ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดเชียงใหม่

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดเชียงใหม่(5)

การที่รัชกาลที่ 1 ทรงแต่งตั้งให้ตระกูลเจ้าเจ็ดตนครองเมืองเชียงใหม่และลำปางในทันที เข้าใจว่าเป็นเหตุผลที่ต้องการให้ร่วมกันสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ล้านนาไทย โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของล้านนาไทยขณะนั้นอยู่ในสภาพเมืองร้าง จำเป็นต้องฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ พร้อมกับกวาดล้างอิทธิพลของพม่าให้หมดไป พระยากาวิละจึงมีหน้าที่ "สร้างบ้านแปงเมือง" เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และโดยที่เชียงใหม่อยู่ในอิทธิพลพม่า พระยากาวิละไม่สามารถตั้งเมืองได้ทันที จึงเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2325 ด้วยการตั้งเวียงป่าซางก่อน และตั้งมั่นอยู่ถึง 14 ปี จึงสามารถตั้งเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2339

ส่วนอิทธิพลของพม่าในล้านนาไทยถือว่าสิ้นสุดลงในสงครามขับไล่พม่าปี พ.ศ. 2347 โดยกองทัพเชียงใหม่รวมกับกองทัพฝ่ายไทยยกไปตีเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของพม่าสำเร็จ การฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่เริ่มตั้งแต่ตั้งเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2339 จนถึงขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทยในปี พ.ศ. 2347 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการรวบรวมพลเมืองเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ เป็นยุคที่เรียกว่า "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" พระยากาวิละกวาดต้อนชาวเมืองเชียงใหม่ที่หลบหนีเข้าป่าให้กลับสู่เมือง และเริ่มกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนา ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และยอง ผู้คนที่กวาดต้อนมามีหลายชนิดเข้าใจว่าเป็นช่างฝีมือหรือไพร่เมืองชั้นดีจะให้ตั้งถิ่นฐานในตัวเมือง เช่น เขิน ที่ถนนวัวลาย ส่วนไพร่ที่ไม่เป็นช่างฝีมือจะไว้นอกเมือง เช่น เขินที่สันทราย ยองที่ลำพูน ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาก็จะตั้งชื่อหมู่บ้านของตนตามชื่อบ้านเมืองเดิมที่ตนถูกกวาดต้อนลงมา เช่น เมืองวะ เมืองเลน เมืองขอน เมืองกาย พยาก เป็นต้น เชียงใหม่สมัยพระยากาวิละจึงพ้นจากสภาพเมืองร้าง นอกจากพระยากาวิละจะ "เก็บข้าใส่เมือง" ดังกล่าวแล้ว ยังมีการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ใน รูปแบบต่างๆ เช่น ราชประเพณี โดยการกระทำพิธีราชาภิเษก สถาปนาราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนขึ้นปกครองสืบต่อจากราชวงศ์มังราย การทำนุบำรุงพุทธศาสนา โดยสร้างวัด พระพุทธรูป การสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ การเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นรัตนตึงษาอภินวบุรี เป็นต้น นับว่าพระยากาวิละและเจ้านายบุตรหลานได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงแก่เมืองเชียงใหม่ และล้านนาไทยยิ่ง

ในสมัยพระยากาวิละได้นำระบบการปกครองบางอย่างของไทยไปปรับปรุงใช้ที่เชียงใหม่ เช่น การแต่งตั้งพระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้าน และพระยาเด็กชาย ให้อยู่ในตำแหน่งปฐมอัครมหาเสนาบดี ทั้ง 4 ทำหน้าที่เหมือนจตุสดมภ์ของไทย คือเป็น เวียง วัง คลัง นา ตามลำดับ โดยถือว่าตำแหน่งดังกล่าวสูงกว่าข้าราชการอื่นๆ การตั้งตำแหน่งวังหน้าและวังหลังเพิ่มขึ้น ซึ่งพระยากาวิละแต่งตั้งให้พระยาอุปราชดำรงตำแหน่ง วังหน้า พระยาบุรีรัตน์ดำรงตำแหน่งวังหลังเป็นครั้งแรก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของไทยในด้านความคิดและแบบอย่างทางการปกครองที่มีต่อเมืองเชียงใหม่
โครงสร้างทางการปกครองของเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยเจ้าขัน 5 ใบ ได้แก่ เจ้าเมือง และผู้ช่วยเหลือในการปกครองอีก 4 ตำแหน่ง คือ พระยาอุปราช พระยาราชบุตร พระยาราชวงศ์ และพระยาบุรีรัตน์ ในทางทฤษฎีตำแหน่งเจ้าขัน 5 ใบนี้ จะได้รับการแต่งตั้งและถอดถอนจากกรุงเทพฯ แต่ในทางปฏิบัติเจ้านายชั้นสูงในเชียงใหม่จะเสนอชื่อผู้เห็นสมควรจะได้รับตำแหน่งนี้ขึ้นมา โดยทางรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จะแต่งตั้งตามที่เสนอมา นับว่าการเมืองภายในเชียงใหม่มีอิสระอยู่มาก ส่วนหน้าที่ของตำแหน่งเจ้าขัน 5 ใบ ในระยะแรกซึ่งอยู่ในช่วงสงครามระหว่างไทยกับพม่า จึงเข้าใจว่าหน้าที่หลักคือการควบคุมกำลังรบ แต่ในระยะต่อมาเมื่อราชการสงครามเบาบางลง หน้าที่ของเจ้าขัน 5 ใบ จึงเปลี่ยนแปลงไปดังมีผู้สันนิษฐานว่า ตำแหน่งอุปราชทำหน้าที่การคลัง เจ้าราชบุตรและเจ้าราชวงศ์มีหน้าที่เกี่ยวกับทหาร และเจ้าบุรีรัตน์เป็นผู้จัดการปกครองภายในเมือง โดยมี เจ้าเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดควบคุมกิจการทั่วไป ตำแหน่งผู้ช่วยราชการของเจ้าเมืองนี้

เชียงใหม่ในสมัยพระยากาวิละ ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ในทางเหนือจดเมืองเชียงรุ้ง เชียงขวาง สิบสองปันนา ส่วนทางตะวันตกสามารถครอบครองหัวเมืองด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เช่น เมืองจวด เมืองทา เมืองต่วน เมืองสาด เมืองหาง หรือที่เรียกว่า "หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า" เมืองเหล่านี้ได้มาด้วยการเกลี้ยกล่อมเข้าไว้ในอำนาจ โดยไม่ต้องสู้รบกัน ซึ่งหากไม่ยอมก็จะใช้วิธีการปราบปรามเมื่อปราบสำเร็จก็จะกวาดต้อนผู้คนในเมืองนั้นมา โดยปล่อยให้เมืองนั้นร้างไว้ ขณะ เดียวกันก็ถือว่าเมืองร้างนั้นเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเชียงใหม่และ หัวเมืองชายแดนจะปกครองตามธรรมเนียมเดิมของตน

รัฐบาลกลางทั้งในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นต่าง มีนโยบายสนับสนุนให้เชียงใหม่เป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือ ที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะป้องกันการรุกรานจากพม่า ดังจะเห็นได้ว่าพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือให้เชียงใหม่ฟื้นตัวโดยเร็ว โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจ่าบ้านเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้รักษาเมืองจากการโจมตีของพม่า แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากเชียงใหม่อยู่ในสภาวะสงครามมานานบ้านเมืองจึงทรุดโทรม ขาดแคลนกำลังคนที่จะช่วยกันรักษาเมืองไว้ได้ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์มีพระบรมราโชบายเช่นเดียวกับพระเจ้า ตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางให้ขึ้นไปครองเมืองเชียงใหม่ เพราะ พระยากาวิละมีฝีมือในการรบสามารถป้องกันการรุกรานของพม่าได้หลายครั้ง ด้วยเหตุนี้เมืองเชียงใหม่จึงได้รับการฟื้นฟูให้มั่นคงเป็นศูนย์กลางของดินแดนล้านนาไทยอีกครั้งหนึ่ง วิธีการดำเนินงานเพื่อให้เชียงใหม่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลกลางในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้กระทำการช่วยเหลือเชียงใหม่หลายรูปแบบ ประการแรก การช่วยเหลือด้านอาวุธเพื่อใช้ในราชการสงครามนับเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลางให้ความช่วยเหลือเสมอมา ดังปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 1 ปี พ.ศ. 2345 เมื่อทรงมีพระราชดำริให้เมืองเชียงใหม่และลำปางยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายพม่า ทรงพระราชทานอาวุธปืนและกระสุนจำนวนหนึ่ง และในสมัยรัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ. 2400 เมืองเชียงใหม่ขอพระราชทานปืนหามแล่น 100 กระบอก ประการที่สอง การส่งกองทัพหลวงช่วยเหลือป้องกันเมืองเชียงใหม่ ในระยะที่เพิ่งจะตั้งเมืองในสมัยพระยากาวิละ

ในปี พ.ศ. 2340 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าพระยากาวิละ ไม่สามารถป้องกันเมืองเชียงใหม่ตามลำพัง เนื่องจากกำลังคนมีไม่เพียงพอจึงขอทัพหลวงมาช่วย ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกกองทัพไปช่วย ได้ร่วมกันสู้รบจนพม่าพ่ายไป และในสงครามขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนใน พ.ศ. 2347 กองทัพหลวงก็ขึ้นไปช่วยกองทัพเชียงใหม่ด้วย ประการที่สาม การคืนครัวเรือนที่เชียงใหม่กวาดต้อนมาได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังช่วยกันรักษาและทำนุบำรุงบ้านเมือง ดังเช่น พระยากาวิละยกทัพไปตีเมืองสาด เมืองปัน เมืองปุ แล้วกวาดครัวมาถวายรัชกาลที่ 1 ๆ ทรงพระราชทานคืนครัวเรือนที่กวาดต้อนมาได้คืนเชียงใหม่ไป อีกทั้งยัง พระราชทานเงินและเสื้อผ้าเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่นายทหารในครั้งนั้นด้วย การคืนครัวนี้สืบมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระราชทานกลับคืนไปเช่นกัน ประการที่สี่ การตั้งเมืองลำพูนและเชียงรายเพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ เมื่อมีราชการสงครามเกิดขึ้น โดยตั้งเมืองลำพูนสมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2357 ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีความมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว ส่วนเมืองเชียงรายจัดตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2386 โดยเจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูนขอพระราชทานตั้งเมืองขึ้นใหม่ อาจกล่าวได้ว่าเมืองลำพูนและเชียงราย ตลอดจนลำปาง ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่เพราะทรงถือว่าเมืองเชียงใหม่มีเจ้าเมืองเป็นญาติผู้ใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ ซึ่งสืบสายตระกูลเจ้าเจ็ดตนเช่นเดียวกัน จึงให้สิทธิ์แก่เจ้าเมืองเชียงใหม่ เช่น สามารถว่ากล่าว ตักเตือน และลงโทษเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานเมืองอื่นๆ ได้ และยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองและอุปราชเมืองลำพูน อนึ่ง สารตราสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน จะเน้นเสมอถึงการให้ทั้งสามเมืองช่วยกันปกครองบ้านเมืองและป้องกันภัยจากพม่า จากความพยายามสนับสนุนให้เชียงใหม่มีความเข้มแข็งได้ประสบความสำเร็จในปลาย รัชกาลที่ 1 เมืองเชียงใหม่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สามารถขับไล่พม่าจากฐานที่มั่นในเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. 2347 และหลังจากสงครามครั้งนั้นพม่าไม่ได้ยกทัพมาโจมตีหัวเมืองล้านนาไทยเป็นกองทัพใหญ่อีก จะมีแต่กองทัพจากเมืองเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ ในล้านนาไทยร่วมกันยกไปตีเขตหัวเมืองขึ้นของพม่า ซึ่งในปี พ.ศ. 2348 ก็สามารถขยายอาณาเขตไปถึงเชียงตุง เชียงรุ้ง เมืองลื้อ สิบสองปันนา อาณาเขตของล้านนาไทยจึงขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

เชียงใหม่มีอิสระในการปกครองตนเองอย่างมาก โดยที่รัฐบาลกลางไม่เข้าไป ยุ่งเกี่ยวในกิจการภายใน เชียงใหม่สามารถกำหนดรูปแบบการปกครองตนเอง ตามขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามรัฐบาลกลางก็ไม่ปล่อยให้เป็นอิสระเสียทีเดียว เพราะรัฐบาลกลางใช้วิธีการ ควบคุมโดยอ้อม ซึ่งมีหลายวิธีการด้วยกันที่จะให้เชียงใหม่ต้องตระหนักถึงอำนาจของรัฐบาลกลางที่เหนือกว่าอยู่เสมอ วิธีการซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการควบคุมที่สำคัญคือ การแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าขัน 5 ใบ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง ที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานตำแหน่งให้ โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งใหม่จะต้องเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ ทุกครั้งเพื่อรับตราตั้งและเครื่องยศ ในการ พระราชทานเครื่องยศแล้วแต่โอกาส ตำแหน่งเดียวกันอาจจะรับเครื่องยศต่างกัน และเครื่องยศทุกชิ้นจะต้องคืนเมื่อถึงแก่กรรม โดยทางกรุงเทพฯ จะตรวจนับเครื่องยศ มีหลักฐานว่าการส่งคืนเครื่องยศของเจ้าเชียงใหม่พุทธวงษ์ (พ.ศ. 2367 - 2389) ขาดไป 5 สิ่ง ซึ่งทางกรุงเทพฯ ไม่ทวงถาม นอกจากนั้นมีพิธีการต่างๆ ที่ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ เช่น เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานต้องลงมาร่วมในงานพระบรมศพและเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ด้วย การกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ปีละ 2 ครั้ง โดยประกอบพิธีที่วัดสำคัญ มีเจ้าขัน 5 ใบและเจ้านายบุตรหลานอื่นๆ ร่วมด้วย พิธีนี้มีการให้สัตย์สาบาน รัฐบาลกลางจึงถือว่าเป็นพิธีสำคัญที่แสดงความจงรักภักดี ผู้ที่ไม่ร่วมพิธีจะถูกเพ่งเล็ง ในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 พบหลักฐานเสมอที่ทรงย้ำให้กระทำพิธีนี้

อย่างไรก็ตามที่กล่าวมาเป็นรูปพิธีการยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางมากกว่า ส่วน วิธีการควบคุมที่แสดงอำนาจที่เฉียบขาด เช่น การเรียกตัวให้เข้าเฝ้าเพื่อสอบสวนความผิดดังกรณีพระเจ้าตากสินมหาราชเรียกตัวพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละซึ่งมีการลงโทษตัดขอบหูพระยา กาวิละและขังพระยาจ่าบ้านตามที่กล่าวมาแล้ว และกรณีรัชกาลที่ 4 เรียกตัวเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เข้าเฝ้าเพราะได้ข่าวว่าฝักใฝ่พม่า ซึ่งผลปรากฏว่าไม่มีความผิดจึงให้กลับไปครองเมืองตามเดิม นอกจากนั้นถ้ารัฐบาลกลางไม่แน่ใจว่าจะจงรักภักดีก็จะให้ทำราชการในกรุงเทพฯ เช่นกรณีพระยาแพร่มังไชยเคยถูกพม่าจับตัวไปและอยู่กับพม่า 10 ปี (พ.ศ. 2318 - 2328) ได้หันมาช่วยกองทัพไทยโดยยกทัพไปตีเชียงแสนและสามารถจับตัวเจ้าเมืองเชียงแสนนำส่งมากรุงเทพฯ ได้ นับว่ามีความดีความชอบมาก แต่รัชกาลที่ 1 ยังแคลงพระทัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาแพร่มังไชยรับราชการที่กรุงเทพฯ มิให้กลับไปครองเมือง

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>

จังหวัด » กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย