ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด

จังหวัด » กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์

» ย้อนกลับ หน้าถัดไป

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ภาคเหนือ(4)

ในช่วง พ.ศ. 2050 และในช่วง พ.ศ. 2058 สมเด็จพระรามาธิบดีที่2 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพมาตีเขลางค์นครจนแตก แต่ไม่สามารถ ยึดครองได้ จนในที่สุดได้มีการทำสัญญาไมตรีต่อกัน เมื่อ พ.ศ. 2065 ถึงแม้ว่าอาณาจักรล้านนา จะเจริญสูงสุดในสมัยพระเจ้าเมืองแก้วนี้ แต่ในตอนปลายรัชสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงตุง แต่พ่ายแพ้ยับเยิน ทำให้สูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลกระทบต่อความเข้มแข็งของอาณาจักรล้านนา ในเวลาต่อมา

หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าเมืองแก้วแล้ว บ้านเมืองเริ่มแตกแยก เกิดการแก่งแย่งชิงสมบัติกันบ่อยครั้ง อำนาจการปกครอง ได้ตกไปอยู่กับบรรดาขุนนาง เสนา อำมาตย์ ซึ่งสามารถที่จะแต่งตั้งหรือถอดถอนกษัตริย์ได้ พระเจ้าเมืองเกษเกล้าพระอนุชาของพระเจ้าเมืองแก้วขึ้นครองราชย์ได้ 13 ปีถูกเจ้าท้าวทรายคำราชบุตร และเสนาอำมาตย์แย่งชิงราชสมบัติ และเนรเทศพระเจ้าเมืองเกษเกล้าไปไว้ ณ เมืองน้อย ท้าวซายคำจึงได้ขึ้นครองราชย์แทน เมื่อท้าวซายคำชึ้นครองราชย์ได้ประพฤติผิดราชประเพณีจึงถูกบรรดาขุนนางอำมาตย์ ตั้งตัวเป็นขบถและทำการปลงพระชนม์แล้วอันเชิญ พระเจ้าเมืองเกษเกล้าขึ้นครองราชย์ดังเดิม แต่ครองราชย์ได้ไม่นาน ก็ได้ถูกบรรดาขุนนางคิดจะลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากพระเจ้าเมืองเกษเกล้า ทรงเสียพระสติ ช่วงนี้จึงเกิดการแก่งแย่งชิงดีกันขึ้น บ้านเมืองเกิดการแตกแยก มีการทำสงครามภายในกันขึ้น

ในช่วงนี้ พระนางจิรประภา ได้ขึ้นครองเมืองชั่วคราว ในขณะที่พระนางจิรประภา ครองราชย์อยู่ในขณะนั้น กรุงศรีอยุธยาได้ยกกองทัพเพื่อที่จะมายึดเมืองเชียงใหม่ และได้ล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ แต่พระนางจิรประภาไม่คิดที่จะตอบโต้จึงยอมส่งเครื่องราชบรรณาการให้กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาจึงยอมยกทัพกลับ หลังจากนั้น พระนางจิรประภาได้สละราชสมบัติ และให้พระไชยเชษฐาขึ้นครองราชย์แทน แต่ก็ครองราชย์ได้เพียง 2 ปี ก็ทรงเสด็จกลับ ไปยังแคว้นล้านช้าง เนื่องจากพระเจ้าโพธิสารพระราชบิดา สิ้นพระชนม์อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง บรรดาขุนนางได้ ส่วนบรรดาขุนนางได้อัญเชิญพระเจ้าเมกุฏิแห่งเมืองนายซึ่งมีเชื้อสาย ของขุนเครือราชบุตรของพระเจ้ามังราย ขึ้นครองราชย์ ในขณะที่พระเจ้าเมกุฏิ ขึ้นครองราชย์ เป็นช่วงที่ ทางพม่าโดยพระเจ้าบุเรงนองต้องการขยายอำนาจ ได้ยกทัพ มาล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้และใช้เวลาเพียงสามวันก็สามารถ ยึดเมืองเชียงใหม่ได้อย่างง่ายดายในปี พ.ศ. 2101 อาณาจักรล้านนาจึงตกไปอยู่ในฐานะ เมืองขึ้นของพม่า แต่ว่าทางพม่าก็ยังให้พระเจ้าเมกุฏิปกครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป

หลังจากที่พม่าได้เข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ในช่วงแรกนั้นทางพม่ายังไม่ได้เข้ามาปกครองเมืองเชียงใหม่โดยตรง แต่ยังคงให้พระเจ้าเมกุฎิ ทำการปกครองบ้านเมืองตามเดิม แต่ทางเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้กับทางพม่า ต่อมาพระเจ้าเมกุฎิคิดที่จะตั้งตนเป็นอิสระ ฝ่ายพม่าจึงปลดออกและแต่งตั้งพระนางราชเทวี หรือ พระนางวิสุทธิเทวี เชื้อสาย ราชวงค์ มังราย องค์สุดท้าย ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งพระนางราชเทวีสิ้นพระชนม์ ทางฝ่ายพม่าจึงได้ส่งเจ้านายทางฝ่ายพม่ามาปกครองแทน เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อยของเมืองเชียงใหม่และเพื่อควบคุมการส่งส่วย กลับไปพม่า อีกประการหนึ่งก็เพื่อที่จะเกณฑ์กำลังคนและเตรียมเสบียงอาหารเพื่อทำศึกสงครามกับทางกรุงศรีอยุธยา

เชียงใหม่ในฐานะเมืองขึ้นของพม่าไม่ได้สงบสุขเหมือนสมัยก่อน มีการกบฎแย่งชิงอำนาจกัน อยู่ตลอดเวลารวมทั้งมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างเจ้าเมืองตามหัวเมืองต่างๆ ก่อนที่ทางพม่าจะเข้ามายึดเมืองเชียงใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2306 และได้ใช้ล้านนาเป็นฐานสำคัญในการยกกองทัพเข้าตีกรุงศีรอยุธยา และช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ทางกรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงครั้งที่ 2 ให้กับพม่า รวมระยะเวลาที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลาถึง 200 กว่าปี

การกอบกู้ล้านนา เกิดขึ้นเมื่อพระยาจ่าบ้าน บุญมา กับพระยากาวิละ เชื้อสายตระกูลเจ้าเจ็ดตน ได้ร่วมมือกันกอบกู้เอกราชโดยได้ไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ขอให้ส่งกองกำลังมาตีพม่าที่มายึดล้านนา โดยพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้นำกองทัพเข้าตีเมืองเชียงใหม่ และยึดได้ในปี พ.ศ. 2317 และแต่งตั้ง ให้พระยาจ่าบ้านขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้พระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองนครลำปาง หลังจากที่ยึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้วก็ยังมีการสู้รบกัน เรื่อยมา ทั้งจากพม่าและหัวเมืองต่างๆ เช่น เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย

ในปี พ.ศ. 2347 พระยากาวิละได้เข้าตีเมืองเชียงแสน และเมืองเชียงราย และได้ กวาดต้อนพลเมือง เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย และหัวเมืองต่างๆมาไว้ตามเมืองสำคัญเช่น เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน ส่วนหนึ่ง ก็ส่งไปกรุงเทพ การกอบกู้ อาณาจักรล้านนา ครั้งนี้ อาณาจักรล้านนายังไม่ได้เป็นเอกราชอย่างแท้จริง เพราะล้านนายังอยู่ในฐานะประเทศราชของแผ่นดินสยาม

เมื่อพระยาจ่าบ้านเสียชีวิตลง พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าให้พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางเป็น พระยาวชิรปราการเจ้าเมืองนครเชียงใหม่แทน เมื่อพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็แบ่งไพร่พลจาก เมืองนครลำปาง ไปตั้งอยู่ที่ เวียงป่าซางเป็นเวลาถึง 14 ปี เพื่อรวบรวมไพร่พล จนถึง พ.ศ. 2339 จึงสามารถเข้าไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่ได้ และเริ่มสะสมกำลังพล เข้าตีเมืองต่างๆ เมื่อเข้าตีได้แล้วก็ได้ทำการกวาดต้อนพลเมืองจากเมืองต่างๆซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มชนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ เช่น เงี้ยว ไตลื้อ ไตยอง ไตเขิน ข่า ลัวะ ยาง ให้เข้ามาเป็นพลเมืองล้านนา ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จึงได้ชื่อว่า ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองซึ่งไพร่พลพลเมืองเหล่านี้ ได้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยในการบูรณะบ้านเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ให้กลับคืนมา

หลังจากล้านนาจากได้รับการฟื้นฟูโดยพระยากาวิละ แต่ยังคงมีฐานะเป็นประเทศราช ของกรุงเทพและมีเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ปกครอง โดยเจ้าผู้ครองนครจะมีอิสระในการปกครองเมือง แต่ต้องทำหน้าที่ในฐานะประเทศราช นอกจากการส่งเครื่องราชบรรณาการและส่วยแล้ว เมื่อมีงานพระราชพิธีจะมีการเกณฑ์สิ่งของเพื่อมาใช้ในงานพระราชพิธี หรือการก่อสร้างพระราชวังและวัด สิ่งของที่ถูกเกณฑ์มาก็จะมีไม้สัก ผ้าขาว น้ำรัก ในยามที่มีศึกสงคราม จะต้องมีการเกณฑ์ไพร่พล ลงมาช่วยโดยด่วน กองทัพเมืองเชียงใหม่เคยถูกเกณฑ์ไปช่วยรบหลายครั้งเช่นเมื่อครั้งกบฏเจ้าอนุวงศ์ การรวมล้านนาเข้ากับอาณาจักรสยาม

» ย้อนกลับ หน้าถัดไป

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย