ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดเพชรบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดเพชรบุรี(3)

ทางฝ่ายกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้จัดทัพไว้รับ 4 ทัพด้วยกันคือ ทัพที่ 1 ให้กรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพยกไปขัดตาทัพที่เมืองนครสวรรค์ ทัพที่ 2 เป็นทัพใหญ่ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกไปยังเมืองกาญจนบุรี คอยต่อสู้กับข้าศึกที่จะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพที่ 3 ให้เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราช ยกไปตั้งรับที่เมืองราชบุรีคอยคุ้มกันทัพที่ 2 และคอยต่อสู้กับข้าศึกที่จะยกมาทางปักษ์ใต้และเมืองทวาย ทัพสุดท้ายเป็นทัพหลวงตั้งที่กรุงเทพฯ เป็นกองหนุน การรบคราวนี้โดยเฉพาะการรบที่ลาดหญ้า มีเรื่องที่กล่าวถึงพระยาเพชรบุรี คือ กองทัพทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้กันและไม่สามารถจะตีหักกันได้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ จึงทรงจัดตั้งเป็นกองโจร โดยให้พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาท้ายน้ำ และพระยาเพชรบุรีคุมทหารไปคอยซุ่มโจมตีหน่วยลำเลียงเสบียงอาหารที่จะส่งไปยังค่ายข้าศึก แต่นายทัพทั้งสามดังกล่าวมิได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจึงดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามคน แล้วโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าขุนเณรไปแทนอย่างไรก็ดี การสงครามคราวนี้พม่าเสียหายยับเยินกลับไป

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้เตรียมทัพเพื่อไปตีพม่าใน พ.ศ. 2336 โดยยกไปตั้งทัพที่เมืองทวาย ซึ่งขณะนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และเมืองมะริดเป็นของไทย กองทัพที่ยกไปตั้งยังเมืองดังกล่าวมีทัพของเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ พระยาสีหราชเดโช พระยากาญจนบุรี พระยาเพชรบุรี เจ้าพระยามหาโยธา พระยาทวายและกองทัพของพระยายมราช นอกจากนี้ยังมีกองทัพเรืออีกด้วย ครั้นถึงฤดูแล้ว ทัพหลวงได้ยกออกไปทางเมืองไทรโยคทางฝ่ายพม่ายกทัพใหญ่มาล้อมเมืองทวายไว้ การรบคราวนี้พระยากาญจนบุรีตายในที่รบ กองทัพพม่ายกเข้าตีค่ายพระยามหาโยธาแตก แล้วยกเข้าตีค่ายพระยาเพชรบุรี แต่ไม่สามารถจะตีหักเอาได้จึงลงเรือถอยกลับไป ต่อมาอีกสามวันพม่าเกณฑ์ทหารอาสาเข้าตีค่ายพระยาเพชรบุรีอีก คราวนี้เสียทีแก่ข้าศึกอย่างไรก็ตามกองทัพไทยเข้าตีเอากลับคืนมาได้ในที่สุด

ถึงสมัยรัชกาลที่ 2 พม่าได้ยกกองทัพมาอีก คราวนี้ยกไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ถึงเมืองถลาง รัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว) คุมกองทัพล่วงหน้าลงไปก่อน ให้พระยาพลเทพลงมารักษาเมืองเพชรบุรีไว้ และโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิทักษ์มนตรีเสด็จไปคอยจัดการสั่งกองทัพอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี กองทัพที่มาตั้ง ณ เมืองเพชรบุรีนี้ จากการรายงานของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีว่าทหารมีความประพฤติไม่ดี คือ ได้กักเรือบรรทุกข้าว น้ำตาลของชาวบ้านเก็บค่าผ่านทาง แม้แต่สินค้าพวกไม้ไผ่ เขาวัว ก็ไม่เว้น การกระทำดังกล่าวเป็นที่น่าอับอายขายหน้าแก่ชาวเมืองเพชรบุรียิ่งนัก สู้กองทัพที่ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีไม่ได้ ทหารที่เมืองเพชรบุรีต่างคนต่างทำต่างคนต่างคิดมิได้สามัคคีกัน ทางฝ่ายพม่าได้เขียนหนังสือมาแขวนไว้ที่แดนเมืองตะนาวศรี เพื่อให้ไทยเลิกจับกุมพลลาดตระเวนของตน ไทยได้มีหนังสือตอบไปโดยนำไปแขวนไว้ที่ชายแดนเช่นกัน โดยให้พระยาพลสงครามแห่งเมืองเพชรบุรีเป็นผู้ตอบ

การสงครามระหว่างไทยกับพม่าสิ้นสุดลงแล้ว แต่ทางปักษ์ใต้ยังไม่สงบ ต้องปราบปรามหัวเมืองมลายู โดยเฉพาะเจ้าเมืองไทรบุรีและเจ้าเมืองใกล้เคียงที่พากันกระด้างกระเดื่อง ทั้งนี้เพราะมีต่างชาติคอยยุยงอยู่เบื้องหลัง เมื่อ พ.ศ. 2382 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าเมืองไทรบุรีแข็งเมืองอีกทั้งๆ ที่เมืองนี้เคยถูกปราบมาแล้ว ซึ่งพระยาเพชรบุรีเคยยกทัพไปปราบ

คราวนี้รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพ ยกไปประมาณสามพันคน รวมทั้งชาวเพชรบุรีด้วยเก้าร้อยคน ทั้งนี้ต้องไปรวมทัพกับเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา รวมรี้พลประมาณหมื่นเศษ กองทัพนี้เป็นกองทัพเรือ โดยเกณฑ์เรือจากเมืองเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร เขมร เป็นต้น โดยเฉพาะกองทัพของพระยาเพชรบุรีที่ยกออกไปจากเมืองเพชรบุรีนั้น จากรายงานของหลวงเมืองปลัดเมืองเพชรบุรีว่า เรือทั้งหมด 9 ลำ ทหาร 599 คน อาวุธปืนประจำเรือ คือ ปืนหน้าเรือ ท้ายเรือ แคมเรือและปืนหลังรวม 48 กระบอก ปืนคาบศิลา 270 กระบอก ดินปืน 10 หาบ เมื่อยกทัพไปถึง หัวเมืองปักษ์ใต้ โปรดฯ ให้พระยาเพชรบุรีประจำอยู่ ณ เมืองสายบุรี เพื่อจะได้ดูแลหัวเมืองมลายู ทางเจ้าเมืองแข็งเมืองโดยตั้งค่ายสู้รบ แต่เมื่อทราบว่ากองทัพของพระยาเพชรบุรียกไปตั้งที่เมืองสายบุรีเจ้าเมืองกลันตันให้คนมาแจ้งแก่พระยาเพชรบุรีว่า ตนจะรื้อค่ายลงเพราะเกรงว่าประชาชนจะพากันหลบหนีไปหมด อย่างไรก็ตาม พระยากลันตันหาได้กระทำดังกล่าวไว้ไม่ แต่ได้มีหนังสือมาถึงพระยาเพชรบุรีขออ่อนน้อมต่อไทย พระยาเพชรบุรีจึงตอบตกลงไปให้พระยากลันตัน พระยากลันตันได้มอบทองคำให้พระยาเพชรบุรี ค่ายดังกล่าวนี้ต่อมาพระยาไชยาได้รื้อเผาไฟจนหมดสิ้น

สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเมืองเพชรมาก จะเห็นได้จากการที่พระองค์ได้เสด็จมาเมืองเพชรหลายครั้งในระหว่างผนวช พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำเขาย้อย อำเภอเขาย้อย และยังได้ประทับแรมที่วัดมหาสมณารามเชิงพระนครคีรีอีกด้วย จากจดหมายเหตุของหมอบรัดเล่ย์ ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงที่ได้เสด็จมายังเมืองเพชรบุรีว่า

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2403   ได้เสด็จเมืองเพชรบุรีเป็นครั้งที่สองในปีนี้ เพื่อทอดพระเนตรการก่อสร้างพระนครคีรี วันที่ 22 มิถุนายน ได้แห่พระมายังเมืองเพชรบุรี วันที่ 28 มิถุนายน เสด็จมาเมืองเพชรเป็นครั้งที่สาม วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2403 หลังจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 56 พรรษาแล้ว เสด็จมาเมืองเพชรโดยเรือพระที่นั่งจากพระราชหัตถเลขาทรงมีไปถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 23 ตุลาคมว่า พระองค์เสด็จถึงปากน้ำตำบลบ้านแหลมเวลา 3 โมงเช้าถึงพระนครคีรีเวลาบ่าย 2 โมง ทรงทอดพระกฐิน ณ วัดพระพุทธไสยาสน์และวัดมหาสมณาราม ส่วนพระราชธิดาในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้า-อยู่หัวนั้นได้เสด็จไปทอดพระกฐิน ณ วัดเขาบรรไดอิฐและวัดมหาธาตุ วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 ได้เสด็จมาประทับ ณ พระนครคีรีในปีเดียวกันนี้ พระเจ้าแผ่นดินประเทศปรัสเซียได้ส่งราชทูตชื่อคอลออยเลนเบิร์ตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจัดเรือแจวเรือพายให้ทูตที่มาเที่ยวเมืองเพชรบุรีใช้เป็นจำนวนสองลำ มี   ฝีพายลำละ 20 คน ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางยุคล ประทับอยู่ ณ พระนครคีรี รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเพื่อทรงแจ้งให้ทราบว่า ราชทูตปรัสเซียจะมาเที่ยวและพักผ่อนที่เมืองเพชรบุรี ขอให้จัดรถบริการให้ด้วย ส่วนขากลับโปรดให้จัดเรือพระที่นั่งเสพย์สหายไมตรีมารับที่เพชรบุรี เพื่อนำไปส่งที่เรือรบที่สันดอน วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2405 เป็นวันที่เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร การเสด็จเมืองเพชรบุรีครั้งนี้ โปรดให้จัดพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรบนพระนครคีรี และทรงบรรจุพระธาตุบนยอดเจดีย์บนเขามหาสวรรค์ด้วย วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2406 เสด็จมาเมืองเพชรบุรีด้วยเรือกลไฟพระที่นั่งและเสด็จกลับเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ในเดือนเมษายนพันเอกเรโบลได้นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากฝรั่งเศสชื่อ เรจิออง ดอนเนอร์ เข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้นำนายพันเอกเรโบลมาเที่ยวเมืองเพชรบุรีโดยเรือเสพย์สหายไมตรี วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2408 เป็นวันที่เสร็จงานพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอที่เมืองเพชรบุรี

นอกจากจะทรงสร้างพระนครคีรีแล้ว ยังโปรดฯ ให้ตกแต่งเขาหลวงซึ่งมีพระพุทธรูปโบราณในถ้ำโดยสร้างบันไดหินลงไป สร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ ทรงสร้างเป็นส่วนพระองค์เองบ้าง ทรงให้เจ้านายฝ่ายในและพระบรมวงศานุวงศ์สร้างบ้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ซ่อมแซมพระนครคีรีใหม่ทั้งหมด เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับแรมพักผ่อนอิริยาบถและเพื่อใช้รับรองแขกเมืองด้วย ทรงจัดตั้งมณฑลราชบุรีขึ้น เมืองเพชรบุรีขึ้นกับมณฑลนี้ พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่เมืองเพชรบุรีหลายครั้ง เพราะอากาศถูกพระโรคที่ทรงประชวรในฤดูฝน โดยเฉพาะในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดีเดือนนี้ไม่เหมาะที่จะประทับบนพระนครคีรีดังนั้นจึงทรงสร้างพระราชวังบ้านปืนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แต่ไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างต่อจนสำเร็จพระราชทานนามว่า พระรามราชนิเวศน์นอกจากจะทรงพระสำราญที่เมืองเพชรบุรีแล้ว รัชกาลที่ 5 ยังโปรดเสวยน้ำที่แม่น้ำเพชรบุรีอีกด้วยโดยเฉพาะน้ำตรงท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ดังความว่า “ด้วยมีตราพระคชสีห์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกไปแต่ก่อน ให้ข้าพเจ้าแต่งกรมการกำกับกันคุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไช (วัดท่าไชยศิริ) ส่งเข้ามาเป็นน้ำส่ง (สรง) น้ำเสวยเดือนละสองครั้ง ๆ ละยี่สิบตุ่มเสมอจงทุกเดือนนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่งตั้งให้ขุนลครประการคุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไชยี่สิบตุ่ม ได้เอาผ้าขาวหุ้มปากตุ่มประทับตรารูปกระต่ายประจำครั่ง มอบให้ขุนลครประการคุมมาส่งด้วยแล้ว” ใบบอกฉบับนี้ พ.ศ. 2420 โดยพระยาสุรินทรฤาไชย เรื่องน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีนี้นอกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดฯ เสวยแล้วยังใช้เป็นน้ำสำหรับเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยโบราณมา ซึ่งมีแม่น้ำสำคัญ 5 สาย คือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำเพชรบุรี ดังสารตราถึงพระ-ยาเพชรบุรีเมื่อ พ.ศ. 2394 ความว่า ทางกรุงเทพฯ จะตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการนี้ต้องการน้ำสำหรับเข้าพระราชพิธีดังกล่าว จึงให้หลวงยกกระบัตรเมืองเพชรบุรี หลวงเทพเสนีถือสารตรามายังพระยาเพชรบุรี ให้แต่งตั้งกรมการไปตักน้ำที่หน้าเมืองเพชรบุรี แล้วเอาใบบอกปิดปากหม้อ เอาผ้าขาวหุ้มปากหม้อผูกปิดตราประจำครั่ง แล้วมอบให้หลวงยกกระบัตร หลวงเทพเสนีคมเข้าไปส่งยังกรุงเทพมหานครให้ทันกำหนดการพระราชพิธีดังกล่าว

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมยังจังหวัดเพชรบุรีหลายครั้ง แต่ละครั้งเป็นเวลาหลายวัน บางครั้งแรมเดือน หลังจากที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2453 แล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังเพชรบุรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2457 โดยเสด็จมากับกองเสือป่าเสนาหลวงรักษาพระองค์ เพื่อเดินทางไกลไปจอมบึง บ้านโป่ง ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2457 ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตัวเมืองเพชรและทอดพระเนตรกรีฑาของกรมทหารราบที่ 14 เพชรบุรี รุ่งขึ้นวันที่ 14 มกราคม จึงทรงม้าพระที่นั่งเคลื่อนขบวนเสือป่าเดินทางไกล

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้โดยรถไฟพระที่นั่ง เมื่อรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีเมืองเพชรบุรี ได้มีข้าราชการและประชาชนเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก ข้าราชการเมืองเพชรบุรีมี พระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทียน บุนนาค) จางวาง พระยาเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (แม้น วสันตสิงห์)  ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ เสือป่า ต่างเฝ้ารับเสด็จประชาชนที่ถูกเพลิงไหม้ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า ทรงสงสารราษฎรที่เคราะห์ร้ายเหล่านั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ งดเก็บเงินบำรุงท้องที่เป็นเวลาหนึ่งปี

สำหรับเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่ตลาดเมืองเพชรบุรีเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2468 นั้น บริเวณตลาดดังกล่าวคือฟากตะวันตกของแม่น้ำตั้งแต่เชิงสะพานจอมเกล้าไปตามถนนชี    สะอินจรดถนนราชดำเนิน จากถนนราชดำเนินไปจนจรดถนนราชวิถีและถึงแม่น้ำ เมื่อทางกระทรวงมหาดไทยได้รายงานกราบบังคมให้ทรงทราบ พระองค์ทรงสลดพระราชหฤทัยและทรงสงสารชาวเพชรบุรียิ่งนัก ทรงพระราชดำริเห็นว่า ที่เมืองเพชรบุรีนั้น บ้านเรือนของราษฎรสร้างกันแออัดเกินไป และใช้ไม้หลังคาจากเป็นเชื้อเพลิงได้ดี ถนนก็แคบไม่เป็นระเบียบ ไม่สามารถจะป้องกันอัคคีภัยได้ทันท่วงที จึงโปรดฯ ให้ขยายถนนเก่า และห้ามสร้างปลูกเพิงไม้ที่จะเป็นเชื้อไฟได้อีกต่อไปในบริเวณไฟไหม้

สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 2484 - พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ตามจุดต่าง ๆ คือ ที่สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และที่บางปู ขณะนั้นไทยต้องทำสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น มิตรขณะนั้นคือ เยอรมัน อิตาลี ส่วนปัจจามิตรคือ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

พ.ศ. 2486 เครื่องบินข้าศึกได้โจมตีกรุงเทพมหานคร เวลา 01.30 น. ที่เพชรบุรีได้มีสัญญาณภัยทางอากาศ เครื่องบินได้บินผ่านและทิ้งระเบิด วันที่ 9 และ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 เครื่องบินได้บินวนเวียนและผ่านไป วันที่ 9 มิถุนายน ปีเดียวกันมีสัญญาณเตือนให้หลบภัย วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2488 มีสัญญาณภัยทางอากาศ เครื่องบินผ่านทิ้งระเบิดยังทุ่นระเบิดตามปากน้ำต่าง ๆ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2488 เวลา 13.15 น. เครื่องบินข้าศึกได้ยิงกราดลงมาถูกตู้รถไฟบรรทุกน้ำมันจำนวน 3 หลัง ไฟไหม้หมด ส่วนบริเวณอื่น ๆ ปลอดภัย เมื่อสงครามสงบทางเจ้าหน้าที่สหประชาชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจดูเชลยศึก สำหรับที่เพชรบุรีนี้มีทหารเชลยชาวฮอลันดาจำนวนประมาณร้อยคนผ่านมา ทางจังหวัดขณะนั้นมีนายอมร อินทรกำแหง อัยการจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำเจ้าหน้าที่    สหประชาชาติดูสถานที่ที่จะให้เชลยศึกพัก โดยได้เลือกโรงเรียนฝึกหัดครูมูลเพชรบุรีเป็นที่พักเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2488

ในมหาสงครามครั้งนี้ ได้มีคนไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ก่อตั้งองค์การใต้ดินขึ้นเรียกว่า ขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและให้ความร่วมมือกับพันธมิตร กองบัญชาการใหญ่ตั้งที่วังสวนกุหลาบ มีสมาชิกย่อย ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งเมืองเพชรบุรีด้วย ซึ่งตั้งหน่วยปฏิบัติการอยู่ที่ตำบลบางค้อ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง มีการฝึกอาวุธให้กับสมาชิกอาสา-สมัครเป็นการฝึกรบแบบกองโจร แต่เหตุการณ์สงครามได้สิ้นสุดลงเสียก่อน ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคฯ

<<< ย้อนกลับ ||

» สุนทรภู่ ตระกูล “พราหมณ์เมืองเพชร”
» ตามรอยเสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓
» วรรณกรรมเมืองเพชรบุรี

จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย