ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดลพบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดลพบุรี

ดินแดนซึ่งเป็นจังหวัดลพบุรีในปัจจุบันได้ค้นพบหลักฐานคือโครงกระดูก เครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับทำด้วยดินเผา หิน สัมฤทธิ์ เหล็ก ทองแดง กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และแก้วของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอเมือง อำเภอโคกสำโรง อำเภอ ชัยบาดาล อำเภอพัฒนานิคม หลักฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังกล่าวส่วนใหญ่พบอยู่ตามเนินดิน น้ำท่วมไม่ถึงอยู่ไม่ไกลจากภูเขา และมีทางน้ำไหลผ่านเฉพาะส่วนน้อยเท่านั้นที่พบอยู่ตามถ้ำในภูเขา

สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีผู้ให้คำจำกัดความว่าเป็นสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักประดิษฐ์อักษร ขึ้นใช้ ต่อเมื่อมนุษย์รู้จักประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้แล้วจึงเรียกว่าเป็นสมัยประวัติศาสตร์ อายุสมัยก่อน ประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ได้รับการศึกษาว่ามีอายุเก่าแก่ก่อน 10,000 ปีมาแล้วจนถึงราว พ.ศ. 1000 ซึ่งเป็นสมัยที่อายุตัวอักษรแบบเก่าสุดได้ค้นพบในดินแดนนี้

การศึกษาเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยเท่าที่เป็นมาได้แบ่งออกเป็นยุคตามลักษณะเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบ กล่าวคือ
- ยุคหินเก่า เป็นยุคเก่าสุด มนุษย์ใช้เครื่องมือขวานหินกะเทาะ
- ยุคหินกลาง มนุษย์รู้จักใช้ขวานหินกะเทาะที่ประณีตขึ้น
- ยุคหินใหม่ มีเครื่องมือทำด้วยหินที่ได้รับการขัดฝนเป็นอย่างดี
- ยุคโลหะ มีเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยสัมฤทธิ์ เหล็ก และทองแดง

ปัจจุบัน การศึกษาเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อลักษณะการดำรงชีพของมนุษย์ในสมัยนั้น จึงได้มีการแบ่งยุคออกเป็นสังคมก่อนเกษตรกรรม (Non-Agricultural Society) และสังคมเกษตรกรรม (Agricultural Society) ผลการขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศไทยอาจจะสรุปในขั้นต้นนี้ได้ว่า ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์แต่ดั้งเดิมยุคหินเก่าและยุคหินกลางเป็นสังคมก่อนเกษตรกรรม ส่วนมนุษย์ยุคหินใหม่และยุคโลหะจัดเป็นพวกสังคมเกษตรกรรมรู้จักเพาะปลูก ทำภาชนะดินเผา ถลุงแร่และทอผ้า

หลักฐานมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดลพบุรี ที่พบเก่าสุดได้แก่ขวานหินกะเทาะที่ศาสตราจารย์ ฟริทซ์ สารสิน นักโบราณคดีชาวสวิส ได้สำรวจพบจากถ้ำกระดำ (กระดาน) ตำบลเขาสนามแจง อำเภอบ้านหมี่ เมื่อ พ.ศ. 2475 สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องมือมนุษย์ยุคหินกลาง หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคต่อมาคือยุคหินใหม่ได้ค้นพบเครื่องมือขวานหินขัดของมนุษย์ยุคหินใหม่มากมายกระจัดกระจายเกือบทุกอำเภอในจังหวัดลพบุรี และได้รับการขุดค้นแล้วนั้นคือที่ตำบลโคกเจริญ อำเภอโคกสำโรง ใน พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2510 ที่สำคัญก็คือพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยหินใหม่พร้อมเครื่องใช้และพบว่ามนุษย์ยุคหินใหม่ในแหล่งดังกล่าวรู้จักใช้ภาชนะดินเผาที่มีลักษณะคล้ายกับภาชนะดินเผาสมัยหินใหม่ที่พบที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดกาญจนบุรี

การขุดค้นอีกครั้งหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดลพบุรีก็คือการค้นพบหลักฐาน มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะ พบกระจัดกระจายมากมาย ที่ได้รับการขุดค้นและกำหนดอายุได้นั้นคือการขุดค้นแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะในศูนย์การทหารปืนใหญ่ โดยกรมศิลปากรใน พ.ศ. 2507 - 2508 กำหนดอายุจากเศษเครื่องปั้นดินเผาได้ 700 ปี ก่อน ค.ศ. 166 มนุษย์พวกนี้รู้จักทอผ้าใช้มีเครื่องประดับกาย เช่น แหวน กำไล ลูกปัด ทำด้วยสัมฤทธิ์ แก้วและหินมีเทคโลโลยีสูงในเรื่องการโลหะกรรม

หากกำหนดโดยลักษณะการดำรงชีพจะพบว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่เขตจังหวัดลพบุรีจะมีทั้งเป็นพวกสังคมสมัยก่อนเกษตรกรรม คือ ยุคหินกลางและสังคมสมัยเกษตรกรรม คือยุคหินใหม่และยุคโลหะ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยสำหรับจังหวัดลพบุรีที่ได้ค้นพบหลักฐานของการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด

 || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย