ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดนราธิวาส

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดนราธิวาส(3)

เรื่องการศาล  จัดให้มีศาลเป็นสามชั้น คือศาลบริเวณ ศาลเมือง และศาลแขวง มีผู้พิพากษาสำหรับศาลเหล่านั้นพิจารณาคดีตามพระราชกำหนดกฎหมาย เว้นแต่คดีแพ่งที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ซึ่งอิสลามิกชนเป็นโจทก์และจำเลย หรือเป็นจำเลยให้ใช้กฎหมายอิสลาม แทนบทบัญญัติกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก ยังคงต้องใช้กฎหมายแพ่ง และพาณิชย์บังคับ  

การใช้กฎหมายอิสลามในการพิจารณาอรรถคดีดังกล่าว ตามข้อบังคับสำหรับการปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.120 เรียกตุลาการตำแหน่งนี้ว่า โต๊ะกาลี  ต่อมาได้มีข้อข้อกำหนดไว้ในศาลตรากระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ.2460  เรียกตำแหน่งนี้ว่า ดาโต๊ะยุติธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับตำแหน่งเสนายุติธรรม ในมณฑลพายัพ ดาโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้รู้และเป็นที่นับถือของอิสลามิกชน เป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลาม

ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้จัดตั้งมณฑลปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2449 มีสาระสำคัญว่า "แต่ก่อนจนมาถึงเวลานี้บริเวณเจ็ดหัวเมือง มีข้าหลวงใหญ่ปกครอง ขึ้นอยู่กับข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ทรงพระราชดำริเห็นว่า ทุกวันนี้การค้าขายในบริเวณเจ็ดหัวเมืองเจริญขึ้นมาก และการไปถึงกรุงเทพ ฯ ก็สะดวกกว่าแต่ก่อนประกอบกับบริเวณเจ็ดหัวเมืองมีท้องที่กว้างขวาง และมีจำนวนผู้คนมากขึ้นสมควรแยกออกเป็นมณฑลหนึ่งต่างหาก ให้สะดวกแก่ราชการที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แยกบริเวณเจ็ดหัวเมือง ออกมาจากมณฑลนครศรีธรรมราช และให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง เรียกว่า มณฑลปัตตานี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศักดิ์เสนีย์ (หนา บุนนาค)  เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลปัตตานี"

มณฑลปัตตานี มีเมืองที่มารวมอยู่สี่เมืองคือ เมืองปัตตานี (รวมเมืองหนองจิก ยะหริ่ง และเมืองปัตตานี)  เมืองยะลา (รวมเมืองรามัน และเมืองยะลา) เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ

ในปี พ.ศ.2450 ได้ย้ายที่ว่าราชการเมืองระแงะ จากตำบลบ้านตันหยงมัสมาตั้งที่บ้านมะนารอ อำเภอบางนรา และยกฐานะอำเภอบางนราขึ้นเป็นเมืองบางนรา ส่วนเมืองระแงะเดิมนั้นให้เป็นอำเภอและขึ้นอยู่กับเมืองบางนรา มีอำเภอในเขตปกครองคือ อำเภอบางนรา อำเภอตันหยงมัส กิ่งอำเภอยะบะ อำเภอสุไหงปาดี กิ่งอำเภอโต๊ะโม๊ะ อำเภอตากใบ และอำเภอยี่งอ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อเสด็จถึงเมืองบางนรา ก็ได้ทรงพระราชทานพระแสงราชศัตราแก่เมืองบางนรา และได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองบางนราเป็นเมืองนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2458

นราธิวาส เป็นจังหวัดชายแดนใต้สุดอีกแห่งหนึ่ง มีอาณาเขตประชิดแดนมาเลเซีย โดยเฉพาะที่อำเภอสุไหวโก-ลก ซึ่งเป็นชุมทางสำคัญ ที่สิ้นสุดทางรถไฟสายใต้ และจากนั้นจะมีขบวนรถผ่านเขตไปสู่สถานีตม.ในเขตมาเลเซีย เป็นจังหวัดที่มีทิวทัศน์ ธรรมชาติ ทั้งป่าและชายทะเล น่าสนใจน่าเที่ยวมาก เป็นดินแดนแห่งเหมืองทองคำ อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ 1149   กิโลเมตร

พื้นที่โดยทั่วไปของจังหวัดนราธิวาส   เป็นป่าและภูเขาประมาณสองในสามของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ติดภูเขา และค่อย ๆ ลาดลงเป็นพื้นที่ค่อนข้างราบ และพื้นที่ราบจดชายทะเลอ่าวไทย ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นชายฝั่งทะเลที่เกิดจากการยกตัว มีหาดทรายและสันทรายขนานไปกับชายทะเล สลับกับที่ลุ่มต่ำที่เรียกว่าพรุ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดนราธิวาส    มีภูเขาหนาแน่น แถบทิศตะวันตกเฉียงใต้จดเทือกเขาสันกาลาคีรี  ซึ่งเป็นแนวกั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย  ลักษณะของพื้นที่ที่มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปสู่ทิศตะวันออก  พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่บริเวณติดกับอ่าวไทยและที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำ  4 สาย  คือแม่น้ำสายบุรี  แม่น้ำบางนรา  แม่น้ำตากใบ และแมน้ำโกลก  มีพื้นที่พรุจำนวนประมาณ 361,860 ไร่

ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยอิสลามประมาณร้อยละ 82 และชาวไทยพุทธประมาณร้อยละ 17 นอกจากนั้นนับถือศาสนาอื่น ๆ เมื่อปีพ.ศ.2541 มีประชาชนประมาณ 687500 คน มีครัวเรือนประมาณ 125600 ครัวเรือน ประชากรทีนับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูท้องถิ่น ในชีวิตประจำวันมากกว่าการใช้ภาษากลาง ขนบธรรมเนียมประเพณีก็เป็นไปตามลักษณะของสังคมมุสลิม ซึ่งมีความเชื่อศาสนาและค่านิยมตามหลักศาสนาอิสลาม มุสลิมเชื่อว่าศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของพระเจ้าที่ประทานให้มวลมนุษย์โดยผ่านศาสนฑูตมูฮำมัด

ภาษาพูดในชีวิตประจำวัน ชาวไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชน ใช้ภาษาพูดหลากหลาย เพราะมีประชากรหลายกลุ่มมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนราธิวาส ที่มาจากภาคกลางและจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ จึงมีสำเนียงพูดหลายสำเนียง เช่น สำเนียงภาษาไทยใต้ตอนบน ภาษาไทยใต้ตอนล่าง และยังมีภาษาพูดและสำเนียงที่แปลกไปจากภาษาไทยภาคใต้ในจังหวัดอื่น ๆ มากเป็นพิเศษคือ สำเนียงภาษาเจ๊ะเห มีพูดกันมานานและมีอยู่ในกลุ่มคนไทยพุทธ ดั้งเดิมของจังหวัดนราธิวาส เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของอำเภอตากใบ

<<<< ย้อนกลับ ||

จังหวัด » กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย