ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดอุทัยธานี
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดอุทัยธานี(4)
ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐเกิดศึกกลางเมืองขึ้น ทำให้ไพร่ฟ้าข้าราชการล้มตายจนไม่มีกำลังป้องกันพระนครและบ้านเมือง "จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กระทำตามคำซึ่งกราบทูลนั้น เจ้าพระยาราชภักดี ก็จัดแจงแต่งทัพหลวงให้ถือตราพระราชสีห์ออกไปเกลี้ยกล่อมเลขจัดพลัด ณ หัวเมืองวิเศษวิเศษไชยชาญเมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี เมืองชัยนาทบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองอุทัยธานี เมืองนครสวรรค์ ได้คนเป็นอันมาก
พ.ศ. 2309 แผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์กองทัพเนเมียวสีหบดี 4,000 คน ได้ยกลงมาจากเมืองนครสวรรค์ ลงมาทางเมืองชัยนาท เมืองอุทัยธานี เมืองสรรคบุรี ถึงเขตกรุงศรีอยุธยา ส่วนกองทัพมังมหานรธา 3,000 คน ได้มาตั้งอยู่ที่วัดป่าฝ้าย ปากน้ำพระประสบ ข้างด้านเหนือ นอกจากนี้พระเจ้าอังวะ ยังให้สุรินทจอข่อง คุมพลอีก 1,000 คน ยกลงมาพักอยู่เมืองเมาะตะมะ แล้วยกหนุนเข้ามาทางด่านอุทัยธานี ตั้งทัพอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญ และพระยาเจ่งรามัญคุมพล 2,000 คน ยกหนุนเข้ามาทางกาญจนบุรี ตั้งทัพที่ขนอนหลวง วัดโปรดสัตว์ขณะที่รอทัพอยู่นี้ พม่าได้ลาออกไปเที่ยวค้นทรัพย์จับคนทางเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสรรคบุรี เมืองสุพรรณ เมืองสิงห์ถึงอุทัยธานี จนทำให้คนไทย รวมกำลังกันที่ "บ้านบางระจัน" ต่อสู้พม่าได้ถึง 8 ครั้ง ก็สู้พม่าไม่ได้ ต่อมาน้ำท่วมกรุงศรีอยุธยา พม่าได้รื้ออิฐวัดมาก่อกำแพงเป็นค่าย แล้วรุกมาตั้งที่วัดกระชาย วัดพลับพลาชัย วัดเต่า วัดสุเรนทร วัดแดง ยกเป็นหอรบสูง แล้วระดมกำลังปล้นกรุง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 ได้ จึงเผาพระนคร จับคนปล้นทรัพย์สินจนสิ้น แม่ทัพพม่าฝ่ายเหนือก็เชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุและพระขัตติยาวงศา เสนามาตย์ไปพร้อมกับทรัพย์สมบัติศัสตราวุธ ยกออกทางด่านอุทัยธานี เดินบกไปถึงเมืองเมาะตะมะ ขณะนั้นบ้านเมืองเกิดระส่ำระสายอย่างหนัก ผู้คนต่างหนีพม่าเข้าป่าลึก บ้างก็ถูกกวาดต้อนไปกับเขาด้วย รวมทั้งชาวเมืองอุทัยส่วนหนึ่งที่หลบหนีไม่ทันด้วย พระเถระที่ปรากฏชื่อมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา (จาก "ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ " เป็นตัวเขียนอักษรขอมลายรดน้ำปิดทอง อยู่ที่บานหน้าต่างพระอุโบสถบานที่ 7 ด้านซ้ายทางทิศเหนือ) นั้นชื่อ "พระครูอนุโลมมุนีเป็นพระสมณศักดิ์เจ้าคณะเมืองอุทัยธานี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่าอยู่ที่วัดใด
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนากรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2310 พระองค์ต้องทำการปราบปรามบรรดาชุมนุมต่างๆ เป็นการขยายอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป
พ.ศ. 2313 เจ้ากรุงธนบุรีทรงปรารภที่จะปราบปรามหัวเมืองเหนือและได้ข่าวว่า เมื่อเดือนหก "เจ้าพระฝาง" ซึ่งเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้นเกณฑ์กองทัพให้ลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหาร และเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหลายตำบล จนถึงเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท เป็นทำนองจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี พระองค์จึงยกทัพไป 3 ทัพ เข้าตีเมืองพิษณุโลกและเมืองสวางคบุรีจนแตกพ่ายไป พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นถึงความสำคัญ ของเมืองอุทัยธานี ซึ่งถูกพม่าย่ำยียับเยินจนเป็นเมืองร้าง จึงแต่งตั้งให้ "ขุนสรวิชิต (หน)" ไปตั้งกองด่านรักษาเมืองอุทัยเก่าประมาณ 2 กิโลเมตร
ครั้งอะสีหวุ่นคยี (อะแซหวุ่นกี้) แม่ทัพคนสำคัญของพม่า ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางหัวเมืองเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2318 นั้น ได้ให้โปสุพลา โปมะยุง่วน ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนอะแซหวุ่นคยีเองยกกองทัพหลวงพล 15,000 คน เดินทัพเข้าทางด่านแม่ละเมาะ เมืองตากด่านลานหอยและเมืองสุโขทัย แล้วคุมพล 30,000 คน เข้าล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ ครั้งพม่ายกทัพมาถึงเมืองกำแพงเพชร เห็นไทยตั้งค่ายรักษาเมืองนครสวรรค์แข็งแรง จึงตั้งค่ายที่เมืองกำแพงเพชรแล้วแต่งกองโจรเดินลัดป่าทางฝั่งตะวันตกอ้อมหลังเมืองนครสวรรค์ลงไปเมืองอุทัยเก่ากอง 1 พอวันเสาร์ เดือน 3 แรม 12 ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงทราบว่า พม่าที่เมืองกำแพงเพชร "ยกลงมาตั้งค่าย ณ บ้านโนนศาลาสองค่าย บ้านสลกบาตรค่ายหนึ่ง บ้านหลวงค่ายหนึ่ง ในแขวงเมืองกำแพงเพชร แล้วแยกไปทางเมืองอุทัยธานีกองหนึ่ง เข้าเผาบ้านอุทัยธานีเสีย" แล้วจะยกไปทางไหนสืบไม่ได้ความ พระองค์ทรงระแวงพม่าที่ยกไปจากเมืองอุทัยธานีจะไปซุ่มสั่งดักทางดอยตีกองลำเลียง ใต้เมืองนครสวรรค์ลงมาอีก จึงโปรดให้แบ่งไพร่พลในกองทัพหลวง 1,000 คน ให้เจ้าอนุรุธเทวา บัญชาการทัพเป็นจางวางบังคับทั้งสามกอง มีกองทัพของขุนอินทร์เดชเป็นแม่กอง กองทัพหลวงปลัดเมืองอุทัยธานีกับหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานี เป็นกองหน้า และกองทัพของเจ้าเชษฐกุมาร เป็นกองหลวง ซึ่งยกลงมาคอยป้องกันลำเลียงเสบียงอาหารและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ส่งไปจาก พระนครไม่ให้พม่าที่ยกมาเมืองอุทัยธานีซุ่มดักทางคอยโจมตี
ครั้นเมื่อพม่าได้เมืองพิษณุโลกแล้วเสบียงอาหารภายในเมืองอัตคัตผู้คนในเมืองอดอยากอ่อนแอ อะแซหวุ่นคยี จึงให้มังแยยางูคุมพลไปทางเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มศักดิ์ให้กะละโบ่ คุมพลมาลาดตะเวนทางเมืองกำแพงเพชร รวบรวมหาเสบียงอาหาร ต่อมาอะแซหวุ่นคยีได้ข่าวว่าพระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ จึงกูจาราชบุตรได้ครองราชสมบัติ จึงรีบเก็บทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คนกลับออกทางเมืองสุโขทัย เมืองตาก และด่านแม่ละเมา จึงทิ้งให้กองทัพกะละโบ่ กับมังแยยางูในเมืองไทยด้วยสั่งกลับไม่ทันคงสั่งแต่เพียงให้กองทัพกะละโบ่ รอกลับพร้อมกับ มังแยยางูพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า พม่าเลิกทัพกลับแล้วยังคงมีกองทัพของกะละโบ่และมังแยยางูเหลืออยู่ จึงแบ่งกองทัพออกเป็น 4 กอง ติดตามพม่าไปเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร และเมืองเพชรบูรณ์ ส่วนทัพหลวงนั้น ตั้งค่ายรอรับครอบ-ครัวที่แตกฉานมาจากพิษณุโลกที่บางแขม เมืองนครสวรรค์ ครั้นวันจันทร์ เดือน 6 แรม 11 ค่ำ พ.ศ. 2319 พม่าข้างเมืองอุทัยธานียกแยกขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์ กองทัพไทยตามไปพบกองทัพมังแยยางูที่บ้านนายยม ใต้เมืองเพชรบูรณ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 แรม 14 ค่ำ ก็ระดมกำลังตีจนแตกพ่าย พากันหนีไปทางเหนือ เข้าไปในแดนลานช้าง พอถึงเดือน 7 ปีวอก พ.ศ. 2319 พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบว่ามีกองทัพพม่ากะละโบ่ตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรประมาณ 2,000 คนเศษ จึงให้พระยายมราช พระยาราชสุภาวดี พระยานครสวรรค์ ยกกองทัพไปสมทบกันตีพม่า ส่วนพระองค์นั้น เสด็จยกทัพหลวงไปตั้งอยู่ที่ปากคลองขลุง พม่ารู้ข่าวก็รีบยกทัพหนีไปทางเหนือ ส่วนพม่าอีกกองหนึ่งประมาณ 1,000 คนเศษ ได้ยกแยกมาทางทิศตะวันตก เดินทัพเข้ามาถึงเมืองอุทัยธานี เที่ยวเก็บทรัพย์จับผู้คนและเผาบ้านเรือนเสีย ฆ่าหลวงตาลำบากตายแล้วยกหนีไปทางนารีซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า "ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือน 7 ขึ้น 13 ค่ำ จึงเสด็จถอยกองทัพหลวงมาประทัพ ณ เมืองนครสวรรค์ จึงชาวด่านเมืองอุทัยธานี บอกลงมากราบทูลว่าทัพพม่ายกผ่านลงมาประมาณพันเศษ เผาค่ายที่ด่านนั้นเสีย แทงหลวงตาลำบากอยู่องค์หนึ่ง แล้วยกไปทางนารี จึงดำรัสให้หลวงเสนาภักดี กองแก้วจินดา ยกติดตามไปถ้าทันเขาจงตีให้แตกฉาน แล้วให้ยกตามไปจนถึงเมืองชัยโชค"
ครั้นได้ข่าวว่าทัพพม่ากองหนึ่ง ยกลงไปทางเมืองอุทัยธานี จึงยกกองทัพลงมาทางด่านเขาปูน ด่านสลักพระ หมายจะไปตามตีพม่าทางเมืองอุทัยธานี แล้วสั่งให้พระยายมราช พระยาราชสุภาวดี ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่บ้านโคนเมืองกำแพงเพชร ยกทัพลงมาตีกองทัพพม่าทางเมืองอุทัยธานีอีก 2 กองสมทบกับกองทัพมอญ ของพระยารามัญวงศ์กอง 1 กวาดร่นมาตั้งแต่ทางเหนือ มายังเมืองอุทัยธานี ส่วนพระองค์นั้น เสด็จกลับคืนพระนคร เมื่อวันเสาร์เดือน 7 ขึ้น 14 ค่ำ
กองทัพเจ้าอนุรุธเทวา ได้พบพม่าตระเวนหาเสบียงอาหารกองหนึ่ง ที่เมืองสรรคบุรี จึงเข้าตีแตกร่นหนีขึ้นไปสมทบกับพม่า 1,000 คน ที่ตั้งค่ายอยู่ที่ด่านเมืองอุทัยธานี ส่วนกองทัพพระยายม-ราช พระยาราชสุภาวดี นั้น ได้ยกลงมาตั้งค่ายประชิดอยู่ที่ด่านเมืองอุทัยธานี ต่อมาขัดสนเสบียงอาหาร จึงต้องถอยทัพมาตั้งอยู่ ณ คอกไก่เถื่อน ต่อมากองทัพเจ้าอนุรุธเทวา หลวงเสนาภักดี กองแก้วจินดา ได้มาพบกองทัพกะละโบ่ตั้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์ เห็นเหลือกำลังจึงบอกไปยังกรุงธนบุรี จึงให้กรมขุนอนุรักษ์สงคราม หลานเธอ กรมขุนรามภูเบศร์ กับเจ้าพระยามหาเสนา คุมพลไปตีกองทัพกะละโบ่ทางเมืองนครสวรรค์ แล้วให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ ลูกเธอคุมทัพเรือหนุนไปช่วยอีก แล้วพระองค์ก็เสด็จยกกองทัพหลวงทางเรือ มาบัญชาการรบอยู่ที่เมืองชัยนาท เมื่อเดือน 9 และพระองค์ได้โปรดให้เกณฑ์หากองทัพ เมืองพิจิตร เมืองนครสวรรค์ เมืองอุทัยธานี ลงมารวมกันที่ค่ายหลวง ณ เมืองชัยนาทให้หมดสิ้น ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ ด่านเมืองอุทัยธานีนั้น ขัดสนเสบียงอาหาร จึงถอยค่ายเลิกทัพกลับไปพอดีกับกองทัพไทย เข้าใจว่าตั้งอยู่ที่บ้านทัพหมื่น บ้านทัพค่าย บ้านทัพหลวง ยกทัพติดตามทันที่ บ้านทัพทัน (คืออำเภอทัพทัน) พม่าถูกไทยฆ่าตาย แตกหนีแยกย้ายไม่เป็นระเบียบออกไปทางเขาดาวเรือง ปลายเขตแดนบ้านโคกหม้อ ขึ้นไปทางบ้านพลวงสองนาง พม่าต่างหนี ต่างปล้นสดมภ์เสบียงอาหาร ฉุดคร่าหญิงสาวจนชาวบ้านกลัวรานต่างก็เอาลูกสาวไปซ่อนตามโพรงไม้ใหญ่ๆ ซึ่งมีอยู่มากในป่าแถบนั้น หลบซ่อนอยู่จนเวลารุ่งสาง พอดีเวลาวัดย่ำฆ้องระฆังพระลุกขึ้นครองผ้าออกบิณทบาตร หมู่บ้านแห่งนี้เรียกกันว่า "บ้านโพรงซ่อนนาง" (ต่อมาเรียกบ้านพลวงสองนาง) ถัดมาเรียก "บ้านสว่างน้อย" กองทัพไทยได้ขับไล่พม่าเตลิดหนีจนไม่สามารถตามทัน จนรุ่งแจ้งก็ไม่เห็นพม่าจึงหยุดตั้งค่าย ตรงที่ถัดจากบ้านว่างน้อยพักผ่อนหุงหาอาหารกินกันด้วยเสียเวลาหลับนอนรุกไล่พม่ามาหลายวันหลายคืน ผ่านท้องที่ทุรกันดารมากมาย ร่างกายต่างอ่อนเปลี้ยไปตามๆ กัน ชาวบ้านที่หลบซ่อนพม่า ก็สบายใจที่กองทัพไทยมาช่วย ต่างจัดหาอาหารมาเลี้ยงทหารไทย ท้องที่ตรงนั้นเรียกกันต่อๆ มาว่า "บ้านสว่างแจ้งสบายใจ" คือ บ้านสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์ เดี๋ยวนี้
ครั้นวันพุธ เดือนสิบ ขึ้นค่ำหนึ่งพระยาราชภักดี และพระยาพลเทพ ที่ขึ้นไปตามพม่าทางเมืองเพชรบูรณ์ ได้พบพม่าที่บ้านนายยม จึงขับไล่ตีพม่าแตก หนีไปทางเมืองอุทัยธานี จับได้เก้าคน ส่วนที่หนีมาได้ครั้น ทราบว่ากองทัพพม่าทิ้งค่ายที่เมืองอุทัยธานีเสียแล้ว ก็หนีเลยไปสมทบกันที่เมืองนครสวรรค์ รวมกับพม่าที่หนีมาจากเมืองอุทัยธานีด้วย ต่อมาก็ถูกกองทัพกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนรามภูเบศร์ และเจ้าพระยามหาเสนาระดมกำลังตีกองทัพพม่าที่ค่ายเมืองนครสวรรค์แตกหนีเข้ามาทางเมืองอุทัยธานี กองทัพไทยรุกไล่พม่าในเมืองอุทัยธานี ได้ติดตามสมทบ และทันกองทัพพม่าที่บ้านเดิมบางนางบวช เมืองสุพรรณบุรีจึงตีกองทัพพม่าหนีร่นออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์
จังหวัด » กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ประจวบฯ ปทุมธานี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี