ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดอุบลราชธานี

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดอุบลราชธานี(3)

พ.ศ. 2428 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราโชบายในการตั้งเมืองเป็นไปในทำนองเดียวกับ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดังที่ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีการจัดตั้งเมืองขึ้นเป็นจำนวนมาก และขั้นตอนในการจัดตั้งเมืองนั้นก็ไม่สลับซับซ้อนนัก เพียงแต่ให้ผู้ที่มีความประสงค์จะตั้งเมืองขึ้นใหม่ รวบรวมผู้คนให้ได้จำนวนพอควรพร้อมทั้งเลือกหาทำเลที่ตั้งเมือง ให้เหมาะสม แล้วให้เจ้าเมืองใหญ่ที่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ทำหนังสือแจ้งความจำนงไปยังสมุหมหาดไทย ผู้ปกครองดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต

ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านท่ายักขุเป็นเมืองชาณุมารมณฑล ตั้งบ้านเผลาเป็นเมืองพนานิคม ใน พ.ศ. 2422 โดยกำหนดให้ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานีทั้งสองเมือง ตั้งบ้านนากอนจอเป็นเมืองวารินชำราบ ใน พ.ศ. 2423 ตั้งบ้านจันลา-นาโดมเป็นเมืองโดมประดิษฐ์ ใน พ.ศ. 2424 และตั้งบ้านทีเป็นเมืองเกษมสีมา ใน พ.ศ. 2425 โดยกำหนดให้เมืองวารินชำราบและเมืองโดมประดิษฐ์ขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์ ส่วนเมืองเกษมสีมาให้ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน (และบางส่วนของจังหวัดยโสธรที่เคยขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี ก่อน พ.ศ. 2515) ได้มีการตั้งเมืองขึ้นทั้งหมด 17 เมือง เป็นเมืองใหญ่ที่ขึ้นต่อกรุงเทพฯ 4 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองยโสธร เมืองเขมราฐ และเมืองเดชอุดม นอกนั้นก็เป็นเมืองเล็ก ๆ เทียบได้กับเมืองจัตวาที่ขึ้นกับเมืองใหญ่ ๆ เหล่านี้อีก 13 เมือง กล่าวคือ เมืองคำเขื่อนแก้ว เมืองอำนาจเจริญขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ เมืองเสนางคนิคม เมืองพิบูลมังสาหาร เมืองตระการพืชผล เมืองมหาชนะไชย เมืองชาณุมารมณทล เมืองพนานิคม เมืองเกษมสีมา ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี และเมืองโขงเจียม เมืองบัว (บุณฑริก) เมืองวารินชำราบ เมืองโดมประดิษฐ์ ขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์

เกี่ยวกับการตั้งเมืองดังที่กล่าวมาแล้วมีข้อสังเกตได้หลายประการ กล่าวคือ ประการแรกอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะได้รับการยกฐานะให้เป็นเมืองมาแล้วตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประการที่สอง การจัดการปกครองดูแลเมืองใดขึ้นกับเมืองใดนั้นไม่เป็นระบบที่แน่นอนหรือตายตัวเท่าใดนัก และไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์ เช่น กำหนดให้เมืองเสนางคนิคมขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี เมืองอำนาจเจริญขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ หรือที่กำหนดให้พิบูลมังสาหารขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ส่วนเมืองวารินชำราบขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นต้น ทั้งนี้คงเป็นเพราะการคมนาคมไม่สะดวกยากลำบาก จึงไม่สามารถนำเอาเรื่องการคมนาคมมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดว่าเมืองใดควรจะขึ้นกับเมืองใดได้ จึงเพียงแต่คำนึงถึงว่าเจ้าเมืองที่จะตั้งขึ้นใหม่เคยสังกัดอยู่กับเมืองใด เมื่ออพยพครอบครัวไพล่พลไปตั้งเมืองขึ้นใหม่ ก็จะขอขึ้นกับเมืองเดิม ทั้งนี้คงเพื่อความสะดวกในการส่งส่วยสาอากร หรือไม่ก็คำนึงถึงลำดับเครือญาติของแต่ละเมืองเป็นสำคัญ

การจัดการปกครองในส่วนภูมิภาคหรือการปกครองดูแลหัวเมืองต่าง ๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แบ่งความรับผิดชอบไว้ ดังนี้ คือ สมุหพระกลาโหม ดูแลบ้านเมืองปักษ์ใต้และตะวันตก สมุหนายก ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ กรมท่า ปกครองดูแลหัวเมืองชายทะเล ส่วนใหญ่เป็นหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกที่มีเรือไปมาค้าขาย มาก ๆ สำหรับเมืองอุบลราชธานี เมืองขึ้น และเมืองใกล้เคียงอยู่ในความปกครองดูแลของสมุหนายก เมืองต่าง ๆ ตามเมืองหรือส่วนภูมิภาคโดยทั่วไป มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองสูงสุด ทำหน้าที่ปกครองดูแลให้ไพร่บ้านพลเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุขต่างพระเนตรพระกรรณ อีกทั้งคอยกราบบังคมทูลรายงานสภาพและเหตุการณ์ในหัวเมืองที่ตนปกครอง เจ้าเมืองทำหน้าที่ทั้งผู้ปกครอง หัวหน้าผู้พิพากษา เป็นแม่ทัพในเวลาที่มีสงคราม ฯลฯ นอกจากตำแหน่งเจ้าเมืองแล้วก็ยังมีตำแหน่งผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเมืองต่าง ๆ โดยทั่วไป คือมีปลัดเมืองมหาดไทย ยกกระบัตรเมือง ฯลฯ

ตำแหน่งผู้ปกครองเมืองในส่วนภูมิภาคตามหลักการดังกล่าว มิได้หมายรวมถึงเมืองอุบลราชธานี เมืองขึ้นหรือเมืองใกล้เคียงในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้เพราะตำแหน่งผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานี เมืองใกล้เคียง ในดินแดนภาคอีสานจะมีลักษณะที่แปลกและแตกต่างไปจากตำแหน่งผู้ปกครองเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคอื่น ๆ กล่าวคือ มิได้มีตำแหน่งเจ้าเมือง ปลัดเมืองยกกระบัตรเมืองเหมือนเช่นเมืองโดยทั่วไป แต่มีการจัดโครงสร้างระบบการปกครองภายใน ที่ถือธรรมเนียมการปกครองภายในมาจากประเทศลาวในสมัยนั้น โดยจัดแบ่งระดับตำแหน่งการปกครองภายในออกเป็น 5 ระดับ แต่ละระดับก็มีหลายตำแหน่งด้วยกัน

เมืองอุบลราชธานีมีบทบาทและมีความสำคัญต่อเมืองอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก เพราะต้องควบคุมดูแลเมืองขึ้นโดยตรงถึง 7 เมือง และรับผิด-ชอบ จัดรวมส่วยสาอากรที่เก็บได้จากเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ทั้งหมดแล้วจัดส่งไปยังกรุงเทพมหานครเป็นประจำทุกปี ส่วนระบบการปกครองนั้นจะมีคณะอาญาสี่ เป็นคณะผู้ปกครองสูงสุด และมีตำแหน่งผู้ปกครองระดับต่ำลงมาอีกหลายตำแหน่ง หลายระดับตามความเหมาะสม รูปแบบ ลักษณะหรือวิธีการจัดการปกครองดังกล่าว จะมีการดำเนินการสืบเนื่องต่อมาจนถึงสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จนกระทั่ง พ.ศ. 2425 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองบ้านเมืองอย่างเต็ม ที่ ประกอบกับทรงเล็งเห็นปัญหา อุปสรรคในการจัดการปกครองภายในของเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในบริเวณเมืองอุบลราชธานี เมืองใกล้เคียงที่อยู่ติดกับดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านที่ตกอยู่ใต้การปกครองของคนต่างชาติ อันอาจเกิดภัยอันตรายต่อชาติบ้านเมืองได้ ด้วยเหตุทั้งสองประการคือ ความบกพร่องของการจัดการปกครองภายใน และภัยที่จะถูกคุกคามจากต่างชาติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงดำเนินการปรับปรุงแก้ไขการจัดการปกครองหัวเมืองในภูมิภาคแถบนี้เป็นการเร่งด่วน

ใน พ.ศ. 2425 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือเป็นข้าหลวง พร้อมด้วยข้าราชการหลายนาย ออกไปตั้งรักษาการหัวเมืองลาวตะวันออกอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์และพร้อมกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้หลวงภักดีณรงค์ (ทัด ไกรฤกษ์) ปลัดบัญชีกระทรวงมหาดไทยไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการอยู่ ณ เมืองอุบลราชธานีอีกด้วย การดำเนินการเช่นนี้ นับว่าเป็นการขยายอำนาจการปกครองจากเมืองราชธานีคือกรุงเทพฯ ไปสู่หัวเมืองลาวภาคตะวันออกอย่างแท้จริง และรัดกุมยิ่งขึ้นและนับเป็นครั้งแรก ที่เมืองราชธานีได้จัดส่งข้าหลวงจากส่วนกลางออกไปควบคุมดูแล กำกับราชการ ณ เมืองอุบลราชธานีทั้ง ๆ ที่เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ซึ่งเป็นคณะผู้ปกครองสูงสุดของเมือง ก็ยังคงทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองอยู่ตามปกติ แม้จะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าหลวงออกไปกำกับราชการอยู่ ณ เมืองอุบลราชธานีและนครจำปาศักดิ์แล้วก็ตาม แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังไม่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในเหตุการณ์ชายพระราชอาณาเขตแถบนี้มากนัก ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงเมืองต่าง ๆ ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อความสงบสุขของชาติบ้านเมือง และเพื่อให้รอดพ้นจากภัยรุกรานของชนต่างชาติ ที่ขยายอำนาจใกล้เข้ามาทุกขณะ ดังจะเห็นได้จากการที่ฝรั่งเศส สามารถครอบครองเขมรได้ทั้งหมดใน พ.ศ. 2410 และสามารถยึดครองญวนได้ทั้งหมดใน พ.ศ. 2426

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย