ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดเพชรบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดเพชรบุรี(2)

เมืองเพชรบุรีในสมัยสุโขทัยนั้น เข้าใจว่าเป็นอาณาจักรเล็กๆ อาณาจักรหนึ่งขึ้นตรงต่ออาณาจักรสุโขทัย จากบันทึกของจีนสมัยพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ พ.ศ.1837 กล่าวว่า   “กัมจูยือตัง (กันจูเออตัน กมรเตง) แห่งเมืองปิกชิกฮั้นปูลีเฮียะ (ปีฉีปุลีเยะเพชรบุรี) ส่งทูตมาถวายเครื่องบรรณาการ” แต่จดหมายเหตุบางฉบับเขียนเป็น ปิกชิกปูลี หรือ ปิชะปูลี ซึ่งกล่าวถึงเมืองเพชรบุรี นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า “ พระโองการชี้ชวนให้กันจูยือตัง (กันจูเออตัน, กมรเตง) เจ้าประเทศสยามมาเฝ้า มีกิจก็ให้ลูกน้องชายกับอำมาตย์มาเป็นตัวจำนำ” และใน พ.ศ.1934 สมัยรัชกาลพระเจ้าฮ่งบู้ ประเทศริวกิวสยาม เปียกสิกโปบลี้ (เปะชีปาหลี่) กัศมิระ เข้าถวายบรรณาการ ข้อความนี้นายเลียง เสถียรสุต ผู้แปลโดยอธิบายว่า เมืองเปียกกสิกโปบลี้หรือเปะซีปากลี่ นั้นหมายถึงแคว้นโคถานในมงโกล แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเมืองเพชรบุรีมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับคำอื่นที่จีนได้บันทึกไว้ดังคำแรก ๆ ที่กล่าวไว้ข้างบนใน พ.ศ.ดังกล่าวจะตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 2 ซึ่งครองราชย์ถึง พ.ศ.1942

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ได้จารึกเรื่องราวในสมัยนั้นไว้ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงพระราชอาณาเขตไว้ว่า “เบื้องตะวันออกรอดสระหลวงสองแควลุมบาจายสคาเท้าฝั่งโขงถึงเวียงจันเวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอนรอดคนทีพระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราชฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว 

การปกครองหัวเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้จัดแบ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายตะวันออก หัวเมืองฝ่ายตะวันตก หัวเมืองฝ่ายเหนือ และหัวเมืองปักษ์ใต้ สำหรับเมืองเพชรบุรีนั้นสังกัด  หัวเมืองฝ่ายตะวันตกซึ่งมีเมืองต่าง ๆ ดังนี้ เมืองเพชรบุรี ราชบุรี นครไชยศรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ศรีสวัสดิ์ ไทรโยคท่ากระดาน ทองท่าพี และเมืองทองผาภูมิ

ในสมัยนี้อาจถือได้ว่า เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่ง เพราะเป็นเมืองที่ข้าศึกต้องยกทัพผ่านเข้ามา เพื่อจะไปตีกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองท่าที่เรือสินค้าต่าง ๆ จอดแวะพักก่อนที่จะเข้าไปยังเมืองหลวง หรือจะล่องไปยังหัวเมืองปักษ์ใต้ หรือจะเดินทางไปเมืองมะริด    เมาะลำเลิง หัวเมืองมอญ ดังนั้นเจ้าเมืองนี้จึงต้องมีความรู้ความสามารถหลายด้าน คือทั้งด้านการรบ การปกครอง รวมทั้งการติดต่อสัมพันธ์กับเมืองอื่น ในส่วนการทำมาหากินนั้น เมืองนี้ก็อุดมสมบูรณ์ทั้งข้าวปลาอาหาร ยามใดที่บ้านเมืองเปลี่ยนแผ่นดิน หรือมีข้าศึกมาติดพันหลายด้าน เมืองเพชรบุรีต้องเตรียมตัวที่จะต่อสู้กับศัตรูโดยตรงรวมทั้งศัตรูที่ลอบเข้ามาปล้นบ้านเมืองซ้ำเติมอีกด้วย

ใน พ.ศ.2100 แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียงปีเดียว พระยาละแวกก็ยกทัพมาตี กรุงศรีอยุธยา มีกำลังพลเพียงสามหมื่น ขณะนั้นปืนใหญ่น้อยรอบพระนครถูกพระเจ้าหงสาวดีเอาไปเกือบหมดสิ้น เมื่อได้ปรึกษากับเสนาบดีทั้งหลายแล้ว บางท่านว่าควรอพยพไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลกชั่วคราว โดยให้รีบแต่งกองเรือพระที่นั่ง การครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองเพชรบุรี คือ พระเพชรรัตน์เจ้าเมืองเพชรบุรีในขณะนั้นมีความผิดด้วยสถานใดไม่ทราบได้ ถูกปลดออกจากเจ้าเมืองตนจึงคิดขบถโดยเตรียมสะสมผู้คนไว้เพื่อปล้นทัพหลวงที่จะแยกไปยังเมืองพิษณุโลกแต่พระองค์มิได้เสด็จทั้งนี้เพราะขุนเทพวรชุนได้กราบทูลให้ ต่อสู้กับเขมรเพราะเห็นว่าการทัพครั้งนี้ไม่ใหญ่โต พระองค์จึงเตรียมรับศึกเขมร การรบคราวนี้เขมรไม่สามารถตีเอากรุงศรีอยุธยาได้ จึงยกทัพกลับไป

ในสมัยเดียวกันนี้เมื่อ พ.ศ.2113 พระยาละแวกได้ให้พระยาจีนจันตุกับพระยาอุเพศราช ยกทัพเรือมาตีเมืองเพชรบุรีด้วยกำลังพลสามหมื่น พระศรีสุรินทรฤาไชยเจ้าเมืองเพชรบุรี พร้อมด้วยกรมการเมืองได้รักษาเมืองไว้เต็มความสามารถรบพุ่งต่อสู้กันถึงสามวัน ข้าศึกเสียรี้พลและอาวุธเป็นจำนวนมาก เมื่อพระยาทั้งสองเห็นว่าจะตีเมืองเพชรบุรีไม่ได้แน่แล้ว จึงยกทัพกลับ แต่พระยาจีนจันตุมิได้กลับเมืองเขมร ด้วยเกรงพระยาละแวกจะเอาโทษในฐานที่ตีเอาเมืองเพชรบุรีไม่ได้ จึงอพยพครอบครัวเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาธิราชทรงอุปถัมภ์เป็นอย่างดี แต่มินานพระยาจีนจันตุได้ลอบหนีไปโดยสำเภา

ครั้นถึง พ.ศ.2115 ในเดือนสาม พระยาละแวกได้ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรีอีก คราวนี้มาด้วยตนเอง มีพลประมาณเจ็ดหมื่นคน ทางกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดฯ ให้เมืองยโสธรราชธานีกับเมืองเทพราชธานี ยกทัพออกไปช่วยออกพระศรีสุรินทรฤาไชย เจ้าเมืองเพชรบุรี ต่างก็ได้ช่วยกันตกแต่งกำแพง คู หอรบให้แข็งแรง เมื่อพระยาละแวกยกทัพมาล้อมเมืองเพชรบุรีได้สามวันจึงให้ทหารเอาบันไดปีนกำแพงเมือง แต่ชาวเพชรบุรีได้ต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ ข้าศึกไม่สามารถจะตีเอาเมืองได้จึงถอยออกไป และคิดว่าหากเข้าตีไม่ได้ก็จะยกทัพกลับ แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ภายในค่ายเมืองเพชรบุรี เริ่มแตกความสามัคคีกันระหว่างพระยาทั้งสาม คือมิได้ร่วมมือกันวางแผนปราบปรามข้าศึก ต่างก็บังคับบัญชาทหารฝ่ายของตน มิได้สัมพันธ์ร่วมมือรบ หรือปรึกษากัน ครั้นถึงวันแปดค่ำพระยาละแวกได้ยกเข้าตีทางด้านตำบลคลองกระแชง และทางด้านตำบลบางจานยกเข้าเผาหอรบทลายลงพร้อมกับปีนกำแพงเข้าเมืองได้ ออกพระศรีสุรินทรฤาไชย เมืองยโสธรราชธานี เมืองเทพราชธานีตายในที่รบ พระยาละแวกได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากไปยังเขมรเมืองเพชรบุรีต้องแตกยับเยินครั้งนี้เพราะผู้นำแตกความสามัคคีกัน อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นมินานบ้านเมืองก็คงสภาพปกติ

สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงเตรียมกองทัพที่จะยกไปตีเมืองเขมร โดยเกณฑ์พลจากเมืองนครราชสีมา ส่วนหัวเมืองปักษ์ใต้เกณฑ์กองเรืองรบ จำนวน 250 ลำ จากเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ไชยา คนสองหมื่น มอบให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพกองเรือนี้เพื่อจะยกไปตีเมืองป่าสักของเขมรซึ่งมีพระยาวงศาธิราชเป็นแม่ทัพ กองทัพเขมรแตกย่อยยับ พลทหารจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก พระยาวงศาธิราชตายในที่รบ ทัพไทยตีได้เมือง    ป่าสักพระยาเพชรบุรียกทัพรุดไปยังเมืองปากกระสัง ซึ่งขณะนั้นทัพของพระยาราชวังสันกำลังรบกับเขมรอยู่ พระยาเพชรบุรีจึงยกตีขนาบเข้าไปทัพเขมรแตก กองทัพพระยาราชวังสันกับพระยาเพชรบุรียกเข้าตีเมืองจัตุรมุขแตก แล้วยกไปสมทบกับทัพหลวงที่เมืองละแวกยกเข้าตีเมืองละแวกแตก จับพระยาละแวกทำพิธปฐมกรรม สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงยกทัพกลับ

ในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงยกทัพไปตีพม่านั้น พระยาเพชรบุรีก็เป็นนายทัพด้วย เมื่อกองทัพบกไปถึงแม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดฯ ให้พระมหาเทพเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพม้า ยกออกนำหน้าทัพหลวง ส่วน     พระยาเพชรบุรียกทัพช้างม้าและพลรบจำนวนสามพันเป็นทัพหนุนพระมหาเทพ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์เคยเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรีพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในปีเถาะ พ.ศ.2134 ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังตำบลสามร้อยยอดทางสถลมาร์คและประทับแรมที่นั้นเป็นเวลา 14 วัน เพื่อทรงเบ็ด หลังจากนั้นได้เสด็จมาประทับแรม ณ ตำหนักตำบลโตนดหลวงเป็นเวลา 12 วัน จึงเสด็จเข้ายังเมืองเพชรบุรี

สมเด็จพระเชษฐาธิราชได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทนพระเจ้าทรงธรรม เมื่อ พ.ศ.2170 พระองค์มีอนุชาสององค์คือ สมเด็จพระพันปีศรีศิลป์กับสมเด็จพระอาทิตย์วงศ์ สมเด็จพระพันปีศรีศิลป์ทรงพิโรธหาว่าเสนาบดีทั้งหลายมิได้ยกราชสมบัติให้พระองค์ พระองค์จึงทรงพาข้าราชบริพารลอบหนีมายังเมืองเพชรบุรี เพื่อซ่องสุมผู้คนจะยกเข้ากรุง สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงทราบเหตุจึงโปรดฯ ให้ไปจับกุมตัวมาสำเร็จโทษเสียที่วัดโคกพระยา ส่วนชาวเมืองเพชรบุรีที่เข้าด้วยกับสมเด็จพระพันปีศรีศิลป์นั้นให้เอาตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง

ประมาณ พ.ศ.2203   ทางเมืองพม่าพวกฮ่อได้ยกเข้ามาล้อมเมืองอังวะ พระเจ้า อังวะเกณฑ์หัวเมืองมอญให้ไปช่วยป้องกันเมือง มอญไม่เต็มใจจึงยกเข้ามาพึ่งไทย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้ไปอยู่ ณ ตำบลสามโคก เมื่อพวกฮ่อยกทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าอังวะจึงให้เจ้าเมืองหงสาวดีเจ้าเมืองตองอู ยกไปเอาครัวมอญที่หนีมาเมืองไทยกลับไปให้ได้ เจ้าเมืองทั้งสองจึงยกทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาจึงสั่งให้พระยาจักรีเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทะเลตะวันตกให้เจ้าพระยาโกษาเหล็กเป็นแม่ทัพหลวง พระยาเพชรบุรีเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นกองหนุนยกไปยังตำบลปากแพรกเข้าตีทัพพม่าแตกพ่ายไป

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือได้ว่าเป็นสมัยที่มีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากที่สุดและได้ผลเป็นที่น่าชื่นชม โดยเฉพาะสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งราชทูตชื่อเชวาติ เอ เดอ โชมอง มายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อราชทูตมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าเมืองบางกอกกับเจ้าเมืองเพชรบุรีออกไปต้อนรับ   โดยเจ้าเมืองเพชรบุรีได้นำขุนนางข้าราชการพร้อมด้วยเรือยาวประมาณ 40 ลำ มาคอยรับอยู่ก่อนแล้วหนึ่งวัน เจ้าเมืองทั้งสองได้เข้าไปแสดงความชื่นชมยินดีกับราชทูตหลังจากนั้นจึงจัดขบวนเรือเพื่อเดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงเมืองบางกอก เรือสินค้าของอังกฤษได้ยิงสลุดพร้อม ๆ กับการยิงสลุตจากตัวเมืองบางกอก ครั้นถึงเมืองบางกอกเจ้าเมืองเพชรบุรีกับเจ้าเมืองบางกอกตั้งแถวต้อนรับ โดยท่านทั้งสองยืนคอยรับอยู่หัวแถว เพื่อนำราชทูตไปยังที่พักในเมืองบางกอกหลังจากนั้นจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวจังหวัดเพชรบุรีอีกเรื่องหนึ่งคือ ประมาณเดือนอ้ายเดือนยี่มีพระราชพิธีตรียัมพวาย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงม้าพระที่นั่งเพื่อเสด็จไปยังตำบลชีกุนอันเป็นที่ตั้งเทวสถานเพื่อประกอบพิธีดังกล่าว สมเด็จเจ้ารามกับสมเด็จเจ้าฟ้าทองได้แต่งชาวเพชรบุรี 300 คนถือกระบองซุ่มอยู่ข้างทาง   ครั้นเสด็จไปถึงทางสี่แยกบริเวณป่าเขาชมพู่กับตะแลงกุนป่ายา ชาวเพชรบุรีตรงเข้ายึดเอาบังเหียนม้าพระที่นั่ง กรมพระตำรวจจับตัวมาสอบถาม ชาวเพชรบุรีให้การว่า สมเด็จเจ้าฟ้ารามกับสมเด็จเจ้าฟ้าทองใช้ให้มาทำร้ายพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จกลับสู่พระราชวัง ได้ตรัสสอบถามเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ ซึ่งก็ทรงรับว่าเป็นความจริง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดฯ ให้ลูกขุน ณ ศาลาพิจารณาโทษ   ทั้งสองพระองค์เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษมาครั้งหนึ่งแล้วยังคิดกบฏอีก คณะลูกขุนจึงพิจารณาตัดสินสำเร็จโทษเสีย อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้พงศาวดารบางเล่มมิได้ระบุว่าเป็นชาวเพชรบุรีเพียงแต่กล่าวไว้ว่า พระไตรภูวนารถทิพยวงศ์ (สมเด็จเจ้าฟ้าราม) กับสมเด็จเจ้าฟ้าทองได้ซ่องสุมผู้คนและเตรียมการไว้เท่านั้น

ทางเมืองไชยาแจ้งเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ซ่องสุมผู้คนไว้เพื่อแข็งเมือง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงโปรดฯ ให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวง พระสุนเสนาเป็นยกกระบัตร พระยาเพชรบุรีเป็นเกียกกาย (กองเสบียงของทหาร) พระยาสีหราชเดโชเป็นกองหน้า พระยาราชบุรีเป็นทัพหลวงยกไปทางบกส่วนทัพเรือมีพระยาราชวังสันเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชราว พ.ศ.2229

ในสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ พ.ศ.2246 พระองค์โปรดการทรงเบ็ด จึงได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ประทับแรมที่ตำบลโตนดหลวงซึ่งเป็นที่เคยประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรถ พระพุทธเจ้าเสือเสด็จเลยไปจนถึงตำบลสามร้อยยอด ทรงเบ็ด แล้วเสด็จย้อนกลับมายังตำหนักโตนดหลวง จึงเสด็จกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา

ใน พ.ศ.2302 สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรือ กรมขุนอนุรักษมนตรีเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หรือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อซึ่งสละราชสมบัติ ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งอยู่ข้างฝ่ายสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ได้ทูลลาผนวก เจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุ้ย นายเพงจัน ได้ร่วมคิดกับกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นกบฏ สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงทราบจึงให้จับตัวบุคคลดังกล่าว กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเนรเทศไปเมืองลังกา ส่วนพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี นายจุ้ย ให้ลงพระราชอาชญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ ส่วนนายเพงจันหมื่นทิพเสนาหนีไป เมื่อพม่ายกทัพมาในฤดูแล้งปีเดียวกันนี้ โปรดฯให้แก้จำเจ้าพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี พระยายมราชออกมารบ ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพ พระยาเพชรบุรีเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นยกกระบัตร พระสมุทรสงครามเป็นเกียกกาย พระธนบุรีและพระนนทบุรีเป็นกองหลัง ยกไปรักษาเมืองมะริด แต่พอยกไปถึงด่านสิงขรก็ทราบว่า เมืองดังกล่าวถูกข้าศึกยึดได้เสียแล้ว ทัพพม่ายกตีเข้ามาถึงทัพพระยายมราชแตกกระจาย ไล่มาตั้งแต่เมืองกุยบุรี ปราณบุรี จนเข้ามาถึงเมืองเพชรบุรี โดยไม่มีผู้คิดสู้ป้องกันเมืองเลย

ใน พ.ศ.2307 กองทัพพม่าซึ่งมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ยกไปตีเมืองทวาย ตีจะเรื่อยมายังเมืองมะริด ตะนาวศรี มะลิวัน ระนอง ชุมพร ไชยา ปทิว คลองวาฬ กุย ปราณ จนถึงเมืองเพชรบุรี แต่ที่เมืองเพชรบุรีมีกองทัพพระยาพิพัฒโกษากับทัพของพระยาตาก ยกมาจากกรุงศรีอยุธยา ทันรักษาเมืองไว้ได้ เมื่อพม่ายกมาถึงเมืองเพชรบุรีปะทะกับกองทัพไทยเข้าก็ถอยไปทางด่านสิงขรอย่างไรก็ตามในปีเดียวกันนี้ พระเจ้าอังวะได้มีพระราชสาส์นมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอตัวเจ้าเมืองทวายกลับไป หากไทยขัดขืนจะยกทัพใหญ่มา ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยามิได้มอบให้ไป และได้เตรียมกำลังไว้ป้องกันบ้านเมืองโดยเกณฑ์ทหารไปรักษาด่านอย่างมั่นคง พม่ายกทัพมาคราวนี้เป็นทัพของกษัตริย์องค์ใหม่ คือ หลังจากพระเจ้าอังวะสวรรคตประมาณ พ.ศ.2308 กองทัพได้ยกเข้ามาทางเมืองทวาย ตะนาวศรี แล้วยกเข้าตีเมืองเพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี สมเด็จพระบรมราชาธิราชโปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตั้งรับที่เพชรบุรี ราชบุรี แต่สู้กำลังข้าศึกไม่ได้จึงเสียเมืองแก่พม่า หลังจากนั้นพม่าจึงยกเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ขณะที่พม่าล้อมกรุงอยู่นั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชโปรดฯ ให้พระยาเพชรบุรีคุมกองทัพเรือกองหนึ่ง พระยาตากสินคุมอีกกองหนึ่ง ยกออกไปตั้งรับทัพพม่าที่จะเข้ามาทางท้องทุ่ง ครั้นพม่ายกเข้ามา พระยาเพชรบุรีจะยกออกไปสู้รบพม่า พระยาตากสินเห็นว่าข้าศึกมีกำลังเหนือกว่า ไม่ควรยกออกไปจึงห้ามไว้ พระยาเพชรบุรีเห็นว่าพอจะสู้ได้จึงยกออกไปถูกพม่าล้อมไว้แล้วเอาดินปืนทิ้งลงในเรือดินระเบิดขึ้น พระยาเพชรบุรีตายในที่รบ ส่วนพระยาตากสินมิได้ต่อสู้กับข้าศึกแต่ได้ถอยมาตั้งรับที่วัดพิชัย และมิได้เข้าไปในกรุงศรีอยุธยาอีกเลย หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.2310 

หลังจากกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายยับเยินแล้ว ผู้นำที่มีความสามารถต่างก็ตั้งตัวเป็นหัวหน้าเป็นอิสระเป็นก๊ก ก๊กต่าง ๆ เหล่านี้มีพระยาตากสินด้วยก๊กหนึ่ง ซึ่งต่อมาตั้งตัวเป็นเจ้าทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระองค์ทรงปราบก๊กต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วตั้งเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวงและมีเมืองรอบเมืองหลวงพอที่จะตั้งเจ้าเมืองออกไปได้และมีกำลังพอที่จะรวบรวมผู้คนจัดบ้านเมืองเสียใหม่เมืองเหล่านี้ประมาณ 11 เมืองรวมทั้งเมืองเพชรบุรีด้วย ใน พ.ศ.2312  โปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรี พระยายมราช พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระยาเพชรบุรี เป็นกองหน้ายกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชกองทัพคราวนี้กำลังพลห้าพัน โดยยกไปทางบกถึงเมืองไชยาและท่าข้ามได้ต่อสู้กัน การรบคราวนี้พระยาเพชรบุรีและพระยาศรีพิพัฒน์ตายในที่รบ ทั้งนี้เพราะนายทัพนายกองมิได้สามัคคีกัน เมื่อถึงท่าหมากกองทัพของพระยาทั้งสองจึงเสียทีข้าศึก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงยกทัพหลวงไปทางเรือ เมื่อกองเรือมาถึงตำบลบางทะลุ หาดเจ้าสำราญ ถูกพายุเรือล่มเป็นจำนวนหลายลำ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงตั้งพิธีบวงสรวงและพักที่เพชรบุรีระยะหนึ่ง

ครั้งถึง พ.ศ.2317 ทางพม่าได้ยกทัพเข้ามาอีก โดยเข้ามาทางปากแพรก ตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลบางแก้ว โปรดฯ ให้พระเจ้าจุ้ยลูกเธอและพระยาธิเบศรบดีเป็นแม่ทัพ ยกออกไปตั้งรับทัพข้าศึก ณ เมืองราชบุรี เมื่อยกไปถึงปรากฏว่าทัพหน้าซึ่งมีพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเพชรบุรี หลวงสมบัติบาลและหลวงสำแดงฤทธาแตกทัพมา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบ โปรดฯ ให้จับบุตรภรรยาของนายทัพนายกองแตกทัพมานั้นจำไว้ แล้วให้ยกออกไปรบแก้ตัวใหม่ การศึกครั้งนี้ที่จริงแล้วอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพมิได้มุ่งหวังที่จะให้ยกทัพมาตีเมืองไทยแต่ประการใด เพียงแต่ให้ยุงอคงหวุ่นติดตามครอบครัวมอญที่หนีเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ยุงอคงหวุ่นเลยถือโอกาสปล้นครัวไทย โดยแบ่งกำลังออกเป็นสองกอง ตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรกกองหนึ่ง คอยปล้นผู้คนแถวเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครไชยศรี อีกกองหนึ่งได้ยกไปปล้นเมืองราชบุรี สมุทรสงครามและเมืองเพชรบุรี ครั้นยกมาถึงตำบลบางแก้วก็ทราบว่ามีกองทัพไทยยกไปตั้งรับที่ราชบุรี ยุงอคงหวุ่นจึงได้ตั้งทัพที่ตำบลบางแก้วสามค่าย ทางกองทัพไทยได้ตั้งล้อมกองทหารพม่า เพื่อตัดเสบียงอาหาร พม่ายกออกปล้นค่ายพระยาพิพัฒน์โกษา และค่ายพระยาเพชรบุรีแต่ไม่สามารถตีหักเอาได้ ขณะนั้นได้มีใบบอกเข้ามายังกรุงว่า กองทหารพม่าที่ยกเข้ามาทางเมืองมะริได้เข้าปล้นค่ายเมืองทับสะแก เมืองกำเนิดนพคุณ จึงโปรดฯ ให้แจ้งแก่เจ้าเมืองกุยบุรี เมืองปราณบุรี ให้ทำลายหนองน้ำบ่อน้ำตามรายทางที่คิดว่ากองทัพพม่าจะยกมายังเมืองเพชรบุรีให้หมดสิ้นโดยให้เอาของสกปรกหรือยาพิษใส่ลงไป อย่าปล่อยให้เป็นกำลังแก่ฝ่ายข้าศึกได้โปรดให้พระเจ้าหลานเธอกรมขุนอนุรักษ์สงครามมาอยู่ฟู่รักษาเมืองเพชรบุรีด้วย 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกและสร้างกรุงเทพมหานครไม่กี่ปีพม่าก็เตรียมทัพใหญ่ที่จะยกมา คือในปีมะเส็ง พ.ศ.2328 พระเจ้าปดุงได้เกณฑ์รี้พลประมาณแสนเศษ โดยจัดเป็นเก้าทัพ

  • ทัพที่ 1 ให้แมงยี แมงข่องกยอ เป็นแม่ทัพยกไปตีหัวเมืองฝ่ายตะวันตกถึงเมืองถลาง
  • ทัพที่ 2 ให้ออกนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นแม่ทัพยกมาตั้งที่เมืองทวาย เดินทางเข้ามาทางด่านบ้องตี้ เข้าตีเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรีลงไปถึงเมืองชุมพร จรดทัพที่หนึ่ง
  • ทัพที่ 3 ให้หวุ่นคยีสะโดะศิรีมหาอุจะนาเข้ามาทางเมืองเชียงแสน สุโขทัย แล้วยกลงมายังกรุงเทพมหานคร
  • ทัพที่ 4 มีเมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่องเป็นแม่ทัพ ยกมาทางเมืองเมาะตะมะเป็นทัพหน้ายกเข้าตีกรุงเทพมหานคร เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์
  • ทัพที่ 5 ให้เมียนเมหวุ่นเป็นแม่ทัพหน้ายกมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะเป็นทัพหนุนทัพที่สี่
  • ทัพที่ 6 ให้ตะแคงกามะราชบุตรที่สองเป็นแม่ทัพ เป็นทัพหน้าที่ 1 ของทัพหลวงยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์
  • ทัพที่ 7 ให้ตะแคงจักกุราชบุตรที่สามเป็นแม่ทัพ เป็นทัพหน้าที่ 2 ของทัพหลวง
  • ทัพที่ 8 เป็นทัพหลวงมีพระเจ้าปดุงเป็นนายทัพยกมาทางเมืองเมาะตะมะ
  • ทัพสุดท้ายมีจอข่องนรธาเป็นแม่ทัพ ยกมาทางด่านแม่ละเมายกเข้ามาตีเมืองตาก กำแพงเพชร แล้วยกมายังกรุงเทพมหานคร

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

» สุนทรภู่ ตระกูล “พราหมณ์เมืองเพชร”
» ตามรอยเสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓
» วรรณกรรมเมืองเพชรบุรี

จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย