ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดเพชรบุรี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

วัดกำแพงแลง

เทวสถานในศาสนาฮินดูแบบขอม

วัดกำแพงแลง อยู่ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เดิมเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูแบบขอม ปราสาทหรือปรางค์ศิลาแลงที่ยังเหลือให้เห็นเพียงบางส่วน มีซุ้มประตูเรียกว่าโคปุระทั้ง 2 ด้านยังอยู่ในสภาพดี บนผนังศิลาปรากฎลวดลายปูนปั้นสมัยทวาราวดีที่งดงาม โดยเฉพาะลายมกรคายนาคและลายกลีบบัวหัวเสา คือต้นแบบของช่างเพชรบุรีที่จะมาศึกษาแนวทางไปปรับใช้ในการผลิตงานศิลปะของตน

โบราณสถานที่วัดกำแพงแลง ถือเป็นโบราณสถานที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี แสดงถึงความเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่ของเพชรบุรี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-19 เมื่อวัฒนธรรมเขมรโบราณเริ่มขยายตัวตามดินแดนแถบนี้ ชุมชนในลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีก็ได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรโบราณ เช่นกัน มีการสร้างเมืองในรูปแบบวัฒนธรรมเขมรโบราณ เป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี

ภายในวัดกำแพงแลงเดิมเคยมีปรางค์ 5 องค์ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลางและมีปรางค์ทิศอยู่ 4 มุมปัจจุบันเหลือเพียง 3 องค์

เมื่อ พ.ศ. 2499 มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง จึงสันนิษฐานว่าในปรางค์แต่ละองค์เป็นที่ประดิษฐานของเทวรูป พระอิศวรพระพรหม พระนารายณ์พระลักษมี และพระขันธกุมาร ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น พุทธสถานแล้วจึงมีการก่อสร้างอาคารอื่นๆด้วยอิฐ แต่ยังคงลักษณะกำแพงศิลาแลงไว้แบบเดิม เนื่องจากกำแพงวัดทั้ง 4 ด้านก่อด้วยศิลาแลง จึงเป็นที่มาของชื่อวัดกำแพงแลง

หมู่ปราสาทศิลาแลงมีทั้งหมด 5 องค์เป็นปราสาทจตุรมุขย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ลักษณะคล้ายกับปราสาทหินพิมายในจังหวัดนครราชสีมา และปรางค์สามยอดในจังหวัดลพบุรี

ยังปรากฎหลักฐานทางด้านเอกสารได้แก่ จารึกปราสาทพระขรรค์ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้กล่าวถึงหัวเมืองต่าง ๆ 23 แห่ง ซึ่งได้ประดิษฐานพระไชยมหานาถ รวม 6 เมือง ซึ่งให้มีการสันนิษฐานว่า ปัจจุบันอยู่ในประเทศไทยได้แก่ ลโวทยปุระ สุวรรณปุระ สัมพูกปัฎฎนะ ชัยราชบุรี ศรีชัยสิงห์บุรี และศรีชัยวัชรบุรี สำหรับศรีชัยวัชรบุรี คือ เมืองเพชรบุรี มีพระปรางค์วัดกำแพงแลง เป็นศาสนสถานสำคัญ

 

ในช่วงเวลาดังกล่าว เมืองเพชรบุรี น่าจะเป็นเมืองท่าค้าขายเช่นเดียวกับเมืองราชบุรีซึ่งเป็นเมืองร่วมสมัยเดียวกัน ได้พบหลักฐานเครื่องถ้วยชามจีนในชุมชนโบราณหลายแห่ง ที่เป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ได้พบเศษภาชนะดินเผาของจีน ที่มีอายุตั้งแต่สมัยห้าราชวงศ์ จนถึงราชวงศ์สุ้ง หยวน และเหม็ง เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับจีน ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 จนถึงพุทธศตววรษที่ 18-19

ปราสาทหินวัดกำแพงแลง เป็นโบราณสถานที่สำคัญกำแพงศิลาแลง ปราสาททั้ง 5 องค์สร้างด้วยศิลาแลงล้วน ตั้งเป็นรูปแถว 3 แถว คือ จากทิศเหนือมาใต้เรียง3 องค์ จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกก็นับได้ 3 องค์ เหมือนกัน ลักษณะของปราสาททั้ง 5 ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้คือ

  • ปรางค์องค์กลาง สร้างแบบจตุรมุขย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ต่อยอดขึ้นไปเป็นชั้นๆ หน้าบันมีลวดลายสวยงาม ปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูป
    หินแดง จากวัดกุฎีทอง
  • ปรางค์ทิศใต้ สร้างแบบจตุรมุขเช่นกัน แต่แตกต่างกันในรายละเอียด มุขด้านทิศตะวันออกมีบันไดและทวารเข้าไปในคูหาองค์ปรางค์
    ได้ ปัจจุบันมีผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ในคูหาปรางค์องค์นี้
  • ปรางค์องค์ทิศเหนือ สร้างลักษณะเดียวกับปรางค์องค์ทิศใต้ แต่มุขด้านตะวันออกได้พังลงมาปิดคูหาหมด และองค์ปรางค์ได้พัง
    แต่ยอดลงมาแถบหนึ่ง
  • ปรางค์องค์ทิศตะวันตก ได้พังลงมา แต่เนินและรากฐานของปรางค์ยังปรากฏอยู่
  • ปรางค์องค์ทิศตะวันออก เป็นปราสาทที่สูงและใหญ่กว่าทุกปราสาทสร้างแบบจตุรมุข ภายในเป็นคูหา ท่านผู้รู้ได้อธิบายถึงปราสาทหินแห่งนี้ตรงกันว่า เดิมคงจะสร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์

ต่อมาในสมัยอยุธยาได้เปลี่ยนเป็นพุทธสถานได้สร้างพระอุโบสถขึ้น โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบๆ วัดยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย

» สุนทรภู่ ตระกูล “พราหมณ์เมืองเพชร”
» ตามรอยเสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓
» วรรณกรรมเมืองเพชรบุรี