ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดนครศรีธรรมราช

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดนครศรีธรรมราช(3)

ล่วงมาอีกประมาณ 25 ปี เมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นกบฏต่อกรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่ง คือเป็นกบฏในสมัยพระเพทราชา ใน พ.ศ. 2227 โดยสาเหตุจากเมืองนครศรีธรรมราชไม่ยอมรับพระเพทราชาให้สืบสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทางกรุงศรีอยุธยาก็ยกกองทัพไปปราบอีกโดยให้พระสีหราชเดโชเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นทัพหลัง และให้พระยาราชวังสัน เป็นแม่ทัพเรือ ใช้เวลาอยู่ถึง 3 ปีจึงตีแตก ผลการเกิดกบฏครั้งนี้ ทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่สู้ไว้วางใจเมืองนครศรีธรรมราชมากนัก จึงได้มีการย้ายสังกัดจากสมุหพระกลาโหมและสมุหนายกไปขึ้นกับสมุหพระยากลาโหมแต่ฝ่ายเดียว

ภายหลังที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นกบฏในรัชสมัยพระเพทราชาแล้ว เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ถูกลดฐานะลงเป็นเพียง "ผู้รั้งเมือง" อยู่ระยะเมือง ครั้นถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ได้มีการยกฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และยกฐานะเมืองเป็น "เมืองพระยามหานคร" เพราะเห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองเอกอยู่ทางภาคใต้เพียงเมืองเดียว มีหน้าที่ในการควบคุมหัวเมืองประเทศราชในหัวเมืองมลายู และเป็นผู้รักษาอาณาเขตทางด้านนี้ด้วย

สิ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยาระส่ำระสายมาก พม่าก็ยกกองทัพใหญ่มาประชิดเมือง และในที่สุดเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 เมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นนาม "ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช" โดยมีพระปลัด (หนู) ผู้รั้งเมืองเป็นหัวหน้าควบคุม

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้กู้อิสรภาพได้เรียบร้อยแล้ว ได้ยกทัพไปปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมาย เสร็จแล้วจึงยกทัพลงมาปราบปรามชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ผลของการรบในระยะแรกทัพหน้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียที เป็นผลให้พระยาเพชรบุรีและพระศรีพิพัฒน์ตายในที่รบ ครั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบผลศึกว่าเพลี่ยงพล้ำจึงโปรดเกล้าฯให้ยกทัพหลวงไปทันที ครั้งนี้ทัพเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยง่าย พระยาปัตตานีเกรงพระบรมเดชานุภาพจึงจับเจ้านคร (หนู) และครอบครัวส่งมาถวายแต่โดยดี คณะลูกขุนได้ปรึกษาโทษให้สำเร็จโทษเสีย แต่สมเด็จพระเจ้าธนบุรีทรงเห็นว่า เจ้านคร (หนู) มิได้เป็นกบฏประทุษร้ายต่อราชอาณาจักร เป็นแต่ตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นในเวลาที่บ้านเมือง เป็นจลาจลและสูญเสียอิสระภาพแก่พม่า จึงเห็นสมควรพระราชทานอภัยโทษ และ ได้รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นข้าราชการในกรุงธนบุรี แต่ให้มียศเพียงพระยา พระราชทานบ้านเรือนให้อาศัยเป็นอย่างดี

เสร็จศึกเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตอัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราชลงเรือไปยังกรุงธนบุรีให้ครบทุกคัมภีร์ เพื่อคัดลอกเป็นฉบับจำลองไว้ ณ กรุงธนบุรี ทั้งนี้เนื่องจากพระไตรปิฎกในกรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่าเผยทำลายเสียหายมาก ส่วนตำแหน่งผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราชคนใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้านราสุริยวงศ์ ครองตำแหน่งและยกฐานะเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเป็น   "ประเทศราช" อีกครั้งหนึ่ง โดยมีเจ้านราสุริยวงศ์เป็นเจ้าประเทศราช

เจ้านราสุริยวงศ์ครองเมืองนครศีรธรรมราชได้ราว 6 ปี ก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2319 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้งให้เจ้านคร (หนู) ซึ่งเข้ารับราชการในกรุงธนบุรีให้กลับคืนไปครองเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง โดยได้สุพรรณบัฏเป็น "พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา" เมื่อ พ.ศ. 2319

พระเจ้านครศรีธรรมราชได้รับเฉลิมพระยศเสมอด้วยเจ้าประเทศราช มีอำนาจแต่งตั้งพระยาอัครมหาเสนาและจตุสดมภ์สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชได้ คล้ายกรุงธนบุรี พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาจนกระทั่งสิ้นรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใน พ.ศ. 2327 จึงถูกถอดจากพระยศ "พระเจ้านครศรีธรรมราช" ลงเป็น "พระยานครศรีธรรมราช" และในรัชกาลเดียวกันได้แต่งตั้งอุปราช (พัฒน์) บุตรเขยของพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ขึ้นเป็น      "เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการมาจนถึงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 2 จึงได้กราบทูลลาออกจากตำแหน่งด้วยเห็นว่าตนชราภาพมากแล้ว

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระบริรักษ์ภูเบศรผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช มีนามในตราตั้งว่า "พระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยาศรีธรรมราช" ต่อมากระทำความดีความชอบในราชการจนได้รับการแต่งตั้งเป็น "เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" คนทั่วไปรู้จักในนาม "เจ้าพระยานครน้อย"

เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้นี้มีความสามารถมากได้ทำการปราบปรามหัวเมืองมลายูได้สงบราบคาบ เป็นนักการทูตที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะการเจรจากับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 2-3 ได้ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีอิทธิพลต่อหัวเมืองมลายู และเป็นที่นับถือยำเกรงแก่บริษัทอังกฤษ ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลทางการค้าขายและทางการเมืองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยังเป็นผู้มีฝีมือในทางช่าง เช่น ฝีมือในทางการต่อเรือจนได้รับสมญาว่าเป็น "นาวีสถาปนิก" และในสมัยรัชกาลที่ 4   เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ก็ได้ถวายพระแท่นถมตะทองและพระราชยานถมอีกด้วย

ภายหลังที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนถัดมาคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) ผู้บุตร ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร เป็นเหตุให้หัวเมืองมลายูกระด้างกระเดื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแก้ไขจัดการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยให้มีการปกครองเป็นมณฑล นครศรีธรรมราชจึงเป็นมณฑลของประเทศไทยโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชใน พ.ศ. 2439

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินด้านการปกครองหัวเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในรัชกาลนี้ได้   โปรดฯ ให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้ขึ้นเพื่อปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมด ในการนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ดำรงตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้

นครศรีธรรมราชมีประวัติอันยาวนานมาก่อนกรุงสุโขทัยซึ่งถือว่าเป็นราชธานีแรกของไทย มีความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์มาก่อนศิลปวัฒนธรรม เช่น ประติมากรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ช่างฝีมือพื้นบ้าน การละเล่น และขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจึงมีมาก ซึ่งชาวเมืองยังยึดถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน

อ้างอิง : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคฯ

<<<< ย้อนกลับ< ||

จังหวัด » กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย