ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดอุทัยธานี
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดอุทัยธานี(2)
นอกจากการสำรวจพบเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ที่เด่นชัดในท้องที่จังหวัดอุทัยธานี ดังกล่าวนี้แล้วยังได้สำรวจพบเรื่องราวสมัยทวาราวดี ในพื้นดินแถบนี้หลายแห่ง คือ
1. พบโบราณสถานสมัยทวาราวดีที่บ้านเก่า หมู่ที่ 2 ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก เป็นเนินสูง 1 เมตร ตรงกลางถูกขุดเป็นบ่อ พบอิฐขนาดใหญ่มีลักษณะแปลกมีลวดลายขีดเขียนด้วยน้ำมือเป็นเส้นคู่บ้าง เป็นลายเส้นรูปทรงเรขาคณิตในรูปหลายแบบบ้าง ซึ่งทำเป็นลวดลายขีดเขียนแบบแผ่นอิฐก่อนเผา โดยขีดเขียนเพียงด้านเดียว และยังมีผู้พบอิฐที่มีรูปมนุษย์และรูปเทวดาบริเวณโบราณสถานนั้น นอกจากพบอิฐที่มีขนาด 34+19+8.5 เซนติเมตร ขนาด 33+19.5+8 เซนติเมตร และ 17+33.5+10 เซนติเมตร แล้วยังพบในเสมา ดินเผาขนาด 50+27.5+8 เซนติเมตร อีกด้วย สันนิษฐานว่า คงจะเป็นโบสถ์เก่าสมัยทวาราวดี เสียดายที่ถูกทำลายมาก่อนแล้ว จึงไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมากนัก
2. พบพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวาราวดีและแม่พิมพ์ดินเผา เป็นจำนวนมากในถ้ำศูนย์ตา ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ ซึ่งเป็นถ้ำที่เข้าใจว่าคงเป็นแหล่งสร้างพระพิมพ์ในสมัยทวาราวดี ยังสำรวจไม่พบว่า บริเวณนั้นมีภูมิสถาน ที่เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี อยู่ใกล้เคียงเลย ภายในถ้ำปรากฏว่ามีเศษพระพิมพ์ดินเผา และแม่พิมพ์อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนที่สมบูรณ์นั้น ได้มีผู้นำเอาไปจนหมดสิ้นแล้ว ลักษณะพระพิมพ์ดินเผานี้ เป็นรูปพระนั่งห้อยเท้าอยู่ในซุ้มใต้พุทธคยา แบบเดียวกับที่เคยพบที่บ้านพงนึก จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปไม้จำหลักสมัยหลังๆ เป็นจำนวนมาก เข้าใจว่าถ้ำแห่งนี้ เดิมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรืออาจถือเป็นวัดแห่งหนึ่งในสมัยนั้นก็ได้
3.รูปปูนปั้นของนางดารา สมัยทวาราวดี แสดงแบบของการแต่งกายของคนในสมัยนั้น
เป็นศิลปศรีวิชัย ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ได้ไปจากจังหวัดอุทัยธานี
ไม่ทราบว่าจากที่แห่งใด เข้าใจว่าจะได้ไปจากเมืองการุ้ง
4. พบร่องรอยของเมืองโบราณในเขตตำบลห้วยคต อำเภอบ้านไร่
ตรงทางแยกบ้านทุ่งนางาม เรียกบ้านน้ำวิ่ง มีคูเมืองและเคยพบเศษภาชนะดินเผา
และมีร่องรอยคูเมืองที่อยู่ระหว่างตำบลห้วยรอบกับบ้านหินโจน มีคันคูเป็นรูปวงรี
และมีลำคลองผ่านกลางทะลุไปอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านเรียกบึงทะลุ
ประกอบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นชาวมอญ ที่อยู่สืบทอดกันมานาน
เคยมีผู้พบเศษอิฐหักกระจัดกระจายอยู่บ้าง
จังหวัดอุทัยธานี มีเมืองโบราณ สมัยทวาราวดี เกิดขึ้นในท้องที่หลายแห่งบางแห่งมีโบราณสถานที่สำคัญ จนเชื่อว่า ในสมัยทวาราวดีได้มีผู้คนอาศัยอยู่มากขึ้น และมีเชื้อสายสืบทอดมาจากเผ่าพันธุ์ มอญทวาราวดี (คือเผ่าพันธุ์ ที่ผสมกับชาวละว้าและธิเบต) มีวัฒนธรรมทวาราวดี สร้างสรรศิลปวัตถุขึ้นโดยวิวัฒนาการไปอย่างช้าๆ เปลี่ยนรูปแบบของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ รับอิทธิพลทางศิลปของอินเดียจนสามารถสร้างรูปปูนปั้นนางดารา พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปสำริดและเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงการก่อสร้างด้วยอิฐแดงและเผาอิฐได้ เป็นต้น จนนับว่าดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีความเจริญสูงสุดในสมัยทวาราวดีซึ่งหมายถึงเมืองโบราณต่างๆ ที่พบในจังหวัดอุทัยธานีด้วย
ในราว พ.ศ. 1436 ขอมได้ครอบครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดนั้น อำนาจของพวกละว้าที่อาศัยอยู่ตามเมืองโบราณต่างๆ นั้น ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไร เพราะขอมได้ส่งคนไปปกครองเฉพาะเมืองสุโขทัย เมืองละโว้ และเมืองศรีเทพ ถึงกระนั้นก็มีหลักฐานจากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ของขอมก็ยังได้ส่งพระพุทธรูปชื่อ "พระชัยพุทธมหานาค" ออกมาประดิษฐานตามเมืองต่างๆ ที่อยู่ในดินแดนภาคกลางของประเทศไทยถึง 23 แห่ง ได้แก่ ลโวทยปุระ (เมืองละโว้) สุวรรณปุระ (เมืองสุพรรณเก่า) คัมพูปัฏฎนะ (เข้าใจว่าเมืองแถบสระโกสิ-นารายณ์ หรือเมืองนครปฐม) ชัยราชบุรี (เมืองราชบุรี) ศรีชัยสิงห์บุรี (เข้าใจว่าเมืองสิงห์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี) ศรีชัยวัชรบุรี (เข้าใจว่าเป็นเมืองเพชรบุรี) เป็นต้นเป็นเรื่องที่น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เมืองโบราณ ในเขตจังหวัดอุทัยธานีก็น่าจะมีส่วนได้รับพระพุทธรูปดังกล่าวด้วยไม่พบหลักฐานอื่นใดนอกจากซากอิฐศิลาแลงในแถบสระนารายณ์ หมู่ 6 ตำบลหนองหลวง เขตอำเภอสว่างอารมณ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปสระสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวประมาณ 30-37 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร ทางด้านใต้ของขอบสระ มีแท่งศิลาใหญ่ มีถนนเก่าปรากฏอยู่ด้วย ส่วนโบราณวัตถุที่พบมีพระพุทธรูปตรีกาย หรือพระพุทธรูปสามองค์นั่งเรียงอยู่บนฐานเดียวกัน ตามคติมหายานที่ถือว่า พระพุทธเจ้ามี 3 กาย คือพระธรรมกายพระสัมโภคีกาย และพระนิรมานกาย (หรือพระธยานิพุทธ พระอาทิพุทธ) พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ นั่งปางมารวิชัย ทรงรัดเกล้าที่เรียกว่า เทริดขนนกและกุณฑลแบบแปลกประทับนั่งสมาธิราบครองจีวรห่มเฉียง มีขอบจีวรต่อจากชายขอบสี่เหลี่ยมที่พาดอยู่บนพระอุระด้านซ้าย ลงมาคลุมพระหัตถ์ซ้ายและพระโสณี แผ่นหลังติดอยู่กับเรือนแก้ว ซึ่งส่วนบนทำเป็นรูปปลายใบไม้ หมายถึง พระศรีมหาโพธิ์ เนื้อเป็นสำริด สูง 31.5 เซนติเมตร ฐานกว้าง 7.8 เซนติเมตร พบที่ตำบลดอนขวาง อำเภอเมืองอุทัยธานี ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาตสำริด ศิลปสมัยลพบุรี พบที่วัดหนองพังค่า อำเภอเมืองอุทัยธานี เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะยืนยันได้ว่า ในสมัยนี้ มีพระพุทธรูปฝีมือลพบุรี ที่ได้รับอิทธิพลของขอมเข้ามาในจังหวัดอุทัยธานีแล้ว ชนชาติที่อาศัยอยู่ก็คงจะเป็นชาวทวาราวดีที่สืบเชื้อสายจากมอญหรือละว้า
ต่อมา "ท้าวมหาพรหม" ซึ่งปรากฏในตำนานว่าเป็นผู้ตั้งเมืองอุทัยเก่า ก็ใช้เวลาช่วงนี้รวบรวมชนชาติไทยเป็นชุมชนเล็กๆ จนในที่สุดก็สร้างบ้านเมืองเป็นหลักฐานที่บ้านอุทัยเก่า ในท้องที่อำเภอหนองฉาง ซึ่งพบแนวศิลาแลง วางเรียงเป็นทางยาวอยู่ลึกประมาณ 2 เมตร และระฆังหินประมาณการสร้างเมืองคงตกราวสมัยสุโขทัย หมู่บ้านแห่งนี้จึงเรียกกันทั่วๆ ไปว่า "บ้านอู่ไทย" ซึ่งหมายถึง เป็นที่อยู่ของชาติไทย ดูจะเข้าเค้าที่ว่าในพื้นที่หลายแห่งของจังหวัดอุทัยธานีมักเป็นที่อยู่ของชนชาติต่างๆ เช่น หมู่บ้านมอญ หมู่บ้านละว้า หมู่บ้านไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้นำเอาคำ "อุทัย" ไปหาความหมายเป็นบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรือง และเป็นเมืองที่พึ่งตั้งขึ้น เหมือนดวงอาทิตย์แรกขึ้นจากขอบฟ้า จึงทำให้เข้าใจว่าเมืองอุทัยเก่าเป็นเมืองใหญ่ ที่มีผู้คนอยู่ทำมาหากิน และมีพืชพันธ์ธัญญาหารสมบูรณ์กว่าแหล่งอื่นถ้าพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่น่าจะกลายเป็นเมืองใหญ่ได้รวดเร็วถึงขนาดนั้น ที่น่าจะเข้าใจก็คือหมู่บ้านอู่ไทยนั้น มีผู้คนที่เป็นชนชาติไทยไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินเป็นกลุ่มก้อน และคงจะได้ชักชวน พี่น้องคนไทยด้วยกันมาอยู่เสียที่แห่งนี้ เนื่องด้วยมีที่ดินทำมาหากินกว้างขวาง มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นหมู่บ้านที่เจริญกว่าหมู่บ้านอื่นๆ ที่เป็นหมู่บ้านชาวมอญ หมู่บ้านชาวกระเหรี่ยงดังนั้นหมู่บ้านอู่ไทยจึงเป็นแหล่งกลางสำหรับหมู่บ้านอื่น ไปมาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยส่วนที่จะมีการเดินทางติดต่อกับหมู่บ้านไกลๆ นั้น ก็คงจะมีบ้างเพราะพื้นที่แถบนี้มีเมืองโบราณสมัยทวาราวดี เกิดขึ้นแล้วหลายแห่งและมีชื่อเรียกนำหน้าด้วยคำว่า "อู่" เช่นเมืองอู่บน หรือเมืองบน ที่บ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมืองอู่ตะเภา ที่บ้านอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองอู่ล่าง เข้าใจว่าเป็นเมืองลพบุรี ตามคำพังเพยที่ว่า "ฝูงกษัตริย์เมืองบน ฝูงคนเมืองล่าง (หรือลพบุรี) .." เป็นต้น ส่วนที่เป็นชื่ออื่นก็มี เมืองจันเสน ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เมืองดงแม่นาง เมือง ที่ตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เมืองประคำ ที่ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี
บ้านเมืองที่ร่วมสมัยเดียวกับเมืองอู่ไทยหรือเมืองอุทัยนั้น ได้เกิดขึ้นหลายแห่งในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีเมืองพระบาง ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมืองชัยนาท, เมืองแพรก ศรีราชา ที่อำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท, เมืองไพสาลี ที่ตำบลสำโรงไชย อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์, เมืองศรีราชาที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น นับเป็นความเจริญของดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้วิวัฒนาการ และเปลี่ยนแปลงตัวเองสร้างสรรโบราณวัตถุสถานสำคัญขึ้น สำหรับเมืองอู่ไทยนั้น ในระยะหลังๆ เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน ทำให้เกิดกันดารน้ำอันเป็นเหตุให้มีการอพยพทิ้งหมู่บ้าน ไปหาแหล่งทำมาหากินในที่อื่น และอาจจะเลยเข้ามาอยู่ในแถบแม่น้ำสะแกกรัง เขตจังหวัดชัยนาท จนสามารถตั้งหมู่บ้าน หรือชุมชนเล็ก ๆ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเรียกกันภายหลังว่าบ้านสะแกกรัง ส่วนเมืองอู่ไทย หรือเมืองอุทัยเก่า ก็คงจะร้างลงระยะหนึ่ง ต่อมา "พะตะเบิด" ชาวกระเหรี่ยงได้อพยพผู้คนเข้ามาอยู่ที่เมืองอู่ไทย หรือ เมืองอุทัยเก่าอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยอยุธยา พร้อมกับได้สร้างโบราณสถานหลายแห่งตามลำดับ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยขุดดินทางด้านทิศใต้ ของตัวเมืองเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า ทะเลสาบ และปรากฏในตำนานว่า "พะตะเบิด" ได้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอู่ไทยหรือเมืองอุทัยเก่าที่ไม่เข้าใจคือ เหตุใดชาวกระเหรี่ยงจึงมีอำนาจและเป็นเจ้าเมือง จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่ผู้คนเข้ามาอยู่ในเมืองอู่ไทย หรือเมืองอุทัยเก่านี้เป็นชนชาติกระเหรี่ยง ละว้า
จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี