ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »
จังหวัดระนอง
ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก
ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดระนอง(3)
ครั้นต่อมาปรากฏว่า อังกฤษได้จัดการปกครองหัวเมืองซึ่งได้ไปจากพม่า เข้มงวดกวดขันมาชิดชายพระราชอาณาเขตทางทะเลตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระดำริว่าถ้าให้เมืองระนองและเมืองตระขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร จะรักษาราชการทางชายแดนไม่สะดวก จึงโปรดให้ยกเมืองระนองและเมืองตระขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ส่วนเมืองระนองนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ พระรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขึ้นเป็นพระยารัตนเศรษฐีผู้ว่า-ราชการเมืองระนอง เมื่อปีจอ พ.ศ. 2405 และในคราวที่พระราชทานสัญญาบัตร พระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร นายคอซิมก๊อง (ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยารัตนเศรษฐีและพระยาดำรงสุจริตในรัชกาลที่ 5 ) ผู้เป็นบุตรให้เป็นหลวงศรีโลหภูมิตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนองด้วย
ต่อมาพระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูลฯ ว่า มีความแก่ชราลงมากแล้ว ขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาไปเมืองจีน เพื่อไปบำเพ็ญการกุศลที่บ้านเดิมสักครั้งหนึ่งได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ไปได้ตามประสงค์ พอพระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) กลับมา จากเมืองจีน ไม่ช้านักก็เกิดเหตุพวกจีนกุลีกำเริบ ครั้นเมื่อปราบปรามเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) แก่ชราจึงพระราชทาน สัญญาบัตรเลื่อนยศ พระยารัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขึ้นเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดีตำแหน่งจางวางผู้กำกับราชการเมืองระนอง และทรงตั้งพระศรีโลหภูมิพิทักษ์ (คอซิมก๊อง) ซึ่งเป็นบุตรคนใหญ่และเป็นตำแหน่ง ผู้ช่วยราชการเมืองระนองในเวลานั้น เป็นพระยารัตนเศรษฐี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองระนอง เมื่อ ปีฉลู พ.ศ. 2420 และการต้อนรับนั้น โดยความเต็มใจแข็งแรงจริงๆ จึงได้ผ่อนวันออกไปอีกวันหนึ่งเวลาเย็นได้ลงดูตามเนินนั้นโดยรอบ แล้วขึ้นเขาเล็กอีกเขาหนึ่งซึ่งอยู่หน้าท้องพระโรง
พระยาดำรงสุจริต (คอซู้เจียง) อยู่มาจนถึงปี มะเมีย พ.ศ. 2425 จึงถึงอนิจกรรมเมื่ออายุได้ 86 ปี หลังจากพระยาดำรงสุจริต (คอซู้เจียง) ถึงอนิจกรรมแล้ว นายคอซิมบี้ (บุตรคนที่ 6 ) ซึ่งบิดาส่งให้ไปเล่าเรียนที่เมืองจีนนั้น สำเร็จการศึกษากลับมาแล้ว พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) ผู้พี่นำถวายตัวเป็นมหาดเล็ก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็นหลวงบริรักษ์โลหวิสัย ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง
ครั้งต่อมาเมื่อโปรดให้ พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง) เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาอนุกูลสยามกิจ ตำแหน่งกงสุลเยเนราลสยาม ที่เมืองสิงคโปร์ จึงพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนหลวงบริรักษ์โลหวิสัย (ตอซิมบี้)ขึ้นเป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตระบุรี
ใน พ.ศ. 2433 (ร.ศ.109) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบแหลมมลายูระยะทางที่เสด็จไปครั้งนั้น ทรงเรือสุริยมณฑล(ลำแรก)เป็นเรือพระที่นั่งไปจากกรุงเทพฯ แล้วทรงช้างพระที่นั่งเสด็จทางสถลมารคจากเมืองชุมพร ข้ามแหลมมลายูไปลงเรือที่เมืองกระบุรี เรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศออกไปรอรับเสด็จอยู่ที่เมืองระนอง เสด็จตรวจหัวเมืองชายทะเลในพระราชอาณาเขตแล้วผ่านไปในเมืองมลายูของอังฤกษ ประทับที่เมืองเกาะหมาก เมืองสิงคโปร์ ขาเสด็จกลับเสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองมลายูและหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ตลอดมา ในคราวเสด็จเลียบมณฑลครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องระยะทาง เป็นพระราชหัตถเลขา พระราชทานมาถึงเสนาบดีสภาซึ่งรักษาพระนคร และพระราชทานพระบรมราชาธิบายว่าด้วยเมืองระนองในสมัยเมื่อเสด็จไปครั้งนั้น
ต่อมาถึงสมัยเมื่อจัดการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลโปรดฯ ให้หัวเมืองมาขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียวทั้งหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ฝ่ายตะวันออก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) เลื่อนขึ้นเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดีตำแหน่งสมุห-เทศาภิบาลมณฑลชุมพรและ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อน พระบุรีรักษ์ โลหวิสัย (คออยู่หงี) บุตร คนใหญ่ของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) ขึ้นเป็นพระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนอง
พระยาดำรงสุจริต (คอซิมก๊อง) รับราชการในตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาล อยู่จนแก่ชรา กราบถวายบังคมลาออกจากราชการกลับไปอยู่เมืองระนอง จนถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ 6
ใน พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก และที่เมืองระนองนี้พระยาดำรงสุจริต(คอซิมก๊อง)ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้วพระยารัตนเศรษฐี (คออยู่หงี) บุตรพระยาดำรงสุจริต (คอซิมก๊อง) ก็ป่วยเป็นโรคอัมพาตทุพลภาพ ไม่สามารถรับราชการได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยารัตนเศรษฐี (คออยู่หงี) เป็นพระดำรงสุจริตมหิศรภักดี และโปรดให้พระระนองศรีสมุทรเขตต์ (คออยู่โงย) บุตรพระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต๊ก) เป็นผู้ว่าราชการเมืองระนองสืบต่อไป
ในรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกเสด็จทรงรถไฟออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6เมษายน ประทับแรมที่เมืองเพชรบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองชุมพร แล้วทรงช้างพระที่นั่ง โดยเสด็จสถลมารคข้ามแหลมมลายูไปลงเรือพระที่นั่งที่ลำน้ำปากจั่น และเสด็จถึงเมืองระนอง
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้นปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากจะแบ่งการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลอีกด้วยเมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476 จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
อ้างอิง : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค
จังหวัด » กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี