ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดสุพรรณบุรี
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดสุพรรณบุรี
ในท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีโดยบังเอิญ และโดยจงใจของผู้ลักลอบขุดค้นแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ทำให้ทราบได้ว่าในท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งที่อยู่ของคนก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ตอนกลางประมาณ 3,800 ปี ถึง 2,700 ปีลงมาจนถึงยุคโลหะ ตั้งแต่สมัยสำริดและยุคเหล็ก สังคมของมนุษย์พวกนี้เป็นสังคมเกษตรกรรม รู้จักการเพาะปลูก รู้จักทำภาชนะดินเผา ถลุงแร่และทอผ้า
บริเวณที่พบโบราณวัตถุมักจะเป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึงอยู่ริมน้ำ และอยู่ไม่ห่างไกลจากภูเขามากนัก น่าเสียดายที่ยังไม่เคยมีการขุดค้นทางด้านก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดสุพรรณบุรี หากได้มีการขุดค้นทางด้านนี้แล้วก็จะได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีกอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ดีผู้ที่สนใจเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบในจังหวัดสุพรรณบุรีจะศึกษาได้จากโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่จัดแสดงอยู่ที่ห้องก่อนประวัติศาสตร์ทวารวดี ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง เป็นต้นว่าขวานหินขัด สมัยหินใหม่ พบที่บริเวณเมืองอู่ทองซึ่งมีอายุประมาณ 3,800 ปี ถึง 2,700 ปี
สมัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ หรือสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6-10 จากการค้นพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เป็นต้นว่า ลูกปัด เครื่องประดับทำด้วยทองหรือดีบุก ที่ประทับตราหรือตราขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เหรียญเงินศรีวัตสะ เศษเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ ที่เมืองอู่ทองซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับวัตถุที่ค้นพบที่เมืองออกแก้วซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองท่าของอาณาจักรฟูนัน ในแหลมโคชินไชนา ในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนามภาคใต้มาก วัตถุเหล่านี้ไม่เคยพบในที่อื่นในแหลมอินโดจีน และเชื่อกันว่าเป็นวัตถุของอาณาจักรฟูนัน โดยเฉพาะนอกจากนี้ยังได้ค้นพบประติมากรรม ศิลปอินเดียสมัยอมราวดี
เมืองอู่ทองอาจเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดีอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง การค้นพบแผ่นทองแดงของพระเจ้าหรรษาวรมันที่บริเวณหน้าโรงเรียนอู่ทองศึกษาลัยในเมืองอู่ทอง ซึ่งมีจารึกใช้ตัวอักษรอยู่ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ก็อาจหมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่เราทราบพระนามกันสำหรับอาณาจักรทวารวดี อาศัยเหตุนี้ทำให้ศาสตราจารย์จ็อง บ๊วซเซลิเยร์ มีความเห็นต่อไปอีกว่า เมืองอู่ทองจึงเป็นเมืองสำคัญในอาณาจักรทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 11-12 นอกจากนั้นศาสตรจารย์จ็อง บ๊วซเซลิเยร์ ได้กล่าวว่า ศิลปสมัยทวารวดีได้ขยายตัวออกไป 3 ทาง คือ ทางทิศตะวันออก ทางหนึ่งไปยังอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี โดยผ่านทางดงละครและดงศรีมหาโพธิ์ อีกทางหนึ่งไปยังที่ราบสูงโคราช โดยผ่านทางจังหวัดสระบุรี และไปแยกออกเป็นหลายสายที่แม่น้ำมูลไปยังจังหวัดมหาสารคาม ทางทิศเหนือไปยังจังหวัดลำพูน (อาณาจักรหริภุญไชย) โดยผ่านทางจังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ และตาก ทางใต้มีทางลงไปยังแหลมทองโดยผ่านทางจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี ทางเหล่านี้มาบรรจบกันแถบบริเวณเมืองอู่ทอง การที่ทราบได้เช่นนี้ก็โดยอาศัยหลักฐานจากโบราณวัตถุสถานศิลปสมัยทวารวดีที่ค้นพบตามสายทางเดินเหล่านั้น นอกจากนี้แหล่งชุมชนสมัยทวารวดีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดสุพรรณบุรีที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เมืองโบราณบ้านคูเมือง ในเขตอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ภายหลังจากที่เมืองอู่ทองกลายเป็นเมืองร้าง เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 เนื่องจากกระแสน้ำในแม่น้ำจระเข้สามพันเปลี่ยนทางเดินและเกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้น จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งเมืองใหม่ในท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรีปัจจุบัน มีอาณาเขตของตัวเมืองคลุมทั้งสองฟากแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีสภาพเป็นเมืองอกแตก มีแม่น้ำท่าจีนอยู่กลางเมืองไหลผ่านจากเหนือลงใต้คูเมืองด้านตะวันออกเริ่มแต่บริเวณหมู่บ้านตาหมันขนานกับแม่น้ำท่าจีนผ่านบ้านน้อยมาหมดลงใกล้กับโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย ส่วนทางตะวันตก คูเมืองผ่านกลางตัวเมืองสุพรรณบุรี สมัยอยุธยาเมืองนี้เข้าใจว่าเป็น เมืองพันธุมบุรี ตามที่ปรากฏชื่อในหนังสือไตรภูมิของเก่า ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ค้นพบซากโบราณสถานขนาดเล็กสมัยทวารวดีตอนปลาย พระพุทธรูปขนาดใหญ่ทำด้วยหิน 2 องค์ ที่วัดราชเดชะ (ร้าง) และพระบาทพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่วัดพิหารแดง
จากจารึกตอนท้ายในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ. 1822-1841) ซึ่งคงสลักขึ้นหลัง พ.ศ. 1835 ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับชัยชนะของพระองค์ได้ว่าอาจปราบฝูงข้าศึก มีเมืองกว้างขวางหลายเมือง รวมทั้งเมืองสุพรรณภูมิด้วย เมืองนี้คงเป็นเมืองสุพรรณบุรีเก่า ที่ได้กล่าวมาแล้วและคงเป็นเมืองเดียวกับสุพรรณภูมิในจารึกหลักที่ 48 วัดส่องคบ จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นจารึกบนแผ่นทอง อักษรไทย ภาษาไทย มีศักราชระบุแน่ชัดว่าจะอยู่ในพ.ศ. 1951 ในรัชกาลสมเด็จพระรามราชาธิราช จารึกหลักนี้กล่าวถึงเจ้าเมืองขุนเพชญ สารว่าได้เคยทำบุญอุทิศบ้านเรือนถวายวัดในเมืองศรีสุพรรณภูมิ และเมืองศรีอโยธยา เพราะระยะเวลาระหว่างจารึกหลักที่ 1 ตอนที่กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิกับ พ.ศ. 1951 นั้น ห่างกันเพียงประมาณ 100 ปีเท่านั้น ประกอบทั้งโบราณวัตถุสถานในเขตเมืองสุพรรณภูมิหรือเมืองสุพรรณบุรีเก่าก็มีถึงสมัยสุโขทัยด้วย
เมืองนี้ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้โปรดให้รื้อกำแพงเมืองลงเมื่อ พ.ศ. 2086 เพื่อไม่ให้พม่าข้าศึกใช้เป็นที่มั่นถ้าเสียเมืองสุพรรณบุรีเก่าให้แก่ข้าศึก เมืองสุพรรณบุรีได้ตั้งอยู่ ณ ที่นี้ตลอดสมัยอยุธยาและได้ปรับปรุงเมืองให้มีขนาดเหมาะสมกับฐานะเมืองที่ถูกลดฐานะจากเมืองลูกหลวงมาเป็นหัวเมืองชั้นใน ในการปรับปรุงครั้งนี้ได้ทิ้งบริเวณเมืองทางฟากตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน มาอยู่แค่ฝั่งตะวันออกแต่เพียงฝั่งเดียวเท่านั้น เข้าใจว่าเมืองแห่งนี้คงสร้างขึ้นระหว่างรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กับสมเด็จพระชัยราชาธิราช (ระหว่าง พ.ศ. 1991-2089)
จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี