลงโทษผู้ร้ายฆ่าคนตายนั้นรุนแรง

การต้องเข้าไปถูกจองจำอยู่ในคุกในตะรางนั้นน่ากลัว ไม่ใช่น่าสนุก ชื่อเสียงเกียรติยศจะหมดสิ้น จะดูหน้าผู้คนได้อย่างไร เมื่อพ้นโทษแล้วจะอยู่อย่างไร มีพ่อแม่พี่น้องลูกหลานก็จะต้องมาพลอยได้รับโทษเพราะการกระทำของตนด้วย คิดลงไปให้ลึกลงไป ให้เห็นชัดเข้าไปเห็นภาพความทุกข์ร้อน น่ากลัว น่ารังเกียจ ที่จะเป็นผลของสิ่งที่คิดจะทำแล้วความคิดนั้นจะหลุดพ้นจากใจ เหมือนคนหนุ่มสาวผู้รักสวยรังามสลัดซากอสุภส่งกลิ่นเน่าเหม็นให้พ้นจากคอตนฉะนั้น ยังมีตัวอย่างของการพิจารณาให้เห็นโทษของความคิดอันจะนำให้เกิดโทษอีกมากมาย จะพิจารณาย้อนไปดูเรื่องราวที่เกิดกับตนเอง หรือกับผู้อื่นแล้วก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาแต่เรื่องเฉพาะหน้า

ที่จริงผู้ฝึกพิจารณาย้อนหลังไว้เสมอ เมื่อเกิดเรื่องเฉพาะหน้าจะมีความสามารถในการพิจารณาได้รวดเร็วกว่าผู้ไม่เคยฝึกพิจารณามาก่อนเลย จึงควรอย่างยิ่งที่ผู้ต้องการจะควบคุมความคิดไม่ให้นำไปสู่ความเดือดร้อนเพราะการบันดาลโทสะ จะต้องฝึกพิจารณาโทษของความคิดที่ตนผ่านมาแล้วไว้ให้เสมอ จนแลเห็นถนัดชัดเจน และจนแลเห็นได้รวดเร็วทันเวลา ไม่สายเกิดจนไปจนต้องได้รับโทษเพราะโทสะที่เกิดจากความคิดเสียก่อน

<<<ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

แสงส่องใจ
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร
พุทธวิธีควบคุมความคิด
วิธีสร้างบุญบารมี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย