ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดนนทบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดนนทบุรี(2)

นอกจากป้อมที่ปากแม่น้ำอ้อมแล้ว เข้าใจว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา คงจะได้มีการสร้างป้อมไม้เอาไว้ที่บริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบันนี้ด้วย เพราะปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวง เดอ ซัวซีย์ (L’abb? de Choisy) ผู้ซึ่งเดินทางร่วมมากับคณะราชฑูตของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2228 ว่า “….เช้าวันนี้เราผ่านป้อมที่ทำด้วยไม้ 2 ป้อม ป้อมหนึ่ง ยิงปืนเป็นการคำนับ 10 นัด อีกป้อมหนึ่ง 8 นัด ที่นี่มีแต่ปืนครกเท่านั้น ดินปืนดีมากทีเดียว ป้อมทางขวามือเรียกป้อมแก้ว (Hale de Cristal) และป้อมทางซ้ายมือเรียกป้อมทับทิม (Hale de Rubis) ณ ที่นี้เจ้าเมืองบางกอกก็กล่าวคำอำลาและอ้างเหตุว่าได้ควบคุมเรือขบวนมาส่งจนสุดแดนที่อยู่ในความปกครอง ของเมืองบางกอกแล้ว แล้วก็ลาท่านราชฑูตกลับไป……”

ใน ปี พ.ศ. 2230 เมื่อลาลูแบร์เป็นราชฑูตเข้ามากรุงศรีอยุธยาก็ได้กล่าวถึงป้อมไม้แห่งนี้ไว้ด้วย โดยเขียนเป็นแผนที่เอาไว้อย่างชัดเจน (โปรดดูแผนที่) ตามหลักฐานดังกล่าว จึงเข้าใจว่าป้อมแก้ว คงตั้งอยู่ ณ บริเวณตลาดแก้ว ส่วนป้อมทับทิมเข้าใจว่าคงตั้งอยู่ ณ บริเวณหน้าวัดเฉลิม พระเกียรติ ปัจจุบันนี้

พ.ศ. 2264 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้ทรงโปรดให้ขุดคลองลัดเกร็ด ที่อำเภอปากเกร็ด ดังปรากฏในหลักฐานในพงศาวดารว่า “ในปีขาล จัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง เกณฑ์พลนิกายคนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คน 10,000 เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองนั้นคดอ้อมหนัก ขุดลัดตัดให้ตรงพระธนบุรีรับสั่งแล้วกราบบังคมลามาให้เกณฑ์พลนิกายในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คน 10,000 เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อยนั้นลึก 6 ศอก กว้าง 6 วา ยาวทางไกลได้ 39 เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึงแล้ว…..”

พ.ศ. 2307 ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ได้มีเหตุการณ์สงครามเกี่ยวข้องกับจังหวัดนนทบุรี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเพียงเล็กน้อยคือเมื่อมังมหานรธาเป็นแม่ทัพพม่ายกทัพเข้าตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรีได้แล้วยกติดตามตีพวกมอญมาจนถึงเมืองชุมพรได้โดยสะดวก จึงมีความกำเริบคิดยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในพงศาวดารว่า “….ครั้น ณ เดือน 7 มังมหานรธาให้แยงตะยุกลับขึ้นไปแจ้งราชการ ณ กรุงอังวะ แล้วจึงปรึกษากันว่า เรามาตีเมืองทวายได้ บัดนี้หามีผู้ใดจะต้านต่อฝีมือทแกล้วทหารเราไม่ ควรเราจะยกเข้าไปชิงเอาซึ่งเศวตฉัตร ณ กรุงเทพมหานคร….....” แล้วมังมหานรธาก็เดินทัพมุ่งเข้าตีกรุงศรีอยุธยาโดยลำดับ จนถึงเมืองนนทบุรี ซึ่งก็ถูกมังมหานรธาตีแตกเช่นเดียวกับเมืองรายทางอื่นๆ ดังพงศาวดารกล่าวว่า "……..ครั้ง ณ เดือน 10 พม่ายกทัพเรือลงมาตีค่าย (บาง) บำรุแตก แล้วยกมาตีเมืองนนทบุรีได้.........”

เมื่อพม่าตีได้เมืองนนทบุรีแล้ว ขณะนั้นมีเรือกำปั่นอังกฤษเข้ามาค้าขายที่ธนบุรีจึงรับอาสาช่วยรบพม่า พม่าเอาปืนใหญ่ตั้งบนป้อมวิชาเยนทร์ ยิงโต้ตอบกับกำปั่นในที่สุดกำปั่นถอนสมอหนีไปอยู่ที่เมืองนนท์ เมืองนนทบุรีจึงเป็นยุทธภูมิระหว่างเรือกำปั่นอังกฤษกับพม่า ดังปรากฏในพงศาวดารว่า “……..ฝ่ายทัพพระยายมราช ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองนนท์นั้น ก็เลิกหนีขึ้นไปเสีย พม่าตั้ง (อยู่) เมืองธนบุรีแล้ว จึงแบ่งกันขึ้นมาตั้งค่าย ณ วัดเขมา ตำบลตลาดแก้วทั้งสองฟาก ครั้นเพลากลางคืนนายกำปั่น จึงขอเรือกราบมาชักสลุบล่องลงไป ไม่ให้มีปากเสียงครั้นตรงค่ายพม่า ณ วัดเขมาแล้ว ก็จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้าง ฝ่ายพม่าต้องปืนล้มตายเจ็บลำบาก แตกวิ่งออกจากค่าย ครั้นน้ำขึ้นเพลาเช้า สลุบถอยมาหากำปั่น ซึ่งทอดอยู่ ณ ตลาดขวัญ ฝ่ายพม่าก็ยกเข้าค่ายเมืองนนทบุรี......."

ในระยะเริ่มต้นตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ภาครัฐบาลอันได้แก่ องค์พระมหากษัตริย์ ยังคงมีพระราชภารกิจหลายด้าน อาทิ การสร้างกรุง การสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งด้านการ พระราชไมตรี และการสงคราม ตลอดทั้งการทำนุบำรุงประเทศประการอื่นๆ โดยส่วนรวมการจะพัฒนาเมืองนนทบุรีอันเป็นเมืองขนาดเล็กคงทำได้น้อย จึงไม่ใคร่พบหลักฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองนนทบุรีทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 4 ในรัชกาลต่อๆ มาเมืองนนทบุรีจึงค่อยๆ เจริญขึ้นตามลำดับอาจกล่าวได้ว่า เมืองนนทบุรีพัฒนารวดเร็ว รุดหน้า และมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 9 นี้เองซึ่งจะกล่าวถึงโดยแบ่งช่วงเวลาตามรัชสมัยขององค์พระมหากษัตริย์ดังต่อไปนี้

เมืองนนทบุรีในสมัยรัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 4 จัดอยู่ในประเภทหัวเมืองปักษ์ใต้เป็นเมืองขึ้นของกรมท่าชื่อเมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ ครั้งแรกเปลี่ยนเป็นเมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน ผู้ว่าราชการเมือง คือ พระนนทบุรีศรีมหาอุทยาน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพระนนทบุรีศรีเกษตราราม หลวงปลัด ได้แก่ หลวงสยามนนทเขตต์ขยันปลัด ทรงเห็นว่าในแขวงเมืองนนทบุรีมีชาวรามัญตั้งบ้านเรือนอยู่มาก จึงตั้งหลวงรามัญเขตต์คดี ปลัดรามัญขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง

เนื่องจากกฎหมายที่ใช้ในการปกครองประเทศนี้ ใช้สืบต่อกันมาแต่รัชกาลที่ 1 จึงขอคัดลอกข้อความบางตอนเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ปกครองหัวเมือง ซึ่ง วนิดา สถิตานนท์ เขียนไว้ในหนังสืออ่านเพิ่มเติมระดับประถมศึกษา เรื่อง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดังนี้
“พระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ไปรั้งเมือง ครองเมือง ให้รักษาพยาบาลไพร่ฟ้าข้าไทท่านแลให้รับรองสุขทุกข์ราษฎรทั้งปวงและรักษาถิ่นฐานบ้านนอกขอบชนบท มิให้มีโจรผู้ร้ายแลคนกรรโชกราษฎร ถ้าผู้รั้งเมือง ผู้ครองเมือง ผู้ใดรักษาได้ ท่านว่ามีบำเหน็จในแผ่นดิน ถ้าแลโจรผู้ร้ายกรรโชกราษฎรเกิดชุกชุมขึ้นเหลือกำลังระงับมิได้ ก็ให้บอกมายังลูกขุน ณ ศาลาให้บังคมทูลแต่สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงจะพ้นโทษ ถ้าแลผู้รั้งเมือง ผู้ครองเมืองมิได้กำชับจับกุม ละเลยให้โจรและผู้กรรโชกราษฎรชุกชุมขึ้นได้ ท่านว่าผู้นั้นละเมิด ต้องในระวางกรรโชกให้ลงโทษ 6 สถาน”

การเศรษฐกิจของชาวเมืองนนทบุรีในสมัยนั้น คงขึ้นอยู่กับอาชีพการเพาะปลูกทำนา ทำสวน เป็นพื้น การคมนาคมคงใช้ทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย หรือการไปมาหาสู่

อาชีพอย่างหนึ่งของชาวเมืองนนท์ที่นักกวีกล่าวถึง ได้แก่ การหีบอ้อย แสดงว่ามีการ ปลูกอ้อย และการทำน้ำตาลอ้อยกันมานานแล้ว โรงหีบเดิมอยู่ฝั่งทางตะวันออกของคลองแม่น้ำอ้อมแต่ปัจจุบันนี้มีอยู่ทางฝั่งตะวันตก ใช้เครื่องจักรแทนเครื่องหีบอ้อยแต่โบราณซึ่งใช้แรงควายหมุนในปัจจุบันมีโรงงานทำน้ำตาลอ้อยที่ทันสมัยเกิดขึ้นมากในจังหวัดต่างๆ อาชีพทำน้ำตาลอ้อยของชาวบางศรีทองบางคูเวียง จึงเหลือเพียงเล็กน้อย

ในช่วงระยะเวลารัชสมัยขององค์พระมหากษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์นี้ สันนิษฐานได้ว่าการจัดการศึกษาคงมีแต่เพียงในวัดเป็นส่วนใหญ่ พระสงฆ์เป็นผู้สั่งสอนอบรมแก่ชายที่บวชหรือผู้ที่ปรนนิบัติพระ ผู้หญิงยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน เพราะในสมัยนั้นยังไม่ได้ส่งเสริมการศึกษากันอย่างกว้างขวาง ส่วนการศาสนาก็คงจะมีลักษณะไม่ต่างจากปัจจุบันเท่าใดนัก กล่าวคือ คนไทยส่วนมาก นับถือศาสนาพุทธ พอใจในการทำบุญสุนทร์ทาน การสร้างวัด สังเกตได้ว่า วัดในจังหวัดนนทบุรีมีวัดเก่าแก่อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอบางกรวย และอำเภอบางใหญ่ วัดส่วนมากตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ลำคลอง บางแห่งตั้งอยู่ติดๆ กัน เช่น ที่คลองบางกอกน้อย และคลองอ้อม

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงปรับปรุงระเบียบการปกครองประเทศใหม่ กล่าวคือการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ทรงตั้งเป็นกระทรวงต่างๆ อย่างรูปแบบปัจจุบัน ส่วนการปกครองส่วน ภูมิภาค พระองค์รวมเมืองต่างๆ เข้าเป็นกลุ่ม เรียกว่า “มณฑล” ซึ่งก็ปรากฏว่าเมืองนนทบุรีขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเทพ ในสมัยนี้ได้ย้ายศาลากลางจังหวัดจากฝั่งขวา ของแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งที่ฝั่งซ้าย ด้านใต้ปากคลองบางซื่อ ซึ่งเป็นท่าเรือตลาดขวัญจนถึง สมัยรัชกาลที่ 7 จึงย้ายศาลากลางจังหวัดอีก

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย